ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียดันเขตเศรษฐกิจยะโฮร์-สิงคโปร์สู่เซินเจิ้นแห่งอาเซียน

ASEAN Roundup มาเลเซียดันเขตเศรษฐกิจยะโฮร์-สิงคโปร์สู่เซินเจิ้นแห่งอาเซียน

19 พฤษภาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2567

  • มาเลเซียดันเขตเศรษฐกิจยะโฮร์-สิงคโปร์สู่เซินเจิ้นแห่งอาเซียน
  • กัมพูชาเตรียมตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบริษัทเกาหลี
  • เมียนมาเจรจารัสเซียสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย-โรงกลั่นน้ำมัน
  • รัฐบาลลาวออกคำสั่งใช้ที่ดินเชิงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาต
  • ลาวเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่สำหรับสินค้าเกษตร

    มาเลเซียดันเขตเศรษฐกิจยะโฮร์-สิงคโปร์สู่เซินเจิ้นแห่งอาเซียน

    เส้นทางเชื่อมยะโฮร์ มาเลเซียกับสิงคโปร์ ที่มาภาพ: https://www.freemalaysiatoday.com/category/highlight/2024/02/09/js-sez-expected-to-bring-significant-economic-benefits/

    มุขมนตรีรัฐยะโฮร์ อนน์ ฮาฟิซ (Onn Hafiz) เปิดเผยว่า รัฐยะโฮร์ได้เสนอให้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (JS-SEZ) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์มาเลเซีย และเปงเงรัง ในรัฐยะโฮร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3,505 ตารางกิโลเมตร

    พร้อมกับได้มีการเสนอภาคเศรษฐกิจทั้งหมด 16 ภาคที่จะมีผลด้านเศรษฐกิจต่อประชาชน ได้แก่ ภาคไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และเภสัชกรรม การบิน, สารเคมีพิเศษ, โลจิสติกส์, การดูแลสุขภาพและการศึกษา การเงินและบริการธุรกิจ เศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว อาหารและเทคโนโลยีการเกษร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมฮาลาล และภาคการผลิต

    “นับตั้งแต่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อวันที่ 11 มกราคม ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานทั้งหมด 8 คณะที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางและของรัฐ” อนน์ ฮาฟิซ รายงานต่อที่ประชุมสภาแห่งรัฐยะโฮร์ในวันอาทิตย์ (12 พฤษภาคม)

    “เรื่องเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการหารือและจะสรุปได้ก็ต่อเมื่อข้อเสนอแนะและมุมมองทั้งหมดได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว” อนน์ ฮาฟิซกล่าว

    “เรายังได้สรุปเป้าหมายมหภาคและตัวชี้วัดความสำเร็จผ่านการพัฒนา JS-SEZ เพื่อส่งเสริมความสำเร็จของวาระ Maju Johor 2030(วิสัยทัศน์ของรัฐ)ดังนี้…

    “ประการแรก ผลิตภัณฑ์มวลรวมของรัฐมีมูลค่า 260 พันล้านริงกิต โดยมีอัตราการเติบโต 7% ต่อปี ประการที่สองครัวเรือนมีรายได้ 13,000 ริงกิตต่อเดือนและประการที่สาม โอกาสในการทำงานที่มีรายได้สูงใหม่ 400,000 ตำแหน่ง” อนน์ ฮาฟิซกล่าว

    นอกจากนี้อนน์ ฮาฟิซกล่าวว่า ยังมีความมั่นใจว่า รัฐบาลแห่งรัฐยะโฮร์สามารถใช้โมเดลที่ประสบความสำเร็จของเซินเจิ้น ประเทศจีน ภายหลังจากตัวแทนของรัฐแห่งยะโฮร์ได้พบปะกับนักลงทุนที่มีศักยภาพมากกว่า 40 ราย และเมิ่ง ฟานลี หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเซินเจิ้น ที่เซินเจิ้น ในระหว่างการเดินทางเยือนเซินเจิ้นของตัวแทนรัฐยะโฮร์เมื่อเดือนมีนาคม

