ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > กลุ่มผู้หญิงสูงวัยชาวสวิสชนะคดี Climate Change ที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

กลุ่มผู้หญิงสูงวัยชาวสวิสชนะคดี Climate Change ที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

15 เมษายน 2024


ที่มาภาพ: https://www.riffreporter.de/de/umwelt/urteil-egmr-gerichtshof-menschenrechte-strassburg-klimaschutz-klimaseniorinnen

กลุ่มผู้หญิงสูงวัยชาวสวิสชนะคดีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ศาลสิทธิมนุษยยุโรป ซึ่งเป็นชัยขนะครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีผลให้รัฐบาลต้องดำเนินการจริงจังกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองของตน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป หรือ European Court of Human Right (ECHR) ที่สตราสบูร์ก ในฝรั่งเศส ตัดสินว่า รัฐบาลสวิสได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองของตนโดยไม่ดำเนินการอะไรมากพอที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(climate change)

คำตัดสินนี้จะเป็นแนวทางการตัดสินสำหรับการฟ้องร้องเรื่องสภาพภูมิอากาศในอนาคต ของศาลทั่วยุโรปและที่อื่นๆ และสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่างๆ มากขึ้นในการดำเนินคดีเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศต่อรัฐบาล

ในการตัดสิน ประธานศาลศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซิโอฟรา โอเลียรี กล่าวว่า รัฐบาลสวิสล้มเหลวในการปฏิบัติตามเป้าหมายของตนเองในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และล้มเหลวในการกำหนดงบประมาณคาร์บอนระดับชาติ

“เป็นที่ชัดเจนว่าคนรุ่นต่อๆ ไปมีแนวโน้มที่จะแบกรับภาระที่รุนแรงมากขึ้นจากผลที่ตามมาของความล้มเหลวและการละเลยในปัจจุบันเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โอเลียรีกล่าว

การฟ้องร้องนี้มาจากกลุ่มผู้หญิงสูงวัยชาวสวิสมากกว่า 2,000 คน มีอายุมากกว่า 64 ปี ที่รวมตัวกันในชื่อ KlimaSeniorinnen Schweiz และยื่นฟ้องคดีนี้ว่า การไม่ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล ทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน และชี้ว่าอายุและเพศทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ

นับเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยกลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่เกิดจากสถานการณ์ความร้อนอบอ้าวของฤดูร้อนปี 2546

คลื่นความร้อนในปี 2546 ในยุโรปคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 72,000 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นสตรีสูงวัย ตามตัวเลขขององค์การสหประชาชาติ ในฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียว อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายถึง 75% ในช่วงนั้นอุณหภูมิที่สูงถึง 41 องศาเซลเซียส ในสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสถือว่ารุนแรงมาก

ในปีนั้น คอร์เดลีย แบร์ ทนายความในเมืองซูริก ซึ่งปัจจุบันอายุ 43 ปี ยังศึกษาด้านกฎหมาย แต่ในปี 2559 เธอก็เกิดความคิดขึ้นมาหลังได้รับรู้เรื่องราวจากผลกระทบของคลื่นความร้อน นั่นคือจากผลการวิจัยที่พบว่าสตรีสูงอายุมีความเสี่ยงต่อความร้อนจัดเป็นพิเศษ และความร้อนจัดนั้นรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“นั่นคือตอนที่ฉันเกิดแนวคิดในการปกป้องผู้หญิงสูงอายุ” แบร์กล่าว “จากสถิติที่ว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากความร้อนจัดมากกว่าผู้ชายมาก”

ในเดือนสิงหาคม 2559 แบร์และสมาชิกผู้บุกเบิกประมาณ 270 คนของ KlimaSeniorinnen Schweiz หรือ Senior Women for Climate Protection Switzerland ได้จัดการประชุมครั้งแรก (ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกผู้หญิงประมาณ 2,500 คน)

เอลิซาเบธ สเติร์น อดีตนักชาติพันธุ์วิทยาที่เคยศึกษาและสอนในแคลิฟอร์เนีย สวิตเซอร์แลนด์ และซิมบับเว วัย 76 ปี เป็นสมาชิกของ KlimaSeniorinnen Schweiz มาตั้งแต่ปี 2559 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการขององค์กร เธอกล่าวว่าความตั้งใจของกลุ่มคือการใช้ข้อเท็จจริงทางการแพทย์มาโดยตลอดเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายสภาพภูมิอากาศที่จับต้องได้

“ตอนที่ฉันเข้าร่วมในปี 2559 ก็มีการพูดว่า ‘ทำไมคุณไม่นั่งเฉยๆและก็ถักนิตติ้งไปล่ะ?’” เสติร์นกล่าว “แต่ฉันรู้ว่าแม้ร่างกายจะอ่อนแอ แต่ใจยังเฉียบแหลม”

เกือบแปดปีหลังจากการพบปะครั้งแรก ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 เมษายน ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปพิพากษาด้วยคะแนน 16 ต่อ 1 ว่า “สมาพันธรัฐสวิสไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน” ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ในการเคารพชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

ที่มาภาพ: https://www.dw.com/de/europ%C3%A4isches-gericht-klimaschutz-ist-menschenrecht/a-68777520

แนวโน้มที่ไม่กลับไปเหมือนเดิมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผลักดันแบร์ไปข้างหน้า แม้โลกอาจประหลาดใจกับคำตัดสิน แต่แบร์บอกว่าเธอ “ค่อนข้างมั่นใจ” ว่า ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป จะเห็นด้วยกับคำฟ้องของพวกเขาที่ว่าสวิตเซอร์แลนด์ล้มเหลวในการดูแลพลเมืองอาวุโส

“วิกฤติสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องเร่งด่วน และมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้” แบร์กล่าว “หากพวกเขากล่าวว่าการคุ้มครองสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน มันคงเป็นไปไม่ได้…ที่ศาลด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปจะถอยกลับ”

คำตัดสินคดีนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และจะมีผลกระทบเป็นระลอกระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จากการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายที่มีผลผูกพันสำหรับทั้ง 46 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(European Convention on Human Rights)

“ศาลรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ จึงต้องปรับใช้เป้าหมายทางวิทยาศาสตร์(science-based targets)เพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย” ลูซี แม็กซ์เวลล์ ผู้อำนวยการร่วมของ Climate Litigation Network กล่าว

อย่างไรก็ตามชัยชนะในคดีนี้ไม่ได้มาง่ายๆ สามเดือนหลังจากการประชุมครั้งแรกของ KlimaSeniorinnen Schweiz กับแบร์ กลุ่ม KlimaSeniorinnen Schweiz ได้ยื่นคำร้องไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐสวิส เพื่อแก้ไขแนวนโยบายสภาพภูมิอากาศ แต่คำขอถูกยกไปในปี 2560 เช่นเดียวกับการอุทธรณ์อีกสองครั้งที่ตามมาซึ่งยื่นไปจนถึงศาลฎีกาของสวิส อย่างไรก็ตาม กลับเปิดทาง ให้กลุ่มผู้หญิงกลุ่มสามารถยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ในปี 2563

เคลลี แมทธีสัน ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและรองผู้อำนวยการฝ่ายคดีความด้านสภาพอากาศที่ Our Children’s Trust กล่าวว่า การที่แบร์ตัดสินใจจะชี้ไปที่จุดอ่อนของคนในกลุ่ม ถือเป็นจุดที่ทำให้ชนะ “ทุกคนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” แมทธีสันกล่าว “แต่ยิ่งความเสียหายและร้ายแรงมากเท่าไรก็ยิ่งน่าสนใจสำหรับศาลมากขึ้นเท่านั้น”

ไลลา ชูครูเน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า คำตัดสินนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้ของโจทก์ด้านสิทธิมนุษยชนและสภาพภูมิอากาศ “เพราะแสดงให้เห็นว่าสิทธิด้านสุขภาพของผู้หญิงสามารถเป็นแนวทางในการดำเนินคดีด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศได้” “มีแนวโน้มมากที่เราจะได้เห็นกรณีเหล่านี้มากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

เวสเซลินา นิวแมน หัวหน้าฝ่ายสิทธิขั้นพื้นฐานของบริษัทกฎหมายสิ่งแวดล้อม ClientEarth กล่าวในแถลงการณ์ว่า นี่ไม่ใช่แค่ชัยชนะของผู้ฟ้องร้อง แต่เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้อำนาจของกฎหมายในที่อื่นๆ เพื่อให้รัฐบาลของตนรับผิดชอบต่อการไม่ดำเนินการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขั้นตอนต่อไปเป็นการรอคอย สำนักงานยุติธรรมแห่งสหพันธรัฐสวิสกล่าวว่าจะวิเคราะห์คำตัดสินที่ครอบคลุมและ “ทบทวนมาตรการที่สวิตเซอร์แลนด์จะใช้ในอนาคต” วิโอลา แอมเฮิร์ด ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดเกี่ยวกับคำตัดสิน โดยกล่าวว่า เธอจะต้องอ่านคำตัดสินของ ECHR ก่อน และกล่าวว่านโยบายสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญสูงสุด

คำตัดสินบ่งชี้ว่า สวิตเซอร์แลนด์มีหน้าที่ทางกฎหมายในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซให้มากขึ้น

หากสวิตเซอร์แลนด์ไม่ปรับปรุงนโยบาย อาจจะมีการดำเนินคดีในระดับประเทศเพิ่มเติม และศาลอาจจะลงโทษปรับ ลูซี แม็กซ์เวลล์ ผู้อำนวยการร่วมของ Climate Litigation Network ที่ไม่แสวงหาผลกำไรกล่าว

สวิตเซอร์แลนด์มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 จากระดับในปี 1990 ในกรุงเบิร์นได้มีการเสนอมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปฏิเสธมาตรการเหล่านี้ในการลงประชามติปี 2564 ว่าเป็นภาระหนักเกินไป

ที่มาภาพ: https://www.greenpeace.ch/de/story/107068/der-countdown-laeuft-urteilsverkuendung-im-fall-der-klimaseniorinnen-am-9-april/

คำตัดสินคดีนี้อาจมีอิทธิพลต่อคำตัดสินในอนาคตที่ศาลสิทธิมนุษยนชน ซึ่งทำให้มีการระงับคดีเกี่ยวกับสภาพอากาศอีก 6 คดีไว้ ได้แก่ คดีฟ้องร้องรัฐบาลนอร์เวย์ที่กล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับการสำรวจน้ำมันและก๊าซในทะเลแบเรนต์สหลังจากปี 2578

“(คดีนี้) จะเป็นแบบอย่างที่สำคัญที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และจะเป็นพิมพ์เขียวในการฟ้องร้องรัฐบาลของคุณเองเกี่ยวกับความล้มเหลวของสภาพภูมิอากาศ” รูธ เดลเบเร ผู้อำนวยการรณรงค์ทางกฎหมายของขบวนการพลเมืองระดับโลก Avaaz กล่าวถึงผลของคดีในสวิส

ศาลในออสเตรเลีย บราซิล เปรู และเกาหลีใต้ กำลังพิจารณาคดีเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่อิงสิทธิมนุษยชน ศาลสูงสุดของอินเดียมีคำตัดสินเมื่อเดือนที่แล้วว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในคดีที่เยาวชนชาวโปรตุเกสฟ้องร้อง ศาลตัดสินว่า แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐอาจส่งผลเสียต่อผู้คนที่อาศัยอยู่นอกพรมแดน แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลในการดำเนินคดีในหลายเขตอำนาจศาล

  • เยาวชนโปรตุเกส 6 คนยื่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปฟ้องรัฐบาล 32 ประเทศ ล้มเหลวจัดการ Climate Change
  • นอกจากนี้ ยังชี้ด้วยว่า กลุ่มเยาวชนไม่ได้ใช้ช่องทางทางกฎหมายในศาลของประเทศในโปรตุเกสให้หมดก่อนที่จะมายื่นต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

    “ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะชนะทุกประเทศ” โซเฟีย โอลิเวรา เยาวชนชาวโปรตุเกสคนหนึ่งกล่าวในแถลงการณ์

    “แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือศาลได้กล่าวไว้ในกรณีของกลุ่มผู้หญิงชาวสวิสว่า รัฐบาลจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ชัยชนะของพวกเขาก็คือชัยชนะสำหรับเราเช่นกัน และเป็นชัยชนะสำหรับทุกคน”

    เรียบเรียงจาก

  • How a Group of Elderly Swiss Women Won a Historic Human-Rights Verdict
  • Swiss women win landmark climate case at Europe top human rights court
  • A landmark ruling in Europe’s top rights court delivers a watershed moment for climate litigation