ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > EEC ตั้งเป้าปี 64 ผลิตบุคลากร 5 หมื่นคน รับอุตฯเป้าหมาย

EEC ตั้งเป้าปี 64 ผลิตบุคลากร 5 หมื่นคน รับอุตฯเป้าหมาย

18 พฤศจิกายน 2020


“โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว คนที่ทำงานอยู่ ก็ต้อง Re-skill ใหม่ การที่จะเปลี่ยนประเทศไทย จาก 2.5 เป็น 4.0 มันไม่ได้เปลี่ยนแค่เทคโนโลยีน่ะ แต่มันหมายถึงปริมาณคนทำงานที่ลดลง ทักษะ ประสบการณ์สูงขึ้น และที่สำคัญจะมีคนจำนวนหนึ่งต้องมา Re-skill เพื่อย้ายไปทำงานด้านอื่นๆ นอกจากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นเป็น 4.0 แล้ว ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจะลดลงเฉลี่ย 38% ด้วย”

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาล ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปลงทุนของประเทศครั้งใหญ่ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ปี 2560 รัฐบาล จึงประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “EEC” ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด อันได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา , ชลบุรี และระยอง โดยการออกกฎหมายพิเศษ ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน อาทิ การลดขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่าง ๆ , การเดินทางเข้า-ออกประเทศ , จัดเตรียมพื้นที่ และงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี และบีโอไอ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจเข้ามาลงทุนในเขตพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล , อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร , อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ , อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต , อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ , อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , อุตสาหกรรมระบบราง , อุตสาหกรรมการบิน , พาณิชย์นาวี และ โลจิสติกส์ เป็นต้น โดยตั้เป้าหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนรวมกันไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐต้องจัดเตรียม “บุคลากร” หรือ “แรงงาน” ตามความต้องการของตลาด หรือที่เรียกว่า “Demand Driven Education” รองรับอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2562-2566 ประมาณ 475,668 อัตรา

ขณะที่ระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่ตอบโจทก์ความต้องการของตลาดแรงงานสักเท่าไหร่ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงแต่งตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลการ (Eastern Economic Corridor Human Development Center)หรือ ที่เรียกว่า “EEC-HDC” โดยมีดร.อภิชาต ทองอยู่ เป็นประธานคณะทำงาน ฯ รับผิดชอบงานพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ตามแนวทาง EEC Model รวมทั้งขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) , สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา , กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน , มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆในพื้นที่ EEC ร่วมกันจัดทำหลักสูตร และพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ EEC หรือ ที่เรียกว่า “Demand Driven”

ปรากฎในช่วงต้นปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้สกพอ.ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนในเขตพื้นที่ EEC ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเดินหน้าผลิตบุคคลากรตามเป้าหมาย 5 แสนอัตราต่อไปภายใต้ EEC Model เน้นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และโลจิสติกส์มากขึ้น โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายผลิตบุคลากรประมาณ 50,000 อัตรา รองรับความต้องการของผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ EEC

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน EEC-HDC

ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน EEC-HDC เปิดเผยกับ “ไทยพับลิก้า” ว่าแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ภายใต้ EEC Model โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ จะเน้นพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการตามหลัก Demand Driven ขณะที่ระบบการศึกษาแบบเก่าจะเป็น “Supply Driven” จะเน้นความต้องการของสถานศึกษาเป็นหลัก ทำให้บุคลากรที่สำเร็จการศึกษาทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญศึกษา อาชีวะ และปริญญาตรี ไม่มีทักษะตามความต้องการของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในเขตพื้นที่ EEC เมื่อผู้ประกอบการรับเข้าทำงานแล้วต้องมาฝึกกันอีกหลายปี ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของ EEC-HDC คือ การปั้นบุคลากรให้ตรงกับความต้องการตลาดแรงงานใน EEC

ตามแผนการพัฒนาบุคลากรภายใต้ EEC Model นั้น เราแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ EEC Model Type A กับ EEC Model Type B ทั้งสองกลุ่มจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ทำงานภายใต้หลักการ demand driven เช่นเดียวกัน เน้นแก้ปัญหา 3 ด้าน คือ 1) แก้ปัญหาคนตกงาน 2) ผลิตบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และ 3) ปั้นบุคลากรที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย หมายความ เรียนจบ ปวช. หรือ ม.3 ตามหลักสูตรที่เรากำหนดต้องได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท หรือ จบ ปวส. ต้องได้เงินเดือนขั้นต่ำ 20,000 บาท และจบปริญญาตรีได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาท เป็นต้น

ดร.อภิชาต อธิบายหลักสูตรของพัฒนาบุคลากรภายใต้ EEC Model Type A ว่า คณะ EEC-HDC จะทำงานร่วมกับภาคอุตสากรรมในการพัฒนา “หลักสูตร” เพื่อให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถทำงานได้จริง ยกตัวอย่าง บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เราจะสอบถามความต้องการบุคลากรของบริษัทก่อน เช่น ต้องการพนักงาน 10 คน ภาคธุรกิจก็จะเข้ามาร่วมคัดเลือกนักศึกษาในวิธีการที่แตกต่างกันไป ทั้งตั้งเกณฑ์สอบคัดเลือกเด็กที่มีคะแนนสูงที่สุด หรือ ใช้วิธีการแบบ “ตกปลาในบ่อ” ให้ทางสถานศึกษาคัดมาให้เสร็จเรียบร้อย

“จากนั้นเมื่อเราได้นักศึกษา 10 คนแล้ว เราจะให้ทุนการศึกษา 100% ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ตั้งแต่ค่าเล่าเรียน ค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แถมยังมีเงินติดกระเป๋าอีกเดือนละ 4,000 บาท”

EEC Model A จะตอบโจทก์ในการแก้ปัญหาเด็กที่เรียนจบมาแล้ว ไม่ได้ทำงานตรงตามสายวิชาชีพที่เรียนมา พอเริ่มต้นทำงานก็ต้องมาเริ่มต้นฝึกอบรมกันใหม่ และเมื่อทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง เด็กก็จะถูกดึงตัวไปทำงานที่อื่น ทำให้บริษัทเสียต้นทุนในการผลิตคน

ดร.อภิชาต ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมีการฝึกอบรมบุคลากรในกลุ่ม Type A ประมาณ 10,000 คน

ส่วน EEC Model B ดร.อภิชาต กล่าวว่า เป็นหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Short Courses) เพื่อผลิตกำลังคน ปรับทักษะ (Re-skill) เพิ่มทักษะ (Up-skill) ในระยะเร่งด่วน เป็นหลักสูตรแบบ Non Degree ระยะเวลาฝึกอบรมมีตั้งแต่ 1 วัน ถึง 1 ปี ตามขั้นตอน คือ บริษัทจะต้องแจ้งความประสงค์ในการยกระดับพนักงานมาที่ EEC-HDC ตามแพลตฟอร์มที่เรากำหนด โดยบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้สามารถเสนอหลักสูตรที่ต้องการฝึกอบรมพนักงานได้

หลังจากที่คณะทำงาน EEC-HDC อนุมัติหลักสูตรที่นำเสนอโดยภาคธุรกิจแล้ว คณะทำงานฯ จะส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากร และ BOI เพื่อทำให้ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ โดยภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 50% ของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรม ส่วนที่เหลืออีก 50% บริษัทเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และที่สำคัญกรมสรรพากรยังเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่าย 50% ที่ใช้ในการจัดฝึกอบรมบุคลากรภายในหลักสูตรของ EEC Model ไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก 25% เท่ากับว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้จ่ายเงินลงทุนพัฒนาทักษะบุคลากรแค่ 25% เท่านั้น

ดร.อภิชาติ กล่าว่า จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีหลักสูตรระยะสั้นผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากคณะทำงาน EEC-HDC แล้ว 89 หลักสูตร มีบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม 7,000 คน ส่วนในปี 2564 ทาง EEC-HDC ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรภายใต้ EEC Model Type B ไว้ที่ 30,000 คน

“โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว คนที่ทำงานอยู่ ก็ต้อง Re-skill ใหม่ การที่จะเปลี่ยนประเทศไทย จาก 2.5 เป็น 4.0 มันไม่ได้เปลี่ยนแค่เทคโนโลยีน่ะ แต่มันหมายถึงปริมาณคนทำงานที่ลดลง ทักษะ ประสบการณ์สูงขึ้น และที่สำคัญจะมีคนจำนวนหนึ่งต้องมา Re-skill เพื่อย้ายไปทำงานด้านอื่นๆ นอกจากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นเป็น 4.0 แล้ว ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจะลดลงเฉลี่ย 38% ด้วย”

