เมื่อวันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566 ผู้พิพากษาในมอนแทนาได้ตัดสินให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์รวม 16 คน ที่กล่าวหาว่าหน่วยงานของรัฐกำลังละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเขา ที่จะมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ ด้วยการอนุญาตให้มีการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ (climate impact)
กลุ่มเยาวชนที่ร่วมเป็นโจทก์มีอายุระหว่าง 5 ถึง 22 ปีได้ฟ้องร้องว่า นโยบายสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัฐมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คดีได้มีการยื่นฟ้องในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เยาวชนในกลุ่มโจทก์ยังมีอายุ 2 ถึง 18 ปี
คดีในลักษณะเดียวกันก็ได้มีการฟ้องร้องโดยเยาวชนรายอื่นๆ แต่คดีนี้เป็นคดีแรกที่เข้าสู่การพิจารณาคดี
คำตัดสินในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นคดีแรกในลักษณะนี้ในสหรัฐฯ เป็นการเพิ่มจำนวนให้กับคำตัดสินทางกฎหมาย ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐบาลในการปกป้องพลเมืองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งโลกมีจำนวนน้อย
คำร้องได้อ้างถึงมาตรา 50 ปีในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า “รัฐและบุคคลรายคนควรที่จะรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพในมอนแทนาเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต” และยังมุ่งเป้าไปที่กฎหมายของรัฐปี 2554 ซึ่งระบุว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อมีการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการใหม่ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ นั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น (district court) เคที ซีลีย์ พิพากษาว่า กระบวนการที่รัฐใช้ในอนุมัติคำขอใบอนุญาตเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไม่เปิดให้มีการประเมินผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เธอกล่าวว่า MEPA (Montana Environmental Policy Act) ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐควรใช้ “วิธีการที่เป็นไปได้ทั้งหมด” เพื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและ
ผู้พิพากษาซีลีย์เขียนในคำตัดสินที่มีจำนวน 103 หน้าว่า “การปล่อยมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมอนแทนาเห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบของสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งแวดล้อมของมอนแทนา” และ “โจทก์ได้พิสูจน์แล้วว่า ในฐานะเด็กและเยาวชน พวกเขาได้รับอันตรายมากกว่าจากมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ”
“ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิขั้นพื้นฐานในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม”
อัยการสูงสุดประจำรัฐวางแผนที่จะอุทธรณ์คำตัดสิน
เอมิลี ฟลาวเวอร์ โฆษกของออสติน คนุตเซน อัยการประจำรัฐมอนแทนา บอกว่าคำตัดสินนี้ “ไร้สาระ”
“อย่ามาว่ากันว่ามอนแทนาทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แม้แต่พยานผู้เชี่ยวชาญของโจทก์ก็เห็นพ้องต้องกันว่ารัฐของเราไม่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศโลก” ฟลาวเวอร์กล่าว
ในระหว่างการพิจารณาคดีในเดือนมิถุนายน โจทก์ทั้ง 16 คนได้แสดงหลักฐานว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนทำให้อุณหภูมิร้อนขึ้น เกิดไฟป่ามากขึ้น และทำให้แผ่นน้ำแข็งละลาย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของพวกเขา
ริกกิ เฮลด์ ผู้นำคณะโจทก์วัย 22 ปี ให้การระหว่างการพิจารณาคดีว่า เธอรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก แต่มอนแทนาก็ต้องรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง ไม่ใช่ปัดมันออกไปและไม่ทำอะไรกับมัน”
รัฐแย้งว่า แม้มอนแทนาจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็จะไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เนื่องจากรัฐและประเทศอื่นๆ ยังคงมีส่วนในการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มาตรการเยียวยาต้องบรรเทาผลกระทบ หรือไม่ก็ไม่เยียวยาเลย
แต่ผู้พิพากษาซีลีย์กล่าวว่า อัยการประจำรัฐไม่สามารถให้เหตุผลที่น่าเชื่อได้ว่า ทำไมถึงไม่มีการประเมินผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก และตีกลับข้อคิดเห็นที่ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมอนแทนานั้นไม่มีนัยสำคัญ และระบุว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นมีความ “เป็นไปได้ทางเทคนิคและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ” โดยอ้างหลักฐานจากการทดลองที่บ่งชี้ว่ามอนแทนาสามารถใช้พลังงานอื่นทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ได้ 80% ภายในปี 2573
“การปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก) ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ตันทำให้การบาดเจ็บของโจทก์รุนแรงขึ้น และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่กู้คืนได้”
