ThaiPublica > เกาะกระแส > สร.ขสมก.ร้อง “นายกฯ-สุริยะ” ปลด ผอ.ปมประชาชนเดือดร้อนรถเมล์ 486 คันหยุดวิ่งเสียหาย 277 ล้าน

สร.ขสมก.ร้อง “นายกฯ-สุริยะ” ปลด ผอ.ปมประชาชนเดือดร้อนรถเมล์ 486 คันหยุดวิ่งเสียหาย 277 ล้าน

23 เมษายน 2024


สร.ขสมก.” เรียกร้อง “นายกฯ – สุริยะ” ปลด/ย้าย ผู้อำนวยการ ขสมก. พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบภายใน 7 วัน หากไม่มีคำตอบเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่  หลังยื่นหนังสือเปิดข้อมูล การบริหารล้มเหลวปล่อยให้รถเมล์เอ็นจีวี 486 คันหยุดวิ่ง ไม่แก้ปัญหาสร้างความเดือดร้อนประชาชนเดินทางกว่า 20 เส้นทาง พบพิรุธเร่งรีบเสนอโครงการเช่ารถเมล์ใหม่ 350 คันทดแทน โดยไม่เสนอโครงการรวม 1,500 คันต่อคณะรัฐมนตรี แต่แบ่งซอยโครงการย่อยครั้งละ 350 คัน เพื่อให้บอร์ด ขสมก.มีอำนาจพิจารณา ใช่หรือไม่


เมื่อวันที่ 23  เมษายน  2567 นายประมิต เมฆฉาย ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมด้วยตัวแทนสหภาพแรงงาน ยื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้ ปลดหรือย้ายผู้อำนวยการ ขสมก.และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน หาผู้รับผิดชอบ กรณีจอดรถโดยสารปรับอากาศ 486 คัน ต้องจอดไม่ได้ออกวิ่งเดินรถจนส่งผลกระทบให้ประชาชนเดือดร้อนเพราะมีจำนวนรถเมล์น้อยลงนั้น และการบริหารงานล้มเหลว เสียหาย ต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

” สหภาพแรงงาน ฯ ขสมก.ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงปัญหาของ ขสมก.ที่เกิดขึ้นมานานแต่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยขอให้ปลดผู้อำนวยการ ขสมก.เพราะทำงานล้มเหลวทำให้ประชาชนเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งเราให้เวลา 7 วัน จะมาขอคำตอบอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีคำตอบ เราจะเคลื่อนไหวในมาตรการต่อไป”

ทั้งนี้เอกสารของสหภาพฯ ระบุว่า นับจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ครั้งที่ 6/2567 กรณีเร่งด่วน เมื่อวันที่ 9  เมษายน 2567 ที่ประชุมได้มีมติให้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้สรรหาว่าจ้างผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล เข้ามาบริหารงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา การบริหารงานล้มเหลว ไม่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่เสนอไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สร้างความเสียหายให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและรัฐ หลายประการด้วยกัน เกิดความระส่ำระสายในองค์กรที่ผู้นำองค์กรขาดภาวะผู้นำ ขาดความเป็นนักบริหารมืออาชีพโดยสิ้นเชิง สรุปประเด็นสำคัญ คือ

 รถเมล์เอ็นจีวี Bonluck (BLK) 486 คันหยุดวิ่ง

ประการที่ 1. การที่ให้รถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ยี่ห้อ Bonluck (BLK) 486 คัน หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหาย ต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการให้บริการประชาชน รายละเอียด คือ

1.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ทำสัญญาซื้อขาย และจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ตามสัญญาเลขที่ ร.51/2560 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 489 คัน หลังจากการรับมอบเริ่มต้น ตั้งแต่ต้นปี 2561 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้นำรถบรรจุในเส้นทางการเดินรถต่างๆ ในเขตการเดินรถที่ 1,2,3,5 ออกวิ่งให้บริการประชาชนด้วยดีมาโดยตลอด การซ่อมแซม และการบำรุงรักษารถเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาทุกประการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจ่ายเงินค่าจ้างซ่อม ทุกวันที่ 10 ของเดือนทุกเดือนไม่มีปัญหาใดๆ

2.บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินค้างจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง ช่างของบริษัทฯ และบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่มีเงินค่าจ่ายให้ซัพพลายเออร์ทั้งหลาย เป็นค่าชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ไม่มีการซื้อสำรองอะไหล่ในการซ่อมรถทำให้รถเสียเพิ่มมากขึ้น จากการที่ไม่มีอะไหล่ในการซ่อมเพียงพอ

บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ถูกองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพปรับเงินจาก กรณีรถเสีย และรถโดยสารไม่ได้ออกวิ่งเป็นจำนวนเงินสูงมาก รถโดยสารปรับอากาศ ยี่ห้อ BLK ที่เสียมากส่งผลกระทบต่อการประชาชน ในเส้นทางต่างๆ มากกว่า 20 เส้นทาง

ค่าปรับที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปรับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) นั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ไม่ได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้ใดๆ ทั้งที่บริษัทฯ ค้างจ่ายอยู่หลายสิบล้านบาท โดยปกติในการจ่ายเงินค่าจ้างซ่อมของบริษัทผู้รับจ้างมีค่าปรับ เกิดขึ้นในแต่ละเดือน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพต้องหักกลบลบหนี้ก่อน ที่เหลือจึงจะจ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้รับจ้าง กรณีเช่นนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เสียประโยชน์หรือไม่ และยังไม่ดำเนินการใดๆ จนถึงปัจจุบัน

ปล่อยให้บริษัท ช.ทวี ผิดสัญญาจ้างเหมา

3.ในช่วงปลายปี 2566 บริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ได้ทำหนังสือมายังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แจ้งว่า บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้จ่ายค่าจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารให้กับ บริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด เป็นที่มาให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพรับรู้อย่างเป็นทางการ ว่า บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจ้างช่วงการซ่อมให้แก่ บริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

เหตุการณ์กรณีการจ้างช่วงมีการกำหนดข้อห้ามไว้ในสัญญาข้อ 18 “ห้ามผู้รับสัญญาจะโอนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญานี้ให้แก่ผู้อื่นดำเนินการ (จ้างช่วง) ตามสัญญานี้แทนผู้รับสัญญา เว้นแต่ได้รับหนังสือยินยอมจากองค์การ

ในกรณีเช่นนี้ ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพรับรู้ว่า บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) มีการจ้างช่วงการจ้างซ่อมกับ บริษัทวินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่กลางปี 2566 บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติการผิดสัญญาการจ้างซ่อม ข้อ 18

แต่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กลับเพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญา ไม่ได้ดำเนินการบอกเลิกสัญญากับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) แต่กลับปล่อยให้บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) กระทำผิดสัญญาต่อไปอย่างต่อเนื่อง เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด หรือไม่

นายประมิต เมฆฉาย ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

รถเมล์ 486 คัน จอด ประชาชน 20 เส้นทางเดือดร้อน

4 .จากการที่ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ค้างจ่ายค่าซ่อมรถกับ บริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ส่งผลให้ บริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับช่าง ช่างมีการหยุดการซ่อมรถประท้วง ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ยี่ห้อ BLK ของเขตการเดินรถที่ 1,2,3,5 จำนวน 486 คัน

ทั้ง ๆ ที่รถโดยสารไม่ได้เสียแต่อย่างใด จึงจอดอยู่ในอู่ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพทั้งหมด ไม่ได้นำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ และรักษาการรองผู้อำนวยการ ฝ่ายการเดินรถองค์การ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ในการกำกับควบคุม ดูแล การนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน อ้างว่ารถโดยสารปรับอากาศ BLK ทั้ง 486 คัน เสียจึงจอดรถโดยสารปรับอากาศ BLK ทั้งหมด

หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ หลังปีใหม่ 2567 เจ้าหน้าที่ ช่างบางส่วน ได้กลับเข้ามาปฏิบัติงาน มีบางเขตการเดินรถได้นำรถโดยสารปรับอากาศ BLK ออกวิ่งให้บริการไม่กี่สิบคัน ช่างก็หยุดการซ่อมอีก จนถึงปัจจุบัน วันที่ 20 เมษายน 2567 รถโดยสารปรับอากาศ BLK ยังจอดสนิททั้งหมด 486 คัน เป็นเวลา 114 วัน ผลกระทบ คือ

4.1 ประชาชนที่เคยใช้บริการรถโดยสารปรับอกาศ BLK ในเส้นทางต่างๆ กว่า 20 เส้นทาง ที่สังกัดในเขตการเดินรถที่ 1,2,3,5 ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยได้นำรถโดยสารธรรมดา ครีม-แดง จากสายอื่นเข้ามาช่วยวิ่งในสายที่มีรถโดยสาร ปรับอากาศ BLK อยู่เดิมสายละ 6-7 คัน แต่ไม่ได้เพียงพอกับการใช้บริการของประชาชน เกิดเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก กรณีรอรถโดยสารนานหลายชั่วโมงยังไม่สามารถเดินทางได้ ต้องไปใช้บริการรถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ประชาชนเดือดร้อนต้องเสียค่าเดินทางที่สูงขึ้น  แต่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนทางหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่าประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจัดรถโดยสารมาช่วยวิ่งทดแทนได้ ทั้งที่ ในความเป็นจริงประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส แต่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพกลับเพิกเฉยกลับให้ข่าวว่าประชาชนไม่เดือดร้อน

4.2 ตั้งแต่วันที่รถโดยสารปรับอากาศ BLK เริ่มจอดไม่นำรถออกวิ่งให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา เกือบ 4 เดือน บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถส่งมอบรถโดยสารให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพนำมาออกวิ่งได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขสัญญาข้อ 21 และสัญญาข้อ 18 อยู่เนื่องๆ แต่ผู้อำนวยการ ขสมก. ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการบอกเลิกสัญญา แต่กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ อ้างเหตุที่รถโดยสารปรับอากาศ BLK ออกวิ่งไม่ได้ กลับไปดำเนินการเร่งรัดในการจัดหารถโดยสารมาทดแทน โดยได้เสนอโครงการจัดหารถโดยสาร โดยการเช่าจำนวน 350 คัน อย่างเร่งรีบ

“ทั้งๆที่สิ่งที่ควรต้องทำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหารถโดยสารปรับอากาศ BLK คือ การบอกเลิกสัญญาและการเร่งรัดจัดหาผู้รับจ้างซ่อมรายใหม่มาดำเนินการซ่อมรถโดยสารปรับอากาศ BLK ควรดำเนินการในทันที ไม่ใช่ประวิงเวลา เป็นข้ออ้างในการจัดหาเช่ารถใหม่ 350 คัน ใช้เวลาไม่นานก็ได้ผู้รับจ้างรายใหม่แล้วทั้งนี้ปัญหารถโดยสารปรับอากาศ BLK ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบรถ แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้รับจ้างซ่อม คือ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และรถโดยสารปรับอากาศ BLK ใช้งานมา 5 ปีกว่า หากการบำรุงรักษารถเป็นไปตามมาตรฐานยังสามารถใช้งานได้อีกหลายปี การประวิงเวลาการบอกเลิกสัญญา การไม่ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่”

ผลกระทบวงกว้าง ประชาชนทุกเส้นทางเดือดร้อนถ้วนหน้า

5. เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ออกคำสั่งที่ 02/2567 เรื่อง โอนย้ายรถโดยสารธรรมดา (ครีม-แดง) และรถโดยสารปรับอากาศระหว่างเขตการเดินรถที่ 1-8 โดยย้ายรถครีมแดง และรถโดยสารปรับอากาศ ในเขตการเดินรถที่ไม่มีรถโดยสารปรับอากาศ BLK ไปยังเขตการเดินรถที่มีรถโดยสารปรับอากาศ BLK การย้ายดังกล่าว จึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน เป็นวงกว้างทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เนื่องจากเดิมกระทบเฉพาะเขตการเดินรถที่ 1,2,3,5 ที่มีรถโดยสารปรับอากาศ BLK จึงส่งผลกระทบทั่วทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เนื่องจากเป็นการเกลี่ยรถให้มีจำนวนลดลงในทุกๆ เขตการเดินรถ จึงส่งผลกระทบทั้งหมด

5.1 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ออกคำสั่งที่ 158/2567เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผู้อำนวยการเขตการเดินรถ และคณะกรรมการตรวจรับการซ่อม รถ BLK เป็นการเลี่ยงบาลีหาคนมารับผิดชอบแทนการกระทำของ ผู้อำนวยการ ขสมก. ที่ปล่อยปละละเลย จนเหตุการณ์รถโดยสารปรับอากาศ BLK ต้องหยุดวิ่งให้บริการทั้งหมด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับความเสียหายด้านการหารายได้และการให้บริการประชาชน ผู้อำนวยการในฐานะรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ มีความรับผิดชอบโดยตรงในการกำกับ ควบคุม ดูแล การจัดการเดินรถทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำลังหาทางโยนความรับผิดที่ตนเองกระทำขึ้น โยนให้ผู้บังคับบัญชาระดับล่างเป็นแพะรับบาปใช่หรือไม่

รถเมล์หยุดวิ่ง เสียหายวันละ 2.43 ล้านบาท รวม 277 ล้าน

5.2 ความเสียหายต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่เป็นตัวเงินนับตั้งแต่รถโดยสาร ปรับอากาศ BLK หยุดวิ่งให้บริการในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2567 รวม 114 วัน คิดเป็นตัวเงินนำรถออกวิ่งให้บริการรายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อคัน รถจำนวน 486 คัน จำนวน วันที่หยุด 114 วัน คิดเป็นวันๆละ 2,430,000 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน ทั้งหมด 277,020,000 บาท หากยังไม่ดำเนินการจัดการให้รถออกวิ่งได้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะมีความเสียหายต่อวันเพิ่มขึ้น เป็นทวีคูณ ใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรัฐ

5.3 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ยื่นหนังสือ จำนวน 3 ฉบับ ถึงนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ได้แก่หนังสือที่ สร.ขสมก./001/2567 ลงวันที่ 2 มกราคม 2567 เรื่อง ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเหมาซ่อม บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หนังสือที่ สร.ขสมก./020/2567 ลงวันที่ 17 มกราคม 2567 เรื่อง ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงการจ่ายค่าเหมาซ่อม และหนังสือที่ สร.ขสมก./050/2567 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง ขอให้ยกเลิกสัญญาเหมาซ่อม เรียกร้องให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหารถโดยสารปรับอากาศ ยี่ห้อ BLK เป็นการเร่งด่วน

แต่ไม่ดำเนินการใดๆ อ้างต่างๆ นาๆ เพื่อประวิงเวลาในการบอกเลิกสัญญา ได้มีหนังสือที่ สกม.(กนก.)0193/2567 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง การยกเลิกสัญญาเหมาซ่อม และหนังสือที่ ขสมก.579/2567 ลงวันที่ 11 เมษายน 2567 เรื่อง การยกเลิกสัญญาเหมาซ่อม ตอบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ อ้างเหตุผลสารพัดทั้งๆที่อำนาจในการบอกเลิกสัญญาเป็นของผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยตรงตามพระราชบัญญัติ จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ผอ.ขสมก.บริหารล้มเหลวจี้ ‘ปลด” ตั้งกรรมการสอบ

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานฯยังระบุถึง ความล้มเหลวในการบริหารของผู้อำนวยการ ขสมก. คือ

1. การบริหารงานบุคคลที่รวบอำนาจการบริหารไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่กระจายอำนาจให้กับฝ่ายต่างๆที่มีอยู่ 3 ฝ่าย ในระดับรองผู้อำนวยการ ได้แก่ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ฝ่ายการเดินรถองค์การ, ตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร, ตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชน ร่วมบริการ

2.อัตรากำลังพนักงานขับรถโดยสาร และ พนักงานเก็บค่าโดยสาร ถือเป็นหัวใจของการบริหารงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีหน้าที่ให้บริการประชาชนทุกวัน เดิมอำนาจในการรับสมัครบรรจุแต่งตั้งพนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานเก็บค่าโดยสาร เป็นของเขตการเดินรถ แต่ละเขตการเดินรถ แต่ผู้อำนวยการได้ยึดอำนาจรวบอำนาจให้มารับสมัครที่สำนักงานใหญ่ สร้างปัญหากระทบอย่างหนักต่อ เขตการเดินรถ การรับสมัครดำเนินได้ล่าช้ามากอัตรากำลังส่วนนี้ขาดอยู่ตำแหน่งละ 1,300 กว่าอัตรา ทำให้ไม่มีพนักงานทำหน้าที่ขับรถ และเก็บค่าโดยสาร รถออกวิ่งไม่ได้ มีรถออกวิ่งให้บริการประชาชน ไม่เพียงพอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพบกพร่องในเรื่องการให้บริการประชาชน เสียหายต่อการหารายได้เป็นเหตุให้ขาดทุนเดือนละ 700 กว่าล้านบาทต่อเดือน

3.การใช้งบประมาณไม่เกิดความคุ้มค่าสมประโยชน์ ใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย นำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ ที่สำนักงานใหญ่มากมาย โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ สั่งการให้ย้ายหน่วยงาน ที่เคยอยู่ในสำนักงานใหญ่ออกไปอยู่ตามอู่ต่างๆ เช่น ย้ายสำนักงานกฎหมายไปอยู่ที่อู่กำแพงเพชร ย้ายฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ ไปอยู่ที่อู่สวนสยาม ต้องมีการขนย้ายและใช้งบประมาณในการปรับปรุงสำนักงานใหม่ที่จะย้ายไปอยู่เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เห็นว่าหากให้ นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล บริหารงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพต่อไป สร้างความเสียหายต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต่อรัฐ และประชาชน มากยิ่งขึ้น จึงขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และหาผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และโปร่งใสไม่มีอำนาจใดๆ เข้ามาแทรกแซง เห็นสมควรให้ย้ายผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกจากพื้นที่ ให้ไปประจำการที่ กระทรวงคมนาคม หรือทำเนียบรัฐบาล จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

“หากไม่มีการดำเนินการใดๆ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะมีมาตรการในการเคลื่อนไหวต่อไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และของรัฐ ตามสิทธิ์ของกฎหมายต่อไป”