ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเล็งใช้เงินหนุน FDI รายใหญ่-บริษัทในประเทศรับมือ Global Minimum Tax

ASEAN Roundup เวียดนามเล็งใช้เงินหนุน FDI รายใหญ่-บริษัทในประเทศรับมือ Global Minimum Tax

26 พฤษภาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2567

  • เวียดนามเล็งใช้เงินหนุน FDI รายใหญ่-บริษัทในประเทศรับมือ Global Minimum Tax
  • เวียดนามหวังผู้นำอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ฟิลิปปินส์มุ่งขึ้นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งเอเชีย
  • อินโดนีเซียชวนจีนลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำในเมืองหลวงใหม่
  • อัตราเงินเฟ้อลาวจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี

    เวียดนามเล็งใช้เงินหนุน FDI รายใหญ่-บริษัทในประเทศรับมือ Global Minimum Tax

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20240524/vietnam-to-support-large-fdi-domestic-firms-with-cash/80052.html

    รัฐบาลเวียดนามจะสนับสนุนด้วยการให้เงินแก่บริษัท FDI ขนาดใหญ่และบริษัทในประเทศชั้นนำในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในช่วงปีงบประมาณ 2567

    รัฐบาลเสนอการสนับสนุนผ่านร่างกฤษฎีกาเกี่ยวกับการจัดตั้ง การจัดการ และการใช้กองทุนสนับสนุนการลงทุน ซึ่งจะประกาศใช้ในเดือนหน้า เพื่อรับมือกับการใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก(global minimum tax)ในอัตรา 15% จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน 750 ล้านยูโร ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อต้นปี

    Global minimum tax เป็นความริเริ่มของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศต่างๆ ต้องมีนโยบายสนับสนุนเพื่อรักษานักลงทุนรายใหญ่ไว้

    บริษัท FDI ขนาดใหญ่หลายแห่งได้สำรวจและศึกษาโอกาสในการลงทุนในเวียดนามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทได้หันไปตลาดอื่นเนื่องจากการขาดแคลนกฎระเบียบโดยละเอียดเกี่ยวกับการสนับสนุนการลงทุนของเวียดนาม

    การขยายโครงการลงทุนด้านไฮเทคขนาดใหญ่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Samsung, LG, SMC รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับ Apple, IBM, Sisco, Foxconn, Compal และ Quanta มีสีญญานซบเซาขณะที่บริษัทเหล่านี้รอการชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของเวียดนาม .

    ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนกล่าวว่า จำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบของภาษีขั้นต่ำทั่วโลก รักษาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี และดึงดูดโครงการใหม่ๆ

    นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลยังมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ในประเทศซึ่งต้องเสริมสร้างสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ

    ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สภาแห่งชาติได้ลงมติกำหนดให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพของสภาพแวดล้อมการลงทุน และดึงดูดนักลงทุนเชิงกลยุทธ์และกลุ่มบริษัทข้ามชาติ

    เหงียน วัน ถวน รองประธานสมาคมธุรกิจที่ลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติมีบทบาททางการฑูต นอกเหนือจากการศึกษาโอกาสในการลงทุนในเวียดนาม ดังนั้น จึงควรมีแนวทางเพื่อสนับสนุนนักลงทุนและยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนในประเทศ และนำมาใช้อย่างรวดเร็วและให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    สำหรับนักลงทุน FDI คุณภาพสูงที่กำลังลงทุนจำนวนมาก เวียดนามควรใช้รายได้จากภาษีขั้นต่ำทั่วโลกเพื่อสนับสนุนกลุ่มนี้

    เวียดนามอาจขอให้บริษัทในประเทศจัดหาผลิตภัณฑ์เสริมเพื่อเสนอราคาเพื่อรองรับพันธมิตร FDI และเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ เวียดนามควรมุ่งเน้นไปที่การเสนอสิ่งจูงใจทางภาษีและการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์สำหรับภาคส่วนสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

    การพัฒนากลุ่มเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็งพอที่จะร่วมมือกับบริษัท FDI เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ เวียดนามต้องช่วยเหลือกิจการในประเทศในการพัฒนาการวิจัยและพัฒนา

    ดร. ฟาม ฮึง เทียน รองผู้อำนวยการมูลนิธิ Friedrich Naumann ในเวียดนาม ระบุว่า มีเพียงภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเท่านั้นที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยจุดแข็งคือการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและการสนับสนุนจากท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และหน่วยวิจัย นับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของภาคส่วนนี้และเป็นบทเรียนให้กับภาคส่วนอื่นๆ

