ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน ILO ชี้ Climate Change อันตรายต่อสุขภาพคนงาน ต้องทบทวนกฎหมายเดิม-ออกกฎใหม่คุ้มครอง

รายงาน ILO ชี้ Climate Change อันตรายต่อสุขภาพคนงาน ต้องทบทวนกฎหมายเดิม-ออกกฎใหม่คุ้มครอง

1 พฤษภาคม 2024


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในหลายด้านอย่างร้ายแรงต่อ 70% ของคนงานทั่วโลก ผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ได้แก่ มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ ความผิดปกติของไต และสภาวะสุขภาพจิต

รายงานฉบับใหม่ Ensuring safety and health at work in a changing climate ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) ระบุว่า จำนวนแรงงานมากกว่า 70% ของกำลังแรงงานทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะอันตรายต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Safety and Health:OSH) ที่มีอยู่เดิม กำลังประสบปัญหาในการปรับให้ทันความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความปลอดภัยและสุขภาพของคนงานในทุกภูมิภาคของโลกแล้ว คนงานเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่ออันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด แต่บ่อยครั้งก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทำงานต่อไป แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอันตรายก็ตาม ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานทั่วโลก อาจจะปรับไม่ทันกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้คนงานเสียชีวิตและเจ็บป่วย

อันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับผลกระทบด้านสุขภาพมีมากมาย ทั้ง การบาดเจ็บ มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด สภาพระบบทางเดินหายใจ จอประสาทตาเสื่อม และปัญหาสุขภาพจิต ผลกระทบทางการเงินก็มีนัยสำคัญเช่นกัน เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีการหยุดชะงักทางธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย

รายงานนี้นำเสนอหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ OSH เพื่อให้มีความสนใจไปที่ภัยคุกคามด้านสุขภาพทั่วโลกที่แรงงานกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยรายงานกล่าวถึง 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความร้อนสูงจัด,รังสีอัลตราไวโอเลต (UV),เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว,มลพิษทางอากาศในที่ทำงาน,โรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค และสารเคมีทางการเกษตร

รายงานยังครอบคลุมการดำเนินการของแต่ละประเทศในปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขหรือการจัดทำกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อเสนอแนะใหม่ และยกระดับยุทธศาสตร์การบรรเทาสภาพภูมิอากาศ เช่น มาตรการประสิทธิภาพพลังงาน ในสภาพแวดล้อมการทำงาน

  • ความร้อนสูงจัด(Excessive heat)

    รายงานระบุว่า ILO ประมาณการว่าคนงานมากกว่า 2.4 พันล้านคน (จากจำนวนแรงงานทั่วโลก 3.4 พันล้านคน) มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความร้อนสูงจัด ณ จุดใดจุดหนึ่งระหว่างทำงาน เมื่ออิงจากตัวเลขล่าสุดที่มีอยู่ (2020) และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 65.5% เป็น 70.9% ของแรงงานทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2543

    ผลกระทบของความร้อนที่สูงจัดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภาคส่วน แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ คนทำงานกลางแจ้งที่ทำงานซึ่งต้องใช้แรงกายมาก และพนักงานในอาคารในสถานที่ทำงานที่มีการระบายอากาศไม่ดี ซึ่งไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความร้อนมาจากสภาพแวดล้อม การออกแรงทางกายภาพ และเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ ตัวอย่างคนงานที่มีความเสี่ยงสูง คือ คนงานในภาคเกษตรกรรม สินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ) การก่อสร้าง การเก็บขยะ งานซ่อมแซมฉุกเฉิน การขนส่ง การท่องเที่ยว และการกีฬา

    ผลกระทบต่อสุขภาพเบื้องต้นจากความร้อนสูงจัด ได้แก่ ความเครียดจากความร้อน โรคลมร้อน(heat stroke) อาการอ่อนเพลียจากความร้อน ภาวะกล้ามเนื้อสลาย (rhabdomyolysis) ลมแดด(heat syncope) ตะคริวจากความร้อน ผดผื่นจากความร้อน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไตวายเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง การบาดเจ็บทางร่างกาย

    นอกจากนี้ รายงานยังได้ประมาณการว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 18,970 รายและสูญเสียปีสุขภาวะ(Disability-Adjusted Life Years:DALYs) 2.09 ล้านปี เนื่องมาจากการบาดเจ็บจากการทำงาน 22.87 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากความร้อนที่สูงจัด และยังไม่รวมถึงผู้คนอีก 26.2 ล้านคนทั่วโลกที่ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเชื่อมโยงกับความเครียดจากความร้อนในที่ทำงาน (ตัวเลขปี 2020)

