ThaiPublica > คอลัมน์ > Retirement Literacy…สี่สิ่งควรสะสมก่อนเกษียณ สิ่งที่เรียนรู้จากบทสัมภาษณ์ของคุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ

Retirement Literacy…สี่สิ่งควรสะสมก่อนเกษียณ สิ่งที่เรียนรู้จากบทสัมภาษณ์ของคุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ

2 พฤษภาคม 2024


Hesse004

ผมมีโอกาสได้ดูรายการสัมภาษณ์ทาง YouTube ช่อง Wealth Me Up ชื่อรายการลงทุนนิยม “เกษียณสุข” EP 389 ชื่อตอน “4 อย่างต้องสะสม ถ้าไม่อยากเจ็บตอน “ถอดหัวโขน”

EP นี้ เชิญคุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารหนุ่มที่สร้างตำนานทางการตลาดไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน

…พูดตามตรง ผมไม่เคยติดตามเรื่องราวของคุณโจ้ เพียงแต่รู้ว่าคุณโจ้เป็นคนสำคัญที่บุกเบิก DTAC ช่วงยุคแรกๆ

ผมนั่งฟัง EP นี้จนจบ…เกือบชั่วโมง

…สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณโจ้นับว่าดีมากๆ เป็นมุมมองที่มีประโยชน์ต่อการเตรียมพร้อมตัวเองในอีกสิบกว่าปีข้างหน้าก่อนเกษียณอายุราชการ

คำว่า “เกษียณ” ในความเห็นของคุณโจ้ ธนา คือ การหยุดทำงานเดิมที่เราทำมายาวนาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถเริ่มต้นงานใหม่ได้

เราทำสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต ตราบที่เรายังมีลมหายใจ

เมื่อเราใช้ชีวิตมาถึงช่วงอายุหนึ่ง…เราเรียกช่วงเวลากลางคนนี้ว่า mid-life บางทีมันเป็น mid- life crisis บางครั้งเราเรียก “วัยทอง”

ช่วงเวลาดังกล่าว เราเริ่มตระหนักแล้วว่า เวลาของเรากำลังค่อยๆ หมดลง…ความฝันบางอย่างค่อยๆ แคบลง แต่เรายังพอมีพลังที่จะทำสิ่งนั้นอยู่…เราจินตนาการถึงวันสุดท้ายของชีวิตบ่อยขึ้น

เราได้ยินข่าวการสูญเสีย ข่าวการจากไปของคนใกล้ตัวมากขึ้น… แน่นอนว่าเรายิ่งห่วง กังวล อย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่ง เราต้องจากไปเช่นกัน

การเกษียณ คือ การต้องหยุดจากสิ่งที่เราเคยทำทุกวัน มันอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนได้พักผ่อนในช่วงแรกๆ แต่พอสักระยะหนึ่ง เรารู้สึก “คิดถึง” สิ่งที่เราเคยทำ

คุณโจ้พูดถึง “อิคิไก” ปรัชญาการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น โดยยกตัวอย่างชาว blue zone ผู้สูงอายุในโอกินาวะที่ทั้งแข็งแรงและมีความสุขกับชีวิต เพราะเขามีสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงไว้ แม้สิ่งนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนสมัยทำงาน

การที่เรารู้สึกถึง “คุณค่า” ของตัวเองที่มีให้กับคนอื่น…มันย้อนกลับมาตอบโจทย์ชีวิตช่วงท้ายว่าเราใช้ชีวิตได้อย่าง “คุ้มค่า” แล้ว

…ภาษาฝรั่งเรียกว่ามีทั้ง value and benefit ให้กับเราเอง

ผมชอบวิธีคิดและมุมมองคุณโจ้เรื่องสี่สิ่งที่ต้องสะสมไว้ก่อนเกษียณ ได้แก่

(ก) เงิน ปัจจัยสำคัญที่สุด อันนี้คงไม่ต้องอธิบาย

(ข) ความทรงจำ ถ้าเราทำงานมายาวนาน เราย่อมมีความทรงจำมากมาย แน่นอนว่า เราอยากเก็บความทรงจำดีๆ ไว้สำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต… ผมเชื่อว่า วันสุดท้ายของชีวิตการทำงาน ทุกคนล้วนมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง

(ค) ประสบการณ์ ยิ่งอยู่นาน การเติบโตแบบ grow old ต้องมาพร้อมกับ grow up ความ maturity ของชีวิตที่เพิ่มขึ้น

…ผมเชื่อว่าเราเลือกได้ว่าเราอยากเป็นผู้สูงอายุแบบใด แบบที่ให้คนรุ่นหลังยกให้เราเป็น mentor ที่มีภูมิปัญญา (wisdom) หรือเห็นเราเป็น “มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า” ที่ให้เด็กมาเหน็บว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน

(ง) คำขอบคุณ การสะสมคำขอบคุณทั้งจากตัวเองและคนอื่น ขอบคุณตัวเองให้เป็น เช่นเดียวกับการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจ มีมุมทั้ง give และ take

คุณโจ้อ่านหนังสือแนวจิตวิทยาการพัฒนาตัวเองหลายเล่ม หนังสือเล่มที่กล่าวถึงในการสัมภาษณ์ คือ “พีระมิดแห่งความสุขสามระดับ” ของจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น คุณหมอ “ชิอน คาบาซาวะ” (ผู้สนใจโปรดอ่าน “สู่จุดสูงสุดของชีวิต ด้วยพีระมิดสามสุข” แปลโดยนิพดา เขียวอุไร สำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู)

ความสุขที่คุณหมอคาบาซาวะอธิบายแบ่งออกเป็นสามระดับตามฮอร์โมนในร่างกาย ได้แก่

ความสุขแบบเซโรโทนิน (serotonin) คือ ความสุขด้านสุขภาพ เกิดขึ้นตอนที่เราออกกำลังกาย มีสุขภาพดี แข็งแรง

ความสุขแบบออกซิโทซิน (oxytocin) คือ ความสุขด้านความสัมพันธ์ การเชื่อมต่อกับผู้คน การแบ่งปัน

ความสุขแบบโดปามีน (dopamine) คือ ความสุขเรื่องการเงิน หน้าที่การงาน เกียรติยศ

ถ้าเราตั้งต้นด้วยความสุขแบบพื้นฐานสุด คือ ความสุขแบบเซโรโทนิน แน่นอนว่า เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพให้ดี

ความสุขสามระดับนี้ ความสุขที่ง่ายที่สุด คือ เริ่มต้นจากการรู้จักตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่าง “ปกติสุข” มีความสุข รื่นรมย์กับสิ่งที่เรามีในชีวิต ก่อนขยับไปสู่ความสุขระดับถัดมา คือ สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง

การอยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเองและแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ต่อคนรอบข้างตั้งแต่คนในครอบครัวไปถึงมิตรสหาย เป็นการเพิ่มฮอร์โมนความสุขออกซิโทซิน

ประโยคทิ้งท้ายที่ผมประทับใจบทสัมภาษณ์นี้… เป็นแคปชันหล่อๆ คมๆ ที่มีความหมาย

…คุณโจ้บอกว่า พอเราอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเตรียมตัวเกษียณหรือเกษียณไปแล้วก็ดี

“เราจงเข้มงวดกับตัวเองและผ่อนปรนให้ผู้อื่น”

ความหมายคำว่า “เข้มงวด” คือ ยิ่งอายุมาก เราจำเป็นต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตทั้งเรื่องกิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย และหมั่นรดน้ำในใจให้ตัวเองอยู่อย่างสงบร่มเย็น

ขณะที่ผ่อนปรนให้ผู้อื่น คือ ทัศนคติที่ดีที่มีต่อโลกในช่วงบั้นปลายชีวิต

ชีวิตไม่มีอะไรมากนัก อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ เรียนรู้ที่จะ “ปล่อยบางอย่างและวางบางสิ่งลง”

ประโยคทิ้งท้ายของคุณโจ้ทำให้ผมคิดถึง “อาม่า” ของผม เพราะตั้งแต่ผมจำความได้ อาม่ามีวินัยในการใช้ชีวิตทุกเรื่อง ขณะเดียวกันอาม่าผมเป็นคนใจดี อัธยาศัยดีและอภัยให้คนอื่นอยู่เสมอ

…อาม่าบอกว่าไม่รู้จะโกรธเกลียดกันทำไม อีกไม่นานก็ตายจากกันแล้ว

ช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ผมรู้สึกได้ว่าชีวิตมีความไม่แน่นอนมากขึ้นทุกวัน พูดแบบ auditor คือ มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

โลกยุคหลังโควิด-19 นอกเหนือจากทักษะเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ๆ แล้ว ทักษะอย่างหนึ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาให้ฝึกฝน คือ ทักษะที่เรียกว่า “ล้มแล้วลุกให้เร็ว” หรือ resilient skill ซึ่งสิ่งที่คุณโจ้พูดมา ผมว่ามีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังมาก

บทสัมภาษณ์ของคุณโจ้นับเป็น retirement literacy ให้คนที่กำลังเตรียมพร้อมออกเดินทางไปสู่เส้นทางใหม่ได้ดีครับ