ThaiPublica > เกาะกระแส > จาก “นักโทษล้นคุก” ถึงวิกฤติหลักนิติธรรม กับ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล”

จาก “นักโทษล้นคุก” ถึงวิกฤติหลักนิติธรรม กับ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล”

18 เมษายน 2024


วิเคราะห์ความล้มเหลวจากปัญหา “นักโทษล้นคุก” สู่ความสั่นคลอนหลักนิติธรรม “Rule of Law” กับ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ข้อเสนอ-ทางออกระบบยุติธรรมไทย

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ เดือนเมษายน 2567 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 284,560 ราย (เพศชาย 249,857 ราย และเพศหญิง 34,703 ราย) โดยจำแนกตามประเภทออกเป็น (1) นักโทษเด็ดขาด 216,721 ราย (2) ผู้ต้องขังระหว่าง 59,640 ราย (3) เยาวชนที่ฝากขัง 5 ราย (4) ผู้ถูกกักกัน 68 ราย และ (5) ผู้ต้องกักขัง 8,126 ราย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าคุยกับ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ สภาพปัญหา ตลอดจนทางออกและข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

จากผู้ต้องขังกว่า 2.8 แสนคน อาจารย์ปริญญาชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขจำนวน 284,560 ราย อยู่ที่อันดับ 8 ของโลก ขณะที่เรือนจำของประเทศไทยทั้งหมด 143 แห่งตามมาตรฐานแล้วรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 150,000 -160,000 คนเท่านั้น ดังนั้น หากจะกล่าวว่าเป็น “วิกฤติ” คงไม่ผิดนัก เนื่องจากจำนวนนักโทษทะลุศักยภาพในการรองรับผู้ต้องขังถึงเกือบเท่าตัว

ทว่า นี่เป็นเพียงปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น หากรากปัญหาที่แท้จริงคือระบบยุติธรรมไทย ซึ่งทำให้ปลายทางอย่าง “เรือนจำ” ติดกับดักนักโทษล้นคุก ยังไม่นับถึงคุณภาพชีวิต-ความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ รวมถึงความพยายามแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งยิ่งกลายเป็นปัญหาที่บานปลายมากขึ้น ส่วนต้นทางอย่างศาล อัยการ กระทั่งตำรวจ ก็ไม่เคยมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

กับดักนักโทษล้นคุก “ใช้โทษจำคุกเฟ้อเกินไป-ไม่ Corrections เป็นพลเมืองใหม่”

เมื่อผู้ต้องขังล้นคุกไปเป็นเท่าตัว กรมราชทัณฑ์ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยการระบายคนออกจากเรือนจำ วิธีการคือการให้ออกจากเรือนจำก่อนเวลาพ้นโทษ ด้วยการลดโทษจำคุกจากหลักเกณฑ์การเป็นนักโทษชั้นดี และชั้นเยี่ยม รวมถึงการพักโทษ และที่ทำมากที่สุดคือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปทีละหลายหมื่นคนในช่วงปลายปี ซึ่ง อาจารย์ปริญญา บอกว่า การให้คนออกจากคุกโดยเร็วไม่ใช่ปัญหา หากผู้ต้องขังได้กลับตัวกลับใจเป็นพลเมืองดีแล้ว เพราะหน้าที่ของคุกไม่ใช่แค่การลงโทษแต่คือการแก้ไขให้ผู้ที่เคยกระทำผิดให้เป็นพลเมืองดีก่อนออกเรือนจำ ไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำอีก เห็นได้จากชื่อภาษาอังกฤษของกรมราชทัณฑ์คือ Department of Corrections ซึ่งความหมายคือการแก้ไข แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัญหานักโทษล้นคุก กรมราชทัณฑ์จึงปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขนักโทษไม่ค่อยได้ผล ทำได้แต่เป็น Department of Punishment คือเน้นการลงโทษแบบจำคุก

“ชื่อภาษาไทยกับภาษาอังกฤษของกรมราชทัณฑ์ไม่ตรงกัน เพราะ ‘ทัณฑ์คือการลงโทษ’ ปัญหาคือเราใช้โทษจำคุกเฟ้อเกินไป และตัวเลขคนทำผิดซ้ำก็สูงถึงประมาณ 30% …ชื่อภาษาอังกฤษดีกว่า เราต้อง correction ด้วยเป้าหมายการคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อคุกไม่ล้น”

