ThaiPublica > คอลัมน์ > ผู้ว่าการกรุงโตเกียวกับการแสดงสปิริต (ภาคบังคับ)

ผู้ว่าการกรุงโตเกียวกับการแสดงสปิริต (ภาคบังคับ)

21 มิถุนายน 2016


Hesse004

หลักการข้อแรกของการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ การส่งเสริมให้เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างให้มากที่สุด (Openness) เพราะการเปิดเผยนำไปสู่การสร้างความโปร่งใส (Transparency) อย่างเป็นรูปธรรม

ความโปร่งใส ยังหมายถึงการอธิบายทุกอย่างให้กระจ่างแจ้ง ชี้ให้เห็นที่มาที่ไปของทรัพย์สิน รายได้ ธุรกรรมหรือกิจกรรมทุกอย่างในกระบวนการใช้อำนาจรัฐ ด้วยเหตุนี้ ความโปร่งใสจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความรับผิดชอบ (Accountability)

การแสดงความรับผิดชอบเป็นตัวสะท้อนถึงภาวะผู้นำ เพราะผู้นำที่ดีไม่ใช่ผู้ที่แสดงแต่ความรับชอบเพียงอย่างเดียว หากต้องพร้อมแสดงความรับผิด กรณีเกิดความผิดพลาดนั้นด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จัดเป็น “การแสดงสปิริต” ในการใช้อำนาจอย่างหนึ่ง

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ “ครึกโครม” ในทางการเมืองญี่ปุ่น เมื่อนายโยอิชิ มะซุโซะเอะ (Yoichi Maszuoe) ผู้ว่าการกรุงโตเกียวต้องเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการใช้จ่ายเงินหลวงฟุ่มเฟือย

โยอิชิ มะซุโซะเอะ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2016/05/13/article-urn:publicid:ap.org:668010702f1c48b99bd2515c667198b2-2gqALY4vPZ08bdc60e863f18c1e8-102_634x434.jpg
โยอิชิ มะซุโซะเอะ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2016/05/13/article-urn:publicid:ap.org:668010702f1c48b99bd2515c667198b2-2gqALY4vPZ08bdc60e863f18c1e8-102_634x434.jpg
เรื่องของมะซุโซะเอะปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น สื่อโซเชียล รวมถึงสื่อใหญ่หลายสำนัก ไม่ว่า BBC หรือ CNN

เพราะเหตุใด พฤติกรรมการจ่ายเงินหลวงแบบตามอำเภอใจของ “พ่อเมือง” โตเกียวจึงได้รับความสนใจกันมากขนาดนี้

ย้อนกลับไปดูประวัติชีวิตมะซุโซะเอะ พบว่า กว่าที่เขาจะสร้างชื่อเสียงจนชาวโตเกียวไว้วางใจให้มานั่งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวนั้น เขาต้องสั่งสมบารมี สร้างเครดิตมายาวนานมากกว่า 20 ปี แต่สุดท้ายต้องมาตายน้ำตื้นเพราะเรื่องใช้เงินมือเติบ

มะซุโซะเอะเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1948 เป็นเด็กยุคเบบี้บูมที่เติบโตในช่วงที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นเพเป็นคนจังหวัดฟุกุโอกะ จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโตเกียว มะซุโซะเอะจัดเป็นปัญญาชนของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เขาพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เคยเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยปารีส และจบการศึกษาระดับสูงที่ Graduate Institute of International Studies ในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่ยุโรป 5 ปี เขากลับมาที่ญี่ปุ่น เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยโตเกียวอยู่ 10 ปี ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักวิจารณ์การเมืองและก่อตั้ง Maszuoe Institute of Political Economy

ชื่อของมะซุโซะเอะเริ่มติดลมบนมากขึ้น เมื่อเขาเขียนหนังสือขายดีระดับ Best Seller ชื่อ When I put a diaper on My Mother ซึ่งว่าด้วยประสบการณ์การดูแลคุณแม่ผู้แก่ชรา ซึ่งเนื้อหาในหนังสือวิจารณ์ไปถึงระบบรัฐสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น ที่ในอนาคตควรเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่จะมาถึง หนังสือเล่มนี้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้จุดประกายประเด็นสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นก็ว่าได้

ในปี 1999 มะซุโซะเอะลงสมัครเลือกตั้งชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียว (Governor of Tokyo) โตเกียวนับเป็นมหานครที่มีงบประมาณสูงที่สุดในโลก ว่ากันว่า งบประมาณบริหารกรุงโตเกียวสูงกว่างบประมาณประเทศสวีเดนเสียอีก

แม้ว่ามะซุโซะเอะไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ แต่การลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกโดยได้คะแนนอันดับ 3 จากผู้สมัคร 19 คน นับว่าประสบผลสำเร็จไม่น้อย

