ThaiPublica > คนในข่าว > “ผู้ว่า ธปท.” Meet the Press เล่า 4 อาการเศรษฐกิจไทย กับมาตรการ “ยาต้องแรง”

“ผู้ว่า ธปท.” Meet the Press เล่า 4 อาการเศรษฐกิจไทย กับมาตรการ “ยาต้องแรง”

17 สิงหาคม 2021


วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Meet the Press โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ และมีนายศรัณยกร อังคณากร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. ทำหน้าที่พิธีกรและซักถาม

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าเรายังอยู่ช่วงที่ประเทศและเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัญหาหนักหน่วง สาธารณชนต้องการความเชื่อมั่นและข้อเท็จจริงในการตัดสินใจดำเนินชีวิตและธุรกิจ”

“เรื่องที่อยากจะเล่าภาพรวมของ “อาการ” ที่เศรษฐกิจไทยที่กำลังเจอ เพื่อที่จะประเมินว่าอาการเป็นอย่างนี้ แล้วจะแก้ไขปัญหา หาทางออกให้ได้ให้ตรงตาม “อาการ” มีอะไรบ้าง ให้สื่อมวลชนทุกท่านได้ช่วยกันสื่อสารต่อไปยังสาธารณชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจ และช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้”

“การพูดในภาพรวมอาจจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย แต่ก็จะพูดถึงบาทบาทของธปท.ทั้งเรื่องที่ทำมาแล้ว ผลเป็นอย่างไรและแนวทางในอนาคต เปรียบเหมือนการรักษาโรคต้องรักษาแบบองค์รวม การใช้หมอเฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้คนไข้รอด ไม่ใช่ว่า ธปท. จะไม่ทำ ต้องทำ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขอแบ่งการพูดคุยในวันนี้ออกเป็น 3 ส่วน (1) ภาพเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิด-19 และมุมมองไปข้างหน้า (2) สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการเพื่อช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้เรากลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด และ (3) การประเมินผลมาตรการ ธปท. และแนวทางการปรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น

เศรษฐกิจเจอ 2 หลุมใหญ่ต้องใช้ยาแรง

นายศรัณยกรได้เริ่มคำถามแรก ภาพรวมเศรษฐกิจเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดค่อนข้างรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น และยังมีการประมาณการว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 60,000-70,000 รายต่อวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ในมุมมองของผู้ว่าการ ธปท. ว่า เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์เดิมอย่างไร มีอาการและผลกระทบมากขึ้นขนาดไหน

ดร.เศรษฐพุฒิ: การจะประเมินว่าจะต้องทำอะไรก็ต้องเริ่มด้วยการวิเคราะห์อาการให้ชัดเจน ในภาพรวมเศรษฐกิจ มี 4 อาการที่ชัดเจน

อาการแรก คือ โควิด-19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย รายได้ที่หายไปอย่างมากมาย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้ของครัวเรือนหรือจากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 “หลุมรายได้” อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

“เมื่อเทียบกับตัวเลข จีดีพีถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ ซึ่งสื่อถึงขนาดของหลุมและขนาดของปัญหา เมื่อกลับมาที่มาตรการที่จำเป็น อาการหนัก ยาก็ต้องแรง”

อาการที่สอง โยงไปที่รายได้ เพราะการจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่

(1) ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม. ต่อวัน) อยู่ที่ 3.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดประมาณ 1 ล้านคนและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน

นอกจากลักษณะการว่างงานก็น่ากังวล จาก (2) ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) มีจำนวน 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว ผลที่ตามมาหลากหลายหลายคนออกจากระบบแรงงานไปเลย

(3) ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือกลุ่มเด็กจบใหม่หางานไม่ได้อยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน และ

(4) เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สะท้อนมาในข้อมูลการว่างงานแต่สะท้อนในรายได้ที่หายไปก็คือ แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก

“ตัวเลขนี้สะท้อนสภาพรายได้กับการจ้างงาน เป็นอาการของเศรษฐกิจรอบนี้ ไม่ใช่เฉพาะในจีดีพี แต่สะท้อนถึงมาตรการที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ”

อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำสูง (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบ 20% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย ภาคบริการการท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียง 8% ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52% ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง

อาการที่สี่ ไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนี่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ 11.5% ของ GDP ทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% เทียบกับ 4.9% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว

“ทั้งหมดสื่อถึงการฟื้นตัวช้า ยาว ใช้เวลานาน และใช้เวลานานกว่าเพื่อนบ้าน เพราะไทยได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยอิงกับท่องเที่ยวถึง 11-12% ของ GDP ส่วนประเทศอื่นที่แม้พึ่งการท่องเที่ยวมาก ก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่า เช่น สิงคโปร์มีสัดส่วน 6% ของ GDP ประเทศที่เหลือสัดส่วนที่น้อยกว่า ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเทียบกับ GDP แล้วสูงกว่าประเทศอื่น 2-3 เท่า ภาคการท่องเที่ยวฟื้นช้ากว่าภาคอื่นๆ เพราะเกี่ยวข้องกับโรคและมาตรการควบคุมโควิด”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หมายเหตุ: ภาพถ่ายเดือนตุลาคม 2563

ทำไมสถานการณ์รุนแรงกว่าที่คาดไว้ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ดร.เศรษฐพุฒิ:ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์หนักกว่าที่คาด และหลักๆมาจากเรื่องของโควิด ที่ผ่านมา ไทยคุมการระบาดได้ดี ทั้งในระลอกแรกที่ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 สามารถกลับมายังจุดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อได้ และระลอกสอง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียงราว 29,000 ราย ทำให้ ธปท. มองว่าเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะทยอยฟื้นตัวได้ รวมถึงการท่องเที่ยว โดยมองการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.0%

การเปลี่ยนแปลง (เหตุ) สำคัญ คือ ไวรัสที่กลายพันธุ์ และพัฒนาเป็นสายพันธุที่กระจายง่ายขึ้น วัคซีนได้ผลน้อยลงจนเกิดการระบาดระลอกสาม ณ ช่วงปลายเดือนมิถุนายน มีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.6 แสนคน ยอดติดเชื้อรายวันที่ 4-5 พันคน ธปท. ได้ปรับลดประมาณการลงเหลือ 1.8% และล่าสุด สถานการณ์ผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 9 แสนคน มียอดผู้ป่วยรายวันเกิน 20,000 คน ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้มาตรการคุมการระบาดต้องเข้มงวดขึ้น ธปท. จึงต้องปรับประมาณการปีนี้ลง โดยมีสมมติฐานสำคัญว่าจะทยอยลดมาตรการล็อกดาวน์ลงในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตที่ 0.7% ดังนั้น ผลที่เปลี่ยนไปจากที่คาด คือ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงขึ้น

“เห็นได้ชัดว่าการปรับประมาณการมาจากการแพร่ระบาดของโควิด และสะท้อนถึง หนึ่ง สถานการณ์หนักกว่าที่คาด และสอง การฟื้นตัวที่ล่าช้า”

ขณะเดียวกัน การระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์นี้ลดลง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไวรัสตัวนี้จึงยากขึ้น การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศจึงทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งมีนัยต่อภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเท่าระดับก่อนโควิดได้หลังปี 2567 ไปแล้ว อีกผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ เศรษฐกิจไทยข้างหน้าจึงฟื้นตัวช้าออกไป เพราะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของไทยคงไม่กลับมาปกติโดยเร็ว