“ถ้านักโทษปรับเปลี่ยนความประพฤติเป็นพลเมืองดีได้แล้ว ก็ควรได้รับโอกาสออกสู่สังคมก่อนเวลาได้ คือได้รับการลดโทษหรือพักโทษได้ แต่เขาต้องกลับเป็นพลเมืองดีแล้ว การออกจากคุกเร็วกว่าที่ศาลกำหนดจึงต้องมีเงื่อนไขว่านักโทษได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ในทางปฏิบัติเรือนจำจะดูแค่ความประพฤติในเรือนจำ ว่าเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยม ไม่ได้ดูว่านักโทษปรับพฤติกรรมจริงแล้วหรือไม่ ถ้าออกมาจะเป็นพลเมืองดีได้จริงๆ หรือยัง”

เมื่อไม่ correction แต่ให้พ้นโทษออกมาแล้ว บางคนอาจกลับสู่สภาพแวดล้อมเดิม นำไปสู่พฤติกรรมเดิม และคนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ ทัศนคติของสังคมไทยยังมองว่า ไม่ควรรับคนมีประวัติอาชญากรเข้าทำงาน หรือไม่ควรให้โอกาสคนกลุ่มนี้ แม้สังคมยุคปัจจุบันจะให้โอกาสผู้เคยกระทำผิดมากขึ้น แต่สุดท้ายคนกลุ่มที่เคยติดคุกและไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อออกมาก็จะกลับสู่วงจรเดิม

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การพ้นโทษก่อนเวลา”…เมื่อกรมราชทัณฑ์ใหญ่กว่าศาล

อาจารย์ปริญญา ยังชี้ให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนของอำนาจในระบบยุติธรรมไทย โดยเฉพาะอำนาจการลดโทษของกรมราชทัณฑ์ แม้จะไม่เรียกว่า “พ้นโทษก่อนเวลา” แต่เรียกว่า “ออกจากเรือนจำก่อนเวลา” แต่ในทางปฏิบัติไม่ต่างกับพ้นโทษแล้ว ซึ่งตามหลักศาลเป็นผู้ตัดสินว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา และควรได้รับโทษอย่างไร

ส่วนกรมราชทัณฑ์เป็นผู้บังคับคดีจำคุกและกักขังตามคำพิพากษาของศาล หากจะให้มีการพ้นโทษก่อนเวลาได้ก็จะต้องเป็นอำนาจระดับเดียวกับอำนาจศาล

“การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปทีละหลายหมื่นคนก็เป็นเรื่องที่มีปัญหา เพราะกรมราชทัณฑ์ดูแต่ว่าเป็นนักโทษชั้นไหน ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก หรือชั้นดี ก็ได้รับการลดโทษ แม้กระทั่งโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ลดลงเป็นจำคุก 50 ปีโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อกรมราชทัณฑ์ขอก็จะได้รับการพระราชทานอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยนักโทษติดคุกกันจริงๆ ไม่ถึงครึ่งของเวลาจำคุกที่ศาลพิพากษาด้วยซ้ำ แม้กระทั่งศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริงๆ อาจจะแค่ 7 หรือ 8 ปีเท่านั้น”

“เลยกลายเป็นว่ากรมราชทัณฑ์ที่มีหน้าที่ correction แต่มีอำนาจลดโทษได้เองตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ นี่แปลว่ากรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีอำนาจแค่บังคับคดี แต่มีอำนาจเปลี่ยนคำพิพากษาได้ด้วย แม้ว่าจะต้องไปขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาแล้ว”

อาจารย์ปริญญา สรุปว่า ปัญหาที่ (1) คือ กรมราชทัณฑ์สามารถลดโทษเองได้ (2) ไม่มีการ correction และ (3) เมื่อปล่อยออกมาแล้วไม่มีกระบวนการตรวจสอบว่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่

“เราก็ต้องเห็นใจเขา (กรมราชทัณฑ์) ส่วนหนึ่งมาจากนักโทษล้นคุกมากเกินไป ทำให้ภารกิจอื่นทำได้ลำบาก พอคุกมันแน่น แค่หาปัจจัยสี่ให้ครบทุกมื้อก็ลำบากแล้ว จะมาสามารถแก้ไขเยียวยาได้สักเท่าไรกัน นึกดูถ้าผู้ต้องขังมีจำนวนน้อยลง เช่น 100,000 คน กรมราชทัณฑ์ก็จะมีเวลามากขึ้นในการแก้ไขเยียวยา มีกระบวนการเตรียมพร้อมก่อนพ้นโทษหรือติดตามหลังพ้นโทษ”

“แต่การแก้ต้องถูกจุด ไม่อย่างนั้นจะก่อปัญหามากขึ้น เช่น คนที่ศาลเห็นว่าเป็นอันตรายมากต่อสังคม ต้องกันจากสังคมตลอดไป ศาลก็จะลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ถ้าจะมีการให้โอกาสให้ลดโทษเป็นจำคุกเพราะเห็นว่าเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้แล้ว ก็ควรต้องกลับไปให้ศาลพิจารณา ไม่ใช่ดุลยพินิจแค่ภายในกรมราชทัณฑ์ ผมคิดว่ากรมราชทัณฑ์ต้องเลิกการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปแบบนี้ เพราะการอภัยโทษต้องเป็นเรื่องเฉพาะรายเฉพาะบุคคล ไม่ใช่อภัยโทษเป็นการทั่วไปเพื่อลดความแออัดของเรือนจำแบบนี้ เพราะทำให้กรมราชทัณฑ์ใหญ่กว่าศาล”

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แยกผู้เสพยาคือผู้ป่วย “คุกไม่ใช่การรักษา”

อาจารย์ปริญญา วิเคราะห์ปัญหานักโทษล้นคุกว่า ผู้ต้องขังกว่า 80% เป็นคดียาเสพติด แล้วส่วนใหญ่ในคดียาเสพติดก็เป็นแค่ผู้เสพ แต่ระบบยุติธรรมไทยก็แก้ปัญหาเพียงการ “ลงโทษ” ด้วยการจำคุก โดยไม่แยกแยะระหว่างผู้เสพกับผู้ค้า ทำให้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ วิธีการดังกล่าวยิ่งทำให้คุกล้น ผู้เสพก็หยุดเสพยาช่วงติดคุก แต่พ้นโทษออกมาก็กลับวงจรเดิม

“คุกไม่ใช่การรักษา แม้มันมีประโยชน์ที่เป็นการหักดิบโดยเอาออกจากภาวะเสพยา แต่เมื่อพ้นโทษเขาก็อาจจะกลับสู่พฤติกรรมเดิม ก็ต้องตั้งคำถามว่า การเสพยาควรเป็นความผิดทางอาญาที่ใช้โทษจำคุกเป็นหลักอยู่หรือไม่”

อาจารย์ปริญญา ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาผู้เสพยาของประเทศเนเธอร์แลนด์และโปรตุเกส ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าเป็นแค่ผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ขาย รัฐจะมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย แล้วเข้าโปรแกรมรักษา และสามารถเบิกยาจากสถานพยาบาลของรัฐหรือร้านขายยา โดยที่ไม่ต้องติดคุกให้คุกล้น

“วิธีแก้นี้ต้องใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ ตัดวงจรทางเศรษฐศาสตร์ เขาต้องประกอบอาชญากรรมเพื่อเอาเงินไปซื้อยา ยิ่งปราบมาก ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจที่ผิดให้กับผู้ค้ายาหรือผู้ผลิตยา เพราะยิ่งปราบมากยายิ่งหายาก ยิ่งราคาแพง ก็จะยิ่งไปเพิ่มแรงจูงใจให้พ่อค้ายาลักลอบผลิตลักลอบจำหน่าย เพราะแม้จะเสี่ยงแต่กำไรสูงจนคุ้มที่จะเสี่ยง ส่วนผู้เสพ พอราคายิ่งแพงก็ยิ่งต้องประกอบอาชญากรรม เพราะทำงานธรรมดาค่าแรงไม่พอซื้อยา”

“ถ้ามองเขาเป็นผู้ป่วย ก็ใช้เงินไม่มากในการรักษา ใช้โปรแกรมขึ้นบัญชีและมาเบิกยาได้…ถามว่าจะรักษาคนติดยาทั้งประเทศได้อย่างไร ทำเหมือนโควิดก็ยังได้ ให้ทุกจังหวัดมีโรงพยาบาลสนาม สำรวจเลยใครติดยาก็มาเข้าโรงพยาบาลสนามและรักษาจริงจัง แล้วจะไปขายใครถ้าเขาเบิกยาได้ ทำทีเดียวทั้งประเทศ หกเดือนปัญหาหมดได้เลยครับ”

