ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ประยุทธ์”ยันจำนำข้าวต้องจบก.พ.’60 – ตั้ง”สรรเสริญ แก้วกำเนิด” รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ – จัดงบ 6.5 พันล้าน อุ้มเกษตรกร 2.9 ล้านราย

“ประยุทธ์”ยันจำนำข้าวต้องจบก.พ.’60 – ตั้ง”สรรเสริญ แก้วกำเนิด” รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ – จัดงบ 6.5 พันล้าน อุ้มเกษตรกร 2.9 ล้านราย

27 กันยายน 2016


ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม

ยืนยันคดีจำนำข้าว เสร็จก่อน ก.พ. 2560

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. โดยกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งสรุปความเสียหายโครงการจำนำข้าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ชี้ผิดชี้ถูก แต่ต้องปกป้องให้เจ้าหน้าที่กล้าทำงานด้วยมาตรา 44 เพราะที่ผ่านมามีการข่มขู่ ยืนยันว่าจะดำเนินการให้ทันเวลาก่อนหมดอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงไม่ลงนามเอง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาบังคับให้ตนลงนามเองหรือเปล่า และจริงๆ เป็นหน้าที่ของกระทรวง ข้าราชการเป็นคนรับผิดชอบเพราะเป็นกรรมการในการตรวจสอบ ฉะนั้น รัฐมนตรีหรือนายกฯ ก็เซ็นในนามผู้บริหารราชการสามารถมอบหมายกันได้ ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนาม เพราะเป็นหัวหน้าคณะทำงานนี้ ซึ่งมี 2 คณะ อีกคณะคือ กระทรวงพาณิชย์

สำหรับ การเรียกค่าเสียหาย 80-20% คือ ใน 80% เป็นเรื่องหลายส่วนที่ต้องรับผิดชอบ โดยมีทั้งหมด 850 คดี ที่ต้องหาผู้มารับผิดชอบ ส่วน 20% นั้นรับผิดชอบทางนโยบาย ฉะนั้น จึงมีทั้งระดับสูงและระดับกลางที่เกี่ยวข้อง โดยให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นผู้ประสานงานกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบและหาผู้เกี่ยวข้องในส่วน 80% ต่อไป

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่นายบุญทรง  เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าจะลากตนขึ้นศาล ว่า ไม่กลัว แม้จะไม่ได้เรียนจบกฎหมาย ถ้ากลัวก็ไม่เข้ามา ไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่า

ประยุทธ์ เข้ม กกต. อย่าดีแต่พูด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าจะมีเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2560 ว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. มากำหนดให้รัฐบาลทำอะไร ตนมีแผนการของตน

“ผมมีโรดแมปของผม ส่วนวันเลือกตั้งไม่รู้ ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.  คนละเรื่อง หน้าที่เขาจัดเมื่อไหร่ก็จัดไป ไม่ใช่หน้าที่มากำหนดรัฐบาลทำนี่ ทำโน่น ดีแต่พูดกันทั้งนั้น”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อถึงแนวคิดการเซ็ตซีโร่ กกต. ว่า “เดี๋ยวดูกันเอง มีคนดูแลอยู่เรื่องนี้ แล้วผมจะบอกทำไม ผมก็มีมาตรการรองรับของผม

ตั้ง “สรรเสริญ แก้วกำเนิด” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ตั้งให้ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะต้องการบูรณาการงานประชาสัมพันธ์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ให้รวบรวมงานประชาสัมพันธ์ได้ทุกหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาทำไม่ได้ ก็จะให้รักษาการณ์จนกว่าจะมีผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ เพราะเข้าใจการทำงานของรัฐบาลและ คสช.

