ThaiPublica > คนในข่าว > “เอกนิติ” ชูยุทธศาสตร์ “EASE Excise” ปรับสรรพสามิตสู่ “กรม ESG”

“เอกนิติ” ชูยุทธศาสตร์ “EASE Excise” ปรับสรรพสามิตสู่ “กรม ESG”

20 กันยายน 2022


“เอกนิติ” ชูยุทธศาสตร์ “EASE Excise” ปรับสรรพสามิตสู่ “กรม ESG” เตรียมลดภาษีหนุนไบโอเจ็ต-ไบโอพลาสติก, แบตเตอรี่รีไซเคิล, เหล้า-เบียร์ 0% พร้อมจับมือ อบก. ศึกษาเก็บภาษี Carbon Tax เดินหน้าขึ้นภาษีความหวาน-ความเค็ม-กวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยรัฐบาล-สปสช. ประหยัดงบรักษาโรคเบาหวาน-ไตวาย-มะเร็งปอด

หลังจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปประกาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในหรือก่อนปี 2065 แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดออกนโยบายหรือเร่งดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ในที่ประชุม COP26 แต่อย่างใด

ล่าสุดดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต คนใหม่ประกาศแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตประจำปีงบประมาณ 2566 นอกเหนือจากภารกิจในการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาลแล้ว ยังอาสาเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบ ESG (Environment,Social,Governnance)โดยใช้มาตรการภาษีสรรพสามิต เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยตั้งเป้าหมายยกระดับกรมสรรพสามิต ขึ้นเป็น “กรม ESG” รวมทั้งเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ไปประกาศไว้ต่อที่ประชุม COP26 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2566

ดร.เอกนิติ กล่าวถึงการทำแนยุทธศาสตร์แนวใหม่ของกรมสรรพสามิตว่า “ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต ได้รับความร่วมมือและคำแนะนำจากข้าราชการของกรมสรรพสามิตเป็นอย่างดี ผมเดินทางไปตรวจเยี่ยมทุกหน่วยงานภายในกรมสรรพสามิต รวมทั้งเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่จังหวัดสงขลา ผมได้รับข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ มากมาย เพื่อนำมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตร่วมกับผู้บริหารของกรมสรรพสามิต ซึ่งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ได้ใช้กระบวนการทำยุทธศาสตร์แนวใหม่ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบดังต่อไปนี้”

    1. วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อกรมสรรพสามิตอย่างไร
    2. สำรวจความคิดเห็นของผู้เสียภาษี หรือลูกค้าของเรา ซึ่งข้อนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตลงไปคุยกับลูกค้าเพื่อสอบถามมุมมองความคิดเห็นต่อกรมสรรพสามิต
    3. สำรวจความคิดเห็นข้าราชการในกรมสรรพสามิตว่าเขาอยากทำอะไร หรือต้องการให้ผู้บริหารกรมสรรพสามิตทำอะไร

หลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะนำจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตประจำปีงบประมาณ 2566 ขึ้นมา โดยสาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์กรมสรรพสามิตฉบับนี้ได้กล่าวถึงความท้าทายในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก กรมสรรพสามิตจะเผชิญกับอะไร และเราต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่

ดร.เอกนิติ กล่าวต่อว่า “ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาลประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของรายได้ทั้งหมด จัดอยู่ในลำดับที่ 2 รองจากกรมสรรพากร แต่เมื่อไปศึกษาภารกิจของกรมสรรพสามิตแล้ว จริงๆ เราทำมากกว่าการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล ซึ่งกรมสรรพสามิตสามารถช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้”

ต่อประประเด็นความท้าทายของโลกส่งผลกระทบต่อกรมสรรพสามิตอย่างไร สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกรมสรรพสามิตในระยะสั้น คือ หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ก็มีเจอกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเกิดความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน ส่งผลทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อสูง เกิดภาวะที่เรียกว่า “stagflation” ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาดังกล่าว ทางกรมสรรพสามิตจำเป็นต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลลง ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของกรมฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงมากในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้ค่าไฟแพงเกินไป