คดีนี้ซึ่งมีชื่อว่า Held vs. Montana เป็นคดีแรกที่ท้าทายรัฐและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของประเทศในการพิจารณาคดีในสหรัฐอเมริกา และเป็นคดีแรกที่โจทก์ซึ่งเป็นเยาวชน 16 คนในมอนแทนา ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 5 ถึง 22 ปี ได้รับชัยชนะ
จูเลีย โอลสัน ทนายความที่เป็นตัวแทนของเยาวชนและจาก Our Children’s Trust ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งแวดล้อมในรัฐออริกอนที่ยื่นฟ้องในลักษณะเดียวกันในทุกรัฐตั้งแต่ปี 2554 ยกย่องคำตัดสินของศาลและกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของมอนแทนา ของเยาวชน ของประชาธิปไตย และสภาพภูมิอากาศของเรา”
“วันนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ศาลตัดสินในคดีที่รัฐบาลละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเด็กผ่านกฎหมายและการกระทำที่ส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิกเฉยต่อกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้เยาวชนตกอยู่ในอันตรายอย่างมาก” โอลสันกล่าว
“คำตัดสินในลักษณะนี้จะมีมาอีกอย่างแน่นอน”
คดีในลักษณะเดียวกันนี้จะเข้าสู่การพิจารณาในเร็วๆ นี้ ในรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐ ทั้งฮาวาย ยูทาห์ และอะแลสกา รวมถึงในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน โคลอมเบีย และยูกันดา
มอนแทนาเป็นรัฐที่มีท้องฟ้าสีครามที่ดูยิ่งใหญ่และสดใสกว่าที่ไหนๆ ในประเทศ ด้วยทิวเขาสูงที่เปิดสู่ทุ่งหญ้าเขียวขจีอันกว้างใหญ่ ทำให้ได้มุมมอง 360 องศาที่สมบูรณ์แบบ
ริกกิ เฮลด์ กล่าวกับบีบีซีเมื่อช่วงต้นฤดูร้อนนี้ว่า “มันวิเศษมากที่ได้เติบโตที่นี่ มอนแทนาสวยมากๆ”
เฮลด์เติบโตในฟาร์มปศุสัตว์ขนาด 7,000 เอเคอร์ในบรอดัส รัฐมอนแทนา เมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโรงเรียน เฮลด์ก็คิดว่า เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลกและแผ่นน้ำแข็งที่อยู่ห่างไกลจากบ้านของเธอ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอได้เห็นน้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้ง และไฟป่าที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลเสียต่อพืชผลและปศุสัตว์ในฟาร์มของครอบครัวเธอ
เฮลด์รู้สึกว่า เธอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าร่วมกับกลุ่มสนับสนุนด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น Our Children’s Trust ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในรัฐออริกอน ซึ่งได้ฟ้องร้องรัฐบาลของรัฐต่างๆ ในนามของเยาวชนใน 50 รัฐ
“[รัฐกำลัง] อนุญาตและส่งเสริมระบบพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และนั่นมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เฮลด์กล่าว “มันขัดแย้งกับสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการของเราที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของเรา”
คดีได้ทำให้ชาวมอนแทนาแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่อยู่ใต้ดิน กับฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมบนดิน
รัฐมอนแทนาถือครองปริมาณสำรองถ่านหินที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ของประเทศ 30% และเป็นรัฐที่ผลิตถ่านหินมากเป็นอันดับ 4 ในบรรดารัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งมันนำรายได้เข้ารัฐนับล้านล้านดอลลาร์ทุกปี และงานในอุตสาหกรรมถ่านหินจ่ายค่าจ้างมากกว่ารายได้เฉลี่ยของรัฐถึง 30%
คดีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง โดยเฉพาะกับชาวมอนแทนาจำนวนมากที่ทำงานในอุตสาหกรรมถ่านหิน
ห่างออกไปประมาณ 112 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฟาร์มของครอบครัวเฮลด์ เป็นเมืองเหมืองแร่ขนาดเล็กของเมืองโคลสตริป ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐ ในโคลสตริปทุกคนรู้จักกันหมด และทุกคนดำรงชีวิตด้วยถ่านหิน
โจ โนวาซิโอ ทำงานเป็นคนขุดแร่ในเมืองนี้เป็นเวลา 40 ปี และย้ายไปที่โคลสตริปก่อนที่ถ่านหินจะเฟื่องฟูในปี 1970 และช่วยสร้างให้กลายเป็นชุมชนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งโจบอกว่า ถ้าไม่มีถ่านหิน ที่นี่ไม่มีอะไรเลย
“ทั้งเมืองนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสิ่งเดียว” เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถ้าอยากใช้ไฟ ก็ต้องมีเรา”
โนวาซิโอมองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในมอนแทนา
“เราเป็นส่วนเล็กน้อยของปัญหา อย่านำเราไปเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก”
โนวาซิโอมองว่า คดีสภาพภูมิอากาศเป็นตัวอย่างของกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ใช้เด็กในการผลักดันวาระของพวกเขา
“ผมยังไม่เห็นทางออกสักทาง” โนวาซิโอกล่าวถึงคดีในศาล “แล้วเด็กยากจนในโคลสตริปล่ะ จะทำอย่างไรกับพวกเขา แล้วงานของพ่อแม่ล่ะ ผมไม่เห็นมีใครวิ่งเข้ามาช่วยเราเลย”
รัฐกำลังยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน หากมีการพิพากษายืนคำตัดสินของผู้พิพากษา สภานิติบัญญัติแห่งรัฐจะต้องร่างนโยบายการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาพิจารณาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคต