ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เรียนฟรี 15 ปี” โรงเรียน-นักเรียน-ผู้ปกครอง ได้เท่าไร…แจกถ้วนหน้าหรือมุ่งเป้า แบบไหนเรียนฟรีจริงๆ

“เรียนฟรี 15 ปี” โรงเรียน-นักเรียน-ผู้ปกครอง ได้เท่าไร…แจกถ้วนหน้าหรือมุ่งเป้า แบบไหนเรียนฟรีจริงๆ

7 พฤษภาคม 2024


“เรียนฟรี” หนึ่งในรัฐสวัสดิการของระบบการศึกษาไทยที่รัฐต้องทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยคาดหวังว่า ‘เรียนฟรี’ จะถ้วนหน้าไม่มีใครหลุดออกนอกระบบ

รูปแบบของนโยบายเรียนฟรีคือ รัฐให้เงินอุดหนุนกับสถานศึกษาใน”รูปแบบนับรายหัว” โดยคำนวณจากจำนวนนักเรียนในสถานศึกษา จากนั้นสถานศึกษาก็จะนำเงินที่ได้ไปจัดการเรียนการสอน หรือการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง

คำว่า “นโยบายเรียนฟรี” เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 43 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิ์เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” เป็นผลให้เกิดกฎหมายลูกอย่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มาตรา 49 ยังสานต่อสิทธิดังกล่าว ใจความว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเริ่มผลักดันคำว่า “เรียนฟรี 12 ปี” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้สถานศึกษา 5 รายการ ดังนี้

  1. ค่าจัดการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว ค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน และค่าอาหารนักเรียนประจำพักนอน)
  2. ค่าหนังสือเรียน
  3. ค่าอุปกรณ์การเรียน
  4. ค่าเครื่องแบบนักเรียน
  5. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

จากคำว่า “เรียนฟรี 12 ปี” เปลี่ยนเป็น “เรียนฟรี 15 ปี” ในสมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 โดยให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) หรือเทียบเท่า โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2559

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และบัญญัติเกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายว่า ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษา รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

……

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

จากการได้พูดคุยกับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่ของการศึกษาไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ “การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นมิติที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานด้านการศึกษาอื่นๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ (1) ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา (2) ความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพการศึกษา และ (3) ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา

“แม้หลายรัฐบาล มีนโยบายจัดการศึกษาฟรี โดยเฉพาะภาคบังคับหรือการศึกษาพื้นฐาน 15 ปี โดยจัดให้ เช่น หนังสือเรียน เสื้อผ้า อาหารกลางวัน แต่เอาเข้าจริง เวลาพูดถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา มันมีมากกว่าเรียนฟรี อาหารกลางวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่ไปลดทอนโอกาส ที่เห็นได้ชัดคือ ค่าเดินทางไปโรงเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 2,802 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพ ค่าลงทะเบียน ค่ารักษาสิทธิ ในการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ฯลฯปัจจัยข้างต้นทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงรอยต่อตั้งแต่ ช่วง ป.6-ม.1-ม.3-ม.4-อาชีวะ และรอยต่อช่วงก่อนอุดมศึกษา”

ดังนั้นวิธีการที่รัฐใช้ ‘head count’ หรือนับรายหัว ยิ่งโรงเรียนที่มีนักเรียนสูงก็จะได้รับสูง นั่นทำให้โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ส่งผลไปถึงงบดูแลนักเรียน งบจ้างบุคลากรครูและค่าใช้จ่ายอื่นๆ สุดท้ายนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำไม่รู้จบ

การจ่ายเงินอุดหนุนให้นักเรียนเป็นการจ่ายถ้วนหน้า หรือหารต่อหัว โดยบางเรื่องอาจไม่ได้ให้น้ำหนักว่าใครจน-รวย ยกตัวอย่างเครื่องแบบอุปกรณ์ ผู้ปกครองที่มีฐานะอาจไม่เข้าใจว่าโรงเรียนให้มาทำไม

สิ่งที่ กสศ. เข้าไปแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือจากรายหัว เป็น “มุ่งเป้า” (targeted support) ผ่านการให้เงินสนับสนุนที่เรียกว่า “ทุนเสมอภาค” เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer หรือ CCT) โดยเริ่มต้นในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561

“ระหว่าง ‘ถ้วนหน้า’ กับ ‘มุ่งเป้า’ นักวิชาการอาจดีเบตกัน หลายคนชอบแบบถ้วนหน้า แต่แนวคิดของเราคือ ถ้วนหน้าระดับหนึ่ง เสร็จแล้วใช้มุ่งเป้าเข้าไปเสริม จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะมีรอยแตกที่ถ้วนหน้าไปไม่ถึง และถ้าจะทำถ้วนหน้าแบบถึงๆ มันจะใช้ทรัพยากรเยอะมาก เราก็ใช้มุ่งเป้าเข้าไปช่วยรอยปริ”

“กสศ. พยายามทำหนังสือชี้แจงไปที่ต่างๆ กระทรวงศึกษา รัฐบาล ว่าอยากให้จัดสรรงบประมาณโดยที่คำนึงถึง need based คือดูความต้องการจากนักเรียนว่ามีความต้องการที่แตกต่างกัน และมีกลุ่มเป้าหมายที่รอการช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จะทำให้จัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพกว่า”

พร้อมย้ำว่า “ถ้าเราทิ้งไว้ ไม่ให้ความสนใจ มันจะสะสมปัญหาไปเรื่อยๆ จะแก้ไขยากและแพง ถ้าไม่ทำตั้งแต่เด็กและเยาวชน พอเขาโตขึ้น การแก้ไขปัญหาจะออกมาในรูปแบบค่าใช้จ่ายเรื่องตำรวจเพื่อไปแก้ไขอาชญากรรม ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขเพราะคนไม่ดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายด้านการทะเลาะเบาะแว้งเพราะขาดการรู้จักคุยกันด้วยเหตุผล”

  • 6 ปี กสศ. กับ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อุดความเหลื่อมล้ำผ่าน ‘ทุนเสมอภาค’ ต่อลมหายใจด้วย ‘Learn to Earn’
  • ……

    สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เปิดเอกสารแนวทางการดำเนินงาน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2567 สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ในปีงบประมาณ 2567 มีนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี จำนวน 6,552,101 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 834,907 คน ประถมศึกษา 2,958,004 คน มัธยมต้น 1,661,637 คน มัธยมปลาย 1,073,458 คน อาชีวศึกษา (ปวช.) 4,491 คน และนักเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษ 19,604 คน

    เมื่อจำแนกตามประเภทโรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนปกติ 6,480,819 คน (29,126 โรง) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 31,828 คน (52 โรง) โรงเรียนการศึกษาพิเศษ 12,517 คน (50 โรง) ศูนย์การศึกษาพิเศษ 19,604 คน (77 ศูนย์) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว 2,842 คน และการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถานประกอบการ 4,491 คน

    แม้นโยบายเรียนฟรีจะอยู่มาเกือบ 30 ปี แต่ยังคงมีคำถามอยู่เนืองๆ ว่า นโยบายเรียนฟรีไม่มีจริง เพราะเงินที่รัฐจัดสรรให้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่ครอบคลุมทุกรายจ่ายของการศึกษา สุดท้ายนักเรียน-ผู้ปกครอง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้ ต่อให้รัฐบาลจะมีมติ ครม. เพิ่มเงินอุดหนุนต่างๆ ก็ตาม

    ค่าจัดการเรียนการสอน

    ‘ค่าจัดการเรียนการสอน’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เงินอุดหนุนรายหัว’ เป็นเงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้มากที่สุดเมื่อเทียบกับงบประมาณอื่นๆ แต่ละระดับชั้นการศึกษาจะได้เงินอุดหนุนเป็นขั้นบันได

    ทั้งนี้ สถานศึกษาจะได้รับงบประมาณตามโควตาจำนวนนักเรียน จากนั้นสถานศึกษาจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ โดยกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดขอบเขตการใช้งบไว้ 3 ประเภท คือ (1) งบบุคลากร เช่น ครู พนักงานขับรถ นักการภารโรง ฯลฯ (2) งบดำเนินงาน เช่น ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าใช้สอย ค่าซ่อมแซมวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค และ (3) งบลงทุน เช่น ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ค่าคอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนทั่วไป มีดังนี้

    • ระดับก่อนประถมศึกษา 1,836 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 918 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา 2,052 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 1,026 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,780 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 1,890 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4,104 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 2,052 บาทต่อคน

    นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติม เช่น เงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน และค่าอาหารนักเรียนประจำพักนอน

    อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินอุดหนุนรายหัวข้างต้นใช้เฉพาะกลุ่มนักเรียนทั่วไปเท่านั้น โดยรัฐยังจัดเงินอุดหนุนเพิ่มเติมตามประเภทสถานศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

    เงินอุดหนุนรายหัว สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและสถานประกอบการ

    • ระดับก่อนประถมศึกษา 7,767 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 3,883 บาท และ 3,884 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา 7,950 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 3,975 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 11,098 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 5,549 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 11,454 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 5,727 บาทต่อคน
    • ระดับ ปวช. 1-3 12,674 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 6,337 บาทต่อคน

    เงินอุดหนุนรายหัว สำหรับนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์

    • ระดับก่อนประถมศึกษา: นักเรียนประจำ 30,736 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 15,368 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 9,056 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 4,528 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา นักเรียนประจำ 30,952 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 15,476 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 9,272 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 4,636 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนประจำ 32,480 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 16,240 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 10,380 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 5,190 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนประจำ 32,804 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 16,402 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 10,704 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 5,352 บาทต่อคน

    เงินอุดหนุนรายหัว สำหรับนักเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ

    • ระดับก่อนประถมศึกษา: นักเรียนประจำ 31,156 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 15,578 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 9,056 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 4,528 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา นักเรียนประจำ 31,172 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 15,686 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 9,272 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 4,636 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนประจำ 32,880 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 16,440 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 10,780 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 5,390 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนประจำ 32,804 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 16,402 บาทต่อคน นักเรียนไป-กลับ 11,104 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 5,552 บาทต่อคน

    เงินอุดหนุนรายหัว สำหรับนักเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษ

    • ค่าอาหารนักเรียนประจำ 27,000 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 13,500 บาท
    • ค่าปัจจัยพื้นฐานนักเรียนประจำ 1,000 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 500 บาท
    • ค่าอาหารนักเรียน ไป-กลับ 6,600 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 2,970 บาท และ 3,630 บาทต่อคน

    ค่าหนังสือเรียน

    ถัดมาเป็น ‘ค่าหนังสือเรียน’ ซึ่งครอบคลุม 8 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพ และภาษาอังกฤษ และแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ โดยสถานศึกษาจะได้รับงบประมาณตามจำนวนนักเรียน แล้วนำไปจัดซื้อหนังสือให้นักเรียน โดยไม่เรียกเก็บคืน โดบงบประมาณตามระดับชั้น ดังนี้

    • ก่อนประถมศึกษา 200 บาทต่อคนต่อปี
    • ประถมศึกษา 650 – 859 บาทต่อคนต่อปี
      • ประถมศึกษาปีที่ 1 656 บาทต่อคนต่อปี
      • ประถมศึกษาปีที่ 2 650 บาทต่อคนต่อปี 
      • ประถมศึกษาปีที่ 3 653 บาทต่อคนต่อปี
      • ประถมศึกษาปีที่ 4 707 บาทต่อคนต่อปี
      • ประถมศึกษาปีที่ 5 846 บาทต่อคนต่อปี
      • ประถมศึกษาปีที่ 6 890 บาทต่อคนต่อปี
    • มัธยมศึกษาตอนต้น 808 – 996 บาทต่อคนต่อปี
      • มัธยมศึกษาปีที่ 1 808 บาทต่อคนต่อปี
      • มัธยมศึกษาปีที่ 2 921 บาทต่อคนต่อปี
      • มัธยมศึกษาปีที่ 3 996 บาทต่อคนต่อปี
    • มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,164 – 1,384 บาทต่อคนต่อปี
      • มัธยมศึกษาปีที่ 4 1,384 บาทต่อคนต่อปี
      • มัธยมศึกษาปีที่ 5 1,326 บาทต่อคนต่อปี
      • มัธยมศึกษาปีที่ 6 1,164 บาทต่อคนต่อปี
    • ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 2,000 บาทต่อคนต่อปี

    ค่าอุปกรณ์การเรียน – เครื่องแบบนักเรียน

    ‘อุปกรณ์การเรียน’ ตามนิยามของกระทรวงศึกษาธิการ หมายถึง อุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นและส่งผลต่อกรพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตัวอย่างเช่น สีเทียน สีน้ำ ดินน้ำมันไร้สรพิษ กรรไกรสำหรับเด็กปฐมวัย กระดาษ สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด กระเป๋านักเรียน อินเตอร์เน็ตซิมเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับนักเรียนพิการ ฯลฯ

    ด้านการจัดซื้อระหว่างอุปกรณ์การเรียน จะแตกต่างจากหนังสือเรียน โดยกรณีที่เป็นหนังสือเรียน สถานศึกษาจะได้รับงบประมาณและเป็นผู้จัดซื้อไปแจกจ่ายนักเรียนโดยตรง แต่กรณีอุปกรณ์การเรียนคือ หลังจากสถานศึกษาได้รับงบประมาณแล้ว สถานศึกษาต้องจ่ายเงินสดให้กับนักเรียน-ผู้ปกครอง และนักเรียน-ผู้ปกครองเป็นผู้ซื้อด้วยตัวเอง แล้วต้องส่งใบเสร็จเพื่อยืนยันการซื้อจริง

    ค่าอุปกรณ์การเรียน แบ่งเป็น 5 ระดับชั้น ดังนี้

    • ระดับก่อนประถมศึกษา 290 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 145 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา 440 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 220 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 520 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 260 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 520 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 260 บาทต่อคน
    • ระดับ ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 520 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 260 บาทต่อคน

    เงินอีกก้อนที่นักเรียน-ผู้ปกครอง จะได้รับโดยตรงคือ ‘ค่าเครื่องแบบนักเรียน’ โดยค่าเครื่องแบบฯ ใช้หลักการเดียวกันกับค่าอุปกรณ์การเรียน อีกทั้งนักเรียน-ผู้ปกครอง สามารถถัวจ่ายระหว่างอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบนักเรียนได้ กรณีที่มีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงพอแล้ว

    นิยามของค่าเครื่องแบบบนักเรียน ครอบคลุมตั้งแต่ ชุดนักเรียน กางเกง กระโปรง ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด เข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า ชุดกีฬา ชุดฝึกงาน และชุดประจำท้องถิ่น โดยแบ่งเป็น 5 ระดับชั้น ดังนี้

    • ระดับก่อนประถมศึกษา 325 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 145 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา 400 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 220 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 260 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 550 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 260 บาทต่อคน
    • ระดับ ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 260 บาทต่อคน

    ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

    กระทรวงศึกษาธิการ กำหนด ‘กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน’ 5 ประเภท คือ กิจกรรมวิชาการ กิจกรรมคุณภาพ (ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ผู้บำเพ็ญประโยชน์) กิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกิจกรรมการเรียนการสอนทางไกล 

    ทั้งนี้ สถานศึกษาจะได้รับงบประมาณตามโควตาจำนวนนักเรียน จากนั้นสถานศึกษาจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดขอบเขตการใช้ไว้ข้างต้น 

    ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 5 ระดับชั้น ดังนี้

    • ระดับก่อนประถมศึกษา 464 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 232 บาทต่อคน
    • ระดับประถมศึกษา 518 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 259 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 950 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 475 บาทต่อคน
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,026 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 513 บาทต่อคน
    • ระดับ ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 1,026 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคเรียนละ 513 บาทต่อคน