“ผมต้องการบูรณาการ กรมประชาสัมพันธ์ก็เหมือนเป็นโฆษกของรัฐอยู่แล้ว ก็เป็นเจ้าเดียวกัน เขารู้บทบาทของเขา ก็ให้รักษาการจนกว่าจะมีคนใหม่”

ด้าน พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ตกใจกับคำสั่งที่ออกมา นายกฯ เป็นทหาร ตนก็เป็นทหาร คนที่เป็นทหารไม่มีใครถามผู้บังคับบัญชาว่าจะให้ตัวเองไปเป็นอะไร เรื่องนี้นายกฯ พิจารณาเอง เมื่อได้รับคำสั่งก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มความสามารถบนพื้นฐานความขยันหมั่นเพียร

“ประยุทธ์” ยันตรวจสอบ “ปรีชา” ตาม กม. – ยังไม่เผยชื่อ ครม. ส่วนหน้าแก้ปัญหาภาคใต้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการร้องเรียน พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทของบุตรชายว่า มีการดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม อย่านำมาเกี่ยวโยงกับตนเพียงเพราะมีนามสกุลเดียวกัน และยอมรับว่าเป็นห่วง พล.อ. ปรีชา แต่คงไม่สามารถช่วยเหลือได้ พล.อ. ปรีชา ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง

“จะมาโยงกับผมทำไม เขาก็รับผิดชอบเขาเองสิ ไม่ใช่ตระกูลผมเสียหาย คนละคน ถามว่าผมรักน้องหรือไม่ ผมก็รัก แต่ทำอะไรไม่ได้ ผมช่วยเขาไม่ได้ และไปชี้แจงส่งเดชไม่ได้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้ขึ้นชื่อในการต่อต้านการทุจริต การมีเรื่องนี้ทำให้เสียชื่อเสียงหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังสอบสวนตามกลไกในการใช้อำนาจรัฐ ตอนนี้ทั้งกระทรวงกลาโหมและ ป.ป.ช. ก็ตรวจสอบ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการตั้งรัฐมนตรีผู้แทนส่วนหน้าดูแลพื้นที่ภาคใต้ว่า ยังไม่ได้แต่งตั้งใครในเวลานี้ จะให้รัฐมนตรีที่เกษียณไปแล้วมาทำหน้าที่ ตอนนี้กำลังพิจารณาไม่ให้มีหน้าที่ทับซ้อน โดยหน่วยงานที่จะลงไปทำงานก็จะเป็นตัวแทนของรัฐบาล เป็นการทำงานแบบบูรณาการทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคง

“ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาเลือก ยังไม่เลือกใครทั้งนั้น แต่ก็คงเป็นรัฐมนตรีเก่า จะ ครม. ส่วนหน้าหรือส่วนไหนก็จะมาจากผมทั้งสิ้น ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ แก้ไข”

แก้ปัญหาระบายน้ำ กรมชล เตือน อยุธยา-สิงห์บุรี อาจท่วม 6 ต.ค. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาการระบายน้ำใน กทม. ว่า เป็นปัญหาด้านผังเมือง ประเทศไทยนั้นเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีระบบการระบายน้ำเป็นแบบเดิม และยังระบายได้ไม่ดีพอ ยืนยันว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ก็ลดไปพอสมควร แต่หากมีฝนตกก็จะทำให้น้ำขัง ซึ่งเป็นปัญหาธรรมชาติแก้ยาก พร้อมทั้งยังเปิดเผยว่ารัฐบาลมีแผนจะจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งภัยแล้ง ท่วม และการกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้กรมชลประทานกำกับดูแลน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและน้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยา ทั้งนี้ มอบให้กระทรวงมหาดไทยดูแลพื้นที่การเกษตรที่เสียหายใน 14 จังหวัด และรอการระบายน้ำ

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำล่าสุดว่า ในวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2559 นี้ ฝนจะตกหนักขึ้น และคาดว่าในวันที่ 6 ตุลาคมเป็นต้นไป ปริมาณน้ำที่นครสวรรค์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีการเพิ่มการระบายน้ำเข้าเขื่อนเจ้าพระยา เป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจกระทบกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งจะท่วมตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงกลางเดือนตุลาคม โดยน้ำในส่วนนี้จะต้องผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราว 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร นอกจากปริมาณจะเกินกว่า 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับมาตรการการป้องกันที่เตรียมพร้อมไว้ คือ การระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อระบายน้ำสู่ทะเล นอกจากนี้ยังมีแก้มลิง 3 แห่ง คือทุ่งป่าโมก รองรับน้ำได้ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร  , ทุ่งผักไห่ รองรับน้ำได้ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร  และทุ่งบางบาล รองรับน้ำได้ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร

รวมทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญที่เหลืออีก 204 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำจะเต็มเขื่อน หากระบายออกเพียง 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากปริมาณน้ำที่รับเข้า 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดว่าไม่เกินวันที่ 8 ตุลาคม น้ำจะเต็มเขื่อน

นายทองเปลวยืนยันว่า น้ำท่วมในกรุงเทพฯ เกิดจากฝนตกลงมามากและระบายน้ำไม่ทัน ไม่ใช่เพราะมรสุม

มติ ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์(ซ้ายสุด) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล(กลาง)พล.ต. สรรเสริญ  แก้วกำเนิด(ขวาสุด) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์(ซ้ายสุด) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล(กลาง)พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด(ขวาสุด) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

จัดงบ 6.5 พันล้าน จ่ายสูงสุด 3,000 บ. – ปลดหนี้สูญ อุ้มเกษตรกร 2.9 ล้านราย

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้กว่า 2.9 ล้านราย มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ใช้งบประมาณปี 2560 จำนวน 6,540 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน ในส่วนนี้มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.51 ล้านคน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.34 ล้านคน รวมผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 2.85 ล้านคน

ด้านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีกลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้สินต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท จำนวนประมาณ 2,897,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 334,525 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 มีนาคม 2561 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

  • โครงการปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกรรายย่อยที่มีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น หรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากไม่มีหลักประกันจำนองและไม่มีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ มีเกษตรกรเป้าหมายประมาณ 50,000 ราย หากมีหลักประกันจำนองและมีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ทายาท
  • โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก มีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หากเป็นเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทน จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยในอัตราเอ็มอาร์อาร์ หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 80% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 200,000 ราย  และกรณีเกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก มีเกษตรกรเป้าหมายประมาณ 340,000 ราย

“คาดว่าจะมีเกษตรกรและทายาทได้รับการช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้ตามโครงการจำนวน 675,000 ราย จำนวนดอกเบี้ยที่ลดให้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง” นายณัฐพรกล่าว

  • โครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ตุลาคม 2560 ในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้ลูกค้ามาลดภาระหนี้โดยตัดเงินต้นให้ลูกค้าในกรณีที่มีหนี้คงเหลือ และคืนให้ลูกค้าเป็นเงินสดในกรณีที่ไม่มีหนี้คงเหลือ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีฉุกเฉินจำเป็น (A-Cash) รายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 2,222,000 ราย หนี้สินจำนวน 272,000 ล้านบาท

ตั้ง AMC โอนหนี้เสีย “ไอแบงก์” ก่อนลุยหาพันธมิตร

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ครม. มีมติจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังทั้งหมด เพื่อโอนแยกหนี้เสีย (Non-Performing Finance: NPF) ออกจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ จำนวน 47,732 ล้านบาท จากจำนวนหนี้เสียทั้งหมดที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท คิดเป็น 43.4% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเป็นหนี้เสียที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม ทำให้ไอแบงก์มีหนี้เสียที่ต้องบริหารจัดการเพียงประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะตั้งได้แล้วเสร็จในระยะเวลาไม่นาน ขณะที่ผู้ที่จะมานั่งบริหารบริษัทฯ ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นใครและอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติเพิ่มทุนให้แก่ไอแบงก์อีก 2,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการหาพันธมิตรร่วมทุนกับไอแบงก์ เพื่อฟื้นฟูกิจการขึ้นมาตามแผนของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ในมุมมองของภาคธุรกิจคงต้องทำตามขั้นตอน สูตรในการแก้ไขปัญหาธนาคารคือต้องจัดการหนี้เสียก่อน หลังจากนั้นเพิ่มทุนให้ดำเนินการต่อไปได้อีกครั้ง ตรงนี้ถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจที่ถูกคำนึงถึงมากกว่าตัวเลขต่างๆ เพราะไม่มีใครอยากซื้อธนาคารที่มีหนี้เสียจำนวนมากและดำเนินงานต่อไปไม่ได้ หลังจากนั้นถึงจะเป็นกระบวนการเจรจาต่อไปในทางธุรกิจ

โอนอำนาจการกำกับออกจาก ขสมก.

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติยกยกเลิกมติ ครม. ปี 2526 ที่กำหนดให้องค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) เป็นผู้ให้ใบอนุญาตเดินรถในเขต กทม. และปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งทำให้ ขสมก. มีหน้าที่ทับซ้อนกันระหว่างเป็นผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) และผู้กำกับดูแล (Regulator) ที่ออกใบอนุญาตให้แก่รถร่วมเอกเอกชน ส่งผลให้เกิดปัญหาในการเดินรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินรถที่ทับซ้อนกัน, การกำกับดูแลที่ขาดประสิทธิภาพอย่างเช่นการตรวจสอบการทำตามสัญญาการเดินรถอย่างจำนวนรถ สุดท้ายจึงส่งผลให้ ขสมก. มีผลประกอบการที่ขาดทุน

ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบแนวทางการปฏิรูปการเดินรถของ ขสมก. ใหม่ 3 ประเด็น คือ

  • ให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้เดินรถเหมือนกับเอกชนรายหนึ่ง ขณะที่อำนาจการให้ใบอนุญาตให้โอนกลับไปที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการขนส่งทางบกเหมือนเดิม และต่อไปทั้ง ขสมก. และเอกชนมาขอใบอนุญาตกับ ขบ. โดยใบอนุญาตที่ได้จะมีระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี และต้องมาต่ออายุใหม่
  • ให้ ขบ. จัดทำแนวทางปรับปรุงเส้นทางเดินรถใหม่ทั้งหมด โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาหลัก ได้แก่ ลดปัญหาเส้นทางทับซ้อนที่มีอยู่ ลดเวลาการเดินรถของแต่ละเส้นทาง และให้เชื่อมต่อกับรูปแบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งนี้ เส้นทางใหม่จะให้ ขสมก. เป็นผู้เลือกเส้นทางก่อน เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนจะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการในเส้นทางเดิมหรือมีอู่จอดรถที่อยู่ในเส้นทางก่อน
  • ในอนาคตมีแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาแข่งขันจัดการเดินรถได้ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบเหมือนกับต่างประเทศบางประเทศ

“หากให้ ขสมก. เป็นผู้เลือกเส้นทางก่อนจนอาจจะทำให้เอกชนไม่สามารถแข่งขันได้ และส่งผลต่อการให้บริการประชาชนในเส้นทางที่ขาดทุนว่าเป็นกลไกตลาดมากกว่า เพราะ ขสมก. อาจจะได้เส้นทางเดินรถไปส่วนหนึ่ง แต่หากเส้นทางที่เหลืออยู่มีความต้องการของประชาชนมากพอ เส้นทางดังกล่าวจะสามารถทำกำไรได้ เอกชนจะปรับตัวไปตามความต้องการและเข้ามาเดินรถเอง ต่างจากตอนนี้ที่ ขสมก. เป็นผู้กำหนดเองที่อาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและมีการทับซ้อนของเส้นทาง” นายกอบศักดิ์กล่าว

อนุมัติรถไฟทางคู่มาบกะเบา-จิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. อนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 56 ล้านบาท, ค่าดำเนินการประกวดราคา 8.1 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุม 797.27 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยอาจจะจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ หรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ หรือให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงิน

“โครงการดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงสร้าง ทางระดับดิน ทางยกระดับ และอุโมงค์รถไฟ สถานีรถไฟจำนวน 19 สถานี และย่านขนสินค้า (Container Yard: CY) จำนวน 2 แห่ง งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟรวมจำนวน 39 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วกั้นแนวเขตรถไฟ เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดถนนกับทางรถไฟ และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดแนวเส้นทาง โครงการมีความคุ้มค่าทางการ เงินและเศรษฐกิจที่ 8.33% และ 19.4% ตามลำดับ” นายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 มีโครงการเร่งด่วน 7 โครงการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 993 กิโลเมตร  ได้แก่

  • ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ 1) เส้นทางฉะเชิงเทรา-แก่งคอย วงเงิน 11,348 ล้านบาท ระยะทาง 106 กิโลเมตร 2) เส้นทางจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,007 ล้านบาท ระยะทาง 185 กิโลเมตร
  • ระหว่างประกวดราคา 1 โครงการ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,291 ล้านบาท ระยะทาง 167 กิโลเมตร
  • รอเสนออนุมัติ ครม. 3 โครงการ 1) เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร 2) เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร และ 3) เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร

ไฟเขียว กฎหมาย 3 ฉบับ ส่งเสริมการค้าชายแดนใต้

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร 3 ฉบับ เพื่อลดภาษีและส่งเสริมการลงทุนในกิจการต่างๆ ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตามแผนงานเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการในท้องที่ กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีสถานประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว สามารถนำค่าใช้จ่าย กรณีลงทุน ต่อเติม เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และขายสินค้า หรือบริการนั้นมาหักภาษีได้ 2 เท่า จนถึงสิ้นปี 2563
  • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up)  ในท้องที่  ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในท้องที่เป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชี ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31ธันวาคม 2563 และมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และต้องมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไม่เกิน 30 ล้านบาท
  • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกท้องที่ไปทำงานในท้องที่และส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกท้องที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่ โดยกำหนดให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนด มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในท้องที่ ในอัตรา 3% ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้พึงประเมินอื่นๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในท้องที่มีการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ จะสามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นในท้องที่เป็นจำนวน 2 เท่า ในลักษณะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายจริง

“มาตรการดังกล่าวนอกจากส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนในพื้นที่และได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษสูงสุดแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ การจ้างงาน และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเร่งแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ได้ด้วย” นายณัฐพรกล่าว

ผ่านร่างกฎหมายเกษตรพันธสัญญา เล็งเอาผิด บ. เอาเปรียบเกษตรกร

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. ….  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทำเกษตรพันธสัญญา โดยมีสาระสำคัญ เช่น

ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาขึ้น  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน  มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหา

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องจดแจ้ง  การประกอบธุรกิจหรือการเลิกประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และต้องทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อนทำสัญญา พร้อมส่งให้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้เพื่อใช้เป็นเอกสารในการตรวจสอบ

นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหา ได้มีการกำหนดให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนจึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหรือนำคดีไปสู่ศาล โดยกฎหมายดังกล่าวจะปกป้องคู่พิพาท (เกษตรกร) ไม่ให้บริษัททำการใดๆ ที่ทำให้เกษตรกรเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การระงับการส่งสินค้า

“กฎหมายนี้ได้มีการกำหนดโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรซึ่งไม่แจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ไม่แจ้งการยกเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา  หรือไม่จัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก่อนการทำสัญญา และปรับอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน ดูวงเงินแล้วอาจจะมีจำนวนเล็กน้อย แต่สำหรับบริษัทที่มีคู่สัญญาจำนวนมาก เงินปรับเหล่านี้รวมแล้วจะเป็นวงเงินที่สูงมาก” นายกอบศักดิ์กล่าว