ดร.อภิชาต กล่าวต่อว่า ความท้าทายในการปฏิรูประบบการศึกษาของไทย ไม่ใช่แค่ภาครัฐกับ EEC เท่านั้น แต่รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนและสถานศึกษา ก็ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น EEC-HDC จึงเข้าไปช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยทำงานร่วมกับอีก 600 บริษัท และ คัดเลือกพนักงานมาประมาณ 9,500 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้ควบคุมการผลิต (supervisor) และกลุ่มปฏิบัติการ (operator) ภายใต้งบประมาณ 186 ล้านบาท

“เราการันตีได้เลยว่าสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหลังโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจของคุณจะกระโดดได้เลย เพราะ ถ้าไม่ปรับตัว ตอนนี้แล้ว คุณยังทำอย่างแบบเดิม ๆ ก็เหมือนรอวันตาย ขณะที่ภาคการศึกษาเอง ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าคิดแบบเดิม ๆ คือให้อาจารย์-ครูสอนไปตามหลักสูตร พอเด็กจบมาก็ตกงาน ดังนั้นต้องปรับระบบนิเวศของการศึกษาด้วย เมื่อเรียนจบมาแล้ว ต้องทำงานได้จริงๆ” ดร.อภิชาต กล่าว

ขณะเดียวกัน สถานศึกษาก็ต้องคิดแบบ ‘life-long education’ หรือ การศึกษาตลอดชีวิตให้เด็กได้ทำงานและเรียนหนังสือไปพร้อมกัน โดยที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนจบภายในเวลาที่กำหนด

“ในระบบมหาวิทยาลัย และอาชีวะ เราต้องปรับระบบนิเวศการศึกษา สร้างให้เป็นโมดูล เช่น ปวช. เรียน 3 โมดูลถึงจะจบ ส่วน ปวส.เรียน 5 โมดูลถึงจะจบ และต้องให้แน่ใจว่าเด็กมีงานทำชัดเจน ไม่ใช่มั่วแต่เรียนเป็นหน่วยกิต ต้องมีระบบเครดิตแบงก์ด้วย โดยเด็กจะเรียนจบเมื่อไรก็ได้ เขาต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย” ดร.อภิชาต กล่าว

นอกจากนี้คณะทำงาน EEC ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพิ่มวิชาภาษาต่างประเทศเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนกว่า 800 แห่ง อาทิ ภาษาอังกฤษ , จีน , ญี่ปุ่น , เยอรมัน และให้เรียนวิชาโค้ดดิงเพิ่มด้วย (coding)

จากนั้นทางคณะทำงาน EEC-HDC ก็ประสานความร่วมมือระหว่าง สกพอ.กับกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี” (Excellent Center) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา (ด้านศูนย์ยานยนต์สมัยใหม่) , วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ด้านศูนย์ดิจิทัลและหุ่นยนต์) , วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (ด้านศูนย์ระบบราง และ Logistic) , วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (ด้านศูนย์ Aviation และการท่องเที่ยว) , วิทยาลัยเทคนิคระยอง (ด้านศูนย์ Automation & Robotic) และวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี (ด้านศูนย์โลจิสติกส์)เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้กับนักศึกษาอาชีวะ เช่น เรื่องดิจิทัล ออโตเมชัน ยานยนต์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ ฯลฯ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพหลังสำเร็จการศึกษามาทำงานมาทำงานในพื้นที่ EEC พร้อมสร้างเครือข่ายกับภาคเอกขนที่มีศักยภาพ ตลอดจนเน้นแนะแนวการศึกษาต่อตามศักยภาพของผู้เรียน อันจะเป็นการยกระดับการอาชีวศึกษาครั้งใหญ่ในพื้นที่ EEC

สรุปว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษาใน EEC คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการศึกษาแบบเดิม ๆที่ดูคร่ำครึให้มีความทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการตลาดตามหลัก Demand Driven