คืนสิทธิให้ “ผู้ต้องขังระหว่าง” ด้วยหลัก Presumption of Innocence

อีกมุมมองการแก้ปัญหานักโทษล้นคุกคือ การแก้ปัญหาให้กลุ่มคนที่ไม่ควรติดคุก โดยกลุ่มที่ อาจารย์ปริญญา ชวนวิเคราะห์คือ “ผู้ต้องขังระหว่าง” (ระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา ระหว่างไต่สวน-พิจารณา และระหว่างสอบสวน) จำนวน 59,640 ราย คิดเป็น 20.9% ของผู้ต้องขังทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้คือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลยังไม่พิพากษาถึงที่สุด

แต่ผู้ต้องขังระหว่างกลับถูกปฏิบัติอย่างผู้กระทำความผิดที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว ซึ่งขัดกับหลัก presumption of innocence หรือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง

โดยบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

“เราปฏิบัติผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ผมถามว่า 59,640 คน ที่ยังเป็นแค่ผู้ต้องหาหรือจำเลย เราเอาไปขังรวมกับนักโทษได้อย่างไร คุณปฏิบัติกับเขาเป็นนักโทษ”

ในทางปฏิบัติต่างกันแค่สีชุดและทรงผม นักโทษเด็ดขาดชุดสีฟ้า ผมไม่เกิน 5 ซม. ผู้ต้องขังระหว่างชุดสีน้ำตาล ไว้รองทรงหรือทรงสุภาพ อย่างอื่นเหมือนกันหมด ทั้งเรือนนอน การกินอยู่ กระทั่งผู้ต้องขังระหว่างที่คดีมีข้อหาอัตราโทษสูง มาขึ้นศาลก็ใส่กุญแจเท้ามาแบบนักโทษ

“เรื่องนี้โทษกรมราชทัณฑ์อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะการที่คนกว่า 59,000 คนจะมาอยู่ในเรือนจำ ต้องมีหมายขังที่ออกโดยศาล จะเอาใครไปขังที่เรือนจำไหนต้องมีหมายขังที่ศาลออก ศาลทราบหรือไม่ว่าระหว่างตั้งข้อหาดำเนินคดี ผู้ต้องหา-จำเลย ที่ศาลยังไม่พิพากษา หรือยังสู้ต่อได้เพราะยังไม่ถึงที่สุด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองแล้วยังไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แล้วศาลท่านออกหมายขังให้เอาตัวเขาไปขังในเรือนจำรวมกับนักโทษเด็ดขาดได้อย่างไร”

“การที่ศาลออกหมายขัง ในชั้นตำรวจ อัยการหรือระหว่างการพิจารณา ศาลก็เห็นว่านี่คือหมายขัง ศาลก็ไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง คือเป็นการทำตามความเคยชิน เคยทำแบบนี้ก็ทำต่อไป ผมคิดว่าสังคมต้องตั้งคำถาม”

อาจารย์ปริญญา เสริมว่า เหตุผลเดียวที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัวคือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมีโอกาสหนีเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสาม ที่ว่า “การควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” หมายความว่าถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ศาลก็มีอำนาจไม่ให้ประกันตัว

แต่คำถามคือทำไมจึงออกหมายขังเอาตัวไปขังในคุก ซึ่งการถูกขังในคุกเป็นการลงโทษ นั่นคือศาลต้องพิพากษาแล้วเท่านั้น เราเอาคนไปลงโทษด้วยการขังคุกก่อนศาลพิพากษาได้อย่างไร

“กรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาคุกล้นด้วยการลดจำนวนนักโทษในคุกด้วยการลดโทษ ให้พักโทษ และขออภัยโทษเป็นการทั่วไปทีละหลายหมื่นคนซึ่งเกิดปัญหาการทำผิดซ้ำ และกรมราชทัณฑ์ใหญ่กว่าศาลดังที่ผมกล่าวไปแล้ว”

วิธีการที่ถูกต้องและแก้ปัญหาได้พร้อมกันคือ ต้องแยก ‘ผู้ต้องหา’ กับ ‘จำเลย’ ออกมาจาก ‘นักโทษเด็ดขาด’ คือให้เอาตัวผู้ต้องหาและจำเลยที่ศาลไม่ให้ประกันตัวไปขังที่อื่นที่ไม่ใช่คุก แค่นี้ปัญหาก็เบาลงไปเยอะแล้ว

