ThaiPublica > เกาะกระแส > สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย: Future Together ต้อง “รื้อและล้างไพ่” ทำใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิม

สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย: Future Together ต้อง “รื้อและล้างไพ่” ทำใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิม

16 มิถุนายน 2022


สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ในโอกาสที่ก้าวสู่ปีที่ 12 โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ และเสวนาหัวข้อ “Future Together” โดยมีวิทยากร นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP รองประธานกรรมการ หอการค้าการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนการศึกษา หอการค้าไทย, ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 จำกัด และ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทลิสเซินฟิลด์ (Listen Field Inc.)

โจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด

  • “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะสร้าง 5 ภูมิคุ้มกันประเทศไทย
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together อนาคตเกษตรกรไทยต้อง “Paradigm Shift”
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together การศึกษาเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together แบงก์รัฐต้องก้าวออกจากกรอบ ไปสู่ “Beyond Banking”
  • นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด บริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การควบรวมกิจการ และการซื้อกิจการระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ ได้สะท้อนมุมมองการสร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทยใน 2 ด้าน คือ การท่องเที่ยวและนวัตกรรม

    โดยเล่าว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 อย่างรุนแรง ตนอยู่ในประเทศจีนถึง 18 เดือน และจากมุมมองคนที่อยู่นอกประเทศไทยเห็นว่า ประเทศไทยมีภูมิต้านทานในการรับมือวิกฤติ เนื่องด้วยวิธีการบริหารประเทศ

    “มองจากข้างนอกเข้ามา ประเทศไทยมีภูมิต้านทานที่ดี ด้วยวิธีการที่เราบริหารจัดการโควิด เราไม่ได้ใหญ่เท่าจีนที่จะปิดประเทศ ไม่รวยเท่าฝรั่งที่ใช้เงินรัฐมาช่วย ต้องถือว่าภาคธุรกิจเราเก่ง บริษัทใหญ่ไทยแข่งขันระดับโลกได้ ส่งผลให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ได้”

    นายโจกล่าวต่อว่า ประเทศไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรี เทียบเท่าประเทศแถบยุโรป ยอดผู้เสียชีวิตก็น้อยกว่าประเทศแถบยุโรปหลายประเทศ ดังนั้นต้องถือว่าภูมิต้านทานของไทยไม่แย่ และวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการฉีดวัคซีนให้ประเทศไทย เพราะมีหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับที่ “โอเค” แม้จะมีการสะดุดบ้าง แต่เชื่อว่าการสะดุดรอบนี้จะส่งผลให้หากมีวิกฤติครั้งหน้าจะไม่สะดุดอีก

    อย่างไรก็ตาม ผลจากวิกฤติไวรัสทำให้ประเทศไทยได้รับบทเรียน 2 ด้าน จากมิติอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และด้านนวัตกรรม

    นายโจอธิบายว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความเป็น Informal Sector ในระดับสูงมาก เนื่องจากมีแรงงานที่อยู่ในการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ไม่อยู่ภายใต้ระบบบริษัทหรือประกันสังคม แต่ทั้งนี้ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 40 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 61% สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นสัดส่วน 11% ของจีดีพี และมีการจ้างงานอีก 7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ

    แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1 ใน 4 เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ดังนั้น เมื่อภาคการท่องเที่ยวเผชิญปัญหา ทำให้ภูมิต้านทานฟื้นตัวช้ากว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ

    นายโจมองว่า วิธีการที่จะฟื้นภาคการท่องเที่ยวของไทยคือไม่ควรพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้ 40 ล้านคนแบบที่เคยเป็นมาก่อน หรือไม่ควรให้ความสำคัญกับจำนวนว่านักท่องเที่ยวจีนต้องให้ได้ 10 ล้านคน แต่สิ่งสำคัญคือการเพิ่ม “wallet share” หรือการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยว ให้มาอยู่ในกระเป๋าเงินของคนไทยมากขึ้น

    “วิธีการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยน ไม่ควรกลับไปพยายามได้ 40 ล้านคนแบบที่เคย ไม่ควรพยายามได้ 10 ล้านคนจากจีนแบบที่เคย เรามีโอกาสครั้งนี้ครั้งเดียวที่จะล้างไพ่ให้อุตสาหกรรมธุรกิจกลับมาแข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม เกิดการกระจายของนักท่องเที่ยว มีสัดส่วนคนไทยมากขึ้น จากแต่ละประเทศน้อยลง อย่าพึ่งประเทศใดประเทศหนึ่ง”

    “ในอนาคตคนจะเที่ยวน้อยลง แต่ใช้เวลาอยู่ในสถานที่ต่างๆ จะมากขึ้น สิ่งที่ทำต้องเปลี่ยนไปไม่ใช่แบบเดิม เราต้องมีของใหม่และดี ซึ่งโชคดีประเทศไทยมีเยอะ นักท่องเที่ยวจาก 10 ล้าน ขอแค่กลับมา 2-3 ล้านคน แต่ wallet share เพิ่มขึ้น สัดส่วนที่อยู่ในกระเป๋าคนไทยเพิ่มขึ้น”

    อีกประเด็นที่นายโจยกเป็นบทเรียนจากจีนคือ “นวัตกรรม” แม้แผนยุทธศาสตร์ของไทยจะตั้งเป้าการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ที่ 4% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันทำได้ที่ 1.1% ของจีดีพี ขณะเดียวกันการเติบโตของประเทศไทยยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งเติบโต 1.4%

    การพัฒนานวัตกรรมไทยเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ผิดกับจีนที่เคยอยู่ข้างหลังไทย และใช้เวลาเพียง 20 ปี จนมีนวัตกรรมจากจีนส่งออกไปทั่วโลก

    “จีนใช้ AHA Moment เริ่มลงทุนนวัตกรรมในปี 2540 ส่งผลให้มีของเจ๋งๆ ใหม่ๆ จริงๆ ไม่มีอะไรที่จีนทำแล้ว เราทำไม่ได้ เพียงแต่หน่วยงานต่างๆ พรรคต่างๆ กระทรวงต่างๆ ต้องมาคุยกัน เราสามารถเจาะตลาดได้เพราะบริษัทไทยเราเก่ง ตลาดเราไม่เล็ก ตลาดไทยรวมถึง GMS และ ASEAN”

    นายโจกล่าวต่อว่า ประเทศจีนมีรัฐเป็นส่วนกลางในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 4 หน่วยงานหลักที่ทำงานร่วมกัน คือ

    • CAS (Chinese Academy of Sciences) มีหน้าที่เหมือน 2 หน่วยงานของไทยที่ประกอบด้วยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
    • MOST (Ministry of Science and Technology) คือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
    • NDRC (National Development and Reform Commission) เทียบกับไทยแล้ว NDRC เป็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)
    • MOE (Ministry of Education) คือกระทรวงศึกษาธิการ

    ทั้ง 4 หน่วยงานนี้จะสนับสนุนนวัตกรรมจีนใน 4 ด้าน

    (1) สนับสนุนองค์ความรู้และการวิจัย (Allocate Research) โดยนายโจเล่าว่า “นวัตกรรมของจีนเริ่มจากปี 2540 ช่วงหนึ่งมีความต้องการทำควอนตัม (quantam) เรื่องสถานีบนโลกกับดาวเทียม คนที่ได้รับโจทย์เรื่องนี้เล่าว่าตอนนั้นปี 2540 ในกระทรวงมีเครื่องพิวเตอร์เครื่องเดียวต้องแบ่งกันใช้ นั่นคือวิสัยทัศน์ที่จีนเขามี รัฐบาลก็ตั้งใจทำเรื่องนี้ บอกคุณต้องการผลิตคนใช่ไหม สมมติคุณต้องการ 100 คน ก็ต้องส่งไป 500 จะหายไป 400 เป็นแผนการส่งไปมหาวิทยาลัยลัยดังๆ ของโลกเพื่อจะเรียนรู้เรื่องนี้”

    (2) นโยบายการส่งเสริม (Policy Support) อย่างเรื่องรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน จีนยอมรับว่าสู้ตลาดโลกไม่ได้แล้ว จีนเลยหันไปใช้นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างที่ปักกิ่ง ถ้าประชาชนไม่ใช้รถไฟฟ้า ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้หรือขึ้นทะเบียนได้ช้ามาก

    นอกจากนี้ ในนโยบายการส่งเสริมยังมีการป้องกันการเข้ามาแข่งขันของบริษัทต่างชาติ เช่น ในเรื่องอีคอมเมิร์ซ ประเทศจีนจะไม่ให้ Amazon เข้าประเทศ แต่สนับสนุนให้คนใช้ JD.com ด้านเซิร์ชเอนจินก็มี Baidu มาแทน Google เทคโนโลยีก็มี Huawei

    (3) นโยบายส่งเสริมด้านตลาด (Market Support) ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้เมืองเมืองหนึ่งต้องใช้รถแท็กซี่แบรนด์นี้เท่านั้น ทำให้คนพัฒนาเทคโนโลยีมั่นใจได้ว่ามีตลาดรองรับ

    (4) นโยบายส่งเสริมด้านการเงินและต้นทุน (Financial Support) โดยรัฐจะทำ matching ระหว่างตลาดทุนและผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้มาเจอกัน

    “ประเทศไทยเป็นอันดับ 10 เรื่อง robotics ฉะนั้น ของที่ผลิตและใช้เองก็พอใช้ ทุกภาคส่วนของประเทศไทยคุยกันได้ เรื่องที่เราเก่ง ไม่ว่าเรื่องเกษตร เรื่องอื่นๆ ภาคการผลิต รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ทุกอุตสาหกรรมเข้ากระบวนการนี้ได้ คือ ใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสเพื่อรื้อและล้างไพ่ และวางระบบใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

    นายโจทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีเรื่องที่เก่งหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคการผลิต รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือโรโบติกส์ ถ้าคนไทย-อุตสาหกรรมไทยใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาส วางระบบให้เพื่อรื้อและล้างไพ่จะเป็นเหมือนภูมิต้านทานให้ประเทศไทย และมีโอกาสเติบโตอีกในอนาคต