ThaiPublica > สู่อาเซียน > รายงาน UNDP: ชนชั้นกลางเมียนมาหายไปท่ามกลางความขัดแย้งที่เลวร้ายลง

รายงาน UNDP: ชนชั้นกลางเมียนมาหายไปท่ามกลางความขัดแย้งที่เลวร้ายลง

12 เมษายน 2024


ที่มาภาพ:Poverty and the Household Economy of Myanmar: a Disappearing Middle Class https://www.undp.org/publications/poverty-and-household-economy-myanmar-disappearing-middle-class

รายงาน UNDP ฉบับล่าสุดระบุว่า ชนชั้นกลางเมียนมาหายไปครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหารปี 2564 และ 3 ใน 4 ของประชากรของประเทศมีชีวิตอยู่อย่างยากจนหรือฉิวฉียดใกล้แตะเส้นความยากจนของประเทศ

ในรายงาน Poverty and the Household Economy of Myanmar: a Disappearing Middle Class ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (9) UNDP ระบุว่า ชนชั้นกลางในเมียนมากำลังหายไป ท่ามกลางการสู้รบที่ดุเดือดมากขึ้น

เศรษฐกิจประสบกับการสูญเสียผลผลิตอย่างถาวร และคาดว่าจะเติบโตในอัตราต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติอย่างต่อเนื่อง รายงานMyanmar Economic Monitor 2023 ของธนาคารโลก ระบุว่า คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตเพียง 1% ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2567 แม้หากความขัดแย้งไม่ลุกลามอีกต่อไป การเติบโตก็คาดว่าจะยังไม่มาก ซึ่งกองทุนการเงินระหวางประเทศ(IMF) ประมาณการไว้ว่าจะสูงกว่า 2.6% ในปี 2567

ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2564 มีผลกระทบเชิงโครงสร้างต่ออุปทานของเศรษฐกิจ โดยเห็นชัดในภาคแรงงานที่ผู้ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง และการเลือกออกนอกประเทศ ณ เดือนเมษายน 2023 จากประมาณการแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 2.5 ล้านคน สัดส่วน 75% มาจากประเทศเมียนมา

เมียนมาไม่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนักจากที่หดตัวไปที่ 17.9% ในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ในปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดและวิกฤตการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ประเทศตกอย่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยรูปตัว L ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุด และ GDP ที่เป็นตัวเงิน(Nominal GDP) ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณระดับของปี 2556

รายได้ครัวเรือนที่หดตัวนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาดและวิกฤติการเมืองยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จากการสำรวจ People’s Pulse Survey 2023 (PPS) ซึ่งดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม 2566 โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ถามว่ารายได้ครัวเรือนของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ผู้ตอบแบบสำรวจ 57% ตอบว่ารายได้ของพวกเขายังคงเท่าเดิม ในขณะที่ 30% ตอบว่าลดลง และแทนที่จะส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัว รายได้ตกลงไปเกือบจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว นอกจากนี้ แม้ว่ารายได้จะมีเสถียรภาพ แต่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าการรักษาสภาพที่เป็นอยู่นั้นกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น เงินจั๊ตอ่อนค่า และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ล้วนมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกัดกร่อนรายได้ที่แท้จริง

รายได้เฉลี่ยทั่วประเทศต่ำมากใกล้กับตะกร้ารายจ่ายขั้นต่ำในการอยู่รอด (Survival Minimum Expenditure Basket :SMEB)1 มีเพียงค่ามัธยฐานของกลุ่มที่มีสินทรัพย์สูงสุด(quintile:Q5)เท่านั้นที่รายได้ต่อหัวสูงขึ้น (116,667 จั๊ตต่อเดือน)2 แม้จะต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพของชนชั้นกลาง3อย่างมาก ตลอดจนรายได้เฉลี่ยก็แตกต่างกันอย่างมากทั่วทุกรัฐและภูมิภาค

ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงตลาดแรงงานที่อ่อนแออย่างมาก โดยค่าจ้างซบเซาอย่างต่อเนื่อง รายได้ที่ลดลงจากการตกงาน ประกอบกับครัวเรือนประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีแหล่งรายได้รอง ครัวเรือนที่ไม่มีแหล่งรายได้ที่สองมีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของรายได้หากเกิดภาวะช็อกกระทบแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียว รัฐ/ภูมิภาคที่มีอัตราครัวเรือนไม่มีแหล่งรายได้รองสูงสุด ได้แก่ รัฐคะยา (67%) ชิน (63%) และสะกาย (57%) ซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดและเผชิญกับความขัดแย้งสูงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566

จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่ารายได้ต่อเดือนต่อหัวจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดความขัดแย้ง รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศอยู่ที่ 75,000 จั๊ตต่อเดือนเท่านั้น ในพื้นที่ชนบทค่ามัธยฐานน้อยกว่าเขตเมืองถึง 24% และช่วงรายได้ต่อหัวก็แคบลง ซึ่งหมายความว่า มีทางเลือกที่จำกัดในการหารายได้ให้สูงขึ้นในชนบทของเมียนมา

รัฐคะยามีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด(30,000 จั๊ต) ตามมาด้วยรัฐชิน (40,000 จั๊ต) และทั้งสองรัฐมี SMEB ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นคือ 45,223 จั๊ตและ 55,211 จั๊ตามลำดัล แต่ PPS สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่น่ากังวลเป็นพิเศษของรัฐคะยา เพราะนอกจากรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดแล้ว รายได้ลดลงมากที่สุด (50% นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566) และมีรายงานการตกงานมากที่สุด (58%) นอกจากนี้รัฐคะยายังมีครัวเรือนที่ไม่มีรายได้แหล่งที่สองกระจุกตัวสูงสุด (67%) และมีกลไกการรับมือที่หลากหลายที่สุด (โดยเฉลี่ย 3 กลไก) รวมถึงการใช้กลไกรับมือแบบน่ากลัว เช่น การลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร (52%) แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากครัวเรือนอย่างมาก แต่รัฐและภูมิภาคที่มีความสงบสุขมากกว่าก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดีกว่า ดังที่เห็นได้จากข้อมูลของอิระวดี เนปีดอ และย่างกุ้ง สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่รายงานการลดลงอย่างมากของรายได้ ได้แก่ เมืองสะกาย (40%)ตะนาวศรี (37%) และยะไข่ (36%)

โดยรวมแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนในทุกรัฐและภูมิภาคต่ำมาก ซึ่งบ่งบอกถึงการหายไปของชนชั้นกลางและการแบ่งแยกขั้วในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น

รายได้ที่ลดลงและความสามารถในการสร้างรายได้ที่จำกัด กำลังผลักดันให้ครัวเรือนต่างๆ หันมาใช้กลไกการรับมือเชิงลบ สำหรับทุกรัฐและภูมิภาค 4 และสำหรับทุกกลุ่มทรัพย์สิน การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหารเป็นกลยุทธ์หลักในการรับมือ(54%) ผลที่ตามมาคือ กระทบต่อการลงทุนด้านทุนมนุษย์ในด้านสุขภาพและการศึกษาอย่างมาก จนอาจเป็นภัยคุกคามต่อการกลับมาของชนชั้นกลางในอนาคต

ในกลุ่มที่มีสินทรัพย์ต่ำ การใช้เงินกับการศึกษาก็ยิ่งน้อยลง ครัวเรือนในกลุ่มสินทรัพย์ต่ำสุดจัดสรรเพียง 2% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในด้านการศึกษา ในขณะที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 4% ในครัวเรือนที่ร่ำรวยกว่า เมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระดับสูงของรัฐที่ต้องเสียเองในเมียนมา ความแตกต่างของการใช้จ่ายนี้ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ต่อเนื่อง การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเข้าถึงโอกาสในการจ้างงานที่ดีขึ้นและการได้รับรายได้ที่สูงขึ้น และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการแทรกแซงแบบกำหนดเป้าหมายเพื่อแก้ไขความแตกต่างเหล่านี้

สำหรับแนวทางการรับมือทั่วไปอื่นๆ คือการใช้เงินออม (36%) ยืมเงินจากเพื่อนและครอบครัว (36%) และรับประทานอาหารน้อยลง (28%) ซึ่งก็หมายความว่าแนวทางอื่นๆที่ท้าทายน้อยกว่า เช่น การสนับสนุนจากครอบครัวและการขายทรัพย์สินและพืชผลที่เก็บไว้ ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่แล้ว