ความท้าทายที่มากระทบกับกรมสรรพสามิตอีกตัว คือ เรื่อง “digital disruption” ทำให้เทรนด์ของการทำธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป กรมสรรพสามิตมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นภาษีรถยนต์ ตอนนี้ทุกประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถอีวี” ในอนาคตอีกไม่นาน รถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปก็จะลดน้อยลง

คาด “เบนชิน” เข้าสู่จุด Peak Oil ปี 2030 – ดีเซลปี 2040

ดร.เอกนิติกล่าวต่อว่าก่อนหน้านี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมาบรรยายให้ผู้บริหารกรมสรรพสามิตฟังถึงแนวโน้มของการใช้พลังงานประเภทต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันจะไปถึงจุดที่เรียกว่า “peak oil” เมื่อไหร่ ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคาดว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของทุกประเทศทั่วโลกจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปี 2030 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ส่วนน้ำมันดีเซลจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปี 2040 นี่คือเทรนด์ของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ในระยะสั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรมสรรพสามิตมากนัก แต่เราก็จำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถอีวี” แทน แม้รายได้ของกรมสรรพสามิตจะลดลง แต่ก็ต้องสนับสนุนเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งและเป็นอนาคตของชาติในอนาคต และต้องทำควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ด้วย ขณะเดียวกันต้องพยายามขยายฐานภาษีตัวใหม่ๆ มาทดแทน เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม

เดินหน้าเก็บภาษีความหวาน-ความเค็ม-บุหรี่ไฟฟ้า ดูแลสุขภาพ ปชช.

ความท้าทายอีกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก คือ สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี เกษียณจากการทำงานประมาณ 20% คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของจำนวนประชากร ถามว่าแล้วเกี่ยวข้องอะไรกับกรมสรรพสามิต

“วันนี้มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน และมีผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอีกประมาณ 2-3 แสนคน ต้องใช้เงินจาก สปสช. มาฟอกไตเฉลี่ยคนละ 100,000-200,000 บาท คิดเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งที่ปอด หรือกินเหล้าก็จะเป็นโรคตับแข็ง หากเราไม่ทำอะไร ในอนาคตรัฐบาลก็จะต้องจัดสรรงบฯ มารักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงต้องใช้มาตรการภาษีเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพตั้งแต่วันนี้ นั่นก็คือภาษีความหวาน, ภาษีความเค็ม และบุหรี่ไฟฟ้า”

ดร.เอกนิติ กล่าวต่อว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าก็ตาม แต่ปัจจุบันก็มีการซื้อ-ขายบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ซึ่งกรมสรรพสามิตก็จะมาช่วยสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข โดยนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้เรามีอำนาจเข้าไปควบคุม และปราบปรามการซื้อ-ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ ไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปจัดเก็บภาษี แต่จะไปช่วยเสริมกับกระทรวงสาธารณสุข

ความเสี่ยงตัวสุดท้าย เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่คนทั่วไปไม่ค่อยคำนึงถึง คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วงสัปดาห์ก่อนที่กรุงเทพมหานครก็มีฝนตกทั้งวันทั้งคืนจนเกิดปัญหาน้ำท่วม บางพื้นที่ก็เกิดปัญหาน้ำแล้ง สภาพภูมิอากาศของโลกมีความผันผวนมาก ดังนั้น เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะเป็นกติกาใหม่ของโลก

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้ไปประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 กล่าวคือ ปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ ก็ต้องดูดซับออกไปในอัตราที่เท่ากัน และตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แต่ก็ยังไม่มีแผนปฏิบัติอะไรออกมา ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเข้ามาช่วยตรงนี้ โดยใช้มาตรการภาษีที่เรียกว่า “carbon tax”

“นอกจากเรื่อง net-zero แล้ว ผมอยากบอกคนไทยทุกคนให้ทราบว่าวันนี้ประเทศต่างๆ เริ่มสร้างมาตรฐานเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ อย่างประเทศยุโรปก็มี “European Green Deal” เตรียมออกมาตรการภาษีมาใช้ในการควบคุมคาร์บอน ที่เรียกว่า carbon border adjustment mechanism หรือ “CBAM” โดยดูว่าประเทศไหนที่ส่งสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก ก่อนส่งเข้าไปขายในประเทศแถบยุโรปจะถูกเก็บภาษี ถามว่าทำไมเราไม่เตรียมทำมาตรฐานตรงนี้ ซึ่งกรมสรรพสามิตสามารถทำได้ และนี่คือบทบาทใหม่ของกรมสรรพสามิตที่เปลี่ยนไปจากอดีต เราไม่ใช่กรมจัดเก็บรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้”

จากความท้าทายที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนี้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ของกรมสรรพสามิตเสนอความคิดเห็นว่าอยากจะให้กรมสรรพสามิตเป็นอะไร ได้ข้อสรุปว่า

“เราอยากเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษีเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ “ESG” สร้างมาตรฐานเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน แม้เราจะเป็นกรมเล็กๆ เก็บภาษีไม่กี่ตัว คิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด แต่เราจะเป็นกรม ESG ช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล นี่คือบทบาทใหม่ของกรมสรรพสามิต”

ชูยุทธศาสตร์ “EASE Excise” ยกเครื่องสรรพสามิตสู่ “กรม ESG”

ดร.เอกนิติกล่าวต่อว่า “แล้วเราจะใช้ยุทธศาสตร์อะไรในการขับเคลื่อนกรมสรรพสามิตเพื่อนำไปสู่บทบาทใหม่ คือ “กรม ESG” จากการระดมความคิดเห็นพี่ๆ น้องๆ ภายในกรมสรรพสามิต จนกระทั่งเราได้ยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตประจำปีงบประมาณ 2566 ที่เรียกว่า ‘EASE Excise’”

“E” ตัวแรก เป็นสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยกรมสรรพสามิตจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าสินค้าหรือบริการประเภทไหนเป็น ESG และเราจะไม่ส่งเสริมสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็น ESG ต้องกำหนดไว้ในพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิตไว้ให้ชัดเจน จากนั้นก็มากำหนดอัตราภาษี ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลกระทบต่อสังคม และมีธรรมาภิบาล จะเสียภาษีน้อย หรือไม่เก็บภาษีเลย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กรมสรรพสามิตขออนุญาตเข้าไปบริหารจัดการเก็บภาษีให้แพงขึ้น ยกตัวอย่าง สินค้าประเภทน้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงมาก เราก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ถ้าเป็นพลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนก็จะลดภาษี หรือไม่เก็บภาษีเลย เป็นต้น

สำหรับรายการสินค้าและบริการที่ส่งเสริมเรื่อง ESG ในแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตประจำปีงบประมาณ 2566 ที่สำคัญๆ มีรายการดังนี้ 1. น้ำมันไบโอเจ็ทกับไบโอพลาสติก ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย และ กกร. ทำการกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ และหลายประเทศทั่วโลกกำลังศึกษาเรื่องมาตรฐานของการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน หรือ “sustainable aviation fuel — SAF” ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก แม้ตอนนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะนำมาบังคับใช้กับสายการบิน ต้องเติมน้ำมันเจ็ทภายใต้มาตรฐาน SAF แต่ก่อนอื่นกรมสรรพสามิตต้องนำไบโอเจ็ทเข้ามาอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตก่อน จากนั้นก็ปรับลดภาษีน้ำมันไบโอเจ็ต เพื่อส่งเสริมให้สายการบินเติมน้ำมันไบโอเจ็ต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งจะไปสนับสนุนเรื่อง ESG และได้ carbon credit ด้วย

ส่วน“ไบโอพลาสติก” เดิมทีการผลิตขวดพลาสติก แก้วน้ำ หรือ แก้วกาแฟ มาจากโรงงานปิโตรเคมี โดยใช้น้ำมัน หรือ ไฮโดรคาร์บอนมา crack จนกระทั่งได้ “แนฟทา” หรือ “เอทิลีน” แต่ต่อไปเราจะมีมาตรการมาสนับสนุนให้มีการนำเอทานอลจากโรงงานน้ำตาล หรือโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ มาแปลงเป็นไบโอพลาสติก ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตเราจะต้องศึกษาเรื่องไบโอเจ็ตและไบโอพลาสติกให้เสร็จภายในปี 2565 และเริ่มนำมาใช้ในปี 2566

