ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ยอมรับกังวลปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศมากขึ้น – อีไอซีคาดคงอัตรานี้ตลอดปี’59 หวังฟื้นศก.ภายใน

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ยอมรับกังวลปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศมากขึ้น – อีไอซีคาดคงอัตรานี้ตลอดปี’59 หวังฟื้นศก.ภายใน

4 กุมภาพันธ์ 2016


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เพื่อรักษา ขีดความสามารถการดำเนินนโยบายการเงิน กรณีเศรษฐกิจในอนาคตไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ โดย กนง. แสดงความกังวลกับปัจจัยด้านต่างประเทศมากขึ้นจากการประเมินในครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนของไทย

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2559 นายจาตุรงค์กล่าวว่า กนง. มองว่าจะถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนและใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งในปี 2559 ยังคาดการณ์ใกล้เคียงกับการประเมินเมื่อสิ้นปี 2558 ที่ 3.5% ซึ่งถือว่าฟื้นตัวจากปี 2558 ที่ ธปท. ประเมินไว้ที่ระดับ 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 จะเห็นสัญญาณทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางปรับดีขึ้นส่วนหนึ่งจากผลชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่และการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวยังเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงในทุกภาคเศรษฐกิจ โดยภาคเกษตรอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งช่วงครึ่งแรกของปีแต่จะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังเป็นประเด็นที่เป็นความเสี่ยงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกที่ยังตกต่ำอยู่ ส่วนภาคโทรคมนาคม ภาคพลังงาน หรือภาคสาธารณูปโภค ยังขยายตัวได้ดี

“ถามว่าจีดีพีจะลดลงหรือไม่ ตัวเลขผมขอเป็นการประชุมครั้งหน้าดีกว่า แต่ถ้าจำได้ตอนเดือนมกราคมไอเอ็มเอฟก็มาลดประมาณการณ์ไป ทิศทางของ ธปท. คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่ขอให้รายละเอียดในการประชุมครั้งถัดไปที่จะมีการออกรายงานนโยบายการเงิน ซึ่งจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่” นายจาตุรงค์ กล่าว

ด้านแรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเร็วและมากกว่าคาด ทำให้ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโน้มไปด้านต่ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันจะทยอยปรับสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ขณะที่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายและอุปสงค์ยังขยายตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน

“กนง. มองแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าการประเมินครั้งที่ผ่านมาที่มองว่าจะอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากภายนอกที่ดูค่อนข้างยากเนื่องจากไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านนโยบายอื่นๆ ของผู้ผลิตอีกด้วย ส่วนความกังวลว่าจะเป็นภาวะเงินฝืดคงไม่ใช่ เพราะต้องดูปัจจัยการใช้จ่ายประกอบตัวเลขเงินเฟ้อ ต้องให้การใช้จ่ายลดลงด้วย ระดับราคาลดลงด้วย แต่ตอนนี้เป็นผลจากทางด้านอุปทานของน้ำมันมากกว่า” นายจาตุรงค์กล่าว

ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง แต่จะขอให้คำตอบในคราวแถลงเรื่องผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์มากกว่า แต่การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานอาจจะเกิดความเสี่ยงเรื่องของการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

Infographic_policy_rate_feb2016

EIC คาดกนง.คงดบ.1.5% ตลอดปี’59

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์มีมติเอกฉันท์ของกนง.ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ว่าเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวจากมาตรการภาครัฐและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงตามราคาน้ำมัน โดยเงินเฟ้อทั่วไปจะสามารถกลับเป็นบวกได้ในครึ่งปีแรกของปีนี้ และอีไอซีคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ตลอดปี 2559 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มากซึ่งกดดันต่อการส่งออก เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space)

กนง.