ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปี หนี้สาธารณะบานแค่ไหน – ใช้หนี้ไปเท่าไหร่

20 ปี หนี้สาธารณะบานแค่ไหน – ใช้หนี้ไปเท่าไหร่

19 พฤษภาคม 2024


เปิดข้อมูลหนี้สาธารณะ 20 ปี มีสถานะเป็นอย่างไร – ชำระหนี้คืนไปเท่าไหร่ ล่าสุดออกอาการ ‘ถังแตก’ ตั้งงบฯไม่พอจ่าย ควัก ‘เงินคงคลัง’ จ่ายดอกเบี้ย 2 ปี 7,600 ล้านบาท ปี’67 ตั้งงบฯขาดอีก 40,000 ล้านบาท ถามนายกฯเอาเงินจากไหนจ่าย?

ขณะที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังกำลังหาเงิน 500,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายปกติในปี 2567 และปี 2568 รวมทั้งให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้แก่เกษตรกรและครับครัวอยู่นั้น ปรากฎว่านายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการต่าง ๆ ช่วงที่มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มาแถลงข่าว โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดสรรงบฯชำระหนี้ของรัฐบาลในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คือ ในปีงบประมาณ 2565 และปีงบประมาณ 2566 สบน.ได้รับจัดสรรงบฯชำระหนี้ “ไม่พอเพียง” ต่อภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริง และสำนักงบประมาณไม่สามารถพิจารณาจัดสรรงบกลางให้ สบน.ได้ จึงต้องไปใช้เงินคงคลังมาจ่ายค่าดอกเบี้ยแทน และต้องมีการตั้งงบประมาณมาชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป

จากประมาณการภาระหนี้ในปีงบประมาณ 2567 สบน.ระบุว่า งบฯชำระค่าดอกเบี้ยนที่ได้รับจัดสรรไม่พอเพียงเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก จึงขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบชำระค่าดอกเบี้ยในปีงบประมาณ 2567 ให้ สบน.ได้รับงบฯชำระดอกเบี้ย “อย่างพอเพียง” เพื่อให้เป็นไปตามกรอบวินัยการชำระหนี้ภาครัฐที่ระบุไว้ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือ ขอให้พิจารณาจัดสรรงบกลางให้ สบน.ในภายหลัง ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตามกรอบที่กฎหมายกำหนด และ การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศได้

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลกู้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่จัดสรรงบฯมาชำระค่าดอกเบี้ยให้เพียงพอนั้น อาจถือเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ 2561 (3) ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 9 วรรคท้าย ระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนในระยะยาว


20 ปี หนี้เพิ่มกว่า 3 เท่า – กู้ 7 ล้านล้านชดเชยขาดดุล

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องจนทำให้หนี้สาธารณะของประเทศมียอดสะสมเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2548 มียอดคงค้างอยู่ที่ 3,388,991 ล้านบาท เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP คิดเป็นสัดส่วน 45.46% ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มียอดคงค้างอยู่ที่ 11,474,154 ล้านบาท เทียบกับ GDP คิดเป็นสัดส่วน 63.37% สาเหตุที่หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะ

1.ส่วนใหญ่เกิดจากการออกพันธบัตรกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมียอดคงค้างอยู่ที่ 7,121,244 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 62.06% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

2.ความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติ อย่างเช่น วิกฤติโควิด-19 โดยมีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาใช้แก้ปัญหา โควิดฯ 2 ครั้ง รวม 1.5 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ที่ 1,290,632 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11.25% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

3.เป็นหนี้ที่รัฐบาลเข้าไปรับภาระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในช่วงวิกฤติต้มย้ำกุ้งปี2540 เข้ามาเป็นหนี้ของรัฐบาล เดิมทีเมื่อปี 2548 มียอดคงค้างอยู่ที่ 1,016,764 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ที่ 591,323 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.15% ของยอดหนี้สาธารณะทั้งหมด (ดูรายละเอียดจากกราฟิกข้างล่าง)

ค้างจ่ายหนี้มาตรา 28 หน่วยงานรัฐกว่า 1 ล้านล้าน

นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังยังจัดทำประมาณการหนี้สาธารณะช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2567-2571) เป็นแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังจะยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เอาไว้ไม่เกิน 70% ของ GDP โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะมีหนี้คงค้างอยู่ที่ 11,876,780 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65.06% ของ GDP, ปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 12,841,743 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 66.93% ของ GDP, ปีงบประมาณ 2569 เพิ่มขึ้นเป็น 13,618,214 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 67.53% ของ GDP , ปีงบประมาณ 2570 เพิ่มขึ้นเป็น 14,307,506 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 67.57% ของ GDP และในปีงบประมาณ 2571 เพิ่มขึ้นเป็น 14,936,169 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 67.05% ของ GDP

ทั้งนี้ยังไม่รวมภาระหนี้ที่เกิดจากการที่รัฐบาลใช้ให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งมียอดคงค้างอยู่ที่ 1,004,391 ล้านบาท