    เป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จหากประเทศมุ่งแต่ผลประโยชน์ขององค์กรบางแห่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างห่วงโซ่คุณค่าหรือเพิ่มจำนวนตอนในห่วงโซ่คุณค่าที่มีอยู่ซึ่งบริษัทเวียดนามสามารถเข้าไปร่วมได้

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เวียดนามไม่ควรมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการลงทุนของบริษัท FDI เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความต้องการความร่วมมือขององค์กรในท้องถิ่นด้วย

    ดร.เทียนกล่าวว่า เวียดนาต้องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งจะดำเนินงานในลักษณะระบบนิเวศในบางภาคส่วน เช่น วิศวกรรมเครื่องกล การผลิตรถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์

    โด เทียน แองห์ ตวน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟุลไบรท์ เวียดนาม ในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า ควรทำให้กองทุนสนับสนุนการลงทุนสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่มภายในประเทศและบริษัท FDI ที่มีสิทธิ์

    เวียดนามไม่ควรพึ่งพาเงินลงทุนของบริษัทเพียงอย่างเดียวในการเสนอนโยบายพิเศษ และอาจพิจารณาเพิกถอนสิ่งจูงใจหากนักลงทุนไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของตน นักลงทุนต้องให้คำมั่นที่จะสร้างมูลค่าให้กับเวียดนาม

    เวียดนามหวังผู้นำอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-expected-to-become-e-commerce-powerhouse-in-southeast-asia-post285155.vnp
    เวียดนามก้าวสู่หนึ่งในตลาดช้อปปิ้งเพื่อความบันเทิงที่มีแนวโน้มสดใสมากที่สุด และคาดว่าจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    รายงานโดยสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล(E-Commerce and Digital Economy Agency ) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า แสดงให้เห็นว่า รายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านรูปแบบ Business-to-Customer(B2C) การขายผลิตภัณฑ์จากเจ้าของธุรกิจสู่ผู้บริโภคบนออนไลน์ เพิ่มขึ้นจาก 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็น 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567

    ในขณะเดียวกัน จากรายงานเกี่ยวกับตลาดค้าปลีกออนไลน์ในปี 2566 ที่เผยแพร่โดยแพลตฟอร์มข้อมูลอีคอมเมิร์ซ Metric สินค้า 2.2 พันล้านรายการได้ถูกจัดส่งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลัก 5 แห่งในเวียดนาม ได้แก่ Shopee, Lazada, Tiki, Sendo และ Tiktok Shop เพิ่มขึ้นประมาณ 52% จากปี 2565

    รายงาน e-Conomy SEA 2022 โดย Google, Temasek และ Brain & Company กล่าวว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด

    รายได้และปริมาณการขายแบบ B2C ในเวียดนามคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ 5 แห่งคาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ฟิลิปปินส์มุ่งขึ้นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งเอเชีย

    ที่มาภาพ: https://pco.gov.ph/news_releases/join-phs-infra-program-pbbm-urges-foreign-investors/
    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ เปิดเผยว่า ฟิลิปปินส์กำลังตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์แห่งใหม่ในเอเชีย จากการที่ฟิลิปปินส์ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่กระชับมากขึ้นกับสหรัฐอเมริกา

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในขณะที่เขาวางตำแหน่งประเทศกลายเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

    ภายใต้การบริหารของมาร์กอส ฟิลิปปินส์ได้เพิ่มการมีส่วนร่วมด้านการป้องกันและเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะช่วยเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง พลังงานสะอาด และห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในฟิลิปปินส์ผ่านระเบียงเศรษฐกิจลูซอน

    “ความคิดริเริ่มเหล่านี้จะยกระดับบริการขนส่งสินค้า การสัญจร และการเข้าถึงเขตเศรษฐกิจสำคัญ เพิ่มความมั่นใจในความต่อเนื่องทางธุรกิจ และวางตำแหน่งฟิลิปปินส์ให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับธุรกิจการเกษตรและโลจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิก” ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวในการประชุม Indo-Pacific

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญ 185 โครงการ มูลค่า 9.5 ล้านล้านเปโซ (163 พันล้านดอลลาร์) จะช่วยให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งใหม่ในเอเชีย

    ความมั่งหวังที่วางไว้สูงนี้ทำให้ฟิลิปปินส์แข่งขันกับเพื่อนบ้านที่รุกเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีบุคคลากรที่มีความสามารถและมีความสามารถจำนวนมาก กำลังแข่งขันกันเพื่อมีส่วนแบ่งในการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ที่อาจกระจายออกไปในภูมิภาคนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดความเสี่ยงของสหรัฐฯ และถอยห่างจากการเป็นพันธมิตรกับจีน

    ในขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค ได้เปิดภาคส่วนต่างๆ ให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น รวมถึงพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างโรงงานเพิ่มขึ้น การไหลเข้าสุทธิของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังประเทศลดลง 7% เหลือ 8.9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วจากปี 2565

    เวทีธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับฟิลิปปินส์ ในขณะที่ทั้งสองพันธมิตรกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นกับจีนในข้อพิพาททะเลจีนใต้ ที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดไตรภาคีครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วระหว่างสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่นที่ทำเนียบขาว ซึ่งพันธมิตรเก่าแก่ทั้งสองให้คำมั่นว่าจะขยายความร่วมมือด้านการลงทุนหลังจากกลับมาต่อความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงอีกครั้ง

    “เราเชื่อโดยพื้นฐานแล้วว่าความเจริญรุ่งเรืองของชาวอเมริกันในชีวิตประจำวันนั้นเชื่อมโยงกับอินโดแปซิฟิกอย่างแยกไม่ออก” แดเนียล คริเทนบริงค์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวในเวทีเดียวกัน

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ต้องการที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก และเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ฟิลิปปินส์ที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจะเป็นพันธมิตรที่มีคุณค่าในภูมิภาคนี้”

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

    เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัว 5.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งแซงหน้าเศรษฐกิจประเทศหลักๆ ในเอเชีย ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัวติดต่อกัน 4 เดือน

    ประธานาธิบดีมาร์กอสชี้ว่า ประเทศหุ้นส่วนกรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) มีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศ โดยมีส่วนสำคัญต่อ FDI ของฟิลิปปินส์และการลงทุนที่ได้รับอนุมัติ

    “จากการที่ฟิลิปปินส์ครองสถานะทางยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิก เรากำลังใช้ประโยชน์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองเชิงยุทธศาสตร์ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมในข้อตกลงระดับภูมิภาค” ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าว

    “เนื่องจากภูมิภาคนี้มีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก นี่จึงเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศของเรา” ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าว

    ประธานาธิบดีมาร์กอสยังชี้ถึงการปฏิรูปครั้งสำคัญที่ฝ่ายบริหารของเขาได้ผลักดันเพื่อให้นักลงทุนมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย ได้แก่ กฎหมาย Corporate Recovery and Tax Incentives for Enterprises (CREATE) กฎหมาย Ease of Doing Business Act และ Green Lanes for Strategic Investments Executive Order

    ประธานาธิบดีมาร์กอส กล่าวว่า กฎหมาย CREATE More แสดงถึงการก้าวกระโดดครั้งสำคัญ เพราะฟิลิปปินส์ได้ขยายและปรับปรุงสิ่งจูงใจที่นำมาใช้ภายใต้กฎหมาย CREATE ทำให้ประเทศมีความน่าดึงดูดใจสำหรับการลงทุนมากยิ่งขึ้น

    อินโดนีเซียชวนจีนลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำในเมืองหลวงใหม่

    เขื่อน Sepaku Semoi Dam หนึ่งในโคงสร้างพื้นฐานของ Nusantara เมืองหลวงใหม่อินโดนีเวีย ที่มาภาพ:https://www.indonesiawaterportal.com/news/government-continues-building-water-supply-infrastructure-at-ikn-nusantara.html
    อินโดนีเซียได้เชิญชวนให้จีนเข้าลงทุนในโครงการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ เพื่อจัดการกับเรื่องที่สำคัญ เช่น การรีไซเคิลขยะและการสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ การเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในอินโดนีเซีย ซิลกินา อาห์ลูวาเลีย ผู้สื่อข่าว จาก CGTN รายงานจากบาหลี

    ในงาน World Water Forum ครั้งที่ 10 ที่บาหลี อินโดนีเซียกำลังมองหาการลงทุนเพื่อการพัฒนานูซันทารา ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ อินโนีเซียได้เชิญจีนอย่างเป็นทางการให้ลงทุนในโครงการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั่วประเทศ ความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะและการสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่

    หู อวี้เฉียง(HU YUQIANG) ประธานบริษัท Beifang Investigation Design Research Companyกล่าวว่า ความร่วมมือของบริษัทครอบคลุมถึงพลังงานน้ำ การอนุรักษ์น้ำ และการบรรเทาอุทกภัย ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือในด้านทรัพยากรน้ำแล้ว และหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอินโดนีเซีย การพัฒนาประเทศ ซึ่งจะนำสิ่งดีๆ มาให้อินโดนีเซียมากขึ้น

    ปัจจุบัน จีนได้สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแล้วไม่กี่แห่งในเขตชานเมืองในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ต้องการน้ำสะอาด โครงการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่กว้างขึ้นของอินโดนีเซียในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความช่วยเหลือจากจีน

    นายโลอิค โฟชง (Loic Fauchon) ประธานสภาน้ำโลกกล่าวว่า ระหว่างจีนกับสภาน้ำโลก เป็นความรักความสัมพันธ์ที่ยาวนาน ซึ่งได้ทำงานร่วมกันมานานกว่า 25 ปีอย่างเป็นรูปธรรม และทุกๆ ปีจะมีการหารือเกี่ยวกับโครงการต่างๆ และทำงานบนพื้นฐานของความท้าทายขององค์กรเป็นหลัก ความมั่นคงทางน้ำ เพราะเมื่อสามารถบรรลุความมั่นคงทางน้ำได้ ก็ได้ทำดีที่สุดแล้ว และที่เหลือก็จะตามมาเอง

    ความร่วมมือระหว่างจีนและอินโดนีเซียเริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วด้วยข้อตกลงในการสร้างสะพาน ถนน และโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน ความร่วมมือนี้ได้ขยายออกไปครอบคลุมถึงทรัพยากรน้ำ การจัดการขยะ และการกำจัดของเสีย

    อัตราเงินเฟ้อลาวจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี

    ที่มาภาพ :
    https://laotiantimes.com/2023/08/28/laos-expects-food-and-other-product-prices-to-increase-by-10-this-year/

    อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวจะยังคงสูงจนถึงสิ้นปี 2567 ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือตัวเลขหลักเดียวภายในปีนี้ นายบุญเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารกลางลาว (Bank of Laos :BOL) กล่าว

    ผู้ว่าการ ธนาคารกลางลาว กล่าวในการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่นครหลวงเวียงจันทน์

    ประเด็นสำคัญของการประชุมคือ การหาสาเหตุที่แท้จริงของอัตราเงินเฟ้อในตลาดโลกและในประเทศ และเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้เพื่อลดผลกระทบ

    อัตราเงินเฟ้อของประเทศพุ่งสูงสุดที่ 41.26% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แม้ว่ามีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่นั้นมา แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับตัวเลขสองหลักโดยอยู่ที่ 24.92% ในเดือนเมษายนปีนี้

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีหลายด้าน รวมถึงราคาเชื้อเพลิง ก๊าซ และสินค้านำเข้าที่ไม่แน่นอน การอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศหรือเงินกีบลาว เมื่อเทียบกับเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งมีผลให้สถานการณ์ยุ่งยากยิ่งขึ้น โดยทำให้ยากต่อการรักษาราคาสินค้านำเข้าให้ต่ำ

    เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายบุญเหลือเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อและมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา และเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมดูแลให้ประชาชนมีความเข้าใจที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์และยุทธศษสตร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ

    ในปี 2566 ธนาคารกลางลาวเคยตั้งเป้าหมายในการลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือ 9% โดยแนวทางที่ดำเนินการได้แก่ การใช้นโยบายการเงิน การส่งรายได้จากการส่งออกเข้าสู่ระบบธนาคาร และการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้สอดคล้องกับกลไกของตลาด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแผนงานทั้งหมดที่กำหนดไว้แล้ว แต่เป้าหมายที่จะลดให้เหลือต่ำกว่า 10% ก็ไม่เคยบรรลุผล

    แม้ได้มีการให้คำมั่น ทั้งจากประธานประเทศ นายทองลุน สีสุลิด ที่จะนำทางเศรษฐกิจไปลดการพึ่งพามากขึ้นและส่งเสริมการประกอบในประเทศเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจของลาวก็ยังไม่มีสัญญาณของการพัฒนาที่มีนัยสำคัญ การพึ่งพาการนำเข้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศอย่างหนักของประเทศก็ยิ่งมีความท้าทาย

    ในรายงานล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่าการผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ถูกกว่าเป็นกลยุทธ์ทั่วไปในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม หลังจากอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นเวลานาน ครัวเรือนจำนวนมากขึ้นหันไปหางานเพิ่มเติมหรือกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อหาเลี้ยงชีพ

    ในขณะที่ลาวยังคงต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ความพยายามร่วมกันของธนาคารกลางลาว ธนาคารพาณิชย์ องค์กรระหว่างประเทศ และสำนักงานที่เกี่ยวข้องจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหาวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและบรรเทาภาระทางการเงินของประชากร