ThaiPublica > เกาะกระแส > PIER เปิดตัว “TiDE-ศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจไทย” รวบรวมกว่า 25,000 ข้อมูลทั่วประเทศ ปิดจุดอ่อนตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

PIER เปิดตัว “TiDE-ศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจไทย” รวบรวมกว่า 25,000 ข้อมูลทั่วประเทศ ปิดจุดอ่อนตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

4 ธันวาคม 2019


ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ (ขวา) ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ได้จัดทำเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจไทย หรือ Thailand’s Integrated Database for Economics (TiDE) เพื่อเป็นแหล่งรวมสืบค้นข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่ครอบคลุมข้อมูลกว่า 25,000 ข้อมูล ใช้งานได้ง่ายและเปิดให้สาธารณชนใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ข้อมูลที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยให้มีมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อมูลสถิติและข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และมีการเผยแพร่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากหลายหน่วยงาน ข้อมูลเหล่านี้ส่วนมากจะอยู่บนเว็บไซต์ขององค์กรเจ้าของข้อมูล และมีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการนำไปใช้ในวิเคราะห์และวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย จึงได้จัดทำเว็บไซต์ https://tide.pier.or.th เพื่อลดอุปสรรคต่าง ๆ ในการใช้ข้อมูล รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน และผู้ที่มีความสนใจในข้อมูลเศรษฐกิจนำไปใช้ โดยเว็บไซต์ TiDE มีข้อดี ดังต่อไปนี้

    1. สืบค้นง่าย โดยใช้เพียงคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง
    2. เป็นข้อมูลเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องและอัพเดทอยู่ตลอดเวลา
    3. อยู่ในรูปแบบที่พร้อมนำไปใช้วิเคราะห์วิจัยต่อ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไฟล์ Excel รูปแบบกราฟิกที่สามารถปรับแต่งและใช้งานได้เลย รวมไปถึงสามารถแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ รวมไปถึงเว็บไซต์สามารถคำนวณตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่เลือกได้ทันที เช่น อัตราการเติบโต หรือการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวเสริมว่า “อนาคตอาจจะมีรูปแบบการสมัครสมาชิกสำหรับการใช้งานในรูปแบบอื่นๆที่ดีขึ้น แต่สำหรับข้อมูลพื้นฐานต่างๆจะรักษาไว้ให้สามารถใช้งานได้ฟรีและเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ข้อมูลอื่นๆในอนาคตจะเริ่มพูดคุยกันกับหน่วยงานต่างๆว่าจะเชื่อมต่อข้อมูลอย่างไรและใครจะเป็นผู้จัดเตรียมข้อมูล รวมไปถึงจะทยอยเพิ่มคำอธิบายเกี่ยวกับตัวแปรข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่ายด้วย”