การล็อกดาวน์รอบนี้ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจและครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น เพราะเงินออมลดลงทุกครั้งที่การระบาดกลับมา สายป่านของครัวเรือนสั้นลงเรื่อยๆ สะท้อนจากตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่มียอดต่ำกว่า 50,000 บาท ที่ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2564 ปรับลดลงเทียบกับปีก่อนเป็นครั้งแรก โดยหดตัวที่ 1.6% ขณะที่เงินฝากในบัญชียอดสูงกว่า 1 ล้านบาทยังขยายตัวได้ที่ 6.0% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่หนี้สินก็มีสัญญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่หายไป

ถ้าเห็นว่าสถานการณ์จะแย่ลงทั้งหลุมรายได้ที่ลึกขึ้นและกว้างขึ้น การฟื้นตัวที่เป็น K-shaped ประเทศไทยก็จะฟื้นตัวช้ากว่าเดิม แล้วแนวทางในการแก้ไขที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ที่จะตอบโจทย์เพื่อให้ประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้มีอะไรบ้าง

ดร.เศรษฐพุฒิ: เราเริ่มด้วยอาการที่เห็นว่าอาการหนัก ที่มาของอาการและผลข้างเคียงว่าเกิดจากอะไร ก็กลับมาที่แนวทางที่เหมาะสมกับอาการ “อาการที่หนัก ยาก็ต้องแรง” และต้องแก้ให้ถูกจุด

“ผมขอพูดในภาพรวมให้เห็นและอาจจะมีการเอ่ยถึงงานของคนอื่นด้วยเพื่อที่จะให้บริบทว่า ของเรา ธปท. คือเรื่องการเงินอยู่ตรงไหนในภาพรวมการแก้ไขปัญหา”

ปัญหาของวิกฤติครั้งนี้มาจาก 3 ด้าน คือ คือ (1) ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติ (2) ปัญหาด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์ และ (3) ปัญหาภาระหนี้ ซึ่งเป็นผลพวงของรายได้ที่หายไป ซึ่งในการแก้ไขทั้ง 3 ปัญหา “หัวใจ” คือ “การแก้ไขตามอาการ”

ด้านแรกที่เห็นชัด (1) ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติ โควิดเป็นวิกฤติที่เริ่มต้นจากระบบสาธารณสุข การแก้ปัญหา “ตามอาการ” จึงต้องอาศัยเครื่องมือด้านสาธารณสุขที่สำคัญ คือ วัคซีนและมาตรการควบคุมการระบาด

วัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงยั่งยืน ระหว่างนี้ ประชาชนจึงควรต้องได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอและการกระจายฉีดอย่างเหมาะสม เพื่อลดอัตราการตายและติดเชื้อ และให้กำลังการตรวจหาโรคมีเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้บริหารจัดการการระบาดได้ ดีขึ้น ลดโอกาสการล็อกดาวน์หรือจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้จึงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียง 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN 5 (สิงคโปร์ 70% มาเลเซีย 31% ฟิลิปปินส์ 11% อินโดนีเซีย 10%) ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี มีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 50% และประชากรกว่า 2 ใน 3 ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ดังนั้น การได้รับภูมิคุ้มกันหมู่และการฟื้นตัวของไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง จะช้ากว่าอีกหลายประเทศโดยเปรียบเทียบ

ในระหว่างที่สังคมไทยยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอ เราจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ คุมการระบาด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูง เพราะเป็นการจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งกระทบการดำเนินธุรกิจรุนแรง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ที่สำคัญ ต้องเร่งรัดมาตรการตรวจและแยกการติดเชื้อในครัวเรือนให้ครอบคลุมและทันการณ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองก่อนการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม หากพบการติดเชื้อ อาจต้องใช้มาตรการควบคุม หรือล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่อย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัดให้ได้ทันท่วงที

“ต้นตอของปัญหาคือ ปัญหาด้านสาธารณสุข เป็นปัญหาการติดเชื้อ วัคซีนก็ต้องเป็นพระเอก ถ้าไม่มีตรงนี้อย่างอื่นทำแค่ไหนก็ไม่พอ ไทยมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มต่ำ ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แม้แต่ฟิลิปปินส์ที่ติดเชื้อหนักกว่าไทยก็ฉีดวัคซีนสูงกว่าไทย มีเพียงเวียดนามที่ต่ำกว่าไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่พึ่งพาภาคบริการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศก็จำเป็นที่จะต้องฉีดให้สูงและการควบคุมโรคต้องเป็นพระเอก อย่างอื่นทำเท่าไรก็ไม่พอ”

(2) ปัญหาด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์

ในระหว่างที่สังคมไทยรอการเกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน ภาครัฐจะมีบทบาทในการการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน และดูแล “หลุมรายได้” ที่คาดว่าจะใหญ่ถึง 1.8 ล้านล้านบาทตลอดปี 2563–2564 โดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังจะหมุนเวียนไปสู่ธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินต่อไป รักษาการจ้างงานไว้ได้ และไม่ต้องมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว

“หลุมรายได้และหลุมการจ้างงานสะท้อนปัญหา สะท้อนขนาดของรายได้ที่หายไปแล้ว ทำให้คนสายป่านสั้นลงและทั้งในอนาคตจะมีปัญหารายได้กับการจ้างงาน ก็ต้องแก้ตรงรายได้ ให้ได้ซึ่งมาตรการที่จะช่วยตรงจุดที่สุดในเรื่องของรายได้กับการจ้างงาน ก็หนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณกับมาตรการทางการคลัง ซึ่งตรงจุดที่สุดและมีความจำเป็นในการรักษาอาการให้ถูกต้อง”

ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวในทุกด้านจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เว้นแต่การใช้จ่ายภาครัฐด้านเดียวที่ยังขยายตัวได้ และช่วยพยุงการบริโภคของภาคเอกชนได้อย่างมาก โดยหากไม่มีมาตรการเงินโอนช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลกระทบจากโควิดต่อการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะรุนแรงขึ้นมาก จากที่หดตัวร้อยละ 1.0 อาจสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 ได้ นอกจากนี้ การช่วยเยียวยารายได้ ทำให้ความจำเป็นในการก่อหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจลดลงได้บ้าง

ที่มาภาพ: การแถลงสถานการณ์โควิดวันที่ 16 ส.ค. 2564 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ภาครัฐต้องสร้างรายได้-กู้เพิ่มเสี่ยงต่ำกว่าไม่กู้

ทำไมต้องเป็นภาครัฐ ที่จะมีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและประชาชน
ดร.เศรษฐพุฒิ: นอกจากภาครัฐ ยังมีธุรกิจการส่งออก ธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม และประชาชนบางกลุ่มยังมีรายได้และเงินออมสูงที่ยังมีกำลังซื้อในการพยุงเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดี ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาคเอกชนระมัดระวังการใช้จ่ายและเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ไม่มาก จึงมีเพียงภาครัฐที่ยังขับเคลื่อนได้

“ขอย้ำว่า ไม่ใช้ภาครัฐฝ่ายเดียวต้องเป็นทุกส่วนแต่ภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังเป็นเรื่องที่จำเป็น ขาดไม่ได้ เพราะหนึ่งขนาดของกลุ่มที่หายไปในช่วง 2 ปี 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP สะท้อนถึงหลุมที่หายไป แต่หากถามมีตัวอื่นหรือไม่ที่จะสามารถทดแทนหลุมนี้ ตอนนี้ต้องเรียนว่าไม่มี แน่นอนว่าช่องอื่นต้องทำงาน แต่ช่องอื่นถ้าไม่มีภาครัฐเข้ามาเพิ่มเติม ยังไงก็ไม่พอ”

ภาคการส่งออก แม้จะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวจากการได้รับวัคซีนที่เร็วให้กับประชากรได้ในสัดส่วนสูง โดยในปีนี้ มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 17.7% จากปีก่อนหน้า แม้มีมาตรการ bubble and seal เพราะขยายตัวในครึ่งแรกได้ถึง 19% ซึ่งช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 6.9% แต่เมื่อหักการนำเข้าสินค้าที่ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกที่ส่งผลต่อ GDP ประมาณ 6.4% ทำให้สุทธิแล้วช่วย GDP ได้เพียง 0.5% ซึ่งยังไม่สามารถชดเชยหรือเติมเต็ม “หลุมรายได้” ที่หายไปได้

“แรงส่งผ่านของการส่งออกเมื่อวัดจากการนำเข้า ก็ไม่ได้มากนอกจากนี้ การจ้างงานในภาคการส่งออกมีสัดส่วนเพียง 8% ของกำลังแรงงาน และที่ผ่านมายังไม่เห็นสัญญาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่นัก”

ธุรกิจขนาดใหญ่แม้จะยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง แต่ยังไม่จ้างงานเพิ่ม โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์กลับมาสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว แต่งบลงทุนยังหดตัวจากช่วงก่อนโควิดอยู่ถึง 49% และการจ้างงานของธุรกิจขนาดใหญ่ ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.7% และแม้บริษัทเอกชนจะลงทุนเพิ่มขึ้น ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เพราะสัดส่วนของการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ราว 18 ของ GDP และที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนโตเฉลี่ย 4.4% ซึ่งการลงทุนจะต้องนำเข้าเครื่องจักรพอควร ดังนั้น ถ้าธุรกิจใหญ่ลงทุนมากขึ้น เช่น 1 แสนล้าน จะช่วยให้ GDP เติบโตได้เพียง 0.2-0.3%

“ธุรกิจรายใหญ่ที่ยังทำกำไรได้ ก็ควรจะออกมาช่วย แต่ในสภาพความเป็นจริง ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการจ้างงาน 200 คนขึ้นไป มีสัดส่วนการจ้างงานอยู่ที่ไม่ถึง 10% ของการจ้างงานรวม”

“ทั้งการส่งออก ธุรกิจขนาดใหญ่รวมแล้ว เมื่อเทียบกับขนาดของปัญหายังไงก็ต้องกลับมาที่ภาครัฐ แทบทุกหมวดของรายจ่ายหดตัวหมดเลย ยกเว้นรายจ่ายภาครัฐที่ผ่านมาต้องชมว่าช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ถ้าไม่ได้ตรงนี้มา ตัวเลขที่เราเห็นการหดตัวทั้งในฝั่งบริโภค เศรษฐกิจโดยรวมจะหนักกว่านี้เยอะมาก จึงตอบคำถามว่าทำไมภาครัฐจึงจำเป็นและจำเป็นมากกว่านี้”

ในเมื่อการส่งออกและธุรกิจรายใหญ่ไม่เพียงพอต่อการปิดหลุมรายได้ แล้วการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นควรมีลักษณะหรือรูปแบบการดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยพยุงรายได้ของประชาชนให้ได้เต็มที่

“ภาครัฐเองทรัพยากรก็มีจำกัด ต้องใช้ในวิธีที่ได้ผลมากที่สุดและแรงที่สุด ก็ต้องเป็นรายจ่ายที่มีผลต้องเป็นรายจ่ายที่มีตัวทวีคูณสูง หรือ fiscal multiplier สูง”

ดร.เศรษฐพุฒิ: โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมี “ตัวคูณ” หรือ multiplier สูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง ที่มี multiplier 1.5 และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ที่มี multiplier 2-2.6 โดยมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก มักเป็นการดึงเม็ดเงินจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลเพิ่มเติมจากการเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจและการจ้างงาน ขณะที่มาตรการให้เงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจะมีความจำเป็นในระยะสั้น แต่เนื่องจากมี multiplier ต่ำ ที่ 0.8-1 จึงควรใช้แบบตรงจุด หรือ “ตามอาการ” ให้ได้มากที่สุด

“ไม่ได้หมายความมาตรการเยียวยาไม่จำเป็น แต่เน้นที่รูปแบบการมีผลต่อตัวทวีคูณ

อีกรูปแบบสำคัญหนึ่งเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก “หลุมรายได้” ที่ทั้งใหญ่และลึก รวมทั้งสถานการณ์ที่จะยาวนาน การใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มอีกมากและ front-load ให้ได้มากที่สุด เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินตาม พ.ร.ก. 5 แสนล้าน ที่อาจเร่งนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว

การวางนโยบายการพยุงการจ้างงานและสร้างรายได้อย่างเพียงพอ ต้องทำให้ได้ในวงกว้าง และต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมผลักดันมากขึ้น โดยเน้น (1) การพยุงการจ้างงาน (job retention) โดยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนรักษาระดับการจ้างงาน (2) กระตุ้นอุปสงค์ (demand creation) เพื่อเพิ่มการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการจ้างงานในท้องถิ่นที่มีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับถิ่นจำนวนมาก (3) ส่งเสริมการเพิ่มหรือปรับทักษะ (upskill-reskill) ของแรงงาน เช่น โครงการ co-payment ที่รัฐบาลควรขยายให้ครอบคลุมแรงงานที่ตกงานและแรงงานคืนถิ่น นอกเหนือไปจากแรงงานจบใหม่ รวมทั้งขยายเวลาการจ้างงานภาครัฐที่จะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ออกไป เป็นต้น ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทเป็น facilitator โดยไม่ควรสร้างเงื่อนไขมากจนเป็นข้อจำกัดในการช่วยเหลือ และมีกระบวนสร้างความโปร่งใสในการพิจารณาและดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการตอบโจทย์ และสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคต

การใช้จ่ายภาครัฐควรต้องเพิ่มขึ้นแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ทำไมต้องรีบทำและควรต้องกังวลเรื่องหนี้สาธารณะหรือไม่
ดร.เศรษฐพุฒิ: ด้วยขนาดของรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565) เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP

“ขนาดก็มีความสำคัญ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขหลุมการจ้างงาน อาการที่เป็นจากที่ธปท.ดู ขนาดความแรงของยาที่ขนาด 1 ล้านล้านเพิ่มเติม หรือ 7% ของ GDP ก็คิดว่าสมเหตสมผลกับปัญหาที่เศรษฐกิจกำลังเจอ”

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่าตัวเลขการกู้ยืม 1 ล้านล้านเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า ระบบยังรองรับได้ สำหรับการกู้เพิ่ม

การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว

“เรื่องเสถียรภาพทางการคลัง จากที่ธปท.ประมาณการจากการใช้มาตรการทางการคลังเพิ่มเติม 1 ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขคร่าวๆที่เหมาะกับอาการที่เกิดขึ้น เข้าไป สัดส่วนหนี้ต่อ GDP จากที่อยู่ในระดับกว่า 50% จะแตะระดับสูงสุดที่ 70% ของ GDP ในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มลง”

