ThaiPublica > คอลัมน์ > จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เกิดจนตาย?

จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เกิดจนตาย?

28 พฤศจิกายน 2023


สุพริศร์ สุวรรณิก [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ฐิติ ทศบวร [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้เป็นฉบับกะทัดรัด โดยย่อใจความสำคัญจาก บทความ aBRIDGEd ฉบับพิเศษ ซึ่งตกผลึกองค์ความรู้ที่ได้จากงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “คน : The Economics of Well-Being” ออกมาเป็น 9 หลักคิดและสิ่งที่ต้องทำ เพื่อการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกช่วงวัย

องค์ความรู้เหล่านี้เชื่อมโยงกับความปรารถนาในคุณภาพชีวิตที่ดี จากบทประพันธ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อ 50 ปีก่อน โดยหลายส่วนเป็นความปรารถนาที่เติมเต็มบ้างแล้วและควรพัฒนาเพิ่ม ขณะที่บางส่วน ราวกับ ดร.ป๋วย ล่วงรู้ว่าในอีก 50 ปีถัดมา จะกลายเป็นประเด็นทางสังคมในปัจจุบันที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป
ข้อคิดสำคัญและแนวนโยบายที่สามารถทำได้ มีดังนี้

  • การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายเดียวของการดำเนินนโยบายสาธารณะ และไม่สามารถใช้เป็นตัวสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนได้ทั้งหมด
  • กรอบแนวคิดและการวัดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดี และความพึงพอใจในชีวิตของประชาชนด้วย

  • ในวัยเด็ก การพัฒนาทุนมนุษย์มีความสำคัญมาก โดยทุนมนุษย์มีความซับซ้อน และมีหลายมิตินอกเหนือจากการศึกษา
  • การพัฒนาทุนมนุษย์ หรือคุณภาพของคน ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ถูกต้องถึงกระบวนการสร้าง ต้องเริ่มให้เร็วตั้งแต่ปฐมวัย สร้างในวงกว้าง และเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต

  • ในวัยทำงาน ตลาดแรงงานไทยอาจยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แรงงานกลุ่มต่าง ๆ ได้ โดยพบว่าค่าจ้างเพิ่มช้า โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูง ไม่สอดคล้องกับการศึกษาที่สูงขึ้น เกิดการส่งผ่านปัญหาไปสู่แรงงานกลุ่มอื่น ๆ
  • การพัฒนาผลิตภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานต้องเริ่มต้นจากตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ทำงานสอดรับกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และมีปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนการลงทุนของภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น

  • เมื่อถึงวัยชราภาพ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุไม่สามารถส่งเสริมได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
  • การออกแบบนโยบายสังคมสูงอายุที่มีประสิทธิภาพ ต้องยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง คือ อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และต้องอาศัยการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เข้ามาช่วย ซึ่งผู้สูงอายุจะสามารถใช้ชีวิตยามบั้นปลายในพื้นที่ที่คุ้นเคยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

  • นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตที่ดีในวัยบั้นปลาย เป็นผลผลิตของการพัฒนาทุนมนุษย์ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา คือตั้งแต่วัยเยาว์และวัยทำงาน
  • การออกแบบนโยบายผู้สูงอายุ แท้จริงแล้วเป็นโจทย์ของการออกแบบระบบสวัสดิการทุกช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุในปัจจุบัน และผู้สูงอายุในอนาคต โดยต้องมององค์รวมทั้งระบบ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่สร้างภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง

  • อย่างไรก็ดี คนต้องพึ่งพาตนเองด้วย เพราะจะ “แก่ดี” และ “ตายดี” ได้ ต้อง “อยู่ดี” ก่อน
  • รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนดูแลตนเอง โดยเพิ่มทักษะการออม การดูแลสุขภาพ และมีการวางแผนชีวิต เพื่อให้ช่วงความมั่งคั่ง (wealth span) ขยายขึ้น และช่วงสุขภาพ (health span) ยาวนานตามช่วงชีวิต (life span)

  • ด้านการรักษาพยาบาล ระบบสาธารณสุขไทยกำลังมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จากการลงทุนที่สูญเปล่า ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจอันบิดเบี้ยวของทุกภาคส่วน
  • รัฐจำเป็นต้องมีระบบประเมินความคุ้มค่าในการรักษา ขณะที่เราทุกคนสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้ง่าย ๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง และรู้จัก ‘หยุดเชื่อ เริ่มถาม’ คือ ไม่ได้เชื่อในบุคลากรทางการแพทย์ไปหมดทุกอย่าง แต่ตั้งข้อสงสัย เช่น ทางเลือกในการรักษาคืออะไรบ้าง หากไม่เลือกวิธีรักษานี้จะเกิดผลอย่างไร

  • ขณะที่มลพิษทางอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่อากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์
  • รัฐต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา โดยต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนทราบว่าอากาศสะอาดเป็นสิทธิของแต่ละคน ซึ่งถูกรับรองโดยองค์กรสหประชาชาติเรียบร้อยแล้ว

  • การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกช่วงวัยยังสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยได้
  • รัฐควรส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งติดอาวุธให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเพื่อให้รู้เท่าทันเหรียญสองด้านของเทคโนโลยี

  • ท้ายที่สุด ความหวัง เป็นหมุดหมายนำทางในการสร้างแรงจูงใจให้คนพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
  • การจะทำให้ความหวังในคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนให้ยังคงอยู่ได้ ทุกภาคส่วน นำโดยภาครัฐ ต้องร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมที่โอบอุ้มความหวัง ได้แก่ โอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และสังคมที่รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

    ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์