เพราะเรือนจำจะมีคนน้อยลงทันทีประมาณหกหมื่นคน เหลือแค่ประมาณสองแสนคน ซึ่งตามระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์สามารถทำได้แล้ว แต่ยังไม่มีการทำกัน

อาจารย์ปริญญา เสนอว่า การจะแก้ปัญหาผู้ต้องขังระหว่างต้องแก้ที่ภาพใหญ่คือ เปลี่ยนวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยให้เป็น “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง และทำให้การประกันตัวเป็นเรื่องหลัก การขังเป็นเรื่องยกเว้น

ดังนั้น คำว่า “การปล่อยชั่วคราว” ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ต้องเปลี่ยนเป็น “ขังชั่วคราว” และถ้าทำได้ จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำจะลดลง 20% ทันที

ไทยยังเปลี่ยน Presumption of Guilt เป็น Presumption of Innocence ไม่ได้

“ก่อนหน้านี้เพียงแค่ปีเดียว พอตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือแล้วผู้ต้องหาจะเป็นอาชญากรทันที จนกว่าศาลจะยกฟ้อง เรื่องนี้เพิ่งแก้ไขสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว เดิมระเบียบตำรวจคือให้เอาชื่อและประวัติของผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากรทันที กว่าผมจะแก้สำเร็จใช้เวลา 5 ปี สตช. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ยอมออกระเบียบใหม่ ให้ศาลพิพากษาแล้วค่อยเป็นอาชญากร อันนี้แก้ต้นทางที่ตำรวจสำเร็จแล้ว แต่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ยังไม่ใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ยังไม่ได้แก้ เพราะเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมันแก้ยาก”

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่มาตรา 29 ให้หลักประกันการคุ้มครองประชาชนทุกคนในฐานะผู้บริสุทธิ์ หรือสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ตามหลัก presumption of innocence แต่สภาพความเป็นจริงไม่เป็นตามหลักการข้างต้น เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ระบบยุติธรรมไทยกลับทำในทางตรงกันข้ามคือ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด หรือ presumption of guilt

อาจารย์ปริญญา เล่าว่า ประมวลกฎหมายอาญา ประกาศใช้ปี พ.ศ. 2477 พร้อมกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด จากนั้นอีก 15 ปีถัดมา หรือปี พ.ศ. 2492 หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จึงถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่เคยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาจนทุกวันนี้

“คำถามคือ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ทำไมไม่ไปแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เหตุผลก็คือเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 บังคับใช้แค่ 2 ปีก็ถูกฉีกทิ้งโดยรัฐประหาร พ.ศ. 2494”

ดังนั้น หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ก็เลยเป็นหลักแบบครึ่งๆ กลางๆ ยังคงทิ้งร่องรอยปัญหาไว้ โดยเฉพาะคำว่า “ปล่อยชั่วคราว” หรือที่คนเรียกว่า “ประกันตัว”

อาจารย์ปริญญา อธิบายว่า โครงสร้างของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคือ การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด จับผู้ต้องหามาก็โยนเข้าคุกไว้ก่อน ขอประกันตัวถึงเรียกว่า “ปล่อยชั่วคราว” ซึ่งความหมายคือ การขังเป็นเรื่องหลัก การปล่อยเป็นเรื่องชั่วคราวหรือเรื่องยกเว้น เป็นเรื่องของผู้ต้องหาและจำเลยที่ต้องไปขอปล่อยชั่วคราว แล้วศาลจะให้ไม่ได้ก็จะฟังตำรวจเป็นหลัก

“มันผิดไปหมด ผิดตั้งแต่เอาไปขังรวมกับนักโทษ จนกว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องถึงออกจากคุกได้ แต่คุณเป็นอาชญากรและมีประวัติอาชญากรไปแล้วตั้งแต่ตั้งข้อกล่าวหา การจะขอประกันตัวก็เป็นเรื่องที่เราต้องไปขอศาลเอง และต้องวางเงินประกันหรือหลักประกันว่าจะไม่หนี”

“ถ้าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ การขังต่างหากที่เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะจะหลบหนีจึงต้องขัง แต่ที่เราเรียก ‘ปล่อยชั่วคราว’ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราเป็นสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด”

หลังจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2494 สู่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 ซึ่งได้นำหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์กลับมาอีกครั้ง ปรากฏว่าหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพียง 3 ปี กลับถูกฉีกทิ้งโดยเหตุการณ์รัฐประหารปี พ.ศ. 2514 จากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ก็นำหลักนี้กลับมาใหม่ รัฐธรรมนูญ 2517 ก็ถูกฉีกทิ้งก็ซ้ำรอยเหมือนอดีตจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2519

หลังจากนั้น แม้รัฐธรรมนูญถาวรทุกฉบับจะนำหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์กลับมาทุกครั้ง แต่เราก็ลืมกันไปแล้วว่าต้องไปแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เปลี่ยนมาเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ด้วย ซึ่งเราก็ไม่เคยทำจนบัดนี้ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการล้มลางรัฐธรรมนูญจึงทำให้โครงสร้างแบบสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดอยู่กับประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้

กฎหมายที่มีโทษอาญาจำคุกของไทยมี 300-400 ฉบับ

อาจารย์ปริญญา กล่าวต่อว่า เป้าหมายหลักของโทษจำคุกคือ การเป็นบทลงโทษให้คนหวาดกลัว เพื่อไม่ให้คนกระทำความผิด แต่ประเทศไทยใช้โทษจำคุกเฟ้อมากเกินไป ทั้งความผิดสถานเบาและสถานหนักก็ลงเอยด้วยโทษจำคุก ทั้งที่คุกควรมีไว้สำหรับความผิดหนักเท่านั้น

“ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ประมาณ 1,000 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่มีโทษอาญาจำคุก ตัวเลขเป๊ะๆ ยังไม่มีใครวิจัย แต่คาดว่ามีประมาณ 300 ถึง 400 ฉบับที่มีโทษอาญาจำคุก โทษจำคุกเฟ้อ หลายอย่างจำคุกทำไม การจำคุกมันมีปัญหาหลายอย่าง หนึ่ง คุณสร้างภาระให้ตัวเอง กรมราชทัณฑ์ต้องดูแลคนความผิดใหญ่ ซึ่งต้อง correct แก้ไขเยียวยาพฤติกรรม เขามาต้องมีโปรแกรมดูแลจนกระทั่งพ้นโทษและไม่กลับมาใหม่ มันคือหน่วยงานที่แก้ไขคนทำผิดพลาดในสังคม”

“คุกมีเพื่อให้คนหวาดกลัว ไม่ทำผิด คุกคือการกักขังเสรีภาพ เป็นบทลงโทษแต่โทษจำคุกถึงวันหนึ่งต้องออกมา ก็ต้อง correction ด้วย…เราจึงมีโทษจำคุกเฟ้อมากเกินไป ในความผิดซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องจำคุก”

ข้อเสนอ “บริการสังคม” บทลงโทษ-แก้ไข กลุ่มผู้ต้องกักขัง

เห็นได้จาก ‘กลุ่มผู้ต้องกักขัง’ จำนวน 8,126 ราย ซึ่งต้องโทษกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับและไม่มีทรัพย์สินบังคับแทนค่าปรับภายใน 30 วัน ซึ่งอาจกล่าวกว้างๆ ได้ว่า หากไม่มีเงินก็ต้องติดคุกแทน

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปริญญา อธิบายว่า ถ้าคิดตามหลักเหตุผลจะพบว่า โทษคือค่าปรับ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนวิธีลงโทษให้เป็นการกักขังแทน ซึ่งสะท้อนว่า ประเทศไทยใช้โทษจำคุกพร่ำเพรื่อ กระทั่งไม่มีเงินจ่ายค่าปรับยังเอามาขัง

“เดิมที 70 บาทต่อวัน สมมติโทษปรับ 7,000 บาท ก็ติดคุก 100 วัน ต่อมาเพิ่มเป็น 200 บาทต่อวัน ปัจจุบันเป็น 500 บาทต่อวัน ถ้าโทษปรับ 10,000 บาท ก็ติดคุก 20 วัน เพื่อทำให้คนติดคุกน้อยลง ตรรกะผิดตั้งแต่ต้น เพราะความผิดของเขาคือโทษปรับ แล้วเอาเขามาขังทำไม ข้อนี้ต้องแก้กฎหมาย”