ประชากรเมียนมาเกือบครึ่งหนึ่ง (49.7%) ดำรงชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่ 1,590 จั๊ตต่อวันภายในสิ้นปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับ 46.3% ในปี 2565 และ 24.8% ในปี 2560 ดังนั้น ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของประชากรเมียนมาที่มีความยากจนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ายิ่งกว่านั้น ไม่เพียงแต่มีคนยากจนมากขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังยากจนลงอีกด้วย ช่องว่างความยากจนซึ่งเป็นตัวชี้วัดการไม่มีรายได้โดยเฉลี่ยของผู้ยากจนทั้งหมด อยู่ที่ร้อยละ 24.4% จาก 18.5% ในปี 2565 และร้อยละ 5.2 ในปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 6% ตั้งแต่ปี 2565 ความยากจนมีความรุนแรงมากขึ้นเร็วขึ้น

ณ เดือนตุลาคม 2566 ประชากร 25% มีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายโดยอยู่เหนือเส้นความยากจนเล็กน้อย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้ผู้พลัดถิ่นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง ธุรกิจต่างๆ ปิดตัวลง และห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักในหลายพื้นที่ของประเทศ

วิกฤติการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อครัวเรือนที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิง ซึ่งสมาชิกในครัวเรือนที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้หญิงมีแนวโน้มจะยากจนมากกว่าครัวเรือนที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ชายถึง 1.2 เท่า เด็กมากกว่า 50% ในเมียนมามีฐานะยากจน และในเขตที่มีความขัดแย้งสูง ครัวเรือนต่างๆ กำลังตกอยู่ในความยากจนมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความยากลำบากและความไม่เท่าเทียม

รายได้เฉลี่ยที่ต่ำมากในรัฐและภูมิภาคส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าชนชั้นกลางกำลังหายไป การที่ประชากรกระจุกตัวใกล้กับด้านล่างสุดของการกระจายรายได้หมายถึง ผลกระทบต่อการลงทุนในทุนมนุษย์ (เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ และโภชนาการ) ในทางกลับกันกก็จะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในประเทศยังคงอยู่ตอไปอีกและลดศักยภาพการเติบโตจากการผลิตภาพของแรงงานในอนาคตลดลง

แม้ว่าจะหายไปจากพาดหัวข่าวระดับโลกแล้ว แต่ชาวเมียนมายังคงเผชิญกับความทุกข์ทรมานที่ฝังลึกและต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพันธมิตรด้านการพัฒนาพหุภาคีและทวิภาคีที่จะต้องหันความสนใจไปที่สถานการณ์ของผู้เปราะบางในเมียนมา และต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรท้องถิ่น ผู้มีบทบาทภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในท้องถิ่น และองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ

การสร้างใหม่ในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดไม่นับว่าง่ายในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ ดังนั้นการเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อให้สามารถเข้าถึงและสนับสนุนชุมชนที่เปราะบางที่สุด โดยไม่คำนึงถึงสถานที่ ชาติพันธุ์ หรืออุดมการณ์ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหยุดยั้งการถดถอยและการกลับคืนสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์อีกครั้ง แม้จะถูกจำกัดในเวลานี้ก็ตาม หากขาดไป ปริมาณงานด้านมนุษยธรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีผลกระทบต่อการพัฒนามนุษย์แบบข้ามรุ่น

อ้างอิง
1.SMEB สำหรับเมียนมาอยู่ที่ 320,000 จั๊ตต่อเดือนสำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิก 5 คน หรือ 64,000 จั๊ตต่อคน ตามที่กำหนดโดย Inter-agency Cash Working Group ในประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2566 ซึ่งSMEB มีการอัปเดตทุก ๆ 6 เดือนและแตกต่างกันไปตาม รัฐ/ภูมิภาค
2.ประมาณ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือ 1.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการที่ 2,100 จั๊ตต่อดอลลาร์
3.Boston Consulting Group ให้คำจำกัดความของชนชั้นกลางและชนชั้นร่ำรวยว่าเป็นชนชั้นที่มีรายได้ต่อหัวต่อเดือนมากกว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐ https://www.intergroup.asia/blog/the-rising-middle-class-in-myanmar
4.เมียนมาประกอบด้วย 7 รัฐ (ชิน กะฉิ่น กะเหรี่ยง กะยา มอญ ยะไข่ และฉาน) และ 8 ภูมิภาค (อิระวดี พะโค มะเกว มัณฑะเลย์ สะกาย ตะนาวศรี ย่างกุ้ง และเนปิดอว์)