ดร.อภิชาต บอกว่า คณะทำงานได้ประเมินความต้องการของตลาดแรงงานในเขตพื้นที่ EEC ช่วงปี 2562-2566 พบว่ามีตลาดมีความต้องการอย่างน้อย 475,668 คน โดยผ่านการศึกษาแบบ expert consultation โดยนำที่ปรึกษาเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจดิจิทัล โรโบติก และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ มาหารือว่าในธุรกิจนั้นๆ มีความต้องการคนจำนวนเท่าไร จากนั้นก็ใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์แบบ econometrics of survey เข้ามารวมด้วย ผลลัพธ์ที่ได้มารวมกันเท่ากับจำนวนแรงงานที่ตลาดต้องการใน EEC ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็น อาชีวะ 53% และปริญญาตรีอีก 47%

ดร.อภิชาตกล่าวต่อว่า อุปสรรคของการทำงานในช่วงที่ผ่านมา คือ เรื่องความยืดหยุ่นในการขับเคลื่อนแผนงาน การทำงานก็มีข้อจำกัดในเรื่องของระเบียบและกฎเกณฑ์ของระบบราชการ ไม่คล่องตัวเหมือนภาคเอกชน ภาพของระบบราชการหนีไม่พ้นความอุ้ยอ้าย ล่าช้า ดังนั้น สิ่งแรกที่คณะทำงาน ฯ ต้องเร่งดำเนินการ คือ เปลี่ยนแนวความคิด และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยทำให้ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกคน มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน

“การทำงานที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากเห็นด้วยกับแผนของ EEC ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของวิทยาลัยเทคนิคทุกแห่ง อาจารย์ คณบดี อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยในเขตพื้นที่ EEC ตลอดจนคนในภาครัฐ ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และทิศทางของการพัฒนาประเทศที่กำลังจะยกระดับเป็นอุตสาหกรรม 4.0 เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษาแบบก้าวหน้า ตอบโจทย์คนเข้าไปทำงานบนแพลตฟอร์มของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องหยุดความสูญเปล่าทางการศึกษา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาบัณฑิตจบใหม่ตกงาน 500,000-600,000 คน”

แต่อย่างไรก็ตาม การยกระดับการศึกษาเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรื้อระบบการศึกษาทั้งประเทศ เพราะ EEC ก็ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง

นี่เป็นเหตุผลที่ ดร.อภิชาตวางกลยุทธ์ให้อีอีซีโมเดลเป็นต้นแบบของการ “เปลี่ยน” โครงสร้างการศึกษาบนฐานคิดของ Demand Driven เพื่อขยายหลักสูตร EEC Model ออกไปไกลกว่าพื้นที่ EEC

“ในด้านความร่วมมือ เราสามารถร่วมมือกับกระทรวงศึกษาจนเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว กระทรวงแรงงานก็เข้ามาร่วมด้วย เหลือแต่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเราจะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนการศึกษานอกพื้นที่ EEC ด้วย”

ดร.อภิชาต อธิบายถึงความร่วมมือนอกพื้นที่ EEC ว่า อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ได้ตั้งหน่วยงานชื่อว่า CIWIE ขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกับคณะทำงาน EEC แต่การทำงานดังกล่าว เป็นการทำงานนอกพื้นที่เขต EEC เนื่องจากโมเดล EEC จะเป็นต้นแบบ เพื่อนำไปใช้กับทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้ามาเสริมในจุดนี้

“เราจะใช้อีอีซีโมเดลทำนอกพื้นที่ด้วย เพราะถ้าเปลี่ยนได้ทั้งประเทศ เราก็จะไม่มีคนตกงาน”

ทั้งหมดเป็นแผนที่คณะ EEC กำหนดไว้ในระยะ 2-5 ปี ทว่าดันสะดุดกับโควิด-19 แผนงานจึงไม่ราบรื่นเหมือนที่วาดฝันไว้ ถึงอย่างนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนแผนงานระหว่างทางให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง

แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาดูทิศทางการศึกษาหลังจากนี้ โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ในพื้นที่ EEC ว่าจะยังหลงเหลือ ‘บัณฑิตเตะฝุ่น’ หรือไม่ เพราะนี่จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จของอีอีซีโมเดลในอนาคต