    สำหรับตัวอย่างกฎหมายการดูแลคนงานในด้านนี้นั้นรายงานระบุว่า กฎหมาย OSH ทั่วไปมีมาตรการพื้นฐานเพื่อปกป้องพนักงานจากอุณหภูมิที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศได้ใช้กฎหมายและข้อบังคับใหม่แล้วเพื่อรับมือกับความร้อนที่มากเกินไปและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปจะรวมถึงการจำกัดอุณหภูมิสูงสุดและแนวทางสำหรับมาตรการปรับตัวในระดับการปฏิบัติงาน เพื่อให้สอดคล้องกับรายการโรคจากการทำงานของ ILO หลายประเทศยอมรับให้
    โรคที่เกิดจากความร้อนมากเกินไปเป็นโรคจากการทำงาน มาตรการป้องกันในสถานที่ทำงานที่เรียบง่ายและอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้แก่ การปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อม การเว้นช่วงด้วยตนเอง การให้น้ำ การใช้เครื่องจักร และการแต่งกาย

    ตัวอย่างกฎเกณฑ์คุ้มครองคนงานของบางประเทศในกรณีที่ความร้อนสูง

  • รังสีอัลตราไวโอเลต
    ชั้นโอโซนที่ค่อยๆบางลง จากการปล่อยสารทำลายชั้นโอโซนจากอุตสาหกรรมและกิจกรรมของมนุษย์อื่นๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่น่ากังวล รังสียูวีจากแสงอาทิตย์เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับคนทำงานกลางแจ้งที่ต้องสัมผัสกับรังสียูวีในปริมาณที่สูงกว่าคนงานในอาคารอย่างน้อย 2 ถึง 3 เท่า และมักจะสูงกว่าปริมาณที่แนะนำในระดับสากลถึง 5 เท่า รังสียูวีอาจเป็นอันตรายต่อคนงานเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขาอาจไม่รู้ว่ากำลังเผชิญกับระดับที่สูงจนเป็นอันตราย

    รายงานประเมินว่า มีคนงาน 1.6 พันล้านคนสัมผัสกับรังสียูวี โดยมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานมากกว่า 18,960 รายต่อปีจากมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็งไฝ

    ผลกระทบต่อสุขภาพเบื้องต้นจากรังสีอัลตราไวโอเลต ได้แก่ ผิวไหม้แดด ผิวหนังพุพอง ดวงตาเสื่อมเฉียบพลัน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง, ต้อเนื้อ, ต้อกระจก, มะเร็งผิวหนัง, จอประสาทตาเสื่อม

    ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ คนทำงานกลางแจ้ง รวมถึงงานก่อสร้างเกษตรกรรม, ไลฟ์การ์ด, พนักงานสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า, ชาวสวน พนักงานไปรษณีย์ และคนงานท่าเรือ

    กฎหมาย OSH ทั่วไปบางฉบับอ้างถึงการคุ้มครองคนงานจากรังสีชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน รวมถึงรังสี UV จากแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามเพิ่มเติม โดยทั่วไปแล้วกฎหมายเฉพาะจะเน้นเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออนหรือรังสีเทียม จึงไม่รวมรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ บางประเทศได้รวมโรคต่างๆที่เกิดจากรังสี UV จากแสงอาทิตย์ไว้ในรายการระดับชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการของโรคจากการทำงานที่่ ILO กำหนด ส่วนมาตรการอื่นได้แก่ การใช้ PPE, ครีมกันแดดและพื้นที่พักผ่อนที่มีร่มเงา

    อัตราการเสียชีวิต (ต่อแสนประชากร) จากมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสี UV จากแสงอาทิตย์จากการทำงาน จากการประมาณการร่วมกันของ WHO-ILO

  • เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว
    ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคนจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และพายุเฮอริเคน คนงานอาจประสบเหตุการณ์ระหว่างงานในทันที หรือผลที่ตามมาหรือระหว่างการเก็บกวาดทำความสะอาด เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วหลายครั้งยังนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงจากอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น โรงงานหรือสถานที่สกัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการปล่อยสารอันตราย ไฟไหม้ และการระเบิด การคาดการณ์ว่าเหตุการณ์สภาพอากาศจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจะเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ความถี่และความรุนแรง ก็จะยิ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวของคนงานจำนวนมาก

    รายงานระบุว่า มีแรงงานเสียชีวิต 2.06 ล้านคน เนื่องจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และอันตรายจากน้ำ (ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในการทำงาน) ตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2019

    ผลกระทบนั้นแตกต่างกันไป แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ บุคลากรทางการแพทย์ นักดับเพลิง ผู้ปฏิบัติงานด้านเหตุฉุกเฉินอื่นๆ คนงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด คนงานเกษตรกรรม คนงานประมง

    กฎหมายที่ปกป้องคนงานจากผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมีจำกัด กฎหมาย OSH ทั่วไปบางฉบับกำหนดให้ต้องมีแผนการตอบสนองฉุกเฉินสำหรับสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย แต่ก็ระบุไว้ค่อนข้างกว้างและไม่ได้ระบุถึงการจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ในบางกรณีได้ใช้กฎระเบียบใหม่ เพื่อจัดการกับประเด็นเฉพาะ เช่น ไฟป่า การป้องกัน การเตรียมพร้อม และการตอบสนองภาวะฉุกเฉิน และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการจัดการ OSH ระดับชาติ

    จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศปี 1970-2019

  • มลพิษทางอากาศในที่ทำงาน
    มลพิษทางอากาศที่แตกต่างกันทำให้ภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น และภาวะโลกร้อนก็นำไปสู่การก่อตัวของมลพิษทางอากาศ รูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อระดับมลพิษทางอากาศนอกอาคาร เช่น โอโซนระดับพื้นดิน ฝุ่น PM2.5 และฝุ่น PM10 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จำนวนไฟป่าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การปล่อยฝุ่นละอองและสารตั้งต้นของโอโซนเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีผลต่อความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศภายในอาคาร ซึ่งอาจมาจากแหล่งที่มาภายในอาคาร เช่น เชื้อราและสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรืออาจถูกส่งเข้าไปในอาคารด้วยอากาศจากภายนอก ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานกลางแจ้ง 1.6 พันล้านคน ที่อาจจะเป็นโรคมะเร็ง(ปอด) โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ

    คนงานกลางแจ้งมีความเสี่ยงมากขึ้นในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศในระดับสูงซึ่งเกิดจากการจราจรหนาแน่นหรืออุตสาหกรรม โดยทุกปี มีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 860,000 ราย อันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ

    มาตรการลดมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่จะบูรณาการเข้ากับการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยรวมหรือต่อสาธารณะ นโยบายด้านสุขภาพ กฎหมาย OSH แบบดั้งเดิมจะกล่าวถึงคุณภาพอากาศ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริบทของการป้องกันฝุ่นและควันจากสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคาร มากกว่าสภาพแวดล้อมการทำงานกลางแจ้ง ค่าขีดจำกัดการสมผัสหรือรับมลพิษทางอากาศบางชนิดนั้นมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็เชื่อมโยงกับงานในร่มเช่นกัน การควบคุมทางวิศวกรรม (เช่น ระบบระบายอากาศที่เพียงพอ) โดยปกติแล้วจะไม่สามารถทำงานกลางแจ้งได้ แต่จะมีการควบคุมด้านการบริหาร เช่น การหมุนเวียนงานอาจจะได้ผล

  • โรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค
    โรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เกิดจากแมลงเช่น ยุง เห็บ และหมัดเป็นพาหะนำเชื้อปรสิต ไวรัส และแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรคในคนงาน ผ่านผลกระทบต่อขนาดประชากรพาหะนำโรค อัตราการรอดชีวิต และการสืบพันธุ์ ตลอดจนผลกระทบในวงกว้างต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและระบบของมนุษย์ ภาระหนักที่สุดของโรคเหล่านี้อยู่ในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน และส่งผลกระทบต่อประชากรที่ยากจนที่สุดอย่างมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแย่ลง แบบจำลองคาดการณ์การขยายตัวของพื้นที่ที่สภาพอากาศที่เอื้อต่อการเกิดโรคที่เกิดจากแมลงหลายชนิด