นี่คือภาพรวมหนี้สาธารณะของประเทศ

18 ปี จัดงบฯใช้หนี้ 3.6 ล้านล้าน เฉพาะดอกเบี้ย 2.8 ล้านล้าน

สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ จากการตรวจค้นข้อมูลจากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 – ปีงบประมาณ 2567 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ (ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2548 กับปีงบประมาณ 2549 ไม่มีข้อมูล) พบว่าในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาชำหนี้ไปประมาณ 3,597,875 ล้านบาท ก้อนใหญ่ที่สุด คือ งบฯชำระค่าดอกเบี้ย จำนวน 2,763,260 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 76.80% ของงบฯชำระหนี้ทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรร รองมาเป็นงบฯชำระเงินต้นจัดสรรไป 820,883 ล้านบาท มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 28.22% ของงบฯชำระหนี้ทั้งหมด และที่เหลือเป็นงบฯชำระค่าธรรมเนียมจัดการ และค่าผูกพันเงินกู้ 13,732 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.38% ของงบฯชำระหนี้ทั้งหมด

หลังจากที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2561 เป็นต้นมา มีการออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินของรัฐ เรื่องกำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 โดยมีกฎหมายลูกตามมา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา ครั้งแรกได้กำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณมาชำระหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้นของหนี้ที่รัฐบาลรับภาระ ต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัจจุบันปรับปรุงแก้ไขกรอบบนโดยกำหนดสัดส่วนการตั้งงบฯชำระเงินต้นไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผลักภาระการชำระหนี้ที่ควรต้องชำระในแต่ละปีงบประมาณออกไปในอนาคต อย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งงบฯจ่ายหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้นเอาไว้ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของวงเงินงบประมาณ 3,185,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบฯชำระหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้น 118,320 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,480,000 ล้านบาท ดังนั้น ในส่วนของการตั้งงบฯเพื่อชำระหนี้เงินต้นจึงไม่มีปัญหา เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน

ควัก ‘เงินคงคลัง’ จ่ายดอกเบี้ย 2 ปีซ้อน

แต่ปัญหา คือ การตั้งงบฯชำระค่าดอกเบี้ย ในประกาศคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐฯกำหนดเอาไว้กว้างๆว่า “สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระ ต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น” ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดสัดส่วนเอาไว้ชัดเจนเหมือนการตั้งงบฯมาชำระหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้น

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ ก็ไม่คิดจะทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ฯ ปรับปรุงแก้ไข จึงเกิดปัญหาสำนักงบประมาณจัดสรรงบฯชำระค่าดอกเบี้ยให้ สบน.ไม่เพียงพอกับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 สบน.ได้รับการจัดสรรงบฯชำระหนี้ค่าดอกเบี้ย 182,143 ล้านบาท แต่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ 183,743 ล้านบาท ตั้งงบฯขาดไป 1,818.62 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ได้รับการจัดสรรงบฯชำระค่าดอกเบี้ยอยู่ที่ 191,188 ล้านบาท ตั้งงบฯขาดไป 8,898 ล้านบาท ทำเรื่องไปขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบกลางมาจ่ายค่าดอกเบี้ยก็ไม่ได้ ทำให้ต้องไปใช้เงินคงคลังมาชำระค่าดอกเบี้ยแทน

ปี’67 ตั้งงบฯจ่ายดอกเบี้ยขาด 4 หมื่นล้าน…เอาเงินจากไหน?

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังบอกว่าในปีงบประมาณ 2567 สบน.ได้รับการจัดสรรงบฯชำระค่าดอกเบี้ย 209,753 ล้านบาท แต่ภาระค่าดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ 249,753 ล้านบาท ตั้งงบฯชำระค่าดอกเบี้ยขาดไปประมาณ 40,000 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนด และไม่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจกระทบกับความน่าเชื่อถือของประเทศ ข้าราชการในกระทรวงการคลังจึงมีคำถามที่อยากจะฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณว่า การตั้งงบฯชำระดอกเบี้ยขาดมากมายนี้ จะเอาเงินจากไหนมาชำระหนี้ จะใช้“งบกลาง” หรือ “เงินคงคลัง”

  • นายกฯ กลับลำ ‘ไม่กู้’ แล้ว! เคาะแหล่งเงินดิจิทัลใช้เงิน ธ.ก.ส.- งบฯปกติ รวม 5 แสนล้านบาท
  • ‘คลังถังแตก’ เงินไม่พอใช้หนี้ ควัก ‘เงินคงคลัง’ จ่ายดอก 2 ปีซ้อน ส่อผิด กม.วินัยการคลังฯ
  • กลเกมหาแหล่งเงินรัฐบาลเศรษฐา! 10 เม.ย.นี้ เคาะ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ มาจากไหน?
  • รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง
  • ‘เพื่อไทย’ แจ้ง กกต. 70 นโยบาย ใช้เงินจากไหน ?
  • ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้