ThaiPublica > เกาะกระแส > “Green Stimulus” ปากีสถานจ้างคนปลูกต้นไม้ สร้างงานช่วงโควิดระบาด ลด Climate Change

“Green Stimulus” ปากีสถานจ้างคนปลูกต้นไม้ สร้างงานช่วงโควิดระบาด ลด Climate Change

8 พฤษภาคม 2020


ที่มาภาพ : https://gandhara.rferl.org/a/as-green-stimulus-pakistan-sets-virus-idled-to-work-planting-trees/30582687.html

มาตรการสีเขียว Green Stimulus กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้เงินจ้างแรงงานตกงานปลูกป่า และยังช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน

เมื่ออับดุล ราห์มาน คนงานก่อสร้างตกงานจากผลของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็แทบจะไม่มีทางให้เลือกมากนัก ระหว่างจะเป็นขอทานบนท้องถนน หรือจะปล่อยให้ครอบครัวหิวโหย

แต่รัฐบาลได้ให้ทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยการให้ร่วมกับแรงงานที่ตกงานอีกกว่าหมื่นคน ปลูกต้นไม้หมื่นล้านต้นทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถือว่าเป็นภัยคุกคาม

นับตั้งแต่ปากีสถานเริ่มล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 แรงงานรายวันที่ตกงานก็ได้รับการเสนองานใหม่ ให้มาทำงานเป็นคนปลูกป่า jungle workers ทำหน้าที่เพาะต้นกล้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 10 Billion Tree Tsunami ระยะ 5 ปี ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าหมื่นล้านต้นที่รัฐบาลริเริ่มปี 2018 เพื่อลดภาวะโลกร้อน

กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสีเขียว “green stimulus” เป็นตัวอย่างของการใช้เงินซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าระหว่างการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ตลอดจนยังช่วยให้ประเทศเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดเป็นภัยคุกคามใหญ่ในระยะต่อไป

“เนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทุกเมืองต้องล็อกดาวน์ และไม่มีงานทำเลย พวกเราที่รับจ้างรายวันไม่มีเงินมาเลี้ยงชีวิต” ราห์มันซึ่งอาศัยอยู่ที่ราวัลปินดี ในแคว้นปัญจาบ เล่าให้มูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส ฟัง

ขณะนี้ราห์มันทำเงินได้จากการปลูกต้นไม้ 500 รูปีหรือ 3 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ที่เคยได้ต่อวัน ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างยังดีๆ อยู่ แต่ก็เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตต่อไปได้

“เราทุกคนตอนนี้มีหนทางที่จะทำรายได้ต่อวันอีกครั้ง เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว” ราห์มันกล่าว

โครงการปลูกต้นไม้ 5 ปี ซึ่งนายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีริเริ่มขึ้นในปี 2018 มีเป้าหมายที่จะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ บรรเทาภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วของประเทศ ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความเสี่ยงใหญ่

ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ประจำปี 2020 ที่เผยแพร่โดยเยอรมันวอตช์ (Germanwatch) ได้จัดให้ปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดอันดับ 5 จากภาวะโลกร้อนในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากเมื่อเทียบกับก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกรวมกัน

ในช่วงแรกที่ปากีสถานประสบกับการระบาดของไวรัส โครงการ 10 Billion Trees ได้ระงับชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการระยะห่างทางกายภาพที่ต้องการควบคุมการระบาดของไวรัส ซึ่งมีผู้ติดเชื้อถึงมากกว่า 13,900 คนในปากีสถาน

แต่ในช่วงต้นเดือนเมษายน นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งยกเว้นและอนุญาตให้หน่วยงานด้านป่าไม้เริ่มโครงการได้อีกครั้ง และจ้างงานมากกว่า 63,600 ตำแหน่ง

ที่มาภาพ : https://news.trust.org/item/20200428190058-yx6u2/

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องอยู่กับบ้านตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเปิดทางให้รถขนต้นไม้ผ่านทางและสัญจรไปมาได้ รวมทั้งอนุญาตให้ชาวบ้านออกจากบ้านไปทำงานกับโครงการได้

สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจปากีสถาน (Pakistan Institute of Development Economics) พบว่า มาตรการล็อกดาวน์อาจจะทำให้ประชาชนราว 19 ล้านคนหรือ 70% ของประชากรทั้งหมดในปัญจาบตกงาน

อับดุล มูกีต ข่าน หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์ป่าไม้แห่งราวัลปินดี กล่าวกับมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส ว่า โครงการการปลูกป่าเดินหน้าอย่างเต็มที่

