ThaiPublica > คอลัมน์ > ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 1) : TI กับการผลิต Franchise สินค้าต่อต้านคอร์รัปชัน

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 1) : TI กับการผลิต Franchise สินค้าต่อต้านคอร์รัปชัน

4 เมษายน 2014


Hesse004

ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาคอร์รัปชันถูกหยิบขึ้นมาเป็นทั้งเหตุผลและข้ออ้างของการ “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือแม้แต่การ “ปฏิรูป” สังคมใหม่

อย่างไรก็ดี คอร์รัปชันมีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากกว่าที่ใครจะ “ยัดเยียด” ข้อกล่าวหาให้กับฝ่ายตรงข้ามผ่านวาทกรรมต่างๆ โดยขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ชัดแจ้งแล้วว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นกระทำการทุจริตจริง

ด้วยเหตุนี้ การต่อต้านคอร์รัปชันที่ผ่านทาง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” (Social Movement) หรือการต่อต้านคอร์รัปชันโดยภาคประชาชน จึงควรเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกระบวนการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันเสียก่อน

บทความนี้เป็นชุดบทความยาว ประกอบไปด้วย 4 ตอน ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนขึ้นเป็น “ซีรีส์” ชุด “ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน” ผ่านประสบการณ์การต่อสู้คอร์รัปชันของภาคประชาชนในรูปแบบต่างๆ ทั่วโลก

โดยทั่วไปแล้ว การต่อต้านคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนนั้นมีอยู่สองรูปแบบ คือ (1) การเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเป็นทางการผ่านการรวมกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรเอกชน (Civil Society Organization and NGO) และ (2) การเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างไม่เป็นทางการผ่านการรวมตัวของมวลชนที่ออกมาประท้วงในแบบของ “ม็อบ”

ในตอนที่ 1 จะเริ่มต้นอธิบายขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนหรือ NGO ซึ่งมีบทบาทมากที่สุดในการต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลก นั่นคือ องค์กรความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International (TI)

TI ถือกำเนิดเมื่อปี 1993 โดยมีสมาชิกเริ่มต้นเพียงไม่กี่คน นับเป็น NGO ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสขึ้นทั่วโลก

ในปี 1995 TI เริ่มประกาศจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่ามีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด โดย TI ได้พัฒนาดัชนีที่เรียกว่า Corruption Perception Index หรือ CPI โดยเกณฑ์การให้คะแนนไม่มีความซับซ้อนมาก กล่าวคือ ประเทศใดที่ได้คะแนนเต็ม 10 แสดงว่าประเทศนั้นมีความโปร่งใสมาก ปัญหาคอร์รัปชันน้อย ส่วนประเทศใดได้คะแนนเข้าใกล้ 0 แสดงว่าประเทศนั้นขาดความโปร่งใส เต็มไปด้วยเรื่องทุจริตฉ้อฉล

ที่มาภาพ :https://goodpitch.org
ที่มาภาพ: https://goodpitch.org

NGO ระดับโลกที่กลายเป็นผู้ผลิต Franchise สินค้าต่อต้านคอร์รัปชัน

CPI ได้รับการตอบรับในแง่บวกจากความพยายามที่จะวัดพฤติกรรมการคอร์รัปชัน (Measuring corruption) ให้ออกมาเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตาม CPI ถูกวิจารณ์ต่างๆ นานา โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของดัชนีดังกล่าว เพราะดัชนีตัวนี้ดันไปสร้างภาพลักษณ์ไม่ใคร่จะดีนักกับประเทศที่ได้คะแนน CPI ต่ำๆ

แต่ CPI ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นดัชนีเพียงไม่กี่ตัวที่สามารถแสดงสถานการณ์คอร์รัปชันของแต่ละประเทศได้ ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดที่ “ประจาน” การทำงานของรัฐบาลในมุมมองของคนกลาง

อย่างไรก็ดี มีการวิพากษ์บทบาทของ TI ในบทความเรื่อง Transparency International in Search of A Constituency: The Franchising of the Global Anti corruption Movement ของ Luis de Sousa 1 นักวิจัยจาก Australia National University (ANU) ที่ได้วิเคราะห์รูปแบบการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับสากลผ่านบทบาทของ TI ในฐานะที่เป็น NGO ระดับโลก

โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา TI ได้กลายเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในลักษณะที่รวมกลุ่มอย่างเป็นทางการ เน้นเรื่องการให้ความรู้ การทำวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีกลุ่มนักวิชาการ เหล่าเทคโนแครตจากทั่วโลกที่มองเห็นปัญหาคอร์รัปชันว่าเป็นภัยร้ายแรงในการพัฒนาประเทศ

มุมมองของ Sousa มองว่า การถือกำเนิดของ TI นั้น มิได้มาจากความต้องการของผู้คนในท้องถิ่น หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่ามิได้มาจาก “แนวทางล่างขึ้นบน” หรือ Bottom-up approach หากแต่มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มที่ Sousa เรียกว่าเป็น “Grey suit” หรือ พวกที่ใส่เสื้อนอก ผูกไท นั่งทำงานอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศอย่าง World Bank หรือ OECD บวกกับกลุ่มนักวิชาการที่สนใจปัญหาคอร์รัปชันในฐานะที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหม่ที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ หลังหมดยุคสงครามเย็น (Post Cold War)

Sousa กล่าวถึงสองคีย์แมน ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิด TI ขึ้น คือ นาย Peter Eigen อดีตนักกฎหมายชาวเยอรมัน ซึ่งเคยทำงานให้กับ World Bank และมีประสบการณ์โชกโชนในการบริหารโครงการของ World Bank โดยเฉพาะโครงการในทวีปแอฟริกา ส่วนอีกคน คือ นาย Jeremy Pope นักเคลื่อนไหวชาวนิวซีแลนด์ ที่ทำงานเป็น Activist มาตลอดชีวิต ก่อนจะกลายมาเป็นคีย์แมนผู้ก่อตั้ง TI และเป็นผู้พัฒนา CPI จนเป็นที่โด่งดัง

… ทั้ง Eigen และ Pope จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น Fathers of TI

Peter Eigen และ Jeremy Pope สองตำนานผู้สร้าง TI  ที่มาภาพ : http://photos.iofc.org
Peter Eigen และ Jeremy Pope สองตำนานผู้สร้าง TI
ที่มาภาพ: http://photos.iofc.org

การเคลื่อนไหวของ TI นั้นได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำการศึกษาเรื่องราวคอร์รัปชันในมิติต่างๆ และยังคงดำเนินกิจกรรมการวัดคอร์รัปชันโดยใช้เครื่องมือ CPI และ Bribe Payer Index (BPI)

ในบทความของ Sousa ซึ่งเขียนขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี TI เมื่อปี 2003 เขาพยายามสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว TI ได้แผ่อิทธิพลความคิดเรื่อง Transparency Accountability และ Good Governance ให้กลายเป็น “ชุดความคิดสากล” อย่างหนึ่งในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ ว่า องค์กรเหล่านี้ได้สร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ในแง่สนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารประเทศตลอดจน “เชียร์” และ “ชู” แนวคิดเรื่อง “ธรรมาภิบาล” รวมทั้งสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันในมิติต่างๆ คล้ายกับเป็นการสร้าง “สูตรสำเร็จ” สูตรหนึ่งของการพัฒนา

Sousa ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจว่า ในช่วง 10 ปีที่ TI เจริญเติบโตนั้น พวกเขาสามารถผลิตโลโก้ TI เพื่อไป “พะยี่ห้อ” ให้กับองค์กรภาคประชาสังคม CSOs หรือ NGOs ต่างๆ ทั่วโลกที่อยากจะเอาคอนเซปต์ของ TI ไปเผยแพร่ในประเทศตัวเอง เช่น ในประเทศไทย มีมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (TI-Thailand) ในอินเดียก็มี TI-India ในฟิลิปปินส์ก็มี TI-Philippines

ดังนั้น TI จึงกลายเป็นองค์กรเอกชนด้านต่อต้านคอร์รัปชันที่มีสาขากระจายไปอยู่ทั่วโลก

Sousa เปรียบเทียบแนวคิดดังกล่าวไว้ว่า การเกิดขึ้นของ TI ต่างๆ ทั่วโลกเปรียบเสมือนการซื้อขาย Franchise ในธุรกิจต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption Industry) ของ TI ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

TI กระจายไปตามประเทศต่างๆ ด้วยความมุ่งหวังที่ว่า การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันจะได้มีทิศทางการต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกัน

ท้ายที่สุด เราอาจกล่าวได้ว่าการต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลกนับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะทั้ง Eigen และ Pope (เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2012) ได้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวนี้ขึ้นมาจนทำให้ TI สถาปนาตัวเองเป็น Global NGO for Anti-Corruption ที่ผลิต Franchise สินค้าต่อต้านคอร์รัปชันกระจายไปร้อยกว่าประเทศทั่วโลกแล้ว

หมายเหตุ: 1 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความนี้อ่านได้ที่นี่