ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 2)

ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 2)

4 เมษายน 2024


อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ต่อจากตอนที่1 ถ้าการเก็บภาษีคาร์บอนแบบนี้ ก็จะทำให้ราคาสินค้าและราคาพลังงานสูงขึ้น ทำให้สินค้าเราแข่งขันกับตลาดโลกไม่ได้ แบบนี้ก็แย่ ในขณะเดียวกัน ประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขุดน้ำมันขุดถ่านหินมาใช้เอง นำเข้ามาจากต่างประเทศมากกว่า แล้วจะคิดภาษียังไง

วิธีการที่ผมเสนอคือ ต้องมีการเก็บภาษีและชดเชยเมื่อมีการนำเข้าและส่งออก ทั้งสินค้าและบริการเลยครับ

เริ่มจากสินค้าก่อน ไม่ว่าเรานำเข้าหรือส่งออกสินค้าอะไร ปริมาณคาร์บอนที่อยู่ในตัวสินค้านั้นจะถูกคิดภาษีในอัตราเดียวกันกับอัตราภาษีคาร์บอนของประเทศเรา ถ้าเป็นนำเข้าก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลประเทศเรา ถ้าเป็นส่งออกก็จะได้เครดิตภาษีคืนในอัตราเดียวกัน

สำหรับสินค้าบางอย่างที่ใช้คาร์บอนในการผลิตมากแต่เหลือปริมาณคาร์บอนอยู่นิดเดียวในตัวสินค้านั้น เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ พลาสติก หรือ ปุ๋ย ก็จะมีการคิดภาษีคาร์บอนจากค่ามาตรฐาน ว่าเหล็กโดยทั่วไปปล่อยคาร์บอนกี่ตันต่อกิโลกรัมเหล็ก ซีเมนต์ปล่อยคาร์บอนกี่ตันต่อกิโลกรีมซีเมนต์ เป็นต้น (เพื่อให้ง่าย และใช้ได้ทั้งโลก ไม่ต้องไปตรวจสอบให้วุ่นวายอะไร)

แต่ถ้าผู้ผลิตรายใด คิดว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองใช้คาร์บอนน้อยกว่าค่ามาตรฐานพอสมควร ก็สามารถให้หน่วยงานที่เชื่อถือได้ระดับอินเตอร์ให้มาตรวจที่โรงงานและออกใบรับรองให้ แล้วเขาก็จะมีสิทธิ์จะใช้ค่าคาร์บอนที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานในการเสียภาษีหรือขอเครดิตภาษีคืนได้

ตัวสุดท้ายที่อาจสำคัญที่สุด คือการเก็บภาษีคาร์บอนที่มีการปล่อยในทางอ้อมเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆออกมา ซึ่งวิธีการคิดจะคิดจากภาษีคาร์บอนที่เก็บได้จริงทั้งปีหารด้วย GDP ของประเทศ เช่น ถ้าประเทศไทยเราเก็บภาษีคาร์บอนได้ 300,000 ล้านบาทในขณะที่ GDP ไทยในปี 2022 อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท อัตราภาษีก็จะอยู่ที่ 1.72%

แปลว่าสินค้าและบริการทุกอย่างที่นำเข้ามาในประเทศไทยในปีถัดมา (2023) ก็จะต้องเสียภาษี 1.72% ของราคานำเข้า ส่วนสินค้าและบริการที่ส่งออกจากไทยก็จะได้เครดิตภาษีคืน 1.72% ของราคาส่งออกเช่นกัน

ด้วยมาตรการเหล่านี้ ไม่ว่าประเทศจะเก็บอัตราภาษีคาร์บอนเท่าไหร่ สินค้าและบริการก็ยังสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ครับ

นอกจาก CO2 แล้ว ยังมีก๊าซอีกหลายชนิดที่เป็นก๊าซเรือนกระจก ตัวที่สำคัญก็คือ มีเธน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ที่ใช้ในเครื่องทำความเย็น เครื่องปรับอากาศ และใส่อยู่ในสเปรย์กระป๋องต่างๆ ซึ่งแต่ละตัวก็มีผลกระทบกับภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential) ไม่เท่ากัน บางตัวก็ร้ายกว่า CO2 เป็นหมื่นเท่า

ผมจึงเสนอให้เก็บภาษีคาร์บอนจากก๊าซเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ในอัตราที่เป็นเท่าของ CO2 ตามข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และเก็บตั้งแต่การผลิตเช่นเดียวกัน

ตัว HCFCs ง่ายหน่อย ผมเสนอให้เก็บในอัตราเดียวกันทั้งโลกไปเลย โดยให้ประเทศที่มีโรงงานที่ผลิตสารพวกนี้ เก็บภาษีจากโรงงานในอัตราที่กำหนดไปเลย ก่อนที่จะส่งสารไปขายให้ใครต่อใครทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนประเทศที่นำเข้าสารพวกนี้ ถ้าเกิดความสงสัย ว่าต้นทางอาจจะเล่นไม่ซื่อไม่ยอมเก็บภาษีสารพวกนี้จริงๆ (เช่น รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ไม่ยอมแสดงหลักฐานการเก็บภาษีที่เชื่อถือได้) หรือมีการเก็บก็จริงแต่ก็มีการโยกไปคืนให้ทีหลัง ก็ให้สามารถจะเรียกเก็บภาษีส่วนต่างที่คิดว่าไม่ได้ถูกเก็บจริงๆตอนที่มีการนำเข้าสารเหล่านี้เข้ามาในประเทศได้ เช่น ถ้าผู้นำเข้าที่แคนาดานำเข้าสาร HCFC จากจีน แต่ทางการแคนาดาเกิดไม่ไว้ใจว่าจีนมีการเก็บภาษีนี้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากผู้ผลิตทุกรายจริงๆแต่เก็บเพียงครึ่งเดียว ก็สามารถเรียกเก็บภาษีอีกครึ่งนึงจากผู้นำเข้าได้

การออกแบบเช่นนี้ จะช่วยลดแรงจูงใจประเทศไหนที่หลบเลี่ยงการเก็บภาษีอย่างถูกต้องเพื่อช่วยผู้ผลิตในประเทศ เพราะต่อให้ทำไปสุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไรกับการส่งออกมาก

และหากบางประเทศเก็บภาษีคาร์บอนที่อัตราสูงกว่าอัตราที่เรียกเก็บจากสาร HCFCs ทั่วโลก เช่นสมมติว่าเก็บอยู่ที่ $100 ต่อตันในขณะที่อัตราที่เก็บจาก HCFCs ทั่วโลก อยู่ที่ $15 ต่อตัน ประเทศนั้นก็สามารถเรียกเก็บส่วนต่างอีก $85 ต่อตันได้เมื่อมีการนำเข้าสาร HCFCs เข้ามา และจะมีเครดิตภาษีคืนให้ถ้ามีการส่งออก

สำหรับก๊าซมีเธน ส่วนใหญ่เกิดจากการรั่วไหลจากแหล่งผลิตปิโตรเลียม จากโรงงานบางชนิด จากนาข้าวที่มีน้ำขัง จากท้องวัว จากบ่อฝังกลบขยะ และจากแหล่งน้ำเสีย ส่วนที่เป็นการรั่วไหลทางธรรมชาติก็มาจากป่าที่มีน้ำขัง และจากพื้นดินของป่าน้ำแข็ง(permafrost)เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งมีมากมายจนไม่สามารถจะไปตรวจจับเพื่อเก็บภาษีได้หมด

แต่เทคโนโลยีการวัดมีเธนที่รั่วไหลออกสู่อากาศผ่านทางดาวเทียมนั้น ได้รับการพัฒนาไปมากแล้ว ถ้ามีการเพิ่มเติมจำนวนดาวเทียมให้มากพอและมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติมอีกหน่อย เราก็สามารถวัดปริมาณก๊าซมีเธนที่แต่ละประเทศปล่อยออกมาทั้งปีอย่างค่อนข้างถูกต้องได้ และยังสามารถระบุได้อย่างรวดเร็วด้วยว่ามีการรั่วไหลที่สำคัญมาจากที่ไหนบ้าง แต่ละประเทศสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ไปจัดการเป็นการภายในได้ถ้าต้องการ

ผมจึงเสนอให้มีการเก็บเงินจากแต่ละประเทศไปเลยตามปริมาณก๊าซมีเธนที่ปล่อยออกมาในแต่ละปี โดยคิดในอัตราภาษีที่เป็นอัตราเดียวกันทั้งโลกเช่นกัน

แต่ผมเข้าใจ ว่าการเก็บเงินจากแต่ละประเทศนั้น ทำได้ยาก จะง่ายกว่าถ้าเป็นการหักเงินตรงนี้ออกจากเงินช่วยเหลือที่แต่ละประเทศจะได้รับ ผมจึงขอเสนอให้เอาประโยชน์ตรงนี้ไปผูกกับการดูดซับ CO2 จากป่าไม้มีอยู่ในแต่ละประเทศแทน ซึ่งเราก็สามารถใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและการวิจัยพัฒนาเพื่อวัดว่าป่าไม้ในแต่ละประเทศดูดซับ CO2 เข้าไปเท่าไหร่ในแต่ละปี โดยแน่นอนว่า ต้องหักปริมาณคาร์บอนที่สูญเสียไปจากการตัดไม้ทำลายป่าและจากไฟป่าในแต่ละปีด้วย

ผมเสนอว่า ไม่ควรเอาป่าที่มีการจัดการ หรือจากพื้นที่ที่ทำเกษตรมาคิดในตรงนี้ คิดแต่จากป่าที่ปลูกและโตตามธรรมชาติเท่านั้น เพราะคาร์บอนที่ถูกดูดซับไปจากการทำเกษตรหรือจากป่าที่มีการจัดการ (เช่นปลูกป่าเพื่อเอาเนื้อไม้มาทำกระดาษ) สุดท้ายก็จะกลายเป็น CO2 ไปหมดในเวลาไม่นานเมื่อมีการเก็บเกี่ยวไปใช้

เฉพาะประเทศที่มีป่าที่ดูดซับ CO2 ไปมากพอ จนเมื่อหักลบกับไฟป่า การบุกรุกป่า และการปล่อยก๊าซมีเธนแล้ว ยังมีค่า CO2 ที่ดูดซับไปมากกว่าศูนย์ ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือในปีนั้นๆ

แล้วจะเอาเงินก้อนนี้มาจากไหน เดี๋ยวผมมาอธิบายต่อในตอนถัดไปครับ