ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ขาดโมเมนตัม-หลักนิติธรรมตกต่ำ

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ขาดโมเมนตัม-หลักนิติธรรมตกต่ำ

27 เมษายน 2024


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” คลาย 4 ปัจจัย ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย การบริโภค-แรงงาน-เทคโนโลยี-FDI และนโยบายรัฐ ชี้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่มากกว่าวัฏจักรทางเศรษฐกิจ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อเรื่องที่ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ว่าปัจจุบันการเติบโตเศรษฐกิจไทยเผชิญกับ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งไม่ใช่แค่วัฏจักรทางเศรษฐกิจ (economic cycle) เนื่องจากจีดีพีไทยคงการเติบโตที่ 2-3% ประกอบกับสถานการณ์หลังโควิด-19 ที่เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า

“วัฏจักรตกแล้วจะขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องโครงสร้าง เหมือนโครงสร้างบ้าน ห้องนี้จุได้ 20 คน แต่เราอัด 40 หรือ 50 คนก็เกิดผลข้างเคียง แม้เราดำเนินนโยบายการเงินการคลังแบบเป็นกลาง แต่มันไม่ได้ไปมากกว่านั้น”

ดร.ประสาร ยกตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัว (per capita income) ในปี 2566 ว่า คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ 7,629.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle income country) แต่หากจะก้าวเป็นประเทศรายได้สูง (hign income country) ต้องมีรายได้สูงกว่า 12,535 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี

“จีดีพีโต 2% ยากมาก (ที่จะเป็นประเทศรายได้สูง) ถ้าจะขยับมากกว่า 12,000 เหรียญ เศรษฐกิจต้องโต 5% เป็นเวลา 20 ปี … คำว่า 5% มาจากยุทธศาสตร์ 20 ปี พยายามคำนวณแล้วก็หนีไม่พ้นตัวเลขนี้ ตอนนั้น per capita income ของคนไทยอยู่ที่ 6,000 เหรียญ ถ้าจะเป็น 12,000 เหรียญ คือสองเท่าหรือ 100% ถ้าเอา 20 ปีหารจะได้ 5 แสดงว่าต้องโตให้ได้ปีละ 5% เป็นเวลา 20 ปี รายได้ต่อหัวถึงจะกระโดดจาก 6,000 เหรียญ เป็น 12,000 เหรียญ”

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า แม้ภาคเอกชนไทยจะแข็งแรงและเป็นผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจ แต่ภาคเอกชนก็รอดูสัญญาณต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่มีโมเมนตัม (momentum) ที่พร้อมให้ภาคเอกชนนำทัพ

ดร.ประสารกล่าวถึงปัจจัยสำคัญต่างๆ โดยเริ่มจากประเด็น “การบริโภค” ว่า ปัจจัยฉุดรั้งคืออัตราการเกิดของประชากรต่ำลง ทำให้การบริโภคน้อยลง สะท้อนว่าการบริโภคในมิติปริมาณลดลง แต่ในทางกลับกัน รัฐสามารถทำให้การบริโภคมีคุณภาพสูงขึ้นได้ถ้าประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“คนเกิดน้อยลง ทุกอย่างก็คงที่ ความสามารถบริโภคอุปโภคยังมีเท่าเดิม มันก็ลดลงโดยปริยาย แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาดีขึ้น มีศักยภาพที่จะทำงานอะไรที่มีความหมายและมีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็ไปช่วยดีมานด์ให้เพิ่มขึ้น แต่ต้องสอดคล้องกับรายได้และผลิตภาพ”

“วันก่อนผมมีนัดที่สาทร รถติดมากบนถนนราชดำริ เปิดกูเกิลแมป (Google Map) เหลือ 3 กิโลเมตร ปกติเดิน 3 กิโลเมตร ผมเดินไหว สบาย ก็บอกคนขับรถว่าจะลงเดิน แต่เป็นการเดิน 3 กิโลเมตรที่เลวร้ายที่สุด ทั้งที่เดินในเขตที่เจริญที่สุดในกรุงเทพฯ ฟุตบาทก็ไม่สม่ำเสมอ บางทีต้องลงมาแข่งกับรถยนต์ เดินผ่านป้ายรถเมล์ คนรอลำบากมากเพราะรถติด อากาศก็ไม่ดี ยกตัวอย่างว่านี่เป็นเขตที่เจริญที่สุดในกรุงเทพฯ ทำไมเราไม่ทำฟุตบาทให้ดีขึ้น แล้วการทำฟุตบาทให้ดีขึ้นหมายถึงคุณภาพชีวิตคนจะดีขึ้น ก็จะสร้างดีมานด์โดยที่ปริมาณไม่ต้องเพิ่ม แค่ฟุตบาทดีขึ้น สภาพเมืองก็ดีขึ้น”

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า นี่เป็นโจทย์เรื่องคนที่ต้องไม่มองแค่ปริมาณน้อยลง แต่คำถามคือทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพ มีรายได้ที่สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดี และประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น เพราะหากยกระดับคนได้ จะทำให้การบริโภคสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแค่ปริมาณ หรือจำนวนประชากร

ประเด็นถัดมาคือ “เทคโนโลยี” โดย ดร.ประสารขยายความว่า อุตสาหกรรมของไทยเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม (old economy) โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ซึ่งประเทศไทยมักส่งออกสินค้าที่ความต้องการโลกไม่สูงมากนัก

“เทียบกับหลายประเทศเขาคิดอะไรใหม่ๆ รวมถึงกล้าทดลองทำอะไรใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ… ผมไม่ค่อยอยากใช้คำนี้ แต่จำเป็นต้องใช้ คือ ระบบมันผูกขาดเยอะ เลยไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการเกิดเท่าไร บางคนบอกว่าระบบเรามันไม่สร้างผู้ประกอบการ เพราะเรามักจะสอนให้ตาม สอนให้เชื่อ ไม่ค่อยคิดแหวกแนว และในโรงเรียนไม่ค่อยสอนเรื่องการประกอบกิจการ และหลักสูตรที่เรียนเป็นหลักสูตรเทคนิคทั้งนั้น เราไม่ค่อยเจอคนที่ออกไปตั้งกิจการของตัวเอง เรื่องนี้ยังมีช่องว่างที่ต้องปรับปรุง เพราะประเทศที่เจริญ คนของเขาจะคิดทำกิจการเล็กๆ น้อยๆ”

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า “แก่นของเทคโนโลยีคือทุนมนุษย์ ไม่ว่าจะคิดค้นเองหรือรับเทคโนโลยีจากคนอื่น บางอย่างอาจจะคิดเอง บางอย่างดูดซับจากคนอื่นคิดและมาขยายต่อ แต่ไม่ค่อยมีของเราเอง บางอย่างส่งผ่านมาในอดีต โชคดีที่ส่งผ่านมายัง FDI พอสมควร แต่ตอนหลังมันน้อย เหล่านี้คือปัญหาโครงสร้าง”

ขณะที่ “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ” (foreign direct investment หรือ FDI) ดร.ประสารอธิบายว่า ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ประเทศไทยมีสัดส่วน FDI ต่อจีดีพีที่ 20% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 12-13% เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือทักษะแรงงาน และจำนวนแรงงานที่มีฝีมือ รองลงมาคือการติดต่อกับภาครัฐ

ดร.ประสารยังกล่าวถึงหลักนิติธรรม (rule of law) และหลักธรรมาภิบาล (governance) ว่า ทั้งสองปัจจัยคือสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติกังวล

โดยเฉพาะช่วงหลังหลักนิติธรรมเสื่อมถอยไปมาก คนที่เข้ามาลงทุนจะกังวลว่าประเทศไทยเป็นสังคมรู้ถูกรู้ผิดหรือไม่ หรือกลายเป็นสังคมที่แยกแยะไม่ออกระหว่างถูก-ผิด

เมื่อถามว่าหลักนิติธรรมยังสามารถแก้ได้หรือไม่ ดร.ประสารตอบทันทีว่า “แก้ได้ แต่ต้องอาศัยความเป็นผู้นำ รัฐบาล พรรคการเมืองและอื่นๆ”

“เวลานี้บทสนทนาของฝ่ายที่บอกว่า ‘ทำได้’ จะตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกคนอื่นรุม ไหนๆ บอกมาสิทำยังไง สมมติมี 10 คน แล้ว 9 คนบอกทำไม่ได้ ถ้าคนไหนบอกทำได้จะถูกรุม แต่เรื่องเหล่านี้บางที ถึงจังหวะสุกงอม บางเรื่องสังคมก็แสดงออกเหมือนกัน ทนไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว… คนรุ่นใหม่ก็เข้าใจเขาทั้งสองฝ่าย”

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำให้ ดร.ประสารหัวเราะเบาๆ และกล่าวว่า “หลักนโยบายสาธารณะ หนึ่ง ทำอะไรแล้วต้องเกิดผลดี สอง ไม่เกิดผลร้าย-ผลข้างเคียง”

“ความเป็นจริงคือ กรอบเวลาของเขาหวังผลระยะสั้น อยากให้รู้สึกดีระยะสั้น แต่อาจไม่ได้มองว่าเตรียมสำหรับโอลิมปิก 4 ปีหรือ 8 ปีข้างหน้า มันเป็นปัญหาของบ้านเมือง เรารู้ว่าเขามีข้อจำกัด ต้องให้คนรู้สึกรู้สึกในเวลาอันสั้น เลยต้องหาอะไรที่ทำได้แล้วมีโอกาสเห็นผล”