    “ผมมั่นใจว่าด้วยความช่วยเหลือของ [เขตเศรษฐกิจพิเศษ] ยะโฮร์สามารถกลายเป็นเซินเจิ้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้” อนน์ ฮาฟิซ กล่าว

    “ในแง่ขององค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ เซินเจิ้น-ฮ่องกงค่อนข้างคล้ายกับยะโฮร์-สิงคโปร์”

    “ความเชื่อมั่นนี้มาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์ของรัฐยะโฮร์ และความพร้อมของที่ดินสำหรับภาคเศรษฐกิจต่างๆ

    “ยะโฮร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม ทั้งท่าเรือ สนามบิน เครือข่ายถนน และสาธารณูปโภค โดยมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันได้ในแง่ของที่ดินและทรัพยากรมนุษย์

    “เสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายที่เป็นมิตรกับนักลงทุนยังเป็นปัจจัยที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน” อนน์ ฮาฟิซกล่าว

    “ยะโฮร์และรัฐบาลกลางมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่า จะมีการสรุปและลงนามข้อตกลง JS-SEZ ภายในสิ้นปีนี้”

    เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม และนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วย JS-SEZ ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ราฟิลิ รามลี และรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์กัน กิม หย่ง

    กัมพูชาเตรียมตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบริษัทเกาหลี

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501490362/cambodia-proposes-exclusive-special-economic-zone-for-korean-firms-to-boost-investment/
    เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้​ ในพิธีเปิดการประชุม Business Forum กัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ตของกัมพูชากล่าวถึงความริเริ่มสองด้านเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีในกัมพูชา

    นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต เน้นย้ำว่า กัมพูชาเชื่อมโยงนักลงทุนเข้ากับตลาดขนาดใหญ่ได้อย่างไร้รอยต่อผ่านเครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับภูมิภาคและทวิภาคี รวมถึงเขตการค้าเสรีอาเซียน, เขตการค้าเสรีอาเซียนบวกหนึ่ง, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP), เขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีน, เขตการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี, และเขตการค้าเสรีกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์​

    รัฐบาลได้กำหนดกลไกเชิงรุกเพื่อให้แน่ใจว่ามีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและตอบสนอง เพื่อความสำเร็จของธุรกิจที่มีอยู่เดิมและธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ กัมพูชายังประสบความสำเร็จในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตรวมต่อปีโดยเฉลี่ยมากกว่า 7% ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งที่โดดเด่น ด้วยการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19​

    นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต กล่าวว่า เขาได้เข้าพบกับประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ซึ่งในการพบปะครั้งนี้ การส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีความสำคัญเป็นอันดับแรก และภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญ และเขาได้หยิบยกความคิดริเริ่มสองด้านมาหารือร่วมกับประธานาธิบดียุน

    ความคิดริเริ่มแรก คือ การสร้างกลไกการให้คำปรึกษาซึ่งธุรกิจของเกาหลีสามารถมีส่วนร่วมกับสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ปีละสองครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจในเกาหลีได้มีโอกาสพบปะโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านการลงทุนปีละสองครั้ง​

    นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า “กัมพูชาได้ดำเนินการในลักษณะนี้กับญี่ปุ่นและนำเสนอรูปแบบนี้ให้กับแวดวงธุรกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปด้วย ตอนนี้กัมพูชากำลังเสนอให้กับแวดวงธุรกิจและการลงทุนของเกาหลีในกัมพูชา เพื่อให้แน่ใจว่ามีการรับฟังปัญหาที่กังวลและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขได้ทันที เพราะกัมพูชาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่อยู่ในประเทศ”

