1721955
กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากการเปิดตัว “ภาพพอร์ตเทรตอย่างเป็นทางการ” ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อันเป็นภาพแรกหลังจากขึ้นครองราชย์เป็นราชา ที่พสกนิกรในชาติและชาวบ้านสองทั่วโลกต่างเม้าท์มอยตีความไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่า ดูนองเลือดดี, ไฟนรก, ตลก, เขาเหมือนซาตาน, แปลกใหม่ดีนะ ฯลฯ
จากไวรัลนี้ทำให้เราสนใจเกี่ยวกับภาพวาดนี้ในเชิงความหมาย สนใจในตัวศิลปิน ไปจนถึงภาพพอร์ตเทรตอย่างเป็นทางการภาพอื่น ๆ ของคิงชาร์ลส์ แต่เรากลับแปลกใจอย่างมากที่ไม่เจอสำนักข่าวไหนเล่าถึงสิ่งเหล่านี้ที่เราอยากรู้เลย ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักเรื่องราวเหล่านี้กัน
official portrait
“ภาพพอร์ตเทรต” เมื่อก่อนคำไทยมักจะแปลกันว่า “ภาพเหมือน” อันทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าต้องเป็นแค่ภาพวาดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันคำนี้มักจะถูกแปลว่า “ภาพบุคคล” เพราะอันที่จริงภาพพอร์ตเทรตไม่ได้หมายถึงภาพวาดเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาพถ่ายด้วยเช่นกัน
ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศใช้คำเรียกภาพวาดสีแดงในข่าวล่าสุดนี้ว่า “the first official portrait” หลายคนก็เข้าใจกันไปว่า นี่คือภาพบุคคลภาพแรกของคิงชาร์ลส์ที่ 3 แต่อันที่จริงถ้าจะให้ระบุเจาะจง นี่คือภาพวาดบุคคลภาพแรกอย่างเป็นทางการหลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ (the first official portrait of King Charles III since The Coronation) เพราะเนื่องจากว่าจริง ๆ แล้ว กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 มีภาพวาดบุคคลภาพแรกอย่างเป็นทางการก่อนขึ้นครองราชย์ด้วย และเช่นกันก็มีภาพถ่ายบุคคลภาพแรกอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน นั่นคือสองภาพบนหัวข้อนี้
เริ่มกันที่ภาพถ่ายเป็นผลงานของ ฮิวโก เบอร์นันด์ ช่างภาพชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในลอนดอน เขาเริ่มอาชีพช่างภาพเมื่ออายุ 27 ปี และทำงานให้กับนิตยสารสังคมชั้นสูงเป็นเวลากว่า 20 ปีในการถ่ายภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย ในปี 2005 เขาได้ถ่ายภาพงานแต่งงานของเจ้าชายแห่งเวลส์ในขณะนั้นกับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์ที่ปราสาทวินด์เซอร์ และในปี 2011 เขาได้ถ่ายภาพงานแต่งงานอย่างเป็นทางการของเจ้าชายวิลเลียมและแคทเธอรีน มิดเดิลตันที่พระราชวังบักกิงแฮม ฮิวโก้ได้ถ่ายภาพของคิงชาร์ลส์ที่ 3 ทั้งแบบส่วนตัวและเป็นทางการมากว่า 20 ปี หรือในทางพฤตินัยแล้วจะเรียกเบอร์นันด์ว่าเป็นช่างภาพประจำราชสำนัก หรือช่างภาพส่วนพระองค์ก็ไม่เกินความเป็นจริงนัก
อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ราชสำนักและผลงานของเบอร์นันด์ก็ตกเป็นข่าวฉาวอยู่พักใหญ่ โดยเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม เมื่อสำนักข่าวเดอะการ์เดียนตีข่าวว่าคิงชาร์ลส์มีโครงการในราชดำริว่าจะจัดพิมพ์ภาพถ่ายเพื่อแจกจ่ายไปยังอาคารสำนักงานต่าง ๆ เพื่อใช้ประดับ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่โครงการนี้มีราคาสูงถึง 8.2 ล้านปอนด์ (ราว 375 ล้านบาท) ทั้งยังจั่วหัวบทความว่า “โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสิ้นเปลืองเงินอย่างน่าละอาย”
หนังสือพิมพ์ ดิอาร์ตนิวส์เปเปอร์ ตีข่าวว่า “รัฐบาลสหราชอาณาจักรจัดสรรเงิน 8.2 ล้านปอนด์เพียงเพื่อภาพประดับในโรงเรียน สถานีดับเพลิง สภาท้องถิ่น และศาล อันเป็นเงินจากภาษีประชาชนที่ได้ผ่านทางสำนักงานคณะรัฐมนตรี” การกระทำนี้กลายเป็นไวรัลอย่างหนัก อาทิคอมเมนต์บนทวิตเตอร์ซัดว่า “เป็นเรื่องน่าละอายที่ยังมีคนจำนวนมากอดอยาก” บ้างก็ว่า “ว่าไม่ได้นะ เขาคงได้แบบอย่างมาจากมารี แอนตัวเนตต์ นางพญาจอมฟุ่มเฟือย” ขณะที่เกรแฮม สมิธ ผู้นำกลุ่มต่อต้านกษัตริย์เรียกสิ่งนี้ว่า “เป็นการเสียเงินอย่างน่าละอาย”

ช่องทีวีในสหภาพยุโรป ยูโรนิวส์ จวกว่า “เป็นภาพถ่ายที่มีราคาชวนช็อคที่สุดเท่าที่เคยมีมา” พร้อมกับยกคำวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนของสมิธขึ้นมาว่า “ในช่วงเวลาที่สภาท้องถิ่นส่วนใหญ่กำลังขึ้นภาษี และลดการให้บริการสาธารณะ เมื่อโรงเรียนและโรงพยาบาลต่างกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การใช้จ่ายแม้แต่เพียงปอนด์เดียวกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ก็ถือเป็น 1 ปอนด์ที่มากเกินไป” ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี โอลิเวอร์ ดาวเดน กล่าวว่า “การเปลี่ยนภาพใหม่นี้จะเป็นการเตือนใจแก่พวกเราทุกคนถึงการที่กษัตริย์เป็นตัวอย่างให้แก่ข้าราชการระดับสูง เป็นตามมาตรฐานที่เรากำหนดไว้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของเรา” ซึ่งกลับยิ่งเรียกขบวนรถทัวร์มาแหกท่านรองนายกว่า “หมายความว่าข้าราชระดับสูงต้องฟุ่มเฟือยผลาญเงินภาษีงั้นสิ” หรือไม่ก็ “คำว่าข้าราชการ (public servant) แปลว่ารับใช้สาธารณะชนโว้ยไอ้ทึ่ม หมายถึงรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้กษัตริย์” ไปจนถึง “เงินมากขนาดนี้เอาไปทำสาธารณะประโยชน์ได้อีกเพียบเลยนะ ไม่ใช่เพื่อบูชาคนคนเดียว”
สุดท้ายโครงการนี้ก็เกิดขึ้นจริง แต่ลดงบลงเหลือ 4.4 ล้านปอนด์ (ราว 205 ล้านบาท) และจากเดิมที่ช่องข่าว CNN เคยเผยเอาไว้ว่า “ภาพจะเป็นแนวตั้งที่มีกรอบไม้โอ๊คอย่างดีมีขนาด 64 เซนติเมตร (25 นิ้ว) x 51 เซนติเมตร (20 นิ้ว)” ถูกลดขนาดลงเหลือเพียง A3 29.7 เซนติเมตร (11.7 นิ้ว) x 42 เซนติเมตร (16.5 นิ้ว) โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เดอะการ์เดียนยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า รองนายกทัวร์ลงคนเดิมยังเสริมด้วยว่า “จากเดิมที่เราวางแผนเอาไว้แค่ ศาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพิลง โรงเรียน ตอนนี้เราตั้งใจจะขยายไปประดับตามโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย คริสตจักรแห่งอังกฤษ(Church of England คริสต์นิกายประจำชาติอังกฤษ) และศูนย์จัดหางาน”
งานนี้เรียกว่าเป็นการราดน้ำมันลงบนกองเพลิงที่แท้ทรู สหภาพนักวิชาการจวกว่า “พระองค์กำลังทำให้การสืบราชสันตติวงศ์กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน” อาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเรียกสิ่งนี้ว่า “เรื่องไร้สาระในสงครามวัฒนธรรม” ครูคนหนึ่งในเมืองชนบทประชดว่า “จนถึงตอนนี้เรายังไม่มีเงินใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้อย่างแท้จริง อย่างเช่นการซ่อมหลังคาที่รั่วซึม แต่เรามีเงินเหลือเฟือสำหรับภาพพอร์ตเทรตของกษัตริย์” ยิ่งไปกว่านั้นจนบัดนี้รัฐสภายังไม่เคยบอกจำนวนภาพที่แท้จริงว่ามีทั้งหมดกี่ภาพกันแน่ที่จะถูกแขวนตามที่ต่าง ๆ
ต่อมานางโจ กราดี เลขาธิการทั่วไปของสหภาพมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยออกมาให้ความเห็นว่า “การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของอังกฤษต้องการเงินทุนสาธารณะที่ยั่งยืน และรัฐบาลควรหยุดโจมตีเสรีภาพทางวิชาการ มากกว่าจะให้เงินอุดหนุนในการสักการะกษัตริย์อันไม่เป็นวิชาการ”
หนึ่งในความเห็นแสบ ๆ มาจากครูในเมืองยอร์กเชียร์กล่าวว่า “เราตั้งตารอภาพนี้อย่างมากเลยค่ะ ตั้งแต่เราได้ยินข่าวโครงการอันไร้สาระและอุกอาจเช่นนี้ เพราะเราตั้งใจจะเก็บมันไว้ในห้องเก็บของให้อยู่ห่างจากนักเรียน และเปลี่ยนเอารูปบุคคลน่าสนใจต่าง ๆ มาใส่กรอบไม้โอคนั่นแทน อย่างรูปของพระเอกจากหนังอวกาศยุคโบราณ Star Trek เด็ก ๆ ยังจะตื่นเต้นมากกว่าอีก”
ภาพที่ถูกถกเถียงอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้เดอะการ์เดียนยังสำทับด้วยว่า “อย่างไรก็ตามภาพถ่ายบุคคลอย่างเป็นทางการของชาร์ลส์ที่ 3 ยังน่าทึ่งน้อยกว่าภาพวาดบุคคลอย่างเป็นทางการที่เพิ่งเปิดเผยในสัปดาห์เดียวกันนี้” เพราะภาพวาดนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง วาดโดย โจนาธาน โยว โดยเขาอธิบายภาพนี้ว่า “ผีเสื้อที่ไหล่ขวาของพระราชามีความหมายที่แตกต่างกันหลายประการ ประการแรกมันคือสัญลักษณ์การเดินทางจากเจ้าชายสู่กษัตริย์” เมื่อโยวเริ่มวาดภาพนี้ ชาร์ลส์ยังอยู่ในสถานะที่รู้จักกันในนามเจ้าชายแห่งเวลส์ จนเมื่อภาพเสร็จสมบูรณ์เขาก็กลายเป็นกษัตริย์ เพราะเขาเริ่มวาดในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 โยวเสริมว่า ”ในบริบทของประวัติศาสตร์ศิลปะ ผีเสื้อมักเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและการกำเนิดใหม่ และยังคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนผ่านจากเจ้าชายไปสู่พระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาที่มีการสร้างภาพเหมือนนี้”
“ผีเสื้อแสดงความเคารพต่อการอุทิศตนของกษัตริย์เพื่อความยั่งยืน โดยหลักแล้วเป็นสัญลักษณ์ของความงามของธรรมชาติ โดยเน้นย้ำถึงสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่กษัตริย์ทรงอุทิศชีวิตส่วนใหญ่ของพระองค์ สุดท้ายนี้ผีเสื้อยังเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ของชาร์ลส์เองด้วย โดยมีสีส้ม สีดำ และสีขาว อันเป็นสีในตราสัญลักษณ์ของพระองค์”
อย่างไรก็ตามส่วนที่เป็นประเด็นอย่างมากคือการใช้สีแดง ขณะที่โยวอธิบายว่า “ตอนที่ผมหาข้อมูล ผมพบว่าสีแดงถูกให้ความสำคัญอย่างมากในเชิงการแสดงความเคารพต่อ ‘มรดกของราชวงศ์’ และชาร์ลส์ในภาพนี้สวมเครื่องแบบสีแดงของทหารองครักษ์แห่งเวลส์ อันเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษที่ชาร์ลส์เองเคยได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งพันเอกกรมทหารรักษาพระองค์เมื่อปี 1975″
โยวเสริมอีกว่า “การใช้สีแดงเป็นส่วนใหญ่ของภาพก็เพื่อให้ร่างของชาร์ลส์กลมกลืนกับพื้นหลังได้อย่างลงตัว ผมจงใจจะให้เป็นเช่นนี้เพื่อที่จะขับเน้นให้รูปหน้าของพระองค์เด่นชัดมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมกับผลงาน แทนที่ผู้ชมจะเสียสมาธิไปกับเครื่องแบบยศศักดิ์อันหรูหราฟุ่มเฟือย ในฐานะจิตรกรภาพเหมือนเมื่อคุณได้รับโอกาสอันพิเศษนี้ เพื่อทำความรู้จักและทุ่มเทให้กับผลงาน ผมเลยอยากลดทอนการรบกวนทางสายตาให้มากที่สุดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เชื่อมโยงกับบุคคลในภาพในฐานะของมนุษย์ ไม่ใช่สมมติเทพ ผมต้องการสื่อสารถึงความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้งของบุคคลนี้”
อย่างไรก็ตาม โยว ได้โพสต์ลงในไอจีของเขาอย่างติดตลกว่า “ถ้าการกระทำของผมถูกมองว่าเป็นการทรยศ ผมก็ขอชดใช้มันด้วยหัวของผมอย่างแท้จริง อาจจะเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับจิตรกรภาพเหมือนที่สมควรตาย— ตัดหัวผมไปเลยสิ!”
โด่งดังจากภาพอื้อฉาว
เราจะพาย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ โจนาธาน โยว สักหน่อย ศิลปินผู้นี้ได้รับการยกย่องจากนิตยสารระดับโลก GQ ว่า “เขาคือหนึ่งในศิลปินภาพบุคคลที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกยุคนี้” และเดอร์การ์เดี้ยนยังเคยชื่นชมเขาว่า ‘เป็นหนึ่งในศิลปินภาพเหมือนที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในสหราชอาณาจักร’ โยวถูกจับตามองด้วยภาพบุคคลของประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่สร้างขึ้นในปี 2007 จากการตัดแปะส่วนเนื้อหนังร่างกายของนางแบบจากในหนังสือโป๊ และภาพดังกล่าวถูกจัดแสดงในลอนดอน นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลก
โยว เป็นชาวลอนดอนเนอร์เกิดในปี 1970 ปัจจุบันเขามีอายุ 53 ปี พ่อของเขาคือ ทิม โยว ผู้เป็นอดีตส.ส.สายอนุรักษ์นิยม ผลงานเลื่องชื่อของเขาคือภาพพอร์ตเทรตคนดัง อาทิ ดาราฮอลลีวูดอย่าง เดนนิส ฮอปเปอร์, จูด ลอว์, นิโคล คิดแมน ไปจนถึงเซเล็บนักการเมืองและสมาชิกราชวงศ์ กระทั่งในปี 2001 งานของเขาก็เริ่มเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อโยวได้รับมอบหมายจากสภาให้เป็นศิลปินวาดภาพประจำการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ และเขาวาดภาพผู้นำสามพรรคใหญ่อันได้แก่ โทนี่ แบลร์, วิลเลียม เฮก และชาร์ลส์ เคนเนดี้ ก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างจริงจัง อาทิ ภาพโทนี่ แบลร์ ที่อ้างอิงถึงสงครามอิรัก ด้วยใบหน้าของแบลร์ที่ดูเหนื่อยล้า ประดับดอกป๊อปปี้สีแดงอันเป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงทหารที่ตายหรือพิการในสงคราม หรือภาพที่โยววาดในปี 2009 เป็นภาพเหมือนของ เดวิด คาเมรอนเต็มตัวก่อนที่เขาจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วงปี 2010 – 2012 โยวเปลี่ยนธีมงานมาวาดเกี่ยวกับประเด็นศัลยกรรมความงาม เขานำเสนอภาพใบหน้าหญิงสาวในช่วงก่อนและหลังการผ่าตัด จนช่วง 2013-2014 ก็มาเป็นภาพบุคคลที่เขาสนใจและยกย่องอาทิ มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กผู้หญิงอายุ 17 นักเครื่องไหวเพื่อการศึกษาสำหรับผู้หญิงชาวปากีสถาน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพโลก และอันที่จริง โยว เคยใช้สีแดงเป็นหลักมาก่อนในภาพของจอฟฟรีย์ แพตตินสัน ทหารผ่านศึกอายุ 91 ปีที่เคยร่วมรบในนอร์มังดี
วกกลับไปที่ภาพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ไม่ว่าผู้คนจะจวกยับไปอย่างไรก็ตาม สำหรับเราแล้วนี่นับว่าเป็นความชาญฉลาดแหลมคมอย่างยิ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังเป็นที่ยกย่องและอยู่ยั้งยืนยาว เพราะกลายเป็นว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ราชวงศ์สามารถแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยอมรับและอดกลั้นต่อความเห็นสารพัดรูปแบบอันเป็นจริยธรรมที่ดีและงดงามอย่างยิ่งที่ชนชั้นปกครองพึงจะมี และพึงกระทำต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำแปลกแยกด้วยการทำให้ราชวงศ์สามารถเข้าถึงได้ง่าย วิพากษ์วิจารณ์หรือจะด่าแรง ๆ ก็ไม่มีปัญหา
ที่สำคัญที่เราว่าฉลาดล้ำอย่างมาก กรณีภาพวาดนี้กลายเป็นการกลบข่าวหลายอย่างไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ภาพถ่ายสุดแพงก่อนหน้านี้ที่ถูกกล่าวหาว่าเปลืองภาษี ไปจนถึงภาพวาดล่าสุดนี้ที่ไม่มีใครตั้งคำถามอีกเลยเกี่ยวกับมูลค่าค่างวดของภาพนี้ที่ไม่น่าจะราคาถูกแน่ ๆ ไปจนถึงคนแทบจะลืมไปแล้วเลยว่านี่คือการปรากฎตัวเป็นครั้งแรกของคิงชาร์ลส์หลังจากการตรวจรักษามะเร็ง ที่บักกิงแฮมยังไม่เคยระบุชัดเจนว่าเป็นมะเร็งตรงไหน เคยเพียงแต่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมากอย่างที่สังคมลือกัน
ก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมราชวงศ์อังกฤษจึงยังคงอยู่มาได้จนปัจจุบันนี้ ที่แม้จะมีกระแสวิจารณ์ถล่มหนัก แต่ก็มีจำนวนคนรักและชื่นชมไม่น้อยไปกว่ากันเลย แล้วหากมีสติพอจะสังเกตการกระทำของนักการเมืองที่เชลียร์อวยยศคิงชาร์ลส์กันฉ่ำ ๆ ก่อนหน้านี้แล้วล่ะก็ การกระทำดังกล่าวกลับเป็นการทำให้กษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้ง แต่กลับกลายเป็นความน่าทึ่งอย่างยิ่งเมื่อภาพวาดสุดฉาวนี้กลับช่วยพลิกสถานการณ์ทั้งหมดไปได้ เมื่อผู้คนต่างพากันหันเหความสนใจไปที่ภาพวาดนี้เพียงภาพเดียว
ดูเพิ่มเติม