อาจารย์ปริญญา กล่าวต่อว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ถ้าผู้ต้องโทษค่าปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ร้องขอและศาลเห็นสมควร และผู้นั้นเต็มใจ ศาลอาจให้ทำงานบริการสังคมหรือบริการสาธารณะแทนการจ่ายค่าปรับได้ ทั้งนี้ จำเลยจะต้อง “ร้องขอ” เท่านั้น เพราะโดยปกติศาลจะไม่ค่อยถามว่าจะอยากจะบริการสังคมหรือไม่

“ผมถามหน่อย มีใครอยากติดคุกบ้าง ศาลได้ถามเขาไหมเขาอยากบริการสังคมหรือเปล่า เมื่อเจ้าตัวไม่รู้ก็ไม่ได้ขอ เมื่อไม่ขอก็ติดคุก ศาลควรมีหน้าที่ต้องถาม จำเลยจะยอมไหม บริการสังคมแทน มีใครบ้างไม่ยอม แต่มันไม่มีระเบียบว่าศาลต้องถาม และศาลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถาม”

นอกจากนี้ อาจารย์ปริญญา ยังชี้ให้เห็นช่องว่างทางกฎหมายเรื่องการกักขังแทนค่าปรับว่า กฎหมายจะกำหนดให้โทษกักขังแทนค่าปรับ สูงสุดเต็มที่ 2 ปีเท่านั้น ผลคือ ในคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มีโทษปรับเป็นล้านๆ บาท ผู้กระทำผิดจำนวนไม่น้อยจะยอมติดคุกแทนเสียค่าปรับ เพราะยังไงก็ไม่เกิน 2 ปี ทำให้เมื่อพ้นโทษจากคุกก็ยังคงมีเงินใช้อยู่ ขณะที่คนที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องติดคุกโดยปริยายเพราะไม่มีทางเลือก

อาจารย์ปริญญา จึงเสนอววิธีแก้เรื่องกักขังแทนค่าปรับ 2 ข้อ คือ (1) แก้กฎหมายให้เลิกกักขังแทนค่าปรับ เปลี่ยนเป็นบริการสังคมเท่านั้น และ (2) กรณีที่ไม่แก้กฎหมาย ให้จำเลยไปขอศาล โดยให้ศาลออกระเบียบว่าก่อนจะพิพากษาสั่งกักขังใครเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ให้ถามเขาก่อนว่าจะบริการสังคมไหม แล้วระเบียบศาลที่ยังมีการกีดกันการบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับ ก็ควรต้องแก้ไขเปลี่ยนให้เป็นส่งเสริม

“แนวคิดคือทำผิดอะไรให้บริการสังคมเรื่องนั้น เช่น เมาแล้วขับ คุณไปบริการสังคมที่โรงพยาบาล ไปดูว่าผู้ป่วยหรืออุบัติเหตุจากที่เมาแล้วขับชน ไปบริการไปดูแลคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิตเพราะอุบัติเหตุเมาแล้วขับ หรือคนตัดไม้ทำลายป่า ให้ไปปลูกป่า ทิ้งขยะไม่เป็นที่ให้เก็บขยะ นี่คือการเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ต้องขังคุก เป็นการลงโทษพร้อมกับปรับพฤติกรรมด้วยการบริการสังคมในเรื่องที่ทำผิด ซึ่งไม่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องคนจนคนรวย”

จากความอิสระ สู่ความไร้เอกภาพของระบบยุติธรรมไทย

จากปัญหาทั้งหมดทั้งมวล อาจารย์ปริญญา ถอดบทเรียนว่า “ระบบยุติธรรมไทยขาดการบูรณาการและประเมินผล” คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตินักโทษล้นคุก ซึ่งเป็นปลายเหตุของภาพรวมปัญหาทั้งระบบ

ปกติแล้ว ตัวละครหลักๆ ในระบบยุติธรรมไทย แบ่งกว้างๆ ออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ นอกจากนี้อาจมีตัวละครอื่นๆ เช่น กรมควบคุมประพฤติ หรือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ

“กระทรวงยุติธรรมดูแลอะไรบ้างที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจก็ไม่ได้ดู อัยการก็อิสระ ศาลก็อิสระ ดูแลแต่คุกกับการคุมประพฤติ แค่ปลายทาง มันขาดคนทำหน้าที่บูรณาการและประเมินผลทั้งกระบวนการ”

เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระบบยุติธรรมที่ดี อาจารย์ปริญญา บอกว่า “กระทรวงยุติธรรมประเทศไหนก็ดูแลทั้งกระบวนการ ของไทยดูแค่คุก ทุกคนต้องการเป็นอิสระ แต่ก่อนกระทรวงยุติธรรมดูทั้งหมดกระบวนการ ศาลเป็นที่แรกที่แยกออกมา เป็นข้าราชการยุติธรรม ต่อมาอัยการขอแยก ตำรวจอยู่กับกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ต้น”

“เราทุกคนต้องการเป็นอิสระแบบต่างคนต่างอยู่ เมื่อส่งงานให้ ก็ส่งต่อ จบ ไม่มีกระบวนการบูรณาการและฟีดแบ็กมาแก้ปัญหา กระทรวงยุติธรรมต้องทำหน้าที่นี้ เพราะเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกับจำนวนนักโทษในคุก”

ด้านการประเมินผล อาจารย์ปริญญา อธิบายว่า ถ้าระบบยุติธรรมมีการประเมินผลที่ดี ภาครัฐต้องตกใจกับจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว และถ้ามีการประเมินผลจะเกิดการตั้งคำถามว่า ระบบยุติธรรมไทยผิดตรงไหน ผิดที่ตัวกฎหมาย การบังคับใช้ หรือการส่งฟ้อง ศาล หรือกรมราชทัณฑ์ แล้วไปแก้ตรงนั้น จากนั้นจำนวนผู้ต้องขังและนักโทษก็จะลดน้อยลง

อาจารย์ปริญญา กล่าวต่อว่า แม้จะมีกลไกที่เรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ” มีอำนาจภายใต้พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และมีหน้าที่ประเมินผลและบูรณาการ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เป็นอย่างนั้น โดย อ.ปริญญา เสนอตัวชี้วัดประเมินผลกระบวนการยุติธรรม 4 ประการ คือ

    1. จำนวนนักโทษในคุก ยิ่งมากแสดงว่ายิ่งมีปัญหา มีการใช้โทษจำคุกมากไป และแปลว่าการทำผิดมีมากด้วย
    2. ฐานะทางเศรษฐกิจของนักโทษในคุก ถ้าฐานะไม่ดีมีมาก หรือมีแต่คนจนแปลว่ากระบวนการยุติธรรมเหลื่อมล้ำมาก เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีเงินจ้างทนายความเก่งๆ
    3. ระยะเวลาของคดีที่ล่าช้าหรือยาวนาน เพราะยิ่งยาวนานยิ่งไม่เป็นธรรม ยิ่งยาวนานค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูง
    4. ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในคดีสูงแค่ไหน ยิ่งสูงแปลว่ายิ่งเหลื่อมล้ำ คนจนยิ่งเสียเปรียบ ยิ่งเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม

“เราต้องมีการบูรณาการ ประเมินผล และทำทุกปี โดยใช้ตัวชี้วัด 4 ตัวนี้ ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ไปแก้กฎหมาย ตำรวจบังคับใช้ไม่ดีก็แก้ที่ตำรวจ อัยการดูคดีหรือยังว่าควรฟ้องไหม ควรติดคุกไหม มีมาตรการไกล่เกลี่ยก่อนถึงศาลไหม ศาลมีช่องทางอื่นไหม อย่าเอาไปขังคุกอย่างเดียว ถ้าแค่ปรับก็บริการสังคม-คุมประพฤติ ราชทัณฑ์ก็มาแก้ด้วย ตัวเลขทำผิดซ้ำต้องให้น้อยลง ใส่เป็นตัวชี้วัดเข้าไป และระเบียบของราชทัณฑ์ต้องมีการปรับปรุง และต้องถูกตั้งคำถาม”

ระบบยุติธรรมไทยเริ่มตั้งแต่ตำรวจส่งฟ้อง สู่อัยการ และศาล แต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้แต่ “จำคุก” หลายเรื่องสามารถใช้มาตรการอื่น เช่น จ่ายค่าปรับหรือบริการสังคม ฯลฯ เพื่อให้คนถูกขังน้อยลงที่สุด ตามจุดยืนของ อาจารย์ปริญญา ที่ว่า “ความผิดสถานเบาไม่ควรขังคุก” และ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน”