ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > PIER Research Brief โลกเดือด ลดคาร์บอนอย่างเดียวไม่พอ ไทยต้องมี Climate Adaptation เพื่ออยู่ให้ได้

PIER Research Brief โลกเดือด ลดคาร์บอนอย่างเดียวไม่พอ ไทยต้องมี Climate Adaptation เพื่ออยู่ให้ได้

27 พฤษภาคม 2024


วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/2567 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy) โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ ผู้วิจัย และ นายสุพริศร์ สุวรรณิก ดำเนินรายการ

การบรรยายสรุปครั้งนี้มาจากบทความการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy) ที่ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California San Diego และ นางสวิสา พงษ์เพ็ชร University of Oxford ได้รวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ผ่านบทความ PIERspectives โดยนำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) สถานการณ์ climate change ของโลกและของประเทศไทย ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของ climate change ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยสรุปได้ดังนี้

ถ้าไม่ทำอะไรไทยจะร้อนขึ้น 4-5 องศาเซลเซียส

ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่ในอดีตมีความแปรปรวนอยู่แล้ว แต่กิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมือง เป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกยังเห็นได้จากปรากฏการณ์เช่น ธารน้ำแข็งที่ลดลง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนการเกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงและถี่ขึ้น

“ในฉากทัศน์ที่ประเมินปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม (Shared Socioeconomic Pathways-SSP)ที่เลวร้ายที่สุดที่ 8.5จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิจะสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งทั่วโลกจะหายไป ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น นำมาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วมชายฝั่ง”ดร.กรรณิการ์ กล่าว

สำหรับสภาพภูมิอากาศของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศสุดขั้วของไทยมีความรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น หากพิจารณาแนวโน้มสภาพภูมิอากาศของไทยในอนาคต ข้อมูลจากหลายแบบจำลองภูมิอากาศพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภาพจำลอง โดยมีแนวโน้มที่จะเผชิญอากาศร้อนมากขึ้นและมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญกับทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น

ในระดับโลกจากการเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1850 จนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ส่วนของไทยก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส จากข้อมูลปี 1960 จนถึงปัจจุบัน และแต่ละพื้นที่ในประเทศอุณหภูมิก็เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ภาคกลางกับภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นเยอะ นอกจากนี้อุณหภูมิสูงสุด(max temperature) ทั้งในช่วงกลางวัน และอุณหภูมิต่ำสุด(min temperature) ในช่วงกลางคืนก็สูงขึ้นเช่นกัน

“แต่ละจังหวัด อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน มีบางจังหวัดที่ติดอันดับต้นๆในทุกด้านจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน คือ โคราช อุลราชธานี ส่วนในภาคใต้คือ นครศรีธรรมราช และแต่ละจังหวัดมีความสามารถในการรับมือไม่เท่ากัน อย่างกรุงเทพแม้ติดอันดับในการเปิดรับภัย แต่มีความสามารถในการรับมือดีกว่าจังหวัดอื่นในเชิงเปรียบเทียบ เช่น ในด้านสาธารณสุขก็มีจำนวนโรงพยาบาลต่อประชากรสูงกว่า” ดร.กรรณิการ์กล่าว

สิ่งที่มาพร้อมกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น คือ ฝน ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา จำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง ระยะเวลาในตกต่อเนื่องก็ลดลงด้วย ซึ่งเป็นสัญญานของภัยแล้ง ความแรงของฝนเพิ่มขึ้น ฤดูฝนจะสั้นลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และสลับกับภัยแล้ง เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำ

ภัยจากสภาพภูมิอาอาศอีกด้านคือ พายุ แต่จากข้อมูลจำนวนพายุที่พัดเข้าไทยต่อปีมีแนวโน้มลดลง แต่พายุที่มีความรุนแรงกว่าพายุดีเปรสชัน(สูงกว่า 61 กิโลเมตร/ชั่วโมง)ขึ้นไปที่เกิดขึ้นในรอบ ทุก 10 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“ทั้งหมดนี้ให้ภาพในทิศทางเดียวกันเลยว่าประเทศไทยที่ผ่านมาประสบกับความแห้งแล้งยาวนาน สลับกับน้ำท่วมฉับพลัน” ดร.กรรณิการ์กล่าว

ดร.กรรณิการ์กล่าวว่า….

อุณหภูมิในประเทศไทยในอนาคตคาดว่าจะสูงขึ้น จากแบบจำลองสถานการณ์คาดการณ์ไปจนถึงปลายศตวรรษนี้ โดยในฉากทัศน์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก RCP(Representative. Concentration Pathway)เลวร้ายสุดที่ 8.5 ถ้าไม่ทำอะไรเลยและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้นภายในศตวรรษนี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 4-5 องศาเซลเซียส

“ในอนาคตนอกจากอุณหภูมิในประเทศไทยจะสูงขึ้นแล้ว ความเข้มข้นของความร้อนจะสูงขึ้นและร้อนนานขึ้น ช่วงของฤดูร้อนมีแนวโน้มที่จะขยาย จากปัจจุบันที่ร้อนถึงปลายเมษายน กลางพฤษภาคมฝนก็มา แต่ต่อไปจะนานขึ้น นอกจากนี้ก็มีโอกาสที่จะขาดฝนมากขึ้น จากนี้ไปจนสิ้นศตวรรษนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเจอภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมฉับพลัน ” ดร.กรรณิการ์กล่าว

ผลกระทบต่อเกษตร-อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว

ในแง่ของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ climate change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์และรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน และภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีด้วยกัน 2 ด้าน ด้านแรกความเสี่ยงทางกายภาพ(Physical Risk) คือ ภัยแล้ง น้ำท่วม อุณหภูมิสูง ภัยพิบัติต่างๆ ด้านที่สอง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ(Transition Risk) ซึ่งหมายถึงกฎหมาย กฎระเบียบที่จะเอื้อให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ รวมไปถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบผ่านช่องทางภาค real sector หรือ การผลิตและภาคบริการ ซึ่งมีภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ ครัวเรือน ภาคการเงิน และภาคการคลัง ไปยังเศรษฐกิจมหภาค ทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำในประเทศ

สำหรับผลกระทบของ climate change ต่อภาคการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว พบว่าแต่ละภาคได้รับผลกระทบจาก climate change ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเปิดรับภัยคุกคามและความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ

“ภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งสภาพอากาศที่เหมาะสมทั้งการปลูกข้าว เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนก็กระทบต่อผลผลิต(yield) ของข้าว สัตว์ก็เช่นกันจะโตช้าเพราะมีความเครียดจากความร้อน ขณะที่น้ำท่วมทำให้พืชผลเสียหายก่อนที่จะเก็บเกี่ยว สัตว์ก็อาจจะล้มตาย ได้มีการคาดการณ์กันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายในภาคเกษตรในปี 2554-2588 เป็นมูลค่า 0.61-2.85 ล้านล้านบาท โดยเกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานได้รับผลกระทบน้อยกว่าการเกษตรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน เพราะในพื้นที่ชลประทานสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ดีกว่าการเกษตรที่พึงน้ำฝนอย่างเดียว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน”ดร.กรรณิการ์กล่าว

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ดร.กรรณิการ์กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากภัยหลายประเภท กรณีที่เกิดน้ำท่วมไม่ได้รับผลกระทบเฉพาะเครื่องจักร โรงงานเท่านั้น แต่กระทบห่วงโซ่อุปทานด้วย ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบเข้าโรงงาน และการส่งสินค้าออกไปจำหน่าย ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขาดน้ำ โรงงานที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก ทั้งเพื่อเป็นวัตถุดิบ ส่วนอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็มีผลต่อค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือใช้ในการหล่อเย็นก็ได้รับกระทบมาก

“ที่สำคัญ อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงาน แต่ผลกระทบต่อแต่ละภาคไม่เท่ากัน ในภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ที่แรงงานต้องทำงานกลางแจ้งได้รับผลกระทบมาก งานวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ในช่วงที่อุณหภูมิร้อนจัด มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานของแรงงานของไทย 164 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 7 วัน”ดร.กรรณิการ์กล่าวว่า

ดร.กรรณิการ์กล่าวว่า ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ(Transition Risk) น่าจะมีผลกระทบมาก ในปีนี้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change น่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 4 ปีนี้ ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นคือ การรายงานก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมาตรการภาษีคาร์บอน ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนของต้นทุนในการผลิตสินค้าที่โรงงานต้องแบกรับ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกับ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) จากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย

ด้านภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวอย่างของภาคบริการ พบว่า ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ แต่จังหวัดที่ใช้จุดขายเรื่องอากาศยังไม่มีการเตรียมการปรับมือกับฤดูร้อนที่นานขึ้น หรือช่วงอากาศเย็นที่ลดลง ที่ส่งผลให้ช่วง high-season หดลง นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงทางกายภาพอีกมาก

ขณะที่ครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบจาก climate change เช่นกัน ทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การกระจายตัวของโรคติดต่อ ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นที่อยู่ ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน

“ส่วนผลกระทบต่อภาคครัวเรือน มีทั้งผลด้านสุขภาพ ไม่เฉพาะทางกาย แต่ยังส่งผลต่อจิตใจด้วย จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ประสบภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศจะมีแผลเป็นทางใจด้วย อีกทั้งมีข้อจำกัดในการโยกย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ปลอดภัย และสุดท้ายยังได้รับผลกระทบทางดารเงืน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่พึ่งพาสภาพอากาศในการสร้างรายได้” ดร.กรรณิการ์กล่าว

นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางกายภาพจาก climate change และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด ความเสี่ยงในการรับประกัน ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ตลอดจนความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ส่วนผลกระทบต่อการคลังภาครัฐ climate change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ รายได้ และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง

ต้องมี Adaptation เพื่ออยู่ให้ได้

ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค climate change ส่งผลกระทบต่อ GDP ทั้งฝั่งอุปสงค์รวมและฝั่งอุปทานรวม กระทบต่อระดับราคาและภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ มีความเปราะบางและมีความสามารถในการรับมือต่อ climate change ที่แตกต่างกัน

“ทุกองค์ประกอบของอุปสงค์รวมใน GDP ได้รับผลกระทบทั้งหมด เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอุดหนุนสินค้าสีเขียว การผลิตก็ต้องปรับไปผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้อก็ได้รับผลจากความเสียของพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น คนจนที่มีความสามารถในการรับมือน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรง” ดร.กรรณิการ์กล่าว

หากพิจารณากรณีของไทย มีงานศึกษาของชัยธัช จิโรภาส ดร.พิม มโนพิโมกษ์ และสุพริศร์ สุวรรณิก (2022) ที่พบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลทางลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ

มองไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการปรับตัวต่อ climate change ตลอดจนจัดการกับความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้าน climate change ดังกล่าว

“เรายังมีความหวัง และอยู่กับเหตุการณ์เหล่านี้ให้ได้ด้วย 2 วิธี วิธีแรกคือ มาร่วมกันปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Adaptation ซึ่งผู้ที่ทำการปรับตัวก็มีบ้างแต่มีไม่เยอะ จากอุปสรรคหลายอย่าง แต่ที่กังวลคือภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับคาร์บอนต่ำเยอะ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่การลดคาร์บอนอย่างเดียวก่อนแล้วมาทำ adaptation ก็อาจจะสายเกินไปก็ได้”

…ดร.กรรณิการ์กล่าว

  • PIER Research ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด?