ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > PIER Research ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด?

PIER Research ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด?

15 มิถุนายน 2023


จากซ้าย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นางสวิสา
พงษ์เพ็ชร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และนายสุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้จัดบรรยายสรุป PIER Research Brief ครั้งที่ 2/2566 เรื่อง “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้ แล้วต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด? ” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีนายสุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำเนินรายการ

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(climate) และการใช้กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัว เนื่องจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบของพายุ น้ำท่วม หรือภัยแล้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประชากร และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยให้ตัวอย่างการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินในต่างประเทศ พร้อมเสนอแนะแนวทางดำเนินการต่อไปสำหรับประเทศไทย

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฉายภาพให้เห็นว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายกว่า 7,719 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร และหากประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง สภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุรุนแรง อุณหภูมิสุดขั้ว จะยิ่งมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อภาคส่วนต่าง ๆ และเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ งานศึกษาของ Swiss Re Institute (2021) ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวถึง 4.9 – 43.6%

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  • ADB ชี้ไทยเปราะบางต่อ Climate Change การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ Net Zero คือความท้าทายเชิงนโยบาย

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas mitigation) เป็นพันธกิจสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change adaptation) ควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะสภาวะอากาศสุดขั้ว เพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    นางสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

    การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ดังกล่าว มีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ

  • การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การนำแอพพลิเคชั่นการพยากรณ์อากาศมาใช้ในการวางแผนการผลิตในภาคเกษตรเพื่อป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วม/ภัยแล้ง ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
  • การปรับรูปแบบการจัดการ เช่น การปรับเปลี่ยนการเปิด/ปิดแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย การเลื่อนปฏิทินเพาะปลูก
  • การจัดทำฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิอากาศและสุขภาพ เพื่อใช้แจ้งเตือนภัยโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น heat stroke
  • การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย เช่น การนำระบบประกันภัยพืชผล ซึ่งเชื่อมโยงกับดัชนีภูมิอากาศมาใช้
  • การดำเนินการในแต่ละรูปแบบจำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนไม่เท่ากันและต้องอาศัยเงินทุนจากหลายแหล่ง การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ผลการศึกษาของ Global Landscape of Climate Finance 2021 พบว่า การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ยังเป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation finance) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด มากกว่าระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) สะท้อนจากข้อมูลในปี ค.ศ. 2019-2020

    การระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) มีมูลค่าประมาณ 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ระดับการสนับสนุนดังกล่าวนับว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการจัดการกับผลกระทบทั้งปัจจุบันและในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    โดยมองไปข้างหน้า UNEP (2021) คาดการณ์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับต้นทุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงถึง 155-330 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 และประมาณ 310-555 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยปัจจุบันเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สินเชื่อ และตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด ตามมาด้วยสินเชื่อ/ตราสารหนี้ดอกเบี้ยต่ำ โดยอาจใช้ควบคู่กับเครื่องมือทางการเงินอื่น เช่น ประกัน หรือ การรับประกัน เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงจากผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน

    สำหรับไทย หากพิจารณาเฉพาะการดำเนินการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า จำเป็นต้องใช้เงินทุนประมาณ 0.4 – 0.7% ของ GDP ต่อปี หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืนของไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเน้นไปที่โครงการบางประเภทเท่านั้น เช่น โครงการด้านการจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

    ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในไทยมีการออกตราสารหนี้ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยอดคงค้างของตราสารหนี้ยั่งยืน ณ สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 อยู่ที่ประมาณ 546,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากประมาณ 109,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน(sustainability bond) ที่เพิ่มขึ้น

    มองไปข้างหน้า ไทยอาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ส่งผลให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการเงินจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้โดยให้การสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) มากขึ้นโดยอาจใช้เครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น สินเชื่อ ตราสารหนี้ หรือใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ภาคส่วนต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ในภาคการเงินไทยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย

    บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.

    เอกสารอ้างอิง
    Biagini, B., R. Bierbaum, M. Stults, S. Dobardzic, S. McNeeley (2014). A typology of adaptation actions: A global look at climate adaptation actions financed through the Global Environment Facility, Global Environmental Change, vol. 25 (2014), pp. 97-108.
    Burmeister, H., A. Cochu, T. Hausotter, and C. Stahr (2019). Financing adaptation to climate change – an introduction, Adaptation Briefings, adelphi.
    Climate Policy Initiative (2021). Global Landscape of Climate Finance 2021.
    IMF (2022). IMF Staff Country Reports (Technreport No. 301.)
    Swiss Re Institute (2021). Economics of climate change: no action not an option.
    UNEP (2021). Adaptation Gap Report 2020, United Nations Environment Programme (UNEP). Available at: https://unepdtu.org/wp-content/uploads/2021/01/adaptation-gap-report-2020.pdf