ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% 17 ครั้งต่อเนื่อง – ชี้เศรษฐกิจฟื้นแต่รอการลงทุนเอกชน

กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% 17 ครั้งต่อเนื่อง – ชี้เศรษฐกิจฟื้นแต่รอการลงทุนเอกชน

6 กรกฎาคม 2017


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวหลังการประชุมว่า กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ กนง. จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

นายจาตุรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวมากขึ้นในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่รายได้ของแรงงานในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมไม่เข้มแข็งนัก ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์โลก นอกจากนี้ กนง. ได้ขอให้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด

อนึ่ง ธปท. ได้ปรับประมาณการจีดีพีจาก 3.4% เป็น 3.5% โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยปรับการส่งออกเพิ่มจาก 2.2% เป็น 5% อย่างไรก็ตาม การลงทุนของเอกชนได้ปรับลดลงจาก 2.4% เหลือ 1.7% แม้ว่าก่อนหน้านี้ ธปท. จะเคยระบุว่าการลงทุนควรจะฟื้นตัวหากภาคการส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นายจาตุรงค์ให้เหตุผลว่า การลงทุนในภาคการผลิตส่งออกได้ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการลงทุนบางส่วนยังเป็นการลงทุนตามการลงทุนภาครัฐ ซึ่งบางโครงการเริ่มมีความล่าช้าออกไปและทำให้การลงทุนโดยรวมฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด รวมไปถึงว่าเอกชนบางส่วนได้ลงทุนไปมากแล้วในปีที่ผ่านมา เช่น กลุ่มโทรคมนาคม พลังงานทดแทน เป็นต้น

“จริงๆ แล้วการส่งผ่านของภาคส่งออกมายังการลงทุนได้เพิ่มขึ้นแล้ว แต่ ธปท. ไม่ได้แบ่งว่าการลงทุนอันไหนเป็นภาคส่งออกหรือภายในประเทศ จะแบ่งแค่เป็นภาคก่อสร้างและเครื่องจักร แต่เราใช้ตัวชี้วัดว่าในภาคธุรกิจที่การส่งออกดีขึ้น เราก็เห็นการนำเข้าสินค้าทุนพวกเครื่องจักรเพิ่มขึ้นด้วย เป็นตัวชี้ว่าจะมีการลงทุนในอนาคตขึ้นส่วนนี้ได้” นายจาตุรงค์กล่าว

ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้เกษตรกร แม้ว่ารายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตรจะยังไม่ได้รับผลดีชัดเจนจากการส่งออกและยังต้องจับตาดูต่อไป โดยปรับการบริโภคเอกชนจาก 2.7% เป็น 3.1%

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆ ตามปัจจัยด้านอุปทานและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับคาดการณ์ลงจาก 1.2% เป็น 0.8% และคาดว่าจะกลับขึ้นมายังกรอบเป้าหมายที่ 1% ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับคาดการณ์ลงเล็กน้อยจาก 0.7% เป็น 0.6% ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีอาหารสำเร็จรูปที่ได้รับผลจากราคาอาหารสดที่ลดลงด้วย” นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้ ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน สำหรับค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค โดย กนง. เห็นควรให้ติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นต่อไป

นอกจากนี้ กนง. ยังเห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพสามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)

นายจาตุรงค์กล่าวสรุปว่า กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

2 ปี 2 เดือน กนง. คงดอกเบี้ย ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การคงดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 17 นับตั้งแต่มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งละ 0.25% ต่อเนื่อง 2 ครั้ง จากการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 และครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 จาก 2% เหลือ 1.5%

ในการประชุมครั้งต่อๆ มาของ กนง. ในปี 2558 ได้ให้เหตุผลในการคงดอกเบี้ยไปในด้านปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและเอเชีย, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก, ความผันผวนของตลาดการเงินโลกสูง ขณะที่ปัจจัยภายในจะเป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ต้องปรับตัว นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในทิศทางสอดคล้องเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 กนง. เริ่มให้น้ำหนักกับการรักษาพื้นที่นโยบาย (Policy Space) แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศจะมีความผันผวนมากขึ้นและส่งผลต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจที่มักจะระบุว่ามีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก, ความเสี่ยงเชิงการเมืองจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ, การรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางเช่นเดียวกับปี 2558 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ กนง. ยังกล่าวถึงประเด็นค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง กนง. เริ่มแสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพการเงิน โดยเริ่มจับตาพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงท้ายของปี 2559 กนง. ได้กล่าวถึงคุณภาพของสินเชื่อในบางภาคธุรกิจด้อยลงและอาจจะกระทบต่อระบบการเงินไทย ต่อมาในปี 2560 กนง. ยิ่งแสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงินไทย โดยเริ่มกล่าวถึงการประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks), ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การขยายทางเศรษฐกิจในปี 2560 ก็เริ่มมีท่าทีฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากภาคส่งออกที่กลับมาขยายตัวชัดเจน แต่ยังคงต้องติดตามว่าการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพียงใด(คลิกที่ภาพ)

ด้าน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2017 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบกระจุกตัว การลงทุนที่ขยายตัวช้า และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีน้อย แม้คาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1.0-4.0% เนื่องจาก กนง. มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินตัว

(ดูตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท. เทียบกับการประชุมครั้งก่อน)