    โรคที่มีแมงเป็นพาหะได้แก่ มาลาเรีย โรคลายม์ (คนสามารถติดเชื้อแบคทีเรียได้จากการถูกเห็บกัด) ไข้เลือดออก โรคพยาธิใบไม้ในเลือด โรคลิชมาเนีย (การติดเชื้อปรสิตลิชมาเนีย มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อกัด) โรคชากาส (Chagas diseaseหรือ American Trypanosomiasis เกิดจากปรสิต) และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้ที่มีความเสี่ยงคือ คนงานกลางแจ้ง ทั้ง เกษตรกร คนงานป่าไม้ คนจัดสวน คนดูแลสวน ชาวสวน ช่างทาสี ช่างมุงหลังคา ช่างปูผิวทาง คนงานก่อสร้าง นักดับเพลิง และอื่นๆ ซึ่งทุกปี มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานมากกว่า 15,170 ราย อันเนื่องมาจากโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค

    สำหรับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ รายงานระบุว่า กฎหมายที่คุ้มครองคนงานจากโรคที่มีแมลงเป็นพาหะจะรวมอยู่ในกฎหมายที่ครอบคลุมถึงอันตรายทางชีวภาพเป็นหลัก โรคที่เกิดจากอันตรายทางชีวภาพมักถูกระบุว่าเป็นโรคจากการทำงานที่ต้องแจ้งให้ทราบ แม้โรคที่เกิดจากแมลงจะไม่ได้กล่าวถึงเสมอไปก็ตาม และมีงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะมีจำนวนจำกัด

    สารเคมีทางการเกษตร
    การใช้ยาฆ่าแมลงที่เพิ่มขึ้น เป็นผลกระทบที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความปลอดภัยของคนงานและสุขภาพ การใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้รับผลกระทบโดยตรงจากประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืช ลักษณะเฉพาะของพืชผล และการเกิดศัตรูพืช ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ปุ๋ยอาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศด้วย ฝนที่ตกเพิ่มขึ้นอาจทำให้ดินพังทลายและทำให้ธาตุอาหารที่จำเป็นในดินลดลง เช่น ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายสูง (HHP) เป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีการใช้อย่างแพร่หลายทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงและการเสียชีวิตในหลายพื้นที่ของโลก

    คนงานในภาคเกษตรกรรมกว่า 870 ล้านคนมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าแมลง โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 รายจากพิษจากยาฆ่าแมลงทุกปี

    มีตัวอย่างมากมายของกฎหมายระดับชาติที่ครอบคลุมถึงการผลิต การจัดเก็บ การใช้ และการกำจัดสารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย บางประเทศได้ระบุข้อควรคำนึงถึงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสารกำจัดศัตรูพืชไว้ในรายการโรคจากการทำงาน แต่กฎหมายเกี่ยวกับค่าขีดจำกัดสารเคมีที่ยอมให้สัมผัสได้ในสถานที่ทำงาน (Occupational Exposure Limit, OELs)นั้นยังมีน้อย และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายการสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย (Highly Hazardous Pesticides:HHP) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกัน

    ต้องทบทวนกฎหมายเดิม-ออกกฎใหม่คุ้มครองคนงาน

    “เป็นที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อคนงาน” มานัล อัซซี หัวหน้าทีม OSH ของ ILO กล่าว “เราต้องใส่ใจต่อสัญญานเหล่านี้ การให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเรา ทั้งนโยบายและการดำเนินการ การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานของ ILO เราต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับงานด้านอื่นๆ”

    รายงานชี้ว่า ด้วยอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น กฎหมายที่มีอยู่ก็ต้องมีการทบทวน หรือจัดกฎเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้มั่นใจ ว่าคนงานได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิอากาศควรคำนึงถึงความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นหลัก กฎหมายหรือนโยบายใหม่ก็ควรใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันกับกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎเกณฑ์สากล เครื่องมือ

    นอกจากนี้ต้องมีมุ่งเน้นการวิจัย และมีข้อมูลหลักฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือ ในปัจจุบัน ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดอย่างมากในด้านที่สำคัญหลายๆ ด้าน และสิ่งที่มีอยู่มักมุ่งเน้นไปที่ด้านสาธารณสุข มากกว่าด้านอาชีวอนามัย จึงต้องมีการวิจัยที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูงเพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของมาตรการ OSH เชิงป้องกันในประเทศและภาคส่วนต่างๆ

    แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ด้าน OSH อีกด้วย จากการที่องค์กรต่างๆ มีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์กาบรรเทาผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการหาวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่ทำงาน และนำหลักปฏิบัติในการทำงานที่ยั่งยืนไปใช้ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินระดับโลกนี้ และอาจช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสีเขียวในบางกรณีอาจสร้างหรือทำให้อันตรายและความเสี่ยงด้าน OSH มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการป้องกัน OSH ที่เหมาะสม