หลังจากนั้น เขาได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาบน (Upper House) และกระโจนสู่สนามการเมือง เต็มตัวในเวลาต่อมา มะซุโซะเอะสังกัดพรรค LDP (Labor Democratic Party) ตั้งแต่ปี 2001-2010 และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม หรือ Korosho

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ประสบการณ์ทางการเมืองได้บ่มเพาะให้มะซุโซะเอะกลายเป็นนักการเมืองที่เจนจัด มีชั้นเชิง จนพรรค LDP และพรรค DPJ (Democratic Party of Japan) สนับสนุนเขาลงชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวในปี 2014 โดยมะซุโซะเอะลงเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระ นโยบายที่เขาชู คือ สานต่อพัฒนากรุงโตเกียวให้เตรียมพร้อมกับการเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดร้อน ปี 2020

ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมาตลอด ทำให้การเลือกผู้ว่าการกรุงโตเกียวครั้งนี้ มะซุโซะเอะชนะการเลือกตั้งขาดลอย โดยได้คะแนนเกินกว่า 2 ล้านเสียง หรือเกือบ 43% ของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด ทิ้งห่างอันดับสองและสามถึงล้านกว่าคะแนน

อย่างไรก็ดี มะซุโซะเอะบริหารงานได้เพียงปีกว่าๆ ปรากฏว่าสภากรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan Assembly) ได้รับเรื่องร้องเรียนถึง 610 เรื่อง กรณีที่เขามีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย หรูหราเกินตัว และยิ่งเจ้าตัวออกมายอมรับและขอโทษต่อหน้าสื่อว่า ใช้เงินสำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (Political funds) หมดไปกับการเลี้ยงอาหารค่ำสุดหรู พาครอบครัวเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศโดยใช้เงินหลวง สะสมงานศิลปะ ซื้อเสื้อผ้าไหมจีนราคาแพงระยับ ซื้อหนังสือการ์ตูนให้ลูกสาว โดยเงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้ในกิจกรรมทางการเมืองเลย

การใช้เงินผิดประเภทเช่นนี้ ผลการสืบสวนสรุปว่า มะซุโซะเอะใช้จ่ายเงินไม่เหมาะสม (Inappropriate) แต่ยังไม่เข้าข่ายว่าฉ้อฉลทุจริตแต่อย่างใด ขณะเดียวกันเขาเองก็ประกาศว่าจะคืนเงินเหล่านี้ให้หลวงทั้งหมด

มะซุโซะเอะยังคงแถไปตามสไตล์ความเขี้ยวแบบนักการเมืองที่รอให้เรื่องเงียบไปเอง แต่สำหรับชาวโตเกียวแล้ว กว่า 70% พวกเขาคิดว่ามะซุโซะเอะควรลาออกไปดีกว่า และท้ายที่สุด พรรค LDP ผู้สนับสนุนเขาเลือกจะ “ตัดหางปล่อยวัด” โดยพรรคเองเกรงว่า หากยังดันทุรังปกป้องมะซุโซะเอะ จะพลอยเสียคะแนนเสียงไปด้วย

นอกจากนี้ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดพอดิบพอดีกับที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งต่อไป และมะซุโซะเอะในฐานะ “พ่อเมือง” ต้องไปรับธงโอลิมปิกในเดือนสิงหาคมที่รีโอเดจาเนโร และญี่ปุ่นเองเพิ่งจะโดนสอบสวนกรณีมีเรื่องอื้อฉาวติดสินบนคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิก ด้วยเหตุนี้ หากคนมี “มลทิน” อย่างมะซุโซะเอะไปรับธงโอลิมปิกอีกด้วยแล้ว “โตเกียวเกมส์ ปี 2020” คงมีภาพอิหลักอิเหลื่อ คลุมเครือทั้งตัวเจ้าภาพและตัวพ่อเมือง

ท้ายที่สุด เมื่อเช้าวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา มะซุโซะเอะตัดสินใจยื่นใบลาออก เพราะทนกระแสกดดันไม่ไหว และเกรงว่าหากยังฝืนยื้อนั่งบริหารงานต่อไป อาจจะโดนขุดคุ้ยอะไรมากกว่านี้

บ่อยครั้ง ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่สามารถทนแรงกดดันจากกระแสสังคมที่อ่อนไหวกับเรื่องความไม่โปร่งใสได้ เช่น ในสังคมญี่ปุ่น ที่เรามักเห็นคนระดับผู้นำทั้งแวดวงการเมืองและธุรกิจออกมาแสดงสปิริตขอโทษหรือลาออกจากตำแหน่งเมื่อตัวเองกระทำผิด

บทเรียนจากกรณีของโยอิชิ มะซุโซะเอะ แสดงให้เห็นว่า พลังของภาคประชาชนและสื่อมีส่วนกดดันให้นักการเมืองเก๋าๆ อย่างมะซุโซะเอะพ้นจากตำแหน่งแบบต้องแสดงสปิริต (ในภาคบังคับ)