ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ILO ประเมินตลาดแรงงาน ปี’65 ไม่มีงานทำ 207 ล้านคน-ฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน

ILO ประเมินตลาดแรงงาน ปี’65 ไม่มีงานทำ 207 ล้านคน-ฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน

18 มกราคม 2022


ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2022/01/1109832

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) ได้ปรับลดการคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2022 ในรายงาน World Employment and Social Outlook Trends 2022 (WESO Trends) โดยคาดการณ์ว่าจำนวนชั่วโมงทำงานจะลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

“สองปีแล้วที่เจอวิกฤติ แนวโน้มยังคงเปราะบาง และเส้นทางสู่การฟื้นตัวนั้นช้าและไม่แน่นอน” นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของ ILO กล่าว

ประมาณการทั้งปีก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม ILO คาดการณ์ว่าจะ จำนวนชั่วโมงที่ลดลงจะเทียบเท่ากับงานประจำ 26 ล้านตำแหน่ง

รายงาน World Employment and Social Outlook Trends ปี 2022 ล่าสุด ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ ILO คาดการณ์ว่า จำนวนชั่วโมงทำงานทั่วโลกในปี 2565 จะต่ำกว่าในไตรมาสที่สี่ของปี 2019 ก่อนเกิดโรคระบาดถึง 1.8% แม้ดีขึ้นจากสถานการณ์ในปี 2564

นอกจากนี้ คาดว่าอัตราการว่างงานทั่วโลกจะสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อย่างน้อยจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย

ผู้ที่ไม่มีงานทำในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวน 207 ล้านคน เทียบกับ 186 ล้านคนในปี 2562

ที่มาภาพ:https://news.un.org/en/story/2022/01/1109832

“แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานรูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น เพื่อปรับตัวต่อการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ตกต่ำเป็นเวลานาน” ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กล่าว

รายงาน WESO Trends ยังเตือนด้วยว่า ผลกระทบโดยรวมต่อการจ้างงานนั้นมากกว่าตัวเลขที่เห็นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากได้ออกจากกำลังแรงงาน

อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานทั่วโลกปี 2565 คาดว่าจะยังคงต่ำกว่าปี 2562 ถึง 1.2%

การปรับลดคาดการณ์ลงสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสโควิด เช่น เดลตา และโอมิครอน รวมถึงความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับทิศทางของการระบาดใหญ่ในอนาคต

“เราเห็นแล้วว่าอาจเกิดความเสียหายถาวรต่อตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น” นายไรเดอร์กล่าว

รายงานเตือนถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วทุกกลุ่มคนงานและนานาประเทศ ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งเลวร้ายลงอีกทั้งภายในและระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมของเกือบทุกประเทศอ่อนแอลง ไม่ว่าการพัฒนาจะอยู่ในระดับไหน

ความเสียหายนี้น่าจะต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัวกลับมาดี โดยอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อกำลังแรงงาน รายได้ของครัวเรือน และความสมานฉันท์ทางสังคมและทางการเมือง

ขณะที่เห็นผลกระทบในตลาดแรงงานทั่วโลก ILO พบว่า รูปแบบการฟื้นตัวมีความแตกต่างอย่างมากซึ่งดูเหมือนจะสัมพันธ์กับความแตกต่างในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ในแต่ละภูมิภาค

ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือกำลังมีสัญญาณการฟื้นตัวได้มากที่สุด ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแคริบเบียน มีแนวโน้มด้านลบมากที่สุด

ในระดับประเทศ ประเทศที่มีรายได้สูงมีการฟื้นตัวของตลาดแรงงานแข็งแกร่งที่สุด ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างนั้นแย่ที่สุด

รายงานระบุว่า ผลกระทบของวิกฤติต่อการจ้างงานของผู้หญิงอย่างมาก จะคงต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป

WESO Trends ยังชี้ว่า การปิดสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม “จะมีผลกระทบระยะยาวต่อเนื่อง” สำหรับคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต

“จะไม่มีการฟื้นตัวอย่างแท้จริงจากการระบาดใหญ่นี้ หากตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวในวงกว้าง และหากจะให้ยั่งยืน การฟื้นตัวนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่มีคุณค่า ซึ่งรวมถึงสุขภาพและความปลอดภัย ความเท่าเทียม การคุ้มครองทางสังคม และการเจรจาทางสังคม” ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กล่าว

ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2022/01/1109832

รายงานการวิเคราะห์นี้ ได้รวมการคาดการณ์ตลาดแรงงานที่ครอบคลุมสำหรับปี 2565 และ 2566 และประเมิน การฟื้นตัวของตลาดแรงงานทั่วโลก โดยสะท้อนถึงแนวทางระดับประเทศ ต่อการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อกลุ่มคนงานและภาคเศรษฐกิจต่างๆ

เช่นเดียวกับในวิกฤตครั้งก่อน รายงานยังเน้นว่า สำหรับบางคน การจ้างงานชั่วคราวได้เป็นตัวกันชนต่อการระบาดของโรคระบาดใหญ่

ขณะที่งานชั่วคราวจำนวนมากถูกยกเลิกหรือไม่ได้รับการต่ออายุ แต่ก็มีการสร้างงานทางเลือกขึ้น รวมถึงสำหรับคนงานที่สูญเสียงานประจำ

โดยเฉลี่ยแล้ว ILO ยืนยันว่า การทำงานชั่วคราวที่เกิดขึ้นไม่เปลี่ยนแปลง

เอกสารยังเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญซึ่งมุ่งสร้างการฟื้นฟูวิกฤติที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างครอบคลุมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