ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่3)

ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่3)

29 เมษายน 2024


อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ต่อจากตอนที่2

ระบบการเก็บภาษีคาร์บอนที่ผมเสนอให้แต่ละประเทศเก็บและมีการปรับที่การนำเข้าส่งออก ยังไม่ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งระหว่างประเทศทั้งทางเรือและทางอากาศ เพราะปริมาณเชื้อเพลิงที่เรือหรือเครื่องบินใช้ไปในระหว่างทางจะไม่ต้องจ่ายภาษีในระบบที่ออกแบบไว้ถึงตอนนี้

และนี่เองที่เป็นที่มาของข้อเสนอผมอีกส่วนนึง คือการเก็บภาษีจากคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงที่ถูกใช้ไประหว่างเดินทางจากประเทศนึงไปอีกประเทศนึง


ทำได้ยังไง ?

เริ่มจากการสร้างองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่นี้ครับ ตอนนี้ ขอตั้งชื่อว่า Cross Border Organization for Greenhouse Gas Tax หรือ CBOGT ไปพลางๆก่อนก็แล้วกัน

เมื่อเครื่องบินบินเข้ามาในประเทศใด ก็จะมีการเติมน้ำมันก่อนจะบินกลับออกไป ผมก็ขอเสนอให้มีการคิดภาษีจากน้ำมันที่เติมนี่เพิ่มเข้าไปเลยตามอัตราภาษีสากลที่จะตกลงกัน และให้มีการส่งเอกสารเพื่อรายงานปริมาณน้ำมันที่เติมและภาษีที่เก็บได้ ไปให้ที่ CBOGT ด้วยทางระบบออนไลน์ทันที และเมื่อเครื่องบินลงจอดในอีกประเทศนึง ก็จะรายงานปริมาณน้ำมันคงค้างในถังและที่ใช้ไป ส่งไปให้ที่ CBOGT ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าจำนวนที่ใช้ไป ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ อย่างไร

และประเทศที่สนามบินนั้นๆเติมน้ำมันให้ ก็มีหน้าที่ส่งเงินภาษีที่เก็บได้นี้ไปยังที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะได้อธิบายกันต่อไป

เรือเดินสมุทรที่เดินทางระหว่างประเทศทั้งหมดก็ต้องทำแบบเดียวกัน โดยมีข้อยกเว้นให้เพียงกลุ่มเดียวที่ผมเสนอให้เก็บภาษีในอัตราเพียง 10% ของอัตราสากล นั่นคือเรือประเภทที่ขนส่งสินค้าอาหารแบบเทกอง (Bulk shipment) เช่นเรือที่ขนส่งธัญพืชต่างๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อลดผลกระทบกับราคาอาหาร ซึ่งอาจทำให้ผู้คนในประเทศที่จนๆอยู่แล้วต้องอดอยากมากกว่าเดิม

นอกจากภาษีคาร์บอนในส่วนของเชื้อเพลิงแล้ว ยังมีภาษีคาร์บอนอีกส่วนนึงที่มาจากการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์(N2O) ที่เกิดจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ของเครื่องบินและของเรือเดินสมุทร การปล่อยก๊าซมีเทนของเรือเดินสมุทรบางชนิดโดยเฉพาะที่ใช้ก๊าซมีเทนเป็นเชื้อเพลิง เช่นเรือขน LNG และส่วนของหมอกควันไอน้ำหลังเครื่องบินที่เกิดไอเสียของเครื่องเวลาที่บินผ่านอากาศที่ชื้นและเย็น ซึ่งจะกักเก็บความร้อนที่สะท้อนจากผิวโลกไว้ได้ดีมาก ช่วงเร่งภาวะโลกร้อนมากกว่าตัวก๊าซเรือนกระจกที่เครื่องบินปล่อยออกมาเองถึงสามเท่า ซึ่งส่วนนี้ทางสายการบินและสายการเดินเรือ มีหน้าที่จ่ายภาษีส่วนนี้ตรงไปที่ประเทศต้นสังกัดของบริษัทของตน ตามเส้นทาง ชนิดของเครื่องยนต์ ชนิดของน้ำมันที่ใช้ และจากอุปกรณ์วัดที่ติดไว้ที่ปล่องไอเสียโดยเฉพาะ

เงินภาษีทั้งหมดที่เก็บได้นี้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายเล็กน้อยในการบริหารงานและการสร้างระบบดาวเทียม ระบบข้อมูลและการวิจัยต่างๆให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ก็จะเอาไปเฉลี่ยจ่ายให้กับประเทศต่างๆที่มีการดูดซับ CO2 มากกว่าศูนย์ตามที่อธิบายไปในตอนที่แล้ว

ผมคำนวนคร่าวๆ ถ้าเก็บภาษีตรงนี้ที่ $21 ต่อ CO2 หนึ่งตัน ก็จะเก็บเงินได้ราว $59,000 ล้านเหรียญ หรือ 2,183,000 ล้านบาทต่อปี

ถ้าบังเอิญมีเพียง 50 ประเทศที่มีการดูดซับ CO2 มากกว่าศูนย์ในปีไหน และค่า CO2 ที่ดูดซับทั้งหมดของ 50 ประเทศนั้นรวมกันอยู่ที่ 2,400 ล้านตันต่อปี และค่าใช้จ่ายต่างๆขององค์กร CBOGT อยู่ที่ปีละ $300 ล้านเหรียญ ก็จะคำนวนส่วนที่จะแบ่งจ่ายได้ที่ $24 ต่อ CO2 หนึ่งตันในปีนั้น ถ้าประเทศไหน มี net CO2 ที่ดูดซับได้อยู่ที่ 10 ล้านตันในปีนั้น ทาง CBOGT ก็จะประสานให้เขาได้รับเงินช่วยเหลือ $240 ล้านเหรียญในปีถัดไป ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย

โดยประเทศที่เก็บภาษีได้ก็จะมีสิทธิเลือกว่าจะโอนเงินส่วนที่ตนเก็บได้นี้ไปให้ประเทศไหน อย่างไร แล้วแจ้งหลักฐานการโอนให้ทาง CBOGT ทราบ เงินส่วนที่ไม่ได้โอนตามกำหนดเมื่อถึงเวลา ก็จะมีค่าปรับและดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เพื่อป้องกันการเบี้ยว แน่นอนว่า ประเทศส่วนใหญ่ก็จะจ่ายเงินคืนให้กับตนเองก่อน ถ้าป่าไม้ของประเทศตนดูดซับ CO2 ไว้มากกว่าปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยออก แต่ถ้ามีส่วนที่เหลือ ก็จะโอนให้กับประเทศที่ใกล้ชิดหรือเป็นพันธมิตรต่างๆเป็นลำดับถัดมา แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องโอนให้กับประเทศอื่นที่อยู่ในรายการที่ยังไม่ได้รับเงินที่ควรได้ มิฉะนั้น ก็จะต้องแบกรับค่าปรับและดอกเบี้ยเพิ่มทุกเดือน

ตรงนี้ จะเป็นแรงจูงใจที่สูงพอสมควรสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อย ที่จะพยายามดูแลป่าไม้ของตัวเองให้ดีกว่าเดิม และดูแลการปล่อยก๊าซมีเทนในประเทศของตนไปพร้อมๆกันด้วยมาตรการต่างๆ

ผมเสนอว่า อัตราภาษีนี้ ควรจะถูกปรับขึ้นทุกปี อย่างน้อยปีละ $10/tCO2 (ซึ่งเทียบเท่ากับ $30/ton ของน้ำมัน จากราคาน้ำมันเครื่องบินที่ตอนนี้อยู่ที่ $700/ton และราคาน้ำมันเตากำมะถันสูงที่ $550/t) และเร่งเป็น $20/tCO2 หลังจากเริ่มใช้ไปได้ 5 ปี โดยกำหนดกันไว้ตั้งแต่แรกเลย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาปรับตัวแต่ก็ต้องลงมือปรับตัวกันทันที และการทำอย่างนี้ จะทำให้เรามีเงินจำนวนมากพอที่จะเป็นแรงจูงใจให้มีการรักษาป่า และลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงอย่างรวดเร็วได้ทั่วโลก นอกจากนั้น ราคาค่าโดยสารและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่แพงขึ้นจากการเก็บภาษีคาร์บอนนี้ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนนี้ลง และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยโดยอัตโนมัติครับ

สำหรับเรื่องก๊าซไนตรัสออกไซด์ หรือ N2O ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่า CO2 ถึง 265 เท่า (เทียบแบบกิโลกรัมต่อกิโลกรัม) ก๊าซนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากขบวนการย่อยสลายของดินที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนค่อนข้างสูงใน โดยแบคทีเรียที่มีในธรรมชาติจะแปลงธาตุไนโตรเจนนี้ส่วนนึงให้กลายเป็น N2O

ส่วนที่เหลือก็มาจากการเผาไหม้ในที่ๆมีอุณหภูมิสูง เช่นโรงไฟฟ้า หรือ โรงงานอุตสาหกรรมและในเครื่องยนต์ต่างๆ ซึ่งขบวนการเผาไหม้จะเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนซึ่งมีอยู่ในอากาศอยู่แล้วเกือบ 80% ให้ทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศ 20% ให้กลายเป็น N2O จำนวนนึงขึ้นมา (และจริงๆก็ทำให้เกิดก๊าซอื่นด้วยอย่าง NO และ NO2 ซึ่งก็เป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างปรากฏการณ์ฝนกรดด้วย แต่ก๊าซพวกนั้นไม่ได้เป็นก๊าซเรือนกระจก)

การวัดปริมาณ N2O ที่ผลิตมาจากพื้นดินหรือจากโรงปุ๋ยเป็นเรื่องทำได้ยากมาก ถ้าจะควบคุมจริงๆก็ทำได้เพียงทางอ้อมคือการเก็บภาษีจากปุ๋ยไนโตรเจนในสูงขึ้นเพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น (จะได้เหลืออยู่ในดินให้แบคทีเรียมาย่อยน้อยลง) ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับการผลิตอาหารได้ และนอกจากนี้ การเก็บภาษีคาร์บอนที่ผมเสนอ ก็จะมีผลกระทบกับราคาปุ๋ยไนโตรเจนอย่างปุ๋ยยูเรียอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น (เพราะต้องปล่อยก๊าซ CO2 อย่างน้อย 0.9 กิโลกรัม เพื่อผลิตปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม) แถมยังมีค่าขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นมาด้วย ผมจึงไม่ได้เสนอให้ทำอะไรเพิ่มในส่วนนี้อีก

แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีการวัดปริมาณก๊าซ N2O นี้ที่ปล่องไอเสียอยู่แล้ว แต่ละประเทศสามารถเก็บภาษีจากปริมาณก๊าซ N2O ที่ปล่อยออกมาได้เลย ตามอัตราภาษีคาร์บอนที่กำหนดไว้ภายในประเทศ คูณกับ 265

ส่วนเครื่องยนต์ในรถยนต์หรือเครื่องจักรขนาดเล็กนั้น มีมากมายเกินกว่าที่จะตามไปเก็บภาษีได้หมด ผมจึงไม่ได้เสนอให้ไปตามเก็บภาษีเหล่านั้น แต่เสนอให้ใช้วิธีควบคุมด้วยกฏหมายการดูแลมาตรฐานเครื่องยนต์แทน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

จากทั้ง 3 ตอนนี้ ก็น่าจะครอบคลุมระบบภาษีคาร์บอนที่ผมได้คิดไว้ทั้งหมด ตอนถัดไป ผมจะอธิบายถึงลำดับขั้นตอนที่ผมคิดว่าเราควรทำเพื่อให้เกิดระบบนี้ขึ้น และผลที่น่าจะเกิดขึ้นถ้าได้มีการทำตามที่ผมเสนอ และทำไมมันถึงน่าจะดีกว่าวิธีที่ประเทศส่วนใหญ่ (รวมถึงไทยด้วย) กำลังพยายามผลักดันอยู่ในตอนนี้ครับ