ฝนตกหนักในรอบ 75 ปีที่ผ่านมาถล่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้น้ำท่วมทางหลวงสายหลักและทำให้ต้องระงับเที่ยวบินที่สนามบินนานาชาติดูไบ
ฝนเริ่มตกในคืนวันจันทร์ และเช้าวันอังคารพายุรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น จนเมื่อถึงเย็นวันอังคาร ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 142 มิลลิเมตร (5.59 นิ้ว) ก็ได้ท่วมเมืองทะเลทรายอย่างดูไบ
Khatm al-Shakla พื้นที่ใกล้เมือง Al Ain ในอาบูดาบี มีฝนตกหนักถึง 254 มิลลิเมตร (10 นิ้ว) เมื่อวันอังคารภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งหนักที่สุดในประเทศ เจ้าหน้าที่ระบุ
โดยปกติแล้วปริมาณฝนหนักขนาดนี้จะเป็นปริมาณเฉลี่ยของฝนตกภายในหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า เป็นฝนที่ตกหนักในประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา
สำนักข่าว WAM ของรัฐรายงานว่า ฝนที่ตกหนักครั้งนี้ถือเป็น “เหตุการณ์สภาพอากาศครั้งประวัติศาสตร์” ที่เกินกว่า “สิ่งใดก็ตามที่ได้มีการบันทึกไว้ตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2492” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนก่อตั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปี 2514
นอกจากนี้ ฝนยังตกในบาห์เรน โอมาน กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย แม้ว่าปริมาณฝนจะมีนัยสำคัญอย่างมากในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ตาม
สนามบินนานาชาติดูไบ ซึ่งเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศและเป็นศูนย์กลางเส้นทางระยะไกลของสายการบินเอมิเรตส์ประสบกับ “การหยุดชะงักครั้งใหญ่” หลังจากเผชิญกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของปีที่ 94.7 มิลลิเมตร (3.73 นิ้ว)
สนามบินดูไบยังขอให้ผู้โดยสารอย่ามาสนามบิน เว้นแต่จะมีความจำเป็นจริงๆ จากสภาพอากาศเลวร้ายแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สายการบินเอมิเรตส์ระงับการเช็คอินสำหรับผู้โดยสารที่ออกจากสนามบินนานาชาติดูไบตั้งแต่เวลา 8.00 น. ของวันที่ 17 เมษายน จนถึงเที่ยงคืน เนื่องจากปัญหาในการปฏิบัติงานที่เกิดจากสภาพอากาศและสภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวย
พื้นที่ด้านในของประเทศบางแห่งบันทึกปริมาณฝนมากกว่า 80 มิลลิเมตร ภายใน 24 ชั่วโมงจนถึง 08.00 น. ในวันอังคาร ซึ่งเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยรายปีที่ประมาณ 100 มิลิเมตร
ฝนตกถือเป็นเรื่องผิดปกติในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บนคาบสมุทรอาหรับที่แห้งแล้ง แต่จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นลง
บ้านเรือนถูกน้ำท่วม รวมไปถึงทางด่วนสายหลัก และมีรถยนต์ที่ถูกจอดทิ้งตามท้องถนนทั่วดูไบ ขณะที่ทางการส่งรถออกไปเพื่อสูบน้ำออกจากถนน ถนนหลายสายและพื้นที่อื่นๆ ไม่มีระบบระบายน้ำ เนื่องจากฝนไมได้ตกเป็นประจำ
ศูนย์การค้าหลักๆอย่างดูไบมอลล์ และมอลล์ออฟเดอะเอมิเรตส์ก็เจอน้ำท่วม และสถานีรถไฟใต้ดินดูไบอย่างน้อยหนึ่งแห่ง น้ำท่วมถึงข้อเท้าในจากภาพที่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติโพสต์ใน X เรียกร้องให้ประชาชน “ระมัดระวังให้มาก … และอยู่ให้ห่างจากพื้นที่น้ำท่วมและรับน้ำ”
สำนักงานสื่อของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โพสต์ในบัญชี X ว่า ฝนที่ตกลงมานี้เป็นเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่ “ผิดปกติ” คาดว่าฝนจะตกเพิ่มอีก
โรงเรียนถูกปิดทั่วสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคาดว่าจะยังคงปิดในวันพุธ รัฐบาลดูไบยังได้ขยายเวลาการทำงานทางไกลให้กับพนักงานจนถึงวันพุธ
แล้วทำไมดูไบถึงได้เจอฝนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน?
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า น้ำฝนมีความเกี่ยวข้องกับระบบพายุขนาดใหญ่ที่เคลื่อนผ่านคาบสมุทรอาหรับและเคลื่อนตัวข้ามอ่าวโอมาน ซึ่งได้นำสภาพอากาศชื้นผิดปกติมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านโอมานและอิหร่านทางตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
คอลิน แม็กคาร์ธี นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ อธิบายว่า ฝนที่ตกหนักขนาดนี้มีสาเหตุมาจากพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงหลายรอบที่ก่อตัวจากน้ำอุ่นของอ่าวเปอร์เซีย
นักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบางคนชี้ให้เห็นว่า การทำฝนเทียม(cloud seeding) อาจทำให้ฝนตกหนักในเมืองทะเลทรายแห่งนี้
“รายงานหลายฉบับอ้างนักอุตุนิยมวิทยาที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ ที่บอกว่า พวกเขาบินขึ้นไปทำฝนเทียม 6-7 เที่ยวก่อนฝนตก” ตามรายงานของสำนักข่าว AP AP
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ชี้ว่าสาเหตุของฝน มากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ฟรีเดอริก อ็อตโต นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ “ฝนที่สร้างความเสียหายและทำลายล้างในโอมานและดูไบจะหนักขึ้นอีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์”
“ดูไบไม่ใช่ว่าเป็นเมืองที่ไม่มีฝุ่น แต่พายุได้กวาดฝุ่นจำนวนมหาศาลออกไปทั่ว ฝุ่นก็เป็นเหมือนสารที่ทำให้เกิดการควบแน่นของก้อนเมฆ ดังนั้นเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามาจากการทำฝนเทียม เมื่อฝุ่นปริมาณเท่าทะเลทรายถูกแขวนลอยอยู่เหนือศีรษะ” เจฟฟ์ เบราร์เดลลี หัวหน้านักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ (แทมปาเบย์ สหรัฐอเมริกา) ตั้งคำถามบนบัญชีโซเชียลมีเดีย X
“ฝนที่ตกอย่างสุดขั้วในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะโลกร้อนตามทฤษฎีและแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ แต่ฝนตกสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อย (รายปี) และที่เกิดขึ้นนานๆครั้ง (ทศวรรษหรือร้อยปี) อาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน” วารสาร Nature อธิบาย
Cloud Seeding ช่วยเพิ่มปริมาณฝนในดูไบได้อย่างไร
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มดำเนินการทำฝนเทียมในปี 2000 เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางน้ำ แม้ในหลายพื้นที่ไม่มีระบบระบายน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมก็ตาม
รายงานของ BNN Bloomberg อ้างนักอุตุนิยมวิทยา อาเหม็ด ฮาบิบ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา ที่อธิบายว่า ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ(National Center of Meteorology)ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ส่งเครื่องบินทำฝนเทียมจากสนามบินอัลอินเมื่อวันจันทร์และอังคาร และใช้เทคนิคการโปรยสารเคมีและอนุภาคเล็กๆ ซึ่งมักเป็นเกลือธรรมชาติ เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ เข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อบังคับให้เมฆรวมตัวเป็นฝน
วิธีการก็คือ โปรยเกลือหรือสารอื่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กบนปีกเครื่องบินเข้าไปเหนือเมฆ เพื่อให้มันทำหน้าที่เป็นแกนควบแน่น(nuclei) โดยที่โมเลกุลไอน้ำจะมาควบแน่นกับ Nuclei เหล่านี้เป็นกลุ่มจนเมื่อ Nuclei มีมวลมากพอ ก็จะตกลงมาเป็นฝน
NCM ได้จัดตั้งเครือข่ายระดับชาติซึ่งประกอบด้วยสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ (Automatic Weather Stations:AWOS) 86 แห่งเพื่อการตรวจสอบสภาพอากาศ เรดาร์ตรวจอากาศ 6 ตัวครอบคลุมทั่วทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสถานีตรวจอากาศชั้นบน 1 แห่ง ศูนย์แห่งนี้ยังได้จัดทำฐานข้อมูลสภาพภูมิอากาศและช่วยในการพัฒนาซอฟต์แวร์พยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขและการจำลองที่มีความแม่นยำสูงในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
มาเรียม อัล อัลม์ไฮรี รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า โครงการริเริ่มการเพิ่มปริมาณฝนของประเทศถือเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ รวมถึงการเติมเต็มแหล่งน้ำใต้ดินและการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว
โครงการฝนเทียมของประเทศอ่าวเปอร์เซียได้รับการสนับสนุนจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคร่วมกับศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (NCAR) ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย Witwatersrand ในแอฟริกาใต้ และ NASA
โครงการฝนเทียมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับการสนับสนุนจาก National Center for Atmospheric Research (NCAR) ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย Witwatersrand ในแอฟริกาใต้ และ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA)
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อดูไบ
ระดับน้ำทะเล: สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแนวชายฝั่งเกือบ 1,300 กิโลเมตร และประมาณ 85% ของประชากร และกว่า 90% ของโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีที่อยู่ภายในไม่กี่เมตรจากทะเล รายงานจากศูนย์สหรัฐฯ ของสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute) พบว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อาจสูญเสียแนวชายฝั่งที่พัฒนาแล้วไปแล้วถึง 6% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ในปี 2539 และ 2541 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผชิญกับภัยพิบัติปะการังฟอกขาวและการเสียชีวิต 2 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่ผิดปกติ
ภัยพิบัติทางน้ำ: ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ความต้องการน้ำและน้ำที่พร้อมใช้ไม่สอดคล้องกันมากขึ้น สถานที่บางแห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักเจอน้ำท่วม ในขณะที่บางแห่งจะประสบภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ
เกษตรกรรม: อุณหภูมิที่สูงขึ้น วัชพืชที่เพิ่มขึ้น และแมลงที่เป็นอันตรายจะเริ่มส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ภาวะโลกร้อนอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารทั่วโลก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อาจประสบปัญหาน้ำเค็มมากขึ้น และอาหารท้องถิ่นจะหายาก
มลพิษและแหล่งจ่ายไฟฟ้า: ภาวะโลกร้อนจะลดการใช้เครื่องทำความร้อนในฤดูหนาว แต่จะเพิ่มความต้องการเครื่องปรับอากาศในฤดูร้อน มลพิษมหาศาลอาจเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะโลกร้อน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 80 ตันต่อหัว เทียบกับเพียง 14 ตันต่อคนอเมริกันต่อปี เครื่องปรับอากาศ โรงบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และโรงไฟฟ้าจำนวนมากใช้พลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอน ซึ่งเป็นพิษต่อมนุษย์ในระดับหนึ่งด้วย
เรียบเรียงจาก