ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > “Young Makers Contest” หนุนเยาวชนรุ่นใหม่สร้าง “นวัตกรรม” สู่เมกเกอร์เนชั่น เมืองแห่งนักพัฒนา

“Young Makers Contest” หนุนเยาวชนรุ่นใหม่สร้าง “นวัตกรรม” สู่เมกเกอร์เนชั่น เมืองแห่งนักพัฒนา

20 กุมภาพันธ์ 2019


เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์เยาวชนสายสามัญและอาชีวะโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest ปีสาม”

ประกาศผลและมอบรางวัลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับนักเรียนผู้ชนะโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ “Enjoy Science: Young Makers Contest” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นที่ 3 ภายใต้หัวข้อ Green Innovation หรือ นวัตกรรมโลกสีเขียว โดยผู้ชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ โรงเรียนสตรีพัทลุง จากผลงาน “หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ” ส่วนผู้ชนะเลิศสายอาชีวะ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จากผลงาน “Clean Oyster” เครื่องทำความสะอาดหอยนางรม

เยาวชนผู้ชนะเลิศการประกวด “Young Makers Contest ปีสาม” ในสายสามัญและสายอาชีวะ

ทั้งสองทีมผู้ชนะต่างได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินรางวัลทีมละ 5 แสนบาท แต่ที่มากกว่านั้นคือการได้รับโอกาสอันสุดแสนพิเศษจากผู้สนับสนุนใจดี ให้น้องๆเยาวชนบินลัดฟ้าไปดูงาน Maker Faire Bay Area ต้นตำรับงาน Maker Faire ถึงซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีทีมนักประดิษฐ์นวัตกรรมตัวน้อย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งอีก 2 ทีม ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 6 หมื่นบาท ทีมรองชนะเลิศอันดับสองอีก 2 ทีม ได้รับเงินรางวัลทีมละ 3 หมื่นบาท รวมทั้งทีมขวัญใจกรรมการผู้ตัดสินอีกสองทีม ได้รับเงินรางวัลทีมละ 1 หมื่นบาท

ผลงานชนะเลิศสายอาชีวะ “Clean Oyster”
โดย นายนูรุดดีน เจะปี (ซ้าย) และนายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ (ขวา) จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี

“วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์” นักศึกษา ปวส. 2 ตัวแทนทีมวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เล่าถึงเหตุผลในการประดิษฐ์เครื่อง Clean Oyster ว่า หอยนางรมเป็นอาหารขึ้นชื่อของ จ.สุราษฎร์ธานี แต่อีกด้านหนึ่งมีแพทย์ออกมาเตือนว่าการกินหอยนางรมดิบอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจ ไม่กล้าซื้อหอยนางรมมากิน ทีมของเราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้ผู้บริโภคกลับมากล้าซื้อกล้ากินหอยนางรมอีกครั้ง

ในที่สุดจึงคิดประดิษฐ์ทำเครื่องล้างหอยนางรมนี้ขึ้นมาเพื่อลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โดยใช้วิธีธรรมชาติตามวัฎจักรชีวิตของหอยนางรม ใช้น้ำจากทะเลมาทำความสะอาด ดึงเมือกและของเสียหรือแบคทีเรียออกด้วยเครื่องโปรตีนสกิมเมอร์ ส่วนน้ำที่ใช้แล้วยังสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ และสามารถนำหลักการประดิษฐ์นี้ไปใช้ในภัตตาคารอาหารซีฟู้ดได้ด้วย

เครื่อง Clean Oyster จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี

วัฒนพงศ์ บอกว่า เขาและเพื่อนร่วมทีมภูมิใจและดีใจมากที่ประดิษฐ์นวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาจนได้รับรางวัลชนะเลิศ ขณะที่ส่วนตัวมีความผูกพันกับโครงการ Young Makers Contest มาตั้งแต่ซีซั่นแรกและซีซั่นที่สอง แต่ไม่มีโอกาสได้ลงแข่งขัน จนกระทั่งมาถึงซีซั่นนี้ได้มีโอกาสลงแข่งขัน และตั้งใจทำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ร่วมกับเพื่อนๆออกมาให้ดีที่สุด จนประสบผลสำเร็จ

ผลงานชนะเลิศสายสามัญ “หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ”
โดยนายสุรศักดิ์ ฟองหิรัญศิริ (ซ้าย) และ นายมานพ คงศักดิ์ (ขวา) จากโรงเรียนสตรีพัทลุง

เช่นเดียวกับ “มานพ คงศักดิ์” นักเรียนชั้น ม.6 ตัวแทนผู้ชนะจากโรงเรียนสตรีพัทลุง เล่าว่า ทีมได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ เช่น คราบน้ำมัน โดยออกแบบหุ่นยนต์ให้มีลักษณะคล้ายเรือที่ลอยบนผิวน้ำ มีกลไกเครื่องจักรที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและเศษโลหะเหลือใช้ ในการช่วยขจัดคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหุ่นยนต์ขจัดคราบดังกล่าวยังเป็นแบบจำลอง แต่ก็สามารถนำไปขจัดคราบสกปรกได้จริงตามแหล่งน้ำ หรือ ลำคลองที่หุ่นยนต์สามารถลงไปทำงานได้ แต่ยังไม่สามารถใช้งานในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลแรงได้ ซึ่งจะได้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต

หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง

“ผมและเพื่อนๆอยากเป็นเมกเกอร์ครับ เพราะเป็นพวกชอบสงสัย ชอบสังเกตตั้งแต่เด็กๆ ผมไม่เคยซื้อของเล่นเลย แต่ชอบประดิษฐ์ของเล่นเอง” น้องมานพกล่าว นี่เป็นความรู้สึกภูมิใจของน้องๆ “เมกเกอร์” หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรมรุ่นใหม่ระดับเยาวชน ที่ได้รับแรงบันดาลใจและโอกาสจากการประกวด Young Makers Contest ปี 3 หนึ่งในกิจกรรมดีภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

“นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ตลอด 56 ปี ที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยได้มุ่งมั่นในการพัฒนาคนผ่านการสนับสนุนทางการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัทฯมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, และคณิตศาสตร์ หรือ “STEM” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี โดยได้ร่วมงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในแนวทางรัฐร่วมเอกชน วางรากฐานสร้างบุคลากรในสาขา STEM เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน ซึ่งเหล่าบรรดา “เมกเกอร์” ถือเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะผลงานสิ่งประดิษฐ์ของบรรดาเมกเกอร์ทั้งหลาย จะสามารถนำไปต่อยอดใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งไปต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในอนาคตได้ และยังไม่ใช่แค่นั้น แต่สำหรับนักประดิษฐ์หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม พวกเขายังจะได้รับทักษะ แรงบันดาลใจ และความสนุกสนาน ทั้งยังต้องใช้ความสามารถ ความความอดทนที่จะเรียนรู้ปรับปรุงในการทำสิ่งที่ยากลำบากอย่างมีทักษะ ซึ่งถือเป็นหนทางของการประสบความสำเร็จในชีวิตจริงด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่เชฟรอนจึงอยากจะสร้างเมกเกอร์ขึ้นมาในประเทศไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง

นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า เชฟรอนรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาคนพันธุ์เมกเกอร์อย่างเข้มข้นในประเทศไทย ซึ่งต้องขอขอบคุณสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนโครงการเชฟรอน Enjoy Science สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต อย่างดีมาโดยตลอด

และหวังว่าโครงการ Young Maker Contest จะเป็นการจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเมกเกอร์ใหม่ๆ สร้างวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย จนเกิดเป็นเมกเกอร์เนชั่น เมืองแห่งนักพัฒนานวัตกรรม มีผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ดีๆ มาใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไป

โครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest”

เชฟรอนจับมือพันธมิตรส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย

โครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” เป็นหนึ่งโครงการดีๆในความร่วมมือของเชฟรอนกับพันธมิตรภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ประสานงานหลัก

Young Makers Contest มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย ผ่านการส่งเสริมให้เยาวชนได้คิดค้นและลงมือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ล่าสุด โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Green Innovation นวัตกรรมโลกสีเขียว”

ในปีนี้มีผลงานจากนักเรียนสายสามัญและอาชีวะส่งเข้าประกวดแข่งขันทั้งสิ้น 399 ผลงาน และถูกคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 20 ทีม แบ่งเป็นสายสามัญและอาชีวศึกษาอย่างละ 10 ทีม ซึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อป เพื่อพัฒนาไอเดียให้เป็นชิ้นงาน โดยมีเมกเกอร์รุ่นพี่เป็นที่ปรึกษา นับเป็นการจับคู่เมกเกอร์รุ่นใหม่กับเมกเกอร์มือโปร เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน อันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมเมกเกอร์

และอย่างที่ทราบไปแล้วก็คือ มีการประกาศผลและจัดแสดงผลงานของทีมที่ได้รับรางวัลทุกประเภทไปเมื่อ 19-20 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ลานเอนกประสงค์ เดอะสตรีท รัชดา กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้คัดเลือกทีมที่เข้ารอบจากความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดเชิงเทคนิคที่ใช้ในการสร้างผลงานนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้ประโยชน์จากแนวคิด “Green Innovation” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน รวมถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาและเงินสนับสนุนที่กำหนด

กิจกรรมเวิร์กช็อปแสนสนุกและอัดแน่นด้วยความรู้ ในงาน Maker Faire Bangkok 2019

สำหรับผู้ชนะเลิศ Young Makers Contest ปี 3 สายอาชีวะ ได้แก่ ผลงาน Clean Oyster จาก วิทยาลัยเทคนิค สุราษฎร์ธานี, รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเครื่องซีลผักสุญญากาศ แบบแนวตั้ง ด้วยแรงดันน้ำ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี , รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเครื่องล้างทะลายปาล์ม ผสมจุลินทรีย์ชีวภาพ ระบบรีไซเคิลน้ำ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี , ส่วนรางวัล Popular Vote ได้แก่ ผลงานถังขยะแลกเงิน จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่

ผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการ Young Makers Contest ปี 3 (จากซ้าย)
เครื่องซีลผักสูญญากาศแบบแนวตั้งด้วยแรงดันน้ำ จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี (ซ้าย)
สายสามัญ – Food Cycle จาก มงฟอร์ตวิยาลัย แผนกมัธยมเชียงใหม่ (ขวา)

ขณะที่ผู้ชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ ผลงานหุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง , รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน Food Cycle จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยมเชียงใหม่ , รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน ตะเพียนซีเลอร์ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม), และรางวัล Popular Vote ได้แก่ผลงานถังขยะไอโอที จากโรงเรียนปรินส์รอแยลวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีรางวัลขวัญใจกรรมการอีก 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานปะการังเทียมจากวัสดุจีโอโพลีเมอร์ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, และผลงานเครื่องสูบน้ำไอโอแมส จากวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย

ขบวนอิเล็คทริคพาเหรด – หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน Maker Faire Bangkok

นี่คือความสำเร็จเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของเยาวชนไทยนักประดิษฐ์ จากโครงการ “Young Makers Contest” ที่พร้อมจะก้าวเป็นเมกเกอร์รุ่นใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมให้ไทยเป็นเมืองเมกเกอร์เนชั่น เมืองแห่งนักพัฒนา