งานส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกป่าในเนื้อที่ 15,000 เอเคอร์ หรือ 6,000 เฮกตาร์ ใกล้กับเมืองหลวง อิสลามาบัด ส่วนที่อื่นๆ จะเป็นผืนป่าของรัฐทั่วประเทศ

ในปีนี้โครงการได้จ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีแรก มาลิก อามิน อัสลาม ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูล

งานที่จ้างใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท เน้นไปที่ผู้หญิงและแรงงานรายวันที่ตกงาน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวที่กลับบ้าน หลังมีการปิดเมือง

การจ้างงานมีค่าจ้าง 500-800 รูปีต่อวัน ครอบคลุมการเพาะต้นอ่อน ปลูกต้นกล้า พิทักษ์ป่า และดับไฟป่า

แรงงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างกัน 2 เมตร

“วิกฤติที่น่าเศร้ากลับเป็นโอกาสและเราก็คว้ามันไว้” อัสลามกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส

“การทำนุบำรุงธรรมชาติ กลายเป็นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนหลายพันคน”

ขยายความช่วยเหลือ

ข้อมูลจาก Germanwatch พบว่า ปากีสถานประสบกับสภาพอากาศแบบสุดขั้วมากกว่า 150 เหตุการณ์ระหว่างปี 1999-2018 ตั้งแต่น้ำท่วมไปจนถึงคลื่นความร้อน ที่สร้างความสูญเสียให้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้กดดันให้มีการปลูกป่าเพื่อบรรเทาสภาพอากาศมานานแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ป่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วม ทำให้ฝนตกต่อเนื่อง ให้ความร่มรื่น ให้ความเย็น ดูดซับความร้อนที่กักตัวจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ปากีสถานจัดว่าเป็นประเทศพื้นที่ป่าย่ำแย่เต็มที เพราะมีต้นไม้ปกคลุมน้อยกว่า 6% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด

แต่ละปีพื้นที่ป่ากว่าพันเฮกตาร์ถูกทำลาย ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตัดไม้ที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน และการปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตรขนาดเล็ก

โครงการ 10 Billion Trees มีเงินทุนราว 7.5 พันล้านรูปีหรือ 46 ล้านดอลลาร์ มีเป้าหมายที่จะขยายความสำเร็จของโครงการ Billion Tree Tsunami ในแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา พื้นที่ที่รัฐบาลเริ่มปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปี 2014

ชาอิด ราชิด อาวาน ผู้อำนวยการโครงการของแคว้นปัญจาบ เปิดเผยว่า มีการปลูกต้นกล้าพื้นเมืองราว 30 ล้านต้นในปัญจาบตั้งแต่เริ่มโครงการ 10 Billion Tree Tsunami ซึ่งมีทั้งมัลเบอร์รี กระถิน มะรุม ในปีนี้คาดว่าจะปลูกได้ 50 ล้านต้น

ฤดูปลูกของปีนี้โดยปกติแล้วจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม แต่ผู้จัดการโครงการวางแผนที่จะขยายความริเริ่มขึ้นไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เพื่อให้มีการจ้างแรงงานยาวขึ้น

”เราสามารถรองรับแรงงานที่ตกงานได้ทั้งหมด รวมทั้งแรงงานที่ออกจากเมืองและหวนคืนหมู่บ้านใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนเหล่านี้เป็นแรงงานไม่มีทักษะ” อาวานกล่าว

ฟื้นตัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ราบ นาวาซ แห่ง WWF ในปากีสถาน ให้ความเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลเป็นแนวคิดที่ดีในการสร้างงานสีเขียวและทำให้คนมีงานทำ

แต่เตือนว่า การปลูกต้นไม้เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังจำเป็นที่จะต้องลงทุนเสริมความสามารถของเกษตรกรและชาวเมือง ให้ปรับตัวกับผลกระทบของโลกที่ร้อนขึ้น

“รัฐบาลควรเลือกที่จะใช้เงิน และเน้นไปที่การปรับตัวได้ภายใต้ทุกสถานการณ์” นาวาซกล่าว

แต่อัสลามมีความเห็นว่า “ความริเริ่มสร้างงานสีเขียวเป็นแนวทางที่จะช่วยแรงงานปากีสถานให้ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือ”

“สิ่งนี้ให้บทเรียนสำคัญกับเราว่า เมื่อลงทุนในธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติไม่เพียงคืนกลับให้เราแต่จะช่วยเราได้ในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา”

(1 ดอลลาร์ = 160.7500 รูปปากีสถาน)

ที่มา : Thomson Reuters Foundation News