    “โมเดลของเราคุ้มครองสิ่งที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดสิ่งใหม่ด้วย หากเราไม่สามารถปกป้องธุรกิจที่อยู่ในกัมพูชาแล้ว และสร้างสภาพแวดล้อมให้พวกเขาเติบโตได้ เราก็ไม่คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนใหม่ๆได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับรัฐบาล” นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ตเน้นย้ำ

    ความคิดริเริ่มที่สอง คือ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสำหรับบริษัทเกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ธุรกิจของเกาหลีสามารถสร้างระบบนิเวศหรือโมเดลห่วงโซ่อุปทาน และรัฐบาลกัมพูชาสามารถร่วมมือกันในการจัดหาโซลูชันที่ออกแบบตามความต้องการเฉพาะให้กับวงการธุรกิจของเกาหลีได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต หวังว่าจะตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างเกาหลีและกัมพูชาได้ในเร็วๆ นี้​​

    นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต กล่าวอีกว่า “ด้วยโครงการริเริ่มทั้งสองนี้ เราหวังว่าจะเป็นวิธีที่สร้างสรรค์และตอบสนองมากขึ้นในการจัดการกับข้อกังวลของธุรกิจที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ให้โอกาสและรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจจากเกาหลีในเร็วๆนี้ นี่เป็นแรงจูงใจและแนวทางที่เป็นนวัตกรรมของเราในการพยายามปรับปรุงความน่าดึงดูดและความเหมาะสมต่อความต้องการในกัมพูชาของธุรกิจเกาหลี และหวังว่าจะใช้โอกาสนี้ประเมินความคิดริเริ่มใหม่นี้”​

    สาธารณรัฐเกาหลีเป็นหนึ่งในคู่ค้าทางการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ด้วยปริมาณการค้าทวิภาคีรวมประมาณ 751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอยู่ในอันดับที่ 11 ในปี 2566 นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากเกาหลีในปีที่แล้วมีมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งหมด 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและอยู่ในอันดับที่ 9 ในปี 2566​

    กัมพูชาและเกาหลีลงนามความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) ในเดือนธันวาคม 2565 ข้อตกลง CKFTA จะทำให้นักลงทุนเกาหลีสามารถลงทุนและส่งออก-นำเข้าระหว่างทั้งสองประเทศได้ง่ายขึ้นพร้อมโอกาสภายในประเทศมากมาย ควบคู่กับนโยบายการลงทุนพิเศษของรัฐบาลแห่งกัมพูชา

    เมียนมาเจรจารัสเซียสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย-โรงกลั่นน้ำมัน

    ที่มาภาพ: https://image.mfa.go.th/mfa/0/BwVYVon5N0/migrate_directory/business-20180228-125915-557089.pdf

    การที่รัฐบาลทหารเมียนมาเลือกรัสเซียสำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายบนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ได้จุดชนวนความตึงเครียดกับจีน ซึ่งยังได้แสดงความสนใจในการพัฒนาท่าเรือใกล้ชายแดนไทยด้วย

    จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว รัฐบาลทหารต้องการที่จะให้รัสเซียลงทุนในโครงการท่าเรือ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งรวมถึงโรงกลั่นน้ำมันด้วย ก่อนหน้านี้จีนได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับท่าเรือทวาย แต่หันความสนใจไปที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือสิตตะเวที่สร้างโดยอินเดีย อย่างไรก็ตาม ความโน้มเอียงมาที่รัสเซียของรัฐบาลทหารได้รับการเสียงวิจารณ์จากจีน

    ท่าเรือทวายที่เสนอซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคตะนาวศรีบนชายฝั่งตะวันออกของเมียนมา (ทะเลอันดามัน) เป็นประตูสำคัญสู่ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region:GMS) ทั้ง กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการค้าระบบตู้คอนเทนเนอร์ของประเทศไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกันด้วยโครงข่ายถนนที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี

    มีรายงานว่าเมียนมาและรัสเซียกำลังหารือเกี่ยวกับโครงการท่าเรือที่นำเสนอ เนื่องจากรัฐบาลทหารพยายามกระชับความสัมพันธ์กับมอสโกเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรของประเทศ แผนงานที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ การก่อสร้างท่าเรือทวายที่มีกำลังการผลิต 10 ล้านตัน และโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตได้ 100,000 บาร์เรลต่อวัน

    อย่างไรก็ตาม จีนมีความกังวลว่าการมีส่วนร่วมของรัสเซียในภาคท่าเรือของเมียนมาอาจมีผลกระทบต่อโครงการของจีนในเมืองเจ้าก์ผิ่ว ภายใต้บริบทพลวัตทางการค้าในภูมิภาคที่กว้างขึ้น

    อินเดียอาจชอบให้เมียนมาร่วมมือกับรัสเซียมากกว่าจีน เมื่อพิจารณาจากจีนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของเมียนมาร์ในอ่าวเบงกอล ในอดีตอินเดียเป็นผู้รักษาความปลอดภัยรายสำคัญในภูมิภาค

    ที่สำคัญ เรือดำน้ำที่อินเดียจัดหาให้เมียนมานั้นมีต้นกำเนิดจากรัสเซีย นอกจากนี้ บริษัทในอินเดียและรัสเซียยังได้ร่วมมือกันจัดการสนามบินใกล้กับท่าเรือ ฮัมบันโตตา (Hambantota Port) ที่จีนควบคุมในศรีลังกา

    รัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมากำลังลดการพึ่งพาจีนและกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียในโครงการด้านยุทโธปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร

    รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและเศรษฐกิจต่างประเทศของเมียนมาเยือนกรุงมอสโกเพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงกลั่นปิโตรเลียม และโครงการพลังงาน

    เมียนมาเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว เพื่อสนับสนุนกองทัพอากาศในการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้าน ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างเมียนมาและรัสเซียแน่นแฟ้นมากขึ้น ด้วยการเยือนฐานทัพเรือและการฝึกซ้อมด้านความมั่นคงทางทะเล

    ในระหว่างการเยือนรัสเซียของที่หัวหน้าฐานทัพเรือสิตตะเว ได้มีการลงนามข้อตกลงมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน รัสเซียเป็นผู้จัดหาฮาร์ดแวร์ทางการทหารรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา โดยจัดหาเครื่องบินรบซูคอยและเครื่องยิงจรวด มูลค่ารวม 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะเผด็จการทหารของเมียนมาเยือนรัสเซียสามครั้งนับตั้งแต่ยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ เมียนมายังกลายเป็นคู่เจรจาขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation:SCO) ในปี 2565

    จากรายงาน รัสเซียกำลังจัดการฝึกอบรมพลซุ่มยิงและโดรนแก่เมียนมาผ่านบริษัททหารเอกชน วากเนอร์ และเวกา สตราทิจิก เซอร์วิสเซส (Wagner and Vega Strategic Services) พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญภาคพื้นดินในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์

    นอกจากนี้ บริษัทนิวเคลียร์ ROSATOM ของรัสเซียอาจจัดหาเครื่องปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กให้กับเมียนมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ย่างกุ้งได้เปิดศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากมอสโก

    รัฐบาลลาวออกคำสั่งใช้ที่ดินเชิงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาต

    ที่มาภาพ: https://www.ui.se/landguiden/lander-och-omraden/asien/laos/
    รัฐบาลลาวได้ออกคำสั่งห้ามออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ซื้อที่ได้รับสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า โดยต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มุ่งควบคุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและการจัดการภาษี

    คำสั่งที่ออกโดยกรมที่ดิน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม

    ตามมาตรา 5 ข้อตกลงธุรกิจที่ดิน บุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน จะต้องจดทะเบียนโครงการของตนกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนบริษัท และต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    อย่างไรก็ตาม กรมที่ดินชี้ว่า บุคคลและหน่วยงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวได้ดำเนินกิจการโดยไม่มีใบอนุญาตตามที่กำหนด