รื้อโครงสร้างภาษี สนับสนุน “แบตเตอรี่รีไซเคิล”

สินค้าตัวที่ 2 คือ แบตเตอรี่รีไซเคิล อย่างที่ได้กล่าวไว้ในช่วงต้น คือเราต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้ แต่อุตสาหกรรมการผลิตรถอีวีจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รองรับ และถ้ามีการตั้งฐานการผลิตแบตเตอรี่กันเป็นจำนวนมากๆ ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีแบตเตอรี่อัตราเพียงเดียวคือ 8% ของมูลค่า ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2566 เราจะมีการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ใหม่ให้มีหลายอัตรา โดยแบตเตอรี่ชนิดไหนรีไซเคิลได้ ถ้าเป็น “green battery” กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำมาก แต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่ที่รีไซเคิลไม่ได้ กรณีนี้ก็ต้องเสียภาษีแพงขึ้น เป็นต้น

หนุนเหล้า-เบียร์ 0% ช่วย สธ. กวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า

สินค้าตัวที่ 3 คือ เหล้า เบียร์ 0% และบุหรี่ไฟฟ้า จากการที่เราไปศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เราพบว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อยากดื่มเหล้าเบียร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูง แต่เขาอยากดื่มเหล้าเบียร์ที่มีไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์ 0% เขาไม่ต้องการดื่มให้เมาเหมือนคนรุ่นก่อน แต่เขาต้องการดื่มเพื่อความเท่ กรมสรรพสามิตก็จะใช้มาตรการภาษีสนับสนุนให้มีการผลิตเหล้าเบียร์ 0% อนาคตจะได้ไม่เป็นโรคตับแข็ง นี่คือ บทบาทของกรมสรรพสามิตในการสนับสนุนและปกป้องสังคม (social) หรือ ตัว “S” รวมไปถึงเรื่องการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ตามที่กล่าวข้างต้น กรมสรรพสามิตก็จะเข้าไปช่วยกระทรวงสาธารณสุขปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าปลอมไม่ได้มาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จับมือ อบก. ศึกษาวิธีเก็บ “Carbon Tax”

เรื่องสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตต้องเร่งทำการศึกษาในแล้วเสร็จภายในปีนี้ คือ “carbon tax” ต้องเกิดความชัดเจน เพราะในปี 2566 จะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในปริมาณที่สูง คือ เหล็ก และเหล็กกล้า, ปูนซีเมนต์, กระแสไฟฟ้า, ปุ๋ย และอลูมิเนียม หรือที่เรียกว่า “CBAM” แม้ว่าสินค้าในกลุ่มนี้ประเทศไทยจะส่งไปขายในยุโรปไม่มากนัก แต่ในอนาคตเชื่อว่าทางยุโรปคงจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในรายการสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ใช้มาตรการภาษีมาช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าของเรา ส่งไปขายในยุโรป ก็ถูกเก็บภาษีอยู่ดี

สำหรับวิธีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของทุกประเทศทั่วโลกจะมี 2 แนวทาง คือ วิธีแรก เก็บภาษีที่หน้าโรงงาน หรือเก็บภาษีจากสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นจำนวนมาก กลุ่มนี้ง่าย แต่ที่ยากที่สุด คือ วิธีที่ 2 เก็บภาษีคาร์บอนจากกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งกระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากก็เสียภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งวิธีที่ 2 นี้ กรมสรรพสามิตร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพราะเราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ทำการคำนวณกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็มากำหนดอัตราภาษีว่าจะเก็บในอัตราเท่าไหร่ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของเรา หากเราไม่เก็บภาษี ส่งไปขายในยุโรปก็ต้องถูกเก็บภาษีอยู่ดี คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

ตั้ง “โรงเรียนสรรพสามิต” ปั้นบุคลากรรองรับบทบาทใหม่

“A” ตัวที่ 2 ย่อมาจาก “agile way of working” ยุทธศาสตร์ด้านนี้มาจากความต้องการของเจ้าหน้าที่ภายในกรมสรรพสามิต โดยการปรับโครงสร้างการทำงานให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว โดยเจ้าหน้าที่สรรพสามิตเสนอให้มีการจัดตั้ง “โรงเรียนสรรพสามิต” เชิญข้าราชการที่เกษียณไปแล้ว แต่มีประสบการณ์และความสามารถมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับข้าราชการรุ่นใหม่ของกรมสรรพสามิต รวมทั้งเชิญวิทยากรจากภายนอกมาสอนเรื่อง digital skill , การนำข้อมูล big data มาใช้ในการจัดเก็บภาษี และปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย และอบรมเรื่อง ESG

“ต่อไป ESG จะเป็นเรื่องใหญ่ของโลกที่ใครๆ ก็ต้องพูดถึง ยกตัวอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยจับมือกับสมาคมธนาคารไทย ใช้มาตรการทางการเงินสนับสนุน ESG ส่วนกรมสรรพสามิตจะเป็นกรมแรกที่จะใช้มาตรการภาษีสนับสนุน ESG”

“S” ตัวที่ 3 ย่อมาจาก “standardization” เป็นเรื่องมาตรฐานในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กรมสรรพสามิตส่งทีมเจ้าหน้าที่ออกไปสัมภาษณ์ หรือสอบถามความคิดเห็นผู้เสียภาษี หรือลูกค้าของกรมสรรพสามิต ลูกค้าของเราบอกว่าเจ้าหน้าที่สรรพสามิตดีมาก ทุกคนเต็มใจบริการผู้เสียภาษี แต่อยากได้มาตรฐานเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าไปสอบถามแนวทางการเสียภาษีกับสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่จังหวัดสงขลา ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันสำนักงานสรรพสามิตในกรุงเทพและปริมณฑล เราจะปรับกระบวนงานของกรมสรรพสามิตให้เป็นมาตรฐานและง่าย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บภาษีให้เป็นมาตรฐานสากล และปราบปรามการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี พัฒนาองค์กรไปสู่ “องค์กรดิจิทัล”

ยกเลิก กม. ล้าสมัย-เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

นอกจากนี้ ในยุทธศาสตร์ของเราก็จะมีการปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยและมีความซ้ำซ้อน หรือที่เรียกว่า “regulatory guillotine” โดย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ครบ 5 ปีไปเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา สมัยก่อนออกกฎหมายมา 10 ปี อาจจะล้าสมัย แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แค่ 2 ปี ก็ล้าสมัยแล้ว ยกตัวอย่าง กฎหมายลูกของกรมสรรพสามิตว่าด้วยเรื่องการขอใบอนุญาตมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน เช่น ขอใบอนุญาตจำหน่ายบุหรี่เป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าขอใบอนุญาตจำหน่ายน้ำมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เราจะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน กฎหมายประเภทไหนที่มีความซ้ำซ้อน ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย การลงทุน เราก็ยุบรวมหรือยกเลิก เป็นต้น

ส่วนตัวสุดท้ายคือ “E” ย่อมาจาก “end-to-end” เราตั้งใจจะยกระดับการให้บริการแก่ผู้เสียภาษีแบบไร้รอยต่อ (omni-chanel) ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ กลุ่มลูกค้าที่มาติดต่อกับกรมสรรพสามิตมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการ, ขอคืนภาษี, บางรายค้างชำระหนี้ภาษี และบางรายก็ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีกับกรมสรรพสามิต

“ผมตั้งใจว่าจะตั้งทีมเจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าไปดูแล คอยให้บริการผู้เสียภาษีเป็นรายกลุ่ม ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการมาบ่นกับผมว่ากรมสรรพสามิตคืนภาษีช้า ตรงนี้ก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ต้องตรวจเอกสารเยอะมาก ถ้าตรวจไม่ดีอาจถูกฟ้อง ตรงนี้ผมก็จะพยายามลดเอกสาร หรือ paperless เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาต่างๆ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

ดร.เอกนิติ กล่าวย้ำถึงบทบาทของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2566 อีกครั้งว่า “กรมสรรพสามิตจะเป็นกรม ESG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘EASE Excise'”

“แม้เราจะเป็นกรมเล็กๆ แต่ก็ช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเรื่อง ESG ด้วยนโยบายภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ดร.เอกนิติกล่าว