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะขอย้ำและเป็นเรื่องสำคัญ คือ การที่กู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปเพิ่มกลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอนาคตใน อีก 10 ปีข้างหน้าจะต่ำกว่าเทียบกับถ้าเราไม่กู้ เพราะการกู้ตอนนี้ การใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี ทำให้อัตรการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ และช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคตไม่ใช่เพิ่มขึ้น”

“ภาพระยะยาว การกู้เงินเพื่อใส่เข้าไปเป็นสิ่งที่ ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอลงเข้าไปใหญ่”

การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่
ดร.เศรษฐพุฒิ: “ถ้าถามว่า มีความกังวลต่อภาระหนี้หรือไม่ ก็มีแต่ในภาพรวมมีความเหมาะสมและความเสี่ยงไม่ได้สูง ขนาดนั้น เทียบกับความเสี่ยงหากไม่ทำกลับมากว่าที่ทำ เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวยาว ถ้าเรามองไปสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ 70% เศรษฐกิจก็รองรับได้ สภาพคล่องในระบบรองรับการกู้ยืมจากภาครัฐก็มี การกู้ยืมที่จะชดเชยภาคคลังก็มาจากการกู้ในประเทศ”

ปัจจุบัน เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก (1) หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำก่อนโควิด โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 42% ณ ธันวาคม 2562 และเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดประมาณร้อยละ 14 (56% ณ มิถุนายน 2564) ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19%) และกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น กรีซ (25.2%) (2) หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ โดยสัดส่วนหนี้ในประเทศ ณ มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 98.2% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด (3) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นข้อจำกัดต่อภาระทางการคลัง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทยที่ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ไม่ถึง 1.6% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย (3.2%) อินโดนีเซีย (6.3%) ฟิลิปปินส์ (4.1%) และเวียดนาม (2.1%)

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ เพราะการประเมินของบริษัทจัดอันดับฯ จะพิจารณาจากประสิทธิผลของมาตรการคลังในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา outlook ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น stable โดยมีฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง ทั้งหนี้ต่างประเทศที่อยู่ระดับต่ำและทุนสำรองที่มีมาก ขณะที่ความกังวลของบริษัทจัดอันดับส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของไทยเพราะยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่ม room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด สำหรับการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้อง “ตรงจุด” และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน (conditional transfer) พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 0.33%ต่อ GDP

“ตรงนี้เป็นยา เป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสภาวะอาการที่เราเห็น แต่ไม่ใช่ว่าจะกู้แล้วไม่ดูเสถียรภาพ ถ้าจะกู้ก็ต้องมีแผนชัดเจนระยะยาว ที่จะทำให้ฐานะการคลังจะกลับมาสู่สภาวะที่เข้มแข็งกว่าเดิม หรือ fiscal consolidation ในระยะยาวสิ่งที่เราควรทำคือขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกเปอร์เซ็นต์ที่จะเพิ่มรายได้เข้ารัฐ 6 หมื่นล้าน”

“ผมยังจำได้ในวิกฤติปี 40 ผมอยู่ที่กระทรวงการคลัง มีการลด VAT ลงไปที่ 7% ซึ่งจะลดแค่ 2 ปี แต่วันนี้ผ่านไป 20 ปีก็ยังไม่ปรับขึ้น”

ธปท. หันปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รอด

ภายใต้บริบทของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ธปท. ประเมินผลของมาตรการเดิมอย่างไร และมีหลักคิดอย่างไรสำหรับมาตรการที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
ดร.เศรษฐพุฒิ: มาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระหนี้และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินการหลายมิติ ครอบคลุมลูกหนี้ที่หลากหลาย และถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง

มิติแรก คือ การแก้ไขหนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้เป็นวงกว้าง รุนแรง ยาวนาน และยังคาดเดาได้ยากว่าจะจบลงเมื่อใดและอย่างไร

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากช่วงแรกของการระบาดที่สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน มาตรการช่วยเหลือจึงเป็นแบบปูพรม แต่เมื่อชัดขึ้นว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อออกไปและส่งผลต่อลูกหนี้ไม่เท่ากัน ด้วยกระสุนที่จำกัด มาตรการระยะที่ 2 จึงเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้แบบตรงจุด ให้ผู้เดือดร้อนมาแจ้งขอเข้ามาตรการและส่งเสริมให้ สง. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ แต่เมื่อการระบาดระลอกสาม (เมษายน 2564) ส่งผลรุนแรงขึ้นมาก มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 จึงเน้นบรรเทาภาระหนี้ในระยะยาว ลดภาระดอกเบี้ย

และมีทางเลือกในการปิดหนี้ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้รายย่อยที่อยู่ภายใต้มาตรการฯ จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 4.5 ล้านบัญชี

สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีปัญหาในการชำระหนี้ ธปท. จัดให้มีช่องทางแก้หนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้ และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ และมีแนวทางแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้เข้าโครงการในส่วนของบัตรเครดิตและ P-Loan ที่ได้รับความช่วยเหลือสะสมแล้วกว่า 1.9 แสนบัญชี

“เมื่อเห็นอาการตอนแรกมาตรการจึงเป็นแบบปูพรม และกว้างเพราะคิดว่าจะแรงและจบในระยะสั้น แต่หลังจากเห็นว่าเป็นเรื่องยาวและการฟื้นตัวเท่าเทียมกัน แนวทางที่ทำต้องปรับให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ยืดหยุ่น และ pragmatic (นำไปปฏิบัติได้จริง) อะไรที่ไม่ใช่ สถานการณ์เปลี่ยนก็พร้อมที่จะเปลี่ยน ตัวอย่างก็คือ ซอฟต์โลนเก่าที่เห็นว่าไม่ได้ผลก็ออก พ.ร.ก. ใหม่ มีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อปลดล็อคหลายด้าน และพร้อมที่จะปรับปรุงตามสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ในส่วนของลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินเป็นประกัน ธปท. จึงได้ออกแบบมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตัดภาระการผ่อนชำระหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันได้ชั่วคราวอย่างตรง “อาการ” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำความเข้าใจ ทั้งในฝั่งลูกหนี้ ที่จะต้องโอนทรัพย์ให้เจ้าหนี้และกลัวโดนยึดทรัพย์ไป และฝั่งเจ้าหนี้ที่อาจไม่แน่ใจว่าลูกหนี้จะกลับมาซื้อทรัพย์คืนหรือไม่ในอนาคต รวมถึงเจ้าหนี้จะต้องการให้ลูกหนี้เช่าทรัพย์กลับเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าไปดูแลแทน ทำให้ต้องอาศัยเวลาในการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยตั้งแต่มาตรการออกใช้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 50 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 8,991 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงกิจการอื่นๆ เช่น โรงงาน ร้านอาหาร เป็นต้น

มาตรการนี้เป็นอีกทางเลือกให้กับลูกหนี้ในการบรรเทาภาระหนี้เท่านั้น โดยยังมีอีกหลายทางเลือก เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว การพักชำระหนี้ระยะสั้น หรือการเติมสภาพคล่อง ซึ่งจากข้อมูลลูกหนี้ในกลุ่มโรงแรมและที่พักแรมที่มียอดหนี้คงค้างกับธนาคารพาณิชย์จำนวนประมาณ 4 แสนล้านบาท พบว่า 69% หรือ 2.83 แสนล้านบาท ได้รับความช่วยเหลือ โดยพบว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้มากที่สุด โดยธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ ร่วมกับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป

จากมาตรการควบคุมการระบาดระลอกล่าสุด ธปท. ได้จัดให้มีมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ที่เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ไทย แจ้งขอรับความช่วยเหลือจำนวนเงินรวม 353,705 ล้านบาท รวม 630,585 บัญชี และได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 240,642 ล้านบาท (68%) คิดเป็น 375,153 บัญชี (59%) โดยอัตราการให้ความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สูงมาก ส่วนใหญ่เนื่องจากยังไม่มีระบบอัตโนมัติ ทำให้มีลูกหนี้ที่ต้องรอการพิจารณา ซึ่งธนาคารพาณิชย์กลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยปฏิบัติงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว

ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนไปและยืดเยื้อ การพักชำระหนี้ 2 เดือนจะต่อไปอีกไหม
ดร.เศรษฐพุฒิ: ลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนักและมีโอกาสจะต้องพักต่อไปอีก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปและมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ไขหนี้ในรูปแบบชั่วคราว เช่น การพักชำระหนี้ จึงไม่ตรง “อาการ” แล้ว เพราะจะเหมาะกับกรณีเศรษฐกิจมีปัญหาระยะสั้น และสถานการณ์กลับสู่ปกติเร็ว ถ้าต้องพักชำระหนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่ทำให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง ยังทำให้ลูกหนี้มีความเครียดจากความไม่แน่นอนและสิ้นเปลืองเวลาในการติดต่อสถาบันการเงิน ขณะที่สถาบันการเงินเองก็สิ้นเปลืองต้นทุนการบริหารจัดการด้วย

มิติที่สองคือ คือ การเติมสภาพคล่อง ที่อาจต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และบรรเทาภาระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ยังดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจไปได้ในช่วงวิกฤตินี้ก่อน ในปัจจุบันสภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเพียงพอ และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่าภาวะการเงินของไทยยังผ่อนคลาย แต่ความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่แน่นอนมีอยู่สูง ทำให้สภาพคล่องไม่สามารถกระจายไปยังผู้ที่ต้องการได้อย่างตรงจุด หรือตาม “อาการ” ได้เท่าที่ควร

การเติมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อภายใต้มาตรการฟื้นฟูสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้การกระจายสินเชื่อทำได้ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สะท้อนความมุ่งมั่นช่วยเหลือธุรกิจให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เนื่องจากได้ปรับเงื่อนไขจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเดิมให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ โดยมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมของ ธปท. และสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนตุลาคม 64 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค

โดย ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ธปท. ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูรวมทั้งสิ้น 89,444 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ จำนวน 29,365 ราย เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ micro SMEs (44.2%) ประกอบธุรกิจกลุ่มการพาณิชย์และบริการ (67.5%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพและปริมณฑล (68.7%)

ทั้งนี้ สินเชื่อของ SMEs ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ที่รวมสินเชื่อจากมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องขยายตัวได้ที่ 0.7% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เป็นบวกครั้งแรกหลังจากติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและซอฟต์โลน หากไม่นับรวมผลของมาตรการนี้ จะหดตัวที่1.3%

“ยอดสินเชื่อฟื้นฟูโดยรวม 89,900 ล้านบาท น่าจะบรรลุเป้าหมาย 1 แสนล้านบาทภายใน 6 เดือนจากการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย”


ธปท. มีแนวทางอย่างไร เพื่อให้มาตรการที่ออกมาสามารถช่วยลูกหนี้ได้จริง
ดร.เศรษฐพุฒิ: “จากอาการต่างๆ สภาพของปัญหาหลุมมีขนาดใหญ่ การฟื้นตัวใช้เวลานาน การจ้างงานกระทบทำให้โปรไฟล์รายได้คนเปลี่ยนแปลงไป ลำบากกว่าเดิม แนวทางการแก้ไขของ ธปท. ก็ต้องปรับ ที่ผ่านมาเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามีการพักหนี้เพื่อตอบโจทย์เฉพาะหน้า แต่มองว่าการพักหนี้ไม่ตอบโจทย์ของบริบทที่เห็นชัดเจนว่ากำลังเกิดขึ้นและจะยาว และผลกระทบกับแต่ละคนไม่เท่ากัน และจะฟื้นตัวต่างกัน ก็จะปรับจากการพักเป็นการปรับโครงสร้างหนี้”

แนวทางในการแก้ไขหนี้ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าและช่วยลูกหนี้ได้จริง คือ (1) การปรับให้ภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก เพื่อให้เจ้าหนี้ยังติดต่อลูกหนี้ได้ หรือ “ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ” และ (2) การผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากให้ได้อย่างทันการณ์ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ ควรต้องมีลักษณะ  

  • มองยาว มองไปข้างหน้าถึงสถานการณ์ในอนาคตมากขึ้น โดยให้ภาระการจ่ายหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา
  • ทำกว้าง เน้นให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ให้สามารถ scale การช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีจำนวนมากได้เร็ว
  • ตรงจุด ให้เหมาะกับ “อาการ” ของลูกหนี้แต่ละรายหรือแต่ละกลุ่ม ที่มีปัญหาและการฟื้นตัวที่ต่างกัน
  • รอดด้วยกัน มาตรการช่วยเหลือต้องเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
  • ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิด (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก ทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง และส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวม
  • “การปรับโครงสร้างหนี้ต้องยาว เพราะปัญหายาวและไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น และต้องตรงจุดเหมาะสมกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละราย ไม่ใช้มาตรการเดียวกับทุกคน ยาต้องเหมาะสมกับอาการ นอกจากนี้การปรับโครงสร้างหนี้ต้องเกิดขึ้นในวงกว้างกว่าเดิม ที่ผ่านมาเป็นการซื้อสถานการณ์ แต่ตอนนี้ดูออกแล้วว่าสถานการณ์จะยาว ตลอดจนต้องเน้นการรอด รอดไปด้วยกัน ลูกหนี้ไปไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ไปไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน และการปรับไม่ใช่สักแต่ลดภาระหรือสบายขึ้น แต่ต้องเน้นการปรับที่ให้รอดจริง”

    “สุดท้ายต้องไม่สร้าง moral hazard แรงจูงใจที่ผิดเพี้ยนจะสร้างปัญหาสารพัดตามมา ต่อระบบโดยรวม ในปี 40 ผมอยู่ที่กระทรวงการคลังเห็นหลายอย่างที่ทำไปสร้าง moral hazard เห็นปัญหาที่ทวีคูณตามขึ้นมา บทเรียนของไทยมี เราพร้อมที่จะออกมาตการรจูงให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้”

    ภายใต้แนวทางดังกล่าว ธปท. จะมีกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการที่ยังให้ความยืดหยุ่นในเรื่องการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และอาจรวมถึงการลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย

    “สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการออกมาตรการใหม่ คือ การทำให้มาตรการที่ออกแล้วทำได้จริง รวมทั้งลงไปดูแลเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพราะการฟื้นตัวของลูกหนี้แตกต่างกันมากในแต่ละที่ ธปท.ออกไปทำงานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ลูกหนี้ในหลายภาคธุรกิจ เพื่อให้เข้าใจมาตรการและสามารถเข้าถึงได้”

    อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายต่างกัน การให้ความช่วยเหลือจึงไม่สามารถทำในลักษณะที่เหมือนกันได้ในทุกกรณี (One size fits all) ซึ่งสถาบันการเงินและลูกหนี้ จะต้องหารือกัน โดยพิจารณา (1) ความสามารถในการชำระคืนหนี้ในอนาคตเมื่อรายได้กลับมา และ (2) ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ของลูกหนี้ในอนาคต ดังนั้น การช่วยเหลือที่ ธปท. อยากเห็นจึงไม่ใช่การพักหนี้เป็นการทั่วไปในวงกว้าง เพราะการดำเนินการในวงกว้างจะส่งผลกระทบทางลบในระยะยาว เนื่องจาก

    1. ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว ดังนั้น ลูกหนี้ที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้เพื่อลดภาระโดยรวม
    2. สร้างแรงจูงใจที่ผิด เพราะลูกหนี้ชั้นดีอาจอาศัยเป็นช่องทางประวิงเวลาการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริงอาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
    3. ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานอาจทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยลดลง

    ในการช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้เพิ่มเติม ธปท. พิจารณาการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อย่างไรบ้าง
    ดร.เศรษฐพุฒิ:ในการออกแบบมาตรการช่วยลูกหนี้ในภาวะวิกฤติที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ บางมาตรการแม้จะอาจช่วยแบ่งเบาภาระให้ลูกหนี้ได้ แต่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังถึงผลได้ผลเสียหรือผลข้างเคียงโดยละเอียดก่อน โดยเฉพาะผลลบที่อาจเกิดต่อตัวลูกหนี้เอง

    การพิจารณาเรื่องเพดานดอกเบี้ย ต้องมองให้รอบด้าน โดยหลักการ คือ เพดานต้องไม่สูงมาก จนทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ต่ำเกินไป จนเจ้าหนี้มีรายได้ไม่คุ้มต้นทุนการทำธุรกิจ (ต้นทุนเงิน ต้นทุนความเสี่ยง ต้นทุนบริหารจัดการ) และให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามาก

    “เพดานดอกเบี้ยต้องคิดให้รอบคอบเพราะมีผลข้างเคียงมากไม่เฉพาะกับระบบแต่กับกับลูกหนี้ด้วย โจทย์การชำระหนี้เราไม่อยากให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงเกินไป แต่ขณะเดียวกันต้องถามว่าการลดเพดานดอกเบี้ย ลูกหนี้จะได้ประะโยชน์แค่ไหนเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น ลูกหนี้ที่มีหนี้ติดเพดาน เจ้าหนี้อาจจะเข้มงวดมากขึ้น ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งจะดันกลุ่มนี้ให้ออกนอกระบบ และเจอดอกเบี้ยนอกระบบที่เพิ่มขึ้น และจากการลดดอกเบี้ยที่ผ่านมาเห็นว่าอัตราการปฏิเสธสูงขึ้น เพราะเจ้าหนี้เข้มงวดมากขึ้นเพราะความเสี่ยงที่จะได้รับมีมากขึ้น

    โดยในภาวะปัจจุบัน หากจะปรับเพดานดอกเบี้ยลงอีก มีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ได้แก่

    1.ผลได้จากการลดภาระหนี้เดิม ซึ่งอาจมีจำกัด เช่น กรณีภาระหนี้ต่อเดือนสำหรับยอดหนี้ 35,000 บาท การลดเพดานดอกเบี้ย 1% (จากเดิม 25%) จะช่วยลดภาระได้เดือนละ 24 บาท และจะไม่ครอบคลุมสินเชื่อที่กำหนดให้ชำระคืนเป็นงวดๆ ซึ่งมีอยู่จำนวน 9.5 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 32% ของสินเชื่อรายย่อย

    2. สำหรับผู้กู้ใหม่ การปรับลดเพดานดอกเบี้ยในช่วงที่ความเสี่ยงสูง ทำให้เจ้าหนี้เข้มงวดขึ้นและอาจทำให้ลูกหนี้เข้าไม่ถึง ต้องออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ เห็นได้จากตัวอย่างเมื่อปี 2563 ที่มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (p-loan) ลง พบว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5–13% และ 4–10% ตามลำดับ

    3. สำหรับผู้กู้เดิมที่จะกู้ต่อ จะมีกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกเก็บดอกเบี้ยเท่ากับเพดานในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หากลดเพดานดอกเบี้ย กลุ่มดังกล่าวอาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบแทนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มลูกหนี้ที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (title loan) ที่ถูกคิดอัตราเพดานดอกเบี้ยเพราะมีพฤติกรรมชำระหนี้ที่เสี่ยงสูง ปัจจุบัน คิดเป็น 13% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด และกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือ p-loan ที่ถูกคิดอัตราเพดานดอกเบี้ย เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ถึง 41%

    ดังนั้น ระหว่างการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับเพดานดอกเบี้ย แนวทางที่น่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระบบต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม

    สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกมาตรการใหม่ คือ การขับเคลื่อนให้มาตรการต่างๆ ของ ธปท. สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริงและรวดเร็วทันสถานการณ์ โดยที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินการในหลายมิติ ได้แก่

    1. หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่างๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ สำหรับสถาบันการเงินที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือต่าง ก็ได้หารืออย่างใกล้ชิด และติดตามวิเคราะห์แนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ที่แต่ละแห่งมีให้ลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) รวมทั้งเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินมีแนวทางดูแลลูกหนี้ต่อจากการพักชำระหนี้ 2 เดือนได้ทันที 

    2. ในส่วนของ ธปท. ได้พิจารณาปรับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต่อเนื่องรวมถึงปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการ ได้แก่ การปรับหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน เช่น หลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรอง ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ ความช่วยเหลือภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องเพดานสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมน้อยหรือไม่ได้ใช้สินเชื่อเลย และปรับในเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อให้ช่วยเหลือได้ลึกขึ้น

    3. ธปท. ได้หารือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการเพิ่มแรงจูงใจและลดต้นทุนการทำธุรกรรม เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการตีโอนทรัพย์

    โจทย์ยากกว่าวิกฤติปี 2540 ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน

    ธปท. อยากเห็นอะไรในการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้
    ดร.เศรษฐพุฒิ:ด้วยปัญหาที่รุนแรง รายได้ที่หายไปมีขนาดใหญ่มาก เม็ดเงินจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในปัจจุบันคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยเพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว ดังนั้น เพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ จะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ต้องช่วยกัน

    ภาคเอกชนสามารถให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกันในกลุ่มธุรกิจในวงกว้างขึ้น เพื่อให้รอดไปด้วยกัน ที่ผ่านมา เห็นการช่วยเหลือภายในซัพพลายเชนหรือระหว่างภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น การลดค่าเช่า ธุรกิจรายใหญ่ประสานข้อมูลกับสถาบันการเงินให้ธุรกิจหรือคู่ค้ารายย่อยให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น การจับมือระหว่างโรงพยาบาลกับที่พักแรม หรือโรงแรมกับร้านอาหาร ซึ่งหากกระจายความร่วมมือออกไป จะเป็นอีกแรงในการประคับประคองธุรกิจ รายได้ และการจ้างงานได้อีกแรง

    ประชาชนควรให้ความสำคัญและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาด รวมทั้งใช้สิทธิในการรับวัคซีน เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ปกติได้โดยเร็ว เพราะวิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาหลัก คือ ทรัพยากรทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนมีจำกัด ไม่พอที่จะช่วยทุกคนให้ได้ทุกเม็ดอย่างเต็มที่ ทำให้ต้องมีการชั่งน้ำหนักให้ความช่วยเหลือที่จะเกิดผลดีที่สุด เพราะหากผู้เดือดร้อนจริงไม่ได้รับความช่วยเหลือทันท่วงที ก็จะส่งผลลบกลับมายังธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม และย้อนกลับมาที่เราทุกคน