    เพื่อจัดการแก้ไขในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนกิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงสิทธิการใช้ที่ดิน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายลาวว่าด้วยที่ดิน และข้อตกลงว่าด้วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน จึงทำให้มั่นใจได้ว่า ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภาษีที่รัฐบาลกำหนด

    ตามข้อบังคับ บุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและขายสิทธิการใช้ที่ดิน รวมถึงการขายแบบผ่อนชำระ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไม่ปฏิบัติตามจะส่งผลให้ไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการใช้ที่ดิน

    รัฐบาลชี้แจงว่ามาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศได้ดีขึ้น และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน

    รัฐบาลลาวได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการจัดการภาษีเพื่อสนับสนุนงบประมาณของรัฐ

    ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้กลับมาใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)เดิม จากที่ก่อนหน้านี้ลดลงเหลือ 7% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งเสริมให้ธุรกิจจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อสนับสนุนงบประมาณรายได้ของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงการคลังได้ออกกฎระเบียบใหม่ซึ่งกำหนดให้แพลตฟอร์มช้อปปิ้งดิจิทัลทั้งหมดปฏิบัติตามการชำระภาษีภาคบังคับ ประกาศดังกล่าวได้จัดหมวดหมู่เว็บไซต์ช้อปปิ้งแพลตฟอร์มดิจิทัลออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ องค์กรจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) องค์กรขนาดเล็ก และบุคคล นิติบุคคล และองค์กรที่มีรายได้

    ลาวเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่สำหรับสินค้าเกษตร

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/05/15/laos-launches-new-e-commerce-platform-for-agricultural-products-supported-by-chinese-government/

    ลาวเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่สำหรับสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมทั้งการค้าภายในประเทศและข้ามพรมแดน หลังจากดำเนินการพัฒนามาสองปีโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน

    แพลตฟอร์มใฟม่นี้มีสองเวอร์ชัน ซึ่งให้บริการตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันสองด้าน คือ แพลตฟอร์มภายในประเทศและเป็นแพลตฟอร์มข้ามพรมแดน ทั้งสองแพลตฟอร์ม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และการดำเนินการของกรมส่งเสริมการค้าและหัตถกรรม ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของลาว

    พิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการมีขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม อุปทูตหวัง ฉางของจีน กล่าวว่า การพัฒนาอีคอมเมิร์ซในลาวเป็นหนึ่งใน 8 โครงการหลักที่รัฐบาลจีนสนับสนุนรัฐบาลลาว โครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาของลาวและสร้างรายได้ให้กับประชาชนลาว และยังจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าดิจิทัลระหว่างลาวและจีนด้วยการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและหัตถกรรมอุตสาหกรรมของลาวไปยังจีน

    นายวิทูน สิทธินอละดา อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าและหัตถกรรม กล่ว่า เว็บไซต์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ผลิต และตัวแทนหน่วยธุรกิจในหลายรูปแบบ แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถให้การสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการบริหารระบบอีคอมเมิร์ซ สร้างรูปแบบการพัฒนาสำหรับอีคอมเมิร์ซให้เข้าถึงพื้นที่ชนบทเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่ให้ผลลัพธ์ มีการซื้อและขายออนไลน์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ

    สื่อของรัฐ ชี้ว่าความสำเร็จนี้เป็นก้าวสำคัญของประเทศลาว โครงการนี้จะส่งเสริมการผลิตในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ การกระตุ้นการค้าและการลงทุน การสร้างโอกาสในการทำงาน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่

    ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของอีคอมเมิร์ซในประเทศลาว ส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งซื้อออนไลน์ของคนในประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทย จีน และเวียดนาม เนื่องจากไม่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในลาว และลูกค้ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในลาว

    ในขณะที่อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่าลาวกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้คนจากหลากหลายภาคส่วน นำไปสู่การปฏิวัติโลกการค้าและการขายของประเทศ