ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐปรับอัตราเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี แต่ไม่สร้าง ‘Equity Effect’ แนะทำ 3 โจทย์สำคัญ

รัฐปรับอัตราเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี แต่ไม่สร้าง ‘Equity Effect’ แนะทำ 3 โจทย์สำคัญ

24 สิงหาคม 2022


ในช่วงที่ผ่านมานักวิชาการด้านศึกษา รวมทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกันเสนอการปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนา”ถึงเวลาแล้วหรือยัง ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี” หรือการนำเสนอข้อมูลงานวิเคราะห์ต่างๆ ล้วนพูดถึงการ ‘เรียนฟรี 15ปี’ ไม่มีอยู่จริง หรือเรียนฟรี 15 ปี ไม่ใช่คำตอบ เพราะเด็กยากจนพิเศษ 2.4 ล้านคนส่อหลุดนอกระบบ

รวมทั้งการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลแม้เป็นนโยบายที่ดี แต่มาตรการนี้ยังไม่สามารถสร้าง Equity Effect หรือ ผลกระทบในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับกลุ่มยากลำบากที่สุดได้ตรงจุด นักวิชาการการศึกษาได้เสนอข้อควรพิจารณาเพิ่มเติม ปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ซึ่งอยู่ในรายการค่าจัดการเรียนการสอน 1 ใน 5 รายการ ของโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ

  • “เรียนฟรี 15ปี” ไม่อยู่จริง เด็กยากจนพิเศษ 2.4 ล้าน ส่อหลุดนอกระบบ
  • ภาระค่าใช้จ่ายรับเปิดเทอม เรียนฟรี 15 ปี ไม่ใช่คำตอบ?
  • สภาพปัญหาที่เผชิญอยู่

    ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)ระบุว่าประเทศไทยมีโครงการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ปีการศึกษา 1/2552 เพื่อขยายโอกาสแก่เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส และผู้เรียนทั้งประเทศให้สามารถเข้าถึงการได้รับการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน 4 รายการ ได้แก่ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่าจัดการเรียนการสอน และค่าจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในอัตราการปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ

    อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปี ยังมีส่วนของเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ซึ่งอยู่ในรายการค่าจัดการเรียนการสอน ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงกว่า 2.4 ล้านคนซึ่งอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ฯ (2,700 บาทต่อคน/เดือน ) ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

    โดยที่ผ่านมาอุดหนุน จำนวน 1,000 บาท สำหรับชั้นประถมศึกษา และจำนวน 3,000 บาท สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ขณะเดียวกัน กสศ.อุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษชั้นอนุบาลจำนวน 4,000 บาท และชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 3,000 บาท

    แม้จะมีการอุดหนุนดังกล่าว ปัญหาการออกหลุดออกจากระบบการศึกษา กลับยังคงวิกฤติโดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เด็กกลุ่มเสี่ยงกว่า 2.4 ล้านคน ซึ่งอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน ของสภาพัฒน์ฯ (2,700 บาทต่อคน/เดือน) โดยกลุ่มยากลำบากที่สุด(ยากจนพิเศษ) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,094 บาทต่อครัวเรือน หรือราววันละ 36 บาทเท่านั้น มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมามีนักเรียนมากกว่า 2 แสนคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปชั่วคราว โดยรัฐบาลได้ผลักดันโครงการพาน้องกลับมาเรียนเพื่อพยายามดึงนักเรียนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

    สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนว่าเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปี ยังมีจุดอ่อน โดยเฉพาะการให้ความสําคัญกับกลุ่มนักเรียนก่อนประถมศึกษา และนักเรียนด้อยโอกาสน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่กลุ่มที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนสูงโดยนักเรียนจากครัวเรือนยากจน 2 กลุ่มสำคัญที่ยังมิได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ได้แก่

    • นักเรียนในระดับอนุบาลที่มาจากครัวเรือนยากจน และยากจนพิเศษ
    • นักเรียนในระดับ ม.ปลาย หรือ เทียบเท่า ที่มาจากครัวเรือนยากจน และยากจนพิเศษ
    • นักเรียนทุกระดับชั้นในสังกัดกรุงเทพมหานคร พัทยา

    นอกจากนี้อัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนที่ช่วยเหลือนักเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น มิได้มีการวางระบบการทบทวนอัตราที่เหมาะสมเป็นระยะยังคงเป็นอัตราเดิมที่ไม่มีการปรับมาเป็นเวลากว่า 13 ปี ได้แก่

    • 1,000 บาทต่อคนต่อปี สำหรับนักเรียนประถมศึกษา (คิดเป็นวันละ 5 บาท เท่านั้น)
    • 3,000 บาทต่อคนต่อปี สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (คิดเป็นวันละ 15 บาท เท่านั้น)

    อัตราดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นตลอด 13 ปีที่ผ่านมา และในปี 2565 นี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงถึง 4-5%

    ข้อเสนอเชิงนโยบาย

    1) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ใน หมุดหมายที่ 9 จึงได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ผ่านการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

    2) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงโครงการเรียนฟรี 15 ปีให้แก่คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระทรวงศึกษาธิการใน 3 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

    • ปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังจากไม่มีการปรับมามากกว่า 13 ปีแล้ว
    • ขยายความครอบคลุมเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้ครอบคลุมนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษในระดับอนุบาล และมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าในทุกสังกัดการศึกษา
    • กำหนดเงื่อนไขของการจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าวให้เป็น Conditional Cash Transfer (CCT) โดยให้มีการติดตามไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ และร่างกายที่สมวัย รวมทั้งสามารถศึกษาต่อในระดับการศึกษาหลังขั้นพื้นฐานตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล

    3) ข้อเสนอนี้ถือเป็นทางเลือกนโยบายด้านการจัดสรรงบประมาณการศึกษาของประเทศ ที่สามารถบรรเทาผลกระทบของปัญหาโควิด-19 และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้ สามารถสร้าง Equity Effect หรือ ผลกระทบในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับกลุ่มยากจนที่สุด ได้ตรงจุดสอดคล้องกับโครงการพาน้องกลับโรงเรียนซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

    …..

    กลุ่มเป้าหมายอนุบาลและมัธยมศึกษาตอนปลายมีความสำคัญอย่างไร?

    ในกรณีของเด็กอนุบาล ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่าเด็กก่อนประถมศึกษามีอัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบลดลง (Gross Enrolment Ratio : GER) โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 อัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 82.8 ในปี2560 เหลือเพียงร้อยละ 78.7 ในปี 2563 เท่านั้น อีกนัยหนึ่งคือมีเด็กเล็กจำนวน 442,021 คน หรือร้อยละ 21.3 ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการเตรียมความพร้อม การขาดการเตรียมความพร้อมทำให้เด็กจากครัวเรือนยากจนเข้าเรียนช้าหรือมักมีอายุเกินเกณฑ์ และรายได้ครัวเรือนยากจนที่ลดลงจากทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนชั้นอนุบาลได้ผลการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าในปีการศึกษา 2564 ครัวเรือนยากจนยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อส่งลูกเรียนระดับอนุบาลประมาณ 6,500 บาทต่อคนต่อปี (รายจ่ายนี้สูงกว่ารายจ่ายที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงสามเท่าตัว)

    ข้อมูลเชิงประจักษ์จากหลายประเทศชี้ว่า การลงทุนในเด็กเล็กที่ด้อยโอกาส ตั้งแต่ แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ อย่างมีคุณภาพจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่าสูงถึงร้อยละ 13 ขณะที่อัตรา ผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในระดับอนุบาล ประมาณร้อยละ 7-10 (Heckman, 2022)

    ในกรณีของมัธยมศึกษาตอนปลาย รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2563 ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า โอกาสในการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับครัวเรือนยากจน ต่ำกว่าครัวเรือนที่มีฐานะมากถึง 1.8 เท่า กล่าวคือ อัตราการเข้าเรียนสุทธิของครัวเรือนยากจนที่สุด (เดไซล์ที่หนึ่ง) คิดเป็นร้อยละ 42.7 ขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุด (เดไซล์ที่สิบ) สูงถึงร้อยละ 76.1 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564) นอกจากนั้นรายงานเรื่องช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ: ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 ขององค์การยูนิเซฟ-ประเทศไทย ชี้ว่า นักเรียนจากครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากถึงร้อยละ 32 (องค์การยูนิเซฟ, 2564) ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาระหว่างครัวเรือนที่มีเศรษฐฐานะแตกต่างกันสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

    ผลการสำรวจในปี 2564 โดย กสศ. พบว่า นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ จำเป็น (ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียม ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่ากิจกรรม ค่าเดินทาง เงินไปโรงเรียน ค่าใช้จ่ายไม่ประจำ) สำหรับสายสามัญเป็นจำนวน 41,545 บาทต่อคนต่อปี และ สายอาชีพ จำนวน 53,223 บาทต่อคนต่อปี และหากรวมค่าที่พักค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 77,545 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 70,803 บาท

    เพราะ’ระดับการศึกษา’ คือหนึ่งในทุนมนุษย์สำคัญที่ถูกส่งต่อข้ามรุ่น!ดังนั้น การส่งเสริมโอกาสการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับให้แก่นักเรียนที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษ จะช่วยให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น

    จากข้อมูลการขยับฐานะระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมไทย โดยธนาคารโลก พบว่า หากพ่อแม่มีการศึกษาสูง ลูกก็มีแนวโน้มเรียนจบในระดับเดียวกับพ่อแม่มากตรงกันข้าม หากพ่อแม่มีการศึกษา ระดับต่ำสุด ลูกก็จะมีแนวโน้ม มีการศึกษาระดับต่ำสุดไปด้วย

    การนำเด็กยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษา ยังมีอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (IRR) อยู่ที่ประมาณ 9% ซึ่งเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น เช่น รถไฟฟ้า และยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐที่ประมาณ 2.7% จึงถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่มีความคุ้มค่ามาก ตอบโจทย์เศรษฐกิจ ประเทศไทยที่ต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ ปานกลางและต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะ มากกว่าการอาศัยเครื่องจักรเหมือนในอดีต