ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เยาวชนโปรตุเกส 6 คนยื่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปฟ้องรัฐบาล 32 ประเทศ ล้มเหลวจัดการ Climate Change

เยาวชนโปรตุเกส 6 คนยื่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปฟ้องรัฐบาล 32 ประเทศ ล้มเหลวจัดการ Climate Change

28 กันยายน 2023


ที่มาภาพ: https://www.sbs.com.au/news/article/the-young-people-taking-32-countries-to-court-in-an-unprecedented-climate-case/lbk63yoyf

เยาวชน 6 คนจากโปรตุเกสยื่นฟ้องรัฐบาล 32 ประเทศต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป กรณีล้มเหลวในการปกป้องพวกเขาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

เมื่อวันพุธ(27 ก.ย.)ที่ผ่านมา ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป(European Court of Human Rights:ECHR) เริ่มไต่สวนคดีที่เยาวชนโปรตุเกส 6 คนฟ้องร้อง 32 ประเทศ ฐานไม่ดำเนินการมากพอที่จะหยุดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดในการรักษาความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศผ่านทางศาล

การพิจารณาคดีครั้งประวัติศาสตร์ถือเป็นครั้งแรกที่หลายประเทศจะต้องต่อสู้คดีต่อหน้าศาล ซึ่งบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด 27 ประเทศ สหราชอาณาจักร ตุรกี รัสเซีย และนอร์เวย์ ต่างตกเป็นจำเลย

“คดีนี้เกี่ยวข้องกับ… ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซิโอฟรา โอ เลียรี ประธานองค์คณะใหญ่ของผู้พิพากษา(Grand Chamber) ที่มี 17 คนของศาลในเมืองสตราสบูร์ก กล่าว “ซึ่งผลส่วนหนึ่งจากคลื่นความร้อนและไฟป่ากระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ยื่นฟ้อง”

ECHR ระบุว่าคดีนี้เป็น “เรื่องสำคัญ” และส่งต่อไปยังผู้พิพากษาระดับสูงขององค์กร

แต่ในขั้นแรกองค์คณะใหญ่ของผู้พิพากษาจะต้องตัดสินก่อนว่าจะรับคดีที่ยื่นฟ้องโดยเยาวชนโปรตุเกสไว้พิจารณาหรือไม่ เนื่องจากเยาวชนยื่นฟ้องต่อ ECHR โดยตรงโดยไม่ผ่านการยื่นฟ้องจากศาลในประเทศก่อน โดยให้เหตุผลว่า การแยกยื่นฟ้องคดีในทั้ง 32 ประเทศจะเป็น ภาระที่มากเกินไปและไม่เท่าเทียม ในประเด็นที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน

เยาวชนชาวโปรตุเกสซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 24 ปีกล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขาและเลือกปฏิบัติต่อคนหนุ่มสาว

โซเฟีย โอลิเวรา เป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนทั้ง ุ6 คน ผู้ฟ้องร้อง บอกว่า ช่วงที่เกิดภัยพิบัติไฟป่าในภาคกลางของโปรตุเกส คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100 รายในปี 2560 นั้นเธอมีอายุเพียง 12 ปี

โซเฟีย ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย กล่าวว่าเธอรู้สึกว่า ต้องทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ ไม่เช่นนั้นก็หมดโอกาสอีกเลยที่แสดงความเห็นออกไป เนื่องจากประเทศของเธอดูเหมือนจะตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของคน

เมื่อเยาวชนโปรตุเกสตัดสินใจดำเนินการทางกฎหมายในปี 2560 โซเฟียยังใส่เหล็กจัดฟัน กำลังเริ่มเรียนเกรด 7 ที่โรงเรียน และตัวสูงกว่า น้องชาย อังเดร โอลิเวรา แต่ปัจจุบันอังเดร อายุ 15 ปี สูงกว่าเธอประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ในช่วงหกปีที่ผ่านมา อังเดรบอกในการให้สัมภาษณ์กับ The Associated Press ว่าเป็นเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตของเขา

สิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องค้นกองเอกสารทางกฎหมายที่รวบรวมโดยกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้การสนับสนุน ภายใต้การล็อคดาวน์ระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ สถานการณ์เร่งด่วนใกล้ตัวซึ่งได้แก่ วิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังเลวร้ายลง

หาด Praia do Norte ที่คอสตา ดา กาปาริกา ใกล้กับที่โซเฟียและอังเดรอาศัยอยู่ ทางตอนใต้ของกรุงลิสบอน เมืองหลวงของโปรตุเกส มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร (3,000 ฟุต) ในช่วงที่พ่อของอังเดรมีอายุเท่าเขา ปัจจุบัน จากการกัดเซาะชายฝั่ง เหลือชายฝั่งขนาดไม่ถึง 300 เมตร ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจน ทำให้อังเดรเข้าร่วมการประท้วงเรื่องสภาพอากาศก่อนที่จะโตเป็นวัยรุ่นเสียอีก

สมาชิกอีกสี่คนของกลุ่ม ได้แก่ คาทาริน่า, เคลาเดีย, มาร์ทิม และมาริอานา เป็นพี่น้องและลูกพี่ลูกน้องที่อาศัยอยู่ในภูมิภาค Leiria ในตอนกลางของโปรตุเกส ซึ่งการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อนเป็นเรื่องปกติ

ไฟป่าในโปรตุเกส ที่มาภาพ:https://phys.org/news/2023-09-youth-climate-case-euro-rights.html

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าภูมิอากาศของทะเลทรายซาฮารากำลังพุ่งขึ้น จากทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังประเทศทางตอนใต้ของยุโรป เช่น โปรตุเกส ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยกำลังสูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนกำลังลดลง ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโปรตุเกสคือปี 2540 ตามมาด้วยปี 2560 และมี 4 ปีที่แห้งแล้งที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศที่มีประชากร 10.3 ล้านคน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546

ความร้อนและไฟป่าที่ทำลายล้างในโปรตุเกสกำลังเป็นข้อจำกัดในการนอนหลับและการออกกำลังกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และเกิดภาวะกดดันด้านจิตใจ และเยาวชนกลุ่มนี้ยังกล่าวระบว่า ขณะนี้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศได้แพร่กระจายในวงกว้างไปในกลุ่มคนรุ่นพวกเขา

“ไฟไหม้ใกล้กับที่ที่ผมอยู่มาก” มาร์ทิม ดูอาร์เต้ อกอสตินโญ่ วัย 20 ปี บอกกับ Euronews ในเมือง สตราสบูร์ก ก่อนการพิจารณาคดี

“ไฟไหม้ที่ทำให้ชีวิตของผมและน้องสาวของผมตกอยู่ในความเสี่ยง เวลาเรียนหายไปเพราะหนึ่งในโรคทางเดินหายใจของผม” เขาอธิบาย

การฟ้องร้องทางกฎหมายของเยาวชนโปรตุเกสทั้งหกคนได้รับการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ โลกร้อนอบอ้าวจากฤดูร้อนในซีกโลกเหนือที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยวัดมา โดยเดือนสิงหาคมที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นฤดูกาลที่มีอุณหภูมิที่น่ากลัวและอันตรายถึงชีวิต ตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก

โลกยังห่างไกลจากคำมั่นที่จะควบคุมภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อกำหนดของข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีสปี 2015 มีการประมาณการว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 2 ถึง 4 องศาเซลเซียส (2.6 ถึง 7.2 ฟาเรนไฮต์) นับตั้งแต่ช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปี 2100 จากแนวโน้มของภาวะโลกร้อนและแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน

ดุนญา มีญาโตวิค กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสภายุโรป เข้ามามีส่วนในฐานะบุคคลที่สามในช่วงวันแรกของการพิจารณาคดีเมื่อวันพุธ และบอกกับ Euronews ว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะเลิกพูดแล้วลงมือทำ”

“เรารู้ว่ามีการลงมติมากมาย มีข้อตกลงมากมาย มีถ้อยคำที่ยอดเยี่ยมบนกระดาษ แต่การกระทำไม่มี” มีญาโตวิคกล่าว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่มีพรมแดน

ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ก็คือ ศาลจะยอมรับว่าประเทศอื่นนอกจากโปรตุเกสมีหน้าที่ปกป้องเยาวชนทั้งหกคนจากผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่

กลุ่มเยาวชนกล่าวว่า ในขณะที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในแนวหน้าของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยที่โปรตุเกสต้องเผชิญกับความร้อนทำลายสถิติและไฟป่าร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนนั้นไม่มีขอบเขต หากโลกยังคงร้อนขึ้นแบบนี้ต่อเนื่อง โปรตุเกสจะเผชิญกับคลื่นความร้อนในระดับ 40 องศาเซลเซียสนานถึงหนึ่งเดือนหรือนานกว่านั้น

คำตัดสินของ ECHR ก่อนหน้านี้ระบุว่า ประเทศต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนนอกเขตแดนของตนใน “กรณีพิเศษ”

แต่ตัวแทนและทนายความมากกว่า 80 รายของประเทศต่างๆ อยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อสู้ โดยอ้างว่ากลุ่มเยาวชนไม่ได้ให้หลักฐานเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่ามี “การเชื่อมโยงเชิงสาเหตุโดยตรง” ระหว่างนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลกับอันตรายที่เกิดกับพวกเขา และยังกล่าวว่าไม่มีการนำเสนอหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตลอดจนยังติเตียนเรื่องที่ให้รับผิดชอบต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองที่อยู่นอกเขตอธิปไตยของตนเอง

นายโอ เลียรี ประธานองค์คณะใหญ่ของผู้พิพากษา ให้เวลาทั้งสองฝ่ายอีกสองสัปดาห์ในการส่งคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับคำถามของผู้พิพากษา ในขณะที่การตัดสินใจว่าจะรับคดีนี้หรือไม่นั้นมีแนวโน้มว่าจะต้องใช้เวลาหลายเดือน

ที่มาภาพ: https://phys.org/news/2023-09-youth-climate-case-euro-rights.html

ปักหมุดคดีประวัติศาสตร์

เยาวชนโปรตุเกสบอกว่า สิทธิในการมีชีวิต ชีวิตครอบครัว และความเป็นส่วนตัวของพวกเขา ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กำลังถูกละเมิด

เยาวชนกลุ่มนี้ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิของตนที่จะไม่ถูกทรมาน การปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งรวมอยู่ในคำแนะนำของผู้พิพากษาด้วย ผลลัพธ์เชิงบวกจะทำให้เกิดประวัติศาสตร์ทางกฎหมาย เนื่องจากศาลไม่เคยตัดสินว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

เคท ไฮแกม นักวิชาการด้านนโยบายที่สถาบัน Grantham Institute แห่ง London School of Economics กล่าวว่า การตัดสินใจเชิงบวกสามารถนำมาใช้เพื่อ “เสริมสร้างข้อโต้แย้งในคดีสภาพภูมิอากาศภายในประเทศต่อรัฐบาลและ อาจจะรวมไปถึงบริษัท”

“คดีนี้อาจแสดงให้เห็นถึงการฝ่าด่านในการดำเนินคดีด้านสภาพภูมิอากาศ หากประสบความสำเร็จในทุกข้อกล่าวหา รัฐบาลที่ต้องแก้ต่างจะต้องเปลี่ยนแนวทางและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเร็วขึ้นเพื่อแสดงให้ถึงการปฏิบัติตามคำตัดสิน”

คดีนี้เป็นคดีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคดีแรกที่ยื่นต่อศาล และอาจมีผลให้ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดขึ้น

เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก Global Legal Action Network(GLAN) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับนานาชาติ ที่ท้าทายการละเมิดสิทธิมนุษยชน แคมเปญระดมทุนแบบ crowd funding ได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก พร้อมข้อความสนับสนุนส่งมาจากที่ห่างไกลอย่างญี่ปุ่น อินเดีย และบราซิล

ชัยชนะของพวกเขาในสตราสบูร์กจะเป็นตัวอย่างที่มีพลัง ของการที่คนหนุ่มสาวใช้เส้นทางทางกฎหมาย เพื่อบังคับให้รัฐบาลของประเทศตนเอง ปรับปรุงมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศใหม่อย่างมาก

คำตัดสินของศาลมีผลผูกพันตามกฎหมายกับประเทศสมาชิก และการไม่ปฏิบัติตามทำให้เจ้าหน้าที่ลงโทษปรับจำนวนมาก ตามที่ศาลตัดสิน

คดีนี้จะพิจารณาโดยองค์คณะใหญ่ของผู้พิพากษา 17 คนในศาลเมืองสตราสบูร์ก ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ได้มีการพิจารณาคดีฟ้องร้องเรื่องสภาพภูมิอากาศต่อประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นครั้งแรก

ในเดือนมีนาคม กลุ่มสตรีสูงวัยชาวสวิสกลุ่มหนึ่งและอดีตนายกเทศมนตรีฝรั่งเศสฟ้องรัฐบาลของตนเอง เนื่องจากไม่มีการจัดการด้านสภาพอากาศอย่างเด็ดขาด

ที่มาภาพ: https://efeverde.com/seis-jovenes-portugueses-inaccion-climatica-estados/

ศาลกลายเป็นช่องทางของนักเคลื่อนไหวมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเมืองและทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบมากขึ้น ในเดือนที่แล้วที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์เป็นผู้ฟ้องร้อง ผู้พิพากษาในรัฐมอนทานาของสหรัฐอเมริกา ตัดสินว่าหน่วยงานของรัฐกำลังละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ จากการที่อนุญาตให้มีการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิล

  • Climate Change เคสแรก ศาลตัดสินกลุ่มเยาวชนชนะ รัฐละเมิดสิทธิที่จะมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดตามรัฐธรรมนูญ
  • รัฐบาลเฉื่อย

    ทีมกฎหมายของเยาวชนจะโต้แย้งว่า เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่เพียงพอของรัฐบาล 32 ประเทศนั้นมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของคนหนุ่มสาว

    “นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลยุโรปสอดคล้องกับภาวะโลกร้อนขึ้นรุนแรงถึง 3 องศาในศตวรรษนี้” เจอร์รี ลิสตัน ทนายความอาวุโสของ GLAN อธิบาย

    “สำหรับผู้ยื่นฟ้องที่เป็นเยาวชนผู้กล้าหาญ มองว่า ภาวะความร้อนแรงสุดขั้วเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งไม่อาจจินตนาการได้ แม้อยู่ภายใต้มาตรฐานในปัจจุบันที่ถดถอยลงอย่างรวดเร็วก็ตาม”

    คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับอนุญาตให้เข้าแทรกแซงคดีในฐานะบุคคลที่สามได้

    ในข้อสังเกตที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล อ้างว่า สหภาพยุโรป “เป็นผู้นำในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีส โดยการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีความมุ่งหวังมากยิ่งขึ้น และโดยการก้าวไปไกลกว่าขั้นต่ำ ที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ตามข้อตกลงนั้น”

    สหภาพยุโรป ยัง อ้างถึงแผนพลังงานและสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NECP) ของประเทศสมาชิก เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ถึงแผนงานในการบรรเทาผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    แต่ประเทศต่างๆ รวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี ไม่สามารถส่งแผน NECP ของประเทศที่ทบทวนใหม่ ได้ทันตามเส้นตายของสหภาพยุโรป และภาคอุตสาหกรรมเองยังเตือนด้วยว่า สหภาพยุโรปจะพลาดเป้าหมายพลังงานสีเขียวในปี 2573

    รายงานล่าสุดโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหพันธรัฐเยอรมนี (:German Federal Environment Agency:UBA) แสดงให้เห็นว่า เยอรมนีมีแนวโน้มที่จะพลาดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 65% ภายในปี 2573

    การฟ้องร้องในคดีนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ยกเลิกนโยบายสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ รวมถึงการเลื่อนการเลิกใช้รถยนต์ดีเซลและเบนซินออกไป 5 ปีจนถึงปี 2578