    ในภาวะเช่นนี้ ความเห็นใจและเข้าใจว่า “ทุกคนเดือดร้อน แต่ความช่วยเหลือต้องเป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วนจึงอาจไม่ครบตามความต้องการได้ทั้งหมด ทำให้ทุกคนอาจต้องช่วยกันรับภาระมากขึ้น” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยกันได้ เพื่อบริหารจัดการใน 3 ด้านสำคัญ

    ด้านสาธารณสุข ต้องเน้นการบรรเทาความเสี่ยงและควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว เช่น เตียงหรือยาที่มีจำกัดควรถูกจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่ต้องการก่อนตาม “อาการ” รวมถึงวัคซีนที่ยังมีจำนวนจำกัด ต้องไปยังกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเปราะบางก่อน เพื่อช่วยให้คนรอดและคุมการแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด

    ด้านงบประมาณ ต้องมุ่งช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนหนักตาม “อาการ” ให้ทันการณ์ก่อน ทำให้ไม่สามารถดูแลทุกรายได้เท่ากันหรือเท่าที่ต้องการ นอกจากนี้ แนวการบริหารจัดการภาวะวิกฤติควรสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนและภาคธุรกิจ และดูแลให้กฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติต่างๆ เพิ่มความยืดหยุ่นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจของประชาชน

    ด้านความสามารถในการจัดการหนี้ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้มีจำกัด ทำให้ต้องเน้นการช่วยเหลือตาม “อาการ” เพื่อบริหารทรัพยากรให้เพียงพอที่จะช่วยลูกหนี้ในระยะยาวด้วย ดังนั้น ลูกหนี้ดีที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ ขอให้เดินหน้าชำระต่อ เพื่อลดภาระในอนาคตและช่วยลูกหนี้รายอื่นให้ได้รับความช่วยเหลือเต็มที่ ธปท. เองก็พร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้การช่วยเหลือกระจายออกไปได้เต็มศักยภาพ

    วิกฤติครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม เพราะส่งผลกระทบยาวนานต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและธุรกิจทุกกลุ่ม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แม้การฟื้นตัวจะต้องมาสะดุดลงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสในครั้งนี้ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่าการที่เราชนะการระบาดมาได้หลายระลอก ไม่ใช่เพียงเพราะนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ที่วิ่งแข่งกับพัฒนาการของไวรัส หรือภาครัฐเร่งมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น

    แต่เราทุกคนก็ลงสนามการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ทั้งช่วยควบคุมการระบาดจากการรับวัคซีน ใส่หน้ากาก หรืองดการเดินทาง รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่าที่จะทำได้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เหมือนจิ๊กซอว์ที่ประกอบกันได้อย่างลงตัว

    ครั้งนี้ แม้อาจต้องออกแรงมากขึ้น รับภาระหนักขึ้น แต่ถ้าทุกฝ่ายยังเห็นอกเห็นใจ ร่วมมือร่วมใจ และทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลัง จะช่วยเพิ่มจำนวนคนที่รอด ลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟูได้เหมือนในทุกวิกฤติ

    “ผมอยากเห็นการแก้ไขปัญหาเป็นแบบทุกคนช่วยกันออกแรง ตรงนี้จะให้ภาครัฐออกแรงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปด้วยกันหมด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกช ประชาชน และสื่อมวลชน จำเป็นมากที่จะช่วยแก้ปัญหา ทุกคนทำได้ในหน้าที่ของตัวเอง ภาคประชาชนคือช่วยกันหน้าที่ของตัวเอง ทำตัวเองให้ปลอดภัยเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น ธปท.ต้องทำในฝั่งธปท. เอกชนทำในศักยภาพที่มี”

    “ทรัพยากรทั้งประเทศทั้งภาครัฐ ภาคครัวเรือน มีจำกัด ดังนั้นต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะมิติไหน ปัญหาเรื่องโรค เรื่องหนี้ ต้องใช้ทรัพยากรในแต่ละเรื่องให้มีประสิทธิภาพ ยาก็มีจำกัด ก็ต้องเก็บไว้ให้คนที่มีความเสี่ยงสูงสุด เช่นเดียวกับงบประมาณ กระสุนที่มีจำกัด ก็ต้องจัดสรรงบประมาณที่จำกัดไปให้คนที่มีโอกาสมากที่สุด ฝั่งหนี้ก็เช่นกันการดูแลหนี้ก็ควรมุ่งไปที่คนที่จำเป็นมากที่สุด จะดูแลทุกคนลดภาระ แต่มีผลให้คนอื่นไม่ได้ของที่จำเป็นเพื่อที่จะรอด ไม่เหมาะ”

    “โจทย์รอบนี้ที่เราเจอเป็นโจทย์ที่ยากมาก ยากและหนักกว่าปี 2540 เพราะกว้างกว่า และทำให้การแก้ปัญหายากกว่า การที่ยากกว่าก็ต้องหันหน้าเข้าทางออก และต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะรอดทุกกิจการจะรอด โจทย์เราคือทำให้คนมากที่สุดรอดให้ได้”

    มาตรการอื่นได้แค่ซื้อเวลา มาตรการหลักคือ “ควบคุมโรค”

    ธปท. มองโจทย์ภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความท้าทายเร่งด่วนอย่างไรและจะใช้เวลานานแค่ไหนในการที่จะกลับมาในระดับก่อนโควิด และมาตรการการคลังจะซื้อเวลาได้นานอีกแค่ไหน นอกจากนี้เศรษฐกิจหลายประเทศกลับมาฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวทันหรือไม่

    ดร.เศรษฐพุฒิ: ข้อมูลเศรษฐกิจที่เผยแพร่ในวันนี้ (16 ส.ค. 2564) ของสภาพัฒน์ ไตรมาส 2 ของปีนี้โต 7.5% แต่ปรับประมาณการ GDP ลดงอยู่ในช่วง 0.7-1.2% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 1.2-2.5% ซึ่งธปท.ยังไม่ปรับมุมมองเศรษฐกิจตามที่ได้ลดประมาณการลงมาที่ 0.7% เนื่องจากได้ประเมินความเสี่ยงด้านต่ำไปแล้ว ปัจจัยที่จะมีผลต่อการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจของ ธปท. ได้แก่มาตรการล็อกดาวน์ หากขยายล็อกดาวน์ไปถึงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งแต่ละเดือนจะมีผลกระทบต่อ GDP เบื้องต้นราว 0.3-0.4%

    “เมื่อต้นปีที่มีคำถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่เศรษฐกิจจะติดลบ 2 ปี ซึ่งตอนนั้นได้ตอบไปว่าโอกาสน้อยมากๆ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าไม่สามารถบอกแบบนั้นได้ เพราะการระบาดระลอกสามมีผลกระทบหนักกว่าที่คาด แต่ตอนนี้การคาดการณ์กรณีฐานยังเป็นบวก ปัจจัยที่จะช่วยคือ การส่งออก โอกาสที่จะตกลงแรงมีน้อย หากมองจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีและในภาคการผลิตโรงงานมีมาตรการควบคุมการระบาด”

    สำหรับมาตรการทางการคลังจะประคองเศรษฐกิจไปได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมโรค ที่เป็นมาตรการหลัก มาตรการอื่นเป็นการซื้อเวลา มการมาตรากรควบคุมโรค ระบบเศรษฐกิจอย่างไรก็รอด แต่ปัญหาคือคนกับกิจการ ยิ่งเวลานานสายป่านที่สั้น จำนวนคน จำนวนกิจการที่จะรอดยิ่งน้อยลง ดังนั้นจะตอบแบบชัดเจนลงไปว่าจะซื้อเวลาได้นานแค่ไหนตอบยาก โจทย์อยู่ที่การลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่จะรอดแบบไหน

    ภายใต้บริบทสถานการณ์ที่เลวร้ายลง นโยบายการเงินจะมีบทบาทในการช่วยเหลือพยุงเศรษฐกิจได้อย่างไร
    ดร.เศรษฐพุฒิ: นโยบายการเงินของไทยดูเหมือนจะอยู่คนละจุดในวัฏจักรนโยบายการเงินกับประเทศอื่นในโลกที่กำลังเริ่มเจอกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเตรียมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวก็เวลาอีรกยะหนึ่ง นโยบายการเงินก็ต้องมีบทบาทในรูปแบบที่ สภาพคล่อง สภาวะการเงินต่างๆ ต้องเอื้อ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และต้องรักษาให้กลไกสถากบันการเงินทำงาน ในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

    “สภาพตอนนี้หมือนท่อตัน การปล่อยสินเชื่อไม่ใช่ว่าสภาพคล่องจะวิ่งไป ต้องลอกท่อ และลอกหลายรูปแบบ ต้องแก้ไขทีละจุด แตกต่างกันแต่ละกลุ่ม เพราะผลกระทบเจ้าหนี้ลูกหนี้ไม่เท่ากัน การใช้เครื่องมือการเงินแบบเดิมไม่พอ ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่กว้าง การใช้ดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่พอ แต่ละกลุ่มแต่ละภาคธุรกิจปัญหาไม่เหมือนกัน โจทย์แตกต่างกันมาก บางที่เป็นปัญหารายได้”

    “ผมขอย้ำว่า ด้วยความที่เป็นปัญหารายได้ รายได้ที่หายไปเยอะ การจ้างงานที่หายไป การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม โดยการไปบีบที่หนี้อย่างเดียว ไม่ได้ ไม่พอ เป็นการแก้ที่ฝั่งเดียวของงบดุล ปัญหาอยู่ที่รายได้เป็นหลัก ก็ต้องแก้ที่รายได้ด้วย จะให้ภาระการแก้ไขมาอยู่ที่ฝั่งหนี้สินอย่างเดียวไม่ได้ ด้วยขนาดของปัญหา รายได้ที่หายไปเยอะ ต้องแก้ที่รายได้ แก้ที่การจ้างงาน”

    มุมมองต่อค่าเงินบาท อะไรทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างมากประมาณ 10% จากต้นปีและดูเหมือนว่าอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ธปท. มองว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทผันผวนมากเกินไปหรือไม่
    ดร.เศรษฐพุฒิ: ธปท. มีนโยบาย flexible inflation targeting เป้าหมายเงินเฟ้อ ที่เป็นกรอบนโยบายการเงิน หลักที่ธปท.ให้ความสำคัญคือเสถียรภาพเงินเฟ้อ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน

    “เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นเป้า เราไม่ได้มีระดับบาทว่าจะต้องอยู่ที่เท่าไร แต่ก็ไม่ต้องการให้ค่าเงินที่แกว่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ไม่ต้องการให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทเร็วเกินไป และอยากให้ความเคลื่อนไหวสะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากกว่ากระแสการเก็งกำไร”

    ปัจจุบันค่าเงินบาทไทย อ่อนไป 10% เทียบกับเงินดอลลารและอ่อนกว่าภูมิภาค สาเหตุมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เคยเกินดุลสูงกลับมาติดลบ 8-9% ของ GDP สะท้อนว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปและอ่อนแอลง แต่ยังมีเสถียรภาพ เมื่อดูจากฐานะหนี้ต่างประเทศเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนด้านกระแสเงินไหลเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีติดลบ 3.2 พันล้านดอลลาร์ แต่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 2.2 พันล้านดอลลาร์ สุทธิติดลบ 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวน 280 พันล้านดอลลาร์

    นโยบายสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้ และจะมีมาตรการอะไรจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้
    ดร.เศรษฐพุฒิ: ยืนยันว่ามาตรการแก้ไขหนี้ที่ทำมาเห็นผลแล้ว อันแรก การที่กลไกระบบสถาบันการเงิน กลไกสินเชื่อยังเดินได้อยู่ ทั้งสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ สินเชื่อลูกค้ารายย่อย แต่จุดที่ยังไม่ขยับมากคือ กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งธปท.ได้แก้ไขและขจัดอุปสรรคแล้ว อันที่สองคุณภาพของหนี้ ประเมินจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ต่อหนี้รวม ทรงตัว 3% และอันที่สามเป็นการช่วยให้ลูกหนี้ไปได้ ไม่ว่าการผิดนัดชำระหนี้ มีการไกล่เกลี่ยหนี้ รวมทั้งมีการดำเนินมาตรการต่างที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ปรับตามสถานการณ์

    “แต่ถามว่าจบไหม พอใจไหม ยังไม่พอใจ ยังต้องทำอีก เปลี่ยนจากพักชำระหนี้มาเป็นปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการให้แรงจูงใจสถาบันการเงิน โดยการที่จะปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดชั้นหนี้ การกันสำรอง ซึ่งจะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด”

    จากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะแย่ลงและต้องดำเนินมาตรการทางการเงินเพิ่มขึ้น ธปท. กังวลอะไรในการดำเนินมาตรการ และประเด็นอะไรที่กังวลมากที่สุด ฐานะธนาคารพาณิชย์หรือ NPL ที่เพิ่มขึ้น
    ดร.เศรษฐพุฒิ: ที่กลัวสุดคือ การควบคุมโรค เป็นเรื่อง top of mind ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ การซื้อเวลาก็ซื้อไปได้ แต่ผลก็คือคนที่จะรอด คนที่จะลำบาก ความกังวลมากสุดคือ ความสามารถในการควบคุมโรค

    “สิ่งที่กังวลมากว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพการเงินคือ moral hazard ส่วนหนึ่งเพราะยังจำวิกฤติปี 2540 ได้ และหากเกิด moral hazard ผลข้างเคียงจะเยอะมา ตอนที่ทำ stressed test เราก็มั่นใจว่าสถาบันการเงินของเราเข้มแข็ง แต่หากไปทำอะไรที่ทำให้เกิด moral hazard และมีผลข้างเคียง จะบั่นทอนเสถียรภาพได้ง่ายมาก ความเสี่ยงของระบบการเงินจะมีมาก”

    “moral hazard เป็นปัจจัยสำคัญ การแก้ไขปัญหามีแรงกดดันมาก เพราะมีคนเดือดร้อน คนตกงาน รายได้ จำนวนมาก แต่การแก้ไขปัญหาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แม้จะช่วยคน แต่กลายเป็นผลข้างเคียงต่อระบบมีมากมาย หน้าที่ ธปท. ต้องดูแลระบบ มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ลดภาระหนี้ลูกหนี้ การที่เราจะทำอะไรต้องคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจจะทำเฉพาะตรงนี้ไม่ได้”