ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามขึ้นแท่นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่สุดของสิงคโปร์

ASEAN Roundup เวียดนามขึ้นแท่นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่สุดของสิงคโปร์

21 เมษายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 14-20 เมษายน 2567

  • เวียดนามขึ้นแท่นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่สุดของสิงคโปร์
  • เวียดนามวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
  • มาเลเซียเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ที่ครอบคลุม
  • แอปเปิ้ลรุกขยายตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • จีนตั้งโรงงานเสื้อผ้าในเมียนมากว่า 300 แห่ง
  • ผลสำรวจชี้ชาวเมียนมากังวลอิทธิพลของจีน

    เวียดนามขึ้นแท่นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่สุดของสิงคโปร์

    mี่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-becomes-biggest-rice-supplier-for-singapore/284809.vnp

    เวียดนามแซงหน้าอินเดียและไทยเป็นครั้งแรก ขึ้นเป็น ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดไปยังสิงคโปร์ด้วยการขนส่งข้าวมูลค่า 36.15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (26.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 80.46% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ครองส่วนแบ่งตลาด 32.03% จากข้อมูลของสำนักงานการค้าเวียดนามในสิงคโปร์

    ตามหลังเวียดนามคือไทยด้วยมูลค่าการส่งออก 33.63 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่อินเดียมาเป็นอันดับสามด้วยมูลค่า 33.16 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

    มูลค่าการส่งออกข้าวกล้องและข้าวขาวตามปกติที่ลดลง ถูกชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของข้าวเหนียว ข้าวเปลือกและข้าวหอม และข้าวหักที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 3.79 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 18.06 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ 575,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตามลำดับ

    ที่สำคัญ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ข้าวขาวแบบดั้งเดิมที่แข็งแกร่งของเวียดนามแล้ว ปริมาณของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นอีกสองกลุ่ม ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวซ้อมมือก็เพิ่มขึ้นและครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ โดยอยู่ที่ 80.08% และ 73.33% ตามลำดับ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เวียดนามแซงหน้าไทยและอินเดียจนกลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ สำนักงานระบุ

    จากข้อมูลของสำนักงาน ไทย อินเดีย และญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งสำคัญของเวียดนามในสิงคโปร์ การห้ามส่งออกข้าวของอินเดียตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ได้สร้างเงื่อนไขที่ดีสำหรับเวียดนามในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในสิงคโปร์

    อย่างไรก็ตาม สำนักงานแนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มคุณภาพของข้าวต่อไป

    สำนักงานอ้างข้อมูลจากหน่วยงานการบัญชีและกำกับดูแลกิจการ (Accounting and Corporate Regulatory Authority:ACRA) ของสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์นำเข้าข้าวมูลค่าเกือบ 112.9 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 23.86% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    สำนักงานระบุว่า ทุกกระทรวง ภาคส่วน ท้องถิ่น สมาคม และธุรกิจควรร่วมมือกันในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวและเครื่องหมายการค้าของเวียดนาม พื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและรักษาตำแหน่งสูงสุดอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจในการค้าข้าวระหว่างเวียดนามและสิงคโปร์จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับเวียดนามในการรักษาตำแหน่งซัพพลายเออร์ข้าวอันดับ 1 ในสิงคโปร์

    เวียดนามวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

    ที่มาภาพ:https://vietnamnews.vn/Economy/1654212/vn-outlines-strategy-to-boost-domestic-automobile-industry.html

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์จนถึงปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2588 เนื่องจากเห็นว่าการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนาม จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในการจัดการกับแง่มุมต่างๆ ของอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณา ในเดือนกันยายน

    คนวงในอุตสาหกรรมมองว่า ยุทธศาสตร์นี้ควรคำนึงถึงตัวชี้วัดและเป้าหมายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปในทิศทางที่ต้องการ ตัวชี้วัดเหล่านี้อาจรวมถึงมาตรการวัดผลิตภัณฑ์และผลผลิต เป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดสำหรับยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ เป้าหมายสำหรับการส่งออกและการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก และการเน้นไปที่รูปแบบโรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานเพื่อทดแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

    ยุทธศาสตร์ยังควรมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ผลิตในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้า

    รวมไปถึงควรเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนภาคยานยนต์ การมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เวียดนามสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกลายเป็นซัพพลายเออร์ส่วนประกอบและอะไหล่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ระดับโลก ทิศทางการส่งออกและการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกควรเป็นข้อพิจารณาสำคัญในการขยายขอบเขตการเข้าถึงของอุตสาหกรรมและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    ก่อนหน้านี้ ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามจนถึงปี 2568 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2578 เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในและสร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ตอบสนองความต้องการภายในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

    กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จัดให้มีความสำคัญในลำดับต้นๆในยุทธศาสตร์ก่อนหน้านี้ ได้แก่ รถบรรทุกและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไป รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งมากถึง 9 ที่นั่ง ยานยนต์เฉพาะทาง และอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยมุ่งเน้นการพัฒนารถบรรทุกขนาดเล็กอเนกประสงค์สำหรับการผลิตทางการเกษตรและในชนบท รถยนต์โดยสารระยะกลางและระยะสั้นสำหรับเส้นทางระหว่างจังหวัดและภายในประเทศ และรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กที่ใช้พลังงานต่ำ ยานยนต์เฉพาะทางและยานยนต์ทางการเกษตรอเนกประสงค์ขนาดเล็กก็ได้รับการเน้นย้ำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านเช่นกัน

    ในส่วนของอุตสาหกรรมสนับสนุนนั้น ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเป้าไปที่การผลิตส่วนประกอบและรายละเอียดที่สำคัญในท้องถิ่น เช่น ระบบส่งกำลัง กระปุกเกียร์ เครื่องยนต์ และตัวถังรถยนต์ ความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้รับการเน้นย้ำในการจัดกลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่และส่วนประกอบที่เหมาะสมสำหรับเวียดนามในการผลิต ซึ่งจะเป็นการรวมประเทศเข้ากับห่วงโซ่การผลิตและอุปทานระดับโลก แนวทางนี้จะต้องอาศัยการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตเพื่อการส่งออก

    เป้าหมายของยุทธศาสตร์คือการวางตำแหน่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามให้เป็นภาคส่วนสำคัญที่ตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ แข่งขันได้ในระดับโลก กระตุ้นการพัฒนาของอุตสาหกรรมอื่น ๆ และกลายเป็นซัพพลายเออร์ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอะไหล่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ระดับโลก

    ภายในปี 2578 เป้าหมายการผลิตรถยนต์รวมประมาณ 1,531,400 คัน โดยรถยนต์ 9 ที่นั่งจะมีประมาณ 852,600 คัน รถยนต์ 10 ที่นั่งขึ้นไปจะมีประมาณ 84,400 คัน รถบรรทุกจะมีประมาณ 587,900 คัน และรถยนต์เฉพาะทางจะมีประมาณ 6,500 คัน

    สัดส่วนของรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศจะมีประมาณ 78% ของอุปสงค์ในประเทศ เป้าหมายของยุทธศาสตร์คือการเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนประกอบและอะไหล่ที่เพิ่มขึ้น โดยมีแผนการสร้างอุตสาหกรรมสนับสนุนขั้นพื้นฐานสำหรับการผลิตรถยนต์ ด้วยเป้าหมายที่จะตอบสนองประมาณ 35% ของความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่ จากนั้นภายในปี 2578 ยุทธศาสตร์มีเป้าหมายที่จะตอบสนองความต้องการด้านการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศได้มากกว่า 65%

    เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ยุทธศาสตร์เน้นการเสาะหาและการจัดตั้งพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่สามารถสร้างตลาดสำหรับอุตสาหกรรมที่สนับสนุน และยังเน้นที่การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงรถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิง รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษ

    การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานสากลถือเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่เน้นย้ำในยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่านองค์กรการผลิตและการปรับโครงสร้างใหม่ ยุทธศาสตร์นี้ยังส่งเสริมความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรการผลิตและประกอบรถยนต์ การสนับสนุนองค์กรอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนา และสถาบันฝึกอบรมทั่วทุกภาคเศรษฐกิจทั้งหมด ความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและความสามารถเฉพาะทาง

    รัฐบาลได้ออกนโยบายเฉพาะเพื่อสนับสนุนการผลิตภายในประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตัวอย่างเช่น กฎหมายฉบับที่ 101/2021/ND-CP กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสำหรับส่วนประกอบและอะไหล่ที่ใช้ในการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศ มีมาตรการต่างๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสำหรับรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม

    ด้วยการนำนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านี้ไปใช้ เวียดนามมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตและการส่งออกยานพาหนะ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกประมาณ 90,000 คันภายในปี 2578 ความพยายามเหล่านี้จะไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม

    นโยบายที่สนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในเวียดนามค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในแง่ของการสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลในการประเมินและปรับปรุงนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับภูมิทัศน์ด้านยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

    เวียดนามเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านขนาดประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพการเติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อขนาด ผลิตภัณฑ์ และตลาดการบริโภครถยนต์ในประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมและตอบสนองซึ่งตอบสนองความต้องการและความชอบที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

    อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต ประเภทผลิตภัณฑ์ และการออกแบบ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามที่จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและไทย มีความก้าวหน้าอย่างน่าโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น หากไม่มีกลไกนโยบายที่เหมาะสม ก็มีความเสี่ยงที่ตลาดรถยนต์ในประเทศเวียดนามอาจลดลงหรือเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับรถยนต์ในภูมิภาคเหล่านี้

    สิ่งสำคัญคือต้องจัดทำแผนงานที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์โดยคำนึงถึงแนวโน้มทั้งในประเทศและระดับโลก แผนงานนี้ควรมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ เป้าหมาย และมาตรการเชิงนโยบายเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าอุตสาหกรรมจะเติบโตและมีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

    มาเลเซียเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ที่ครอบคลุม

    ที่มาภาพ: https://www.pmo.gov.my/2024/04/miti-to-draw-up-comprehensive-semiconductor-strategic-plan-pm-anwar/

    กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ที่ครอบคลุม เพื่อเป็นหลักประกันว่ามาเลเซียยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ได้รับเลือกสำหรับอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์นี้ นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าว

    นายอันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า เรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบในการประชุมสภาการลงทุนแห่งชาติ (NIC) ครั้งที่ 3 ปี 2567 เมื่อวันที่ 16 เมษายน

    นายอันวาร์กล่าวว่าแผนยุทธศาสตร์จะรวมแพ็คเกจสิทธิประโยชน์จูงใจที่น่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้มีการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ในเซมิคอนดักเตอร์ที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะเพื่อส่งเสริม “ฟร้อนท์ เอ็นด์” ของกระบวนการผลิตชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซีย

    “นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดความสนใจของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงในมาเลเซีย” นายอันวาร์โพสต์บนบัญชีเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของเขาในวันเดียวกัน

    นายอันวาร์กล่าวว่า การประชุมยังได้สำรวจสถานะปัจจุบันของประเทศและแนวโน้มในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการสนับสนุนข้อเสนอการขยายต่างๆ ที่ได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี

    “ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอสำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียวบูรณาการ(Kerian Integrated Green Industrial Park:KIGIP) และตกลงว่าควรดำเนินการในฐานะบริษัทร่วมทุนโดยบริษัทการลงทุนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล (GLIC) โดยความร่วมมือกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐเประ

    “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของมาเลเซียทันสมัย(MADANI) รัฐบาลดำเนินการในการเร่งการพัฒนา KIGIP ซึ่งมองว่าเป็นหนึ่งในตัวเร่งหลักในการดึงดูดการลงทุนสีเขียวเข้ามาในประเทศ”

    “นอกจากนี้ การดำเนินงานของ KIGIP จะใช้พลังงานทดแทน (RE) ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593” นายอันวาร์กล่าว

    ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรุล อับดุล อาซิส โพสต์บนบัญชีเฟสบุ๊คของเขาว่า แผนยุทธศาสตร์ที่จะเปิดตัวนั้นสอดคล้องกับความคิดริเริ่มภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ปี 2030 (New Industrial Master Plan 2030:NIMP 2030)

    “NIMP 2030 กำหนดให้การลงทุนในกิจกรรมการผลิตแผ่นเวเฟอร์เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของมาเลเซียในฐานะผู้เล่นหลักในภาคเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาค” เต็งกูซาฟรุลกล่าว

    เต็งกูซาฟรุลกล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ที่จะร่างขึ้นมามีความสำคัญในการดึงดูดความสนใจของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างประเทศต่างๆ ให้โยกย้ายหรือจัดตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงมายังมาเลเซีย

    แอปเปิ้ลรุกขยายตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ที่มาภาพ: https://setkab.go.id/en/indonesia-apple-discuss-development-investment-opportunities-in-indonesia/

    ทิม คุก ซีอีโอ ของแอปเปิ้ล พบปะกับนายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปิดท้ายทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เริ่มต้นในเวียดนาม จากนั้นไปอินโดนีเซีย ซึ่งคุกได้ใช้การเดินทางครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ

    ท่ามกลางความต้องการไอโฟนรุ่นเรือธงในประเทศจีนที่ซบเซา แอปเปิ้ล กำลังกระจายฐานการผลิตและขยายการเข้าถึงตลาดให้มากกว่าฐานที่มั่นแบบเดิม ด้วยการแสดงตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอปเปิ้ลตั้งเป้าที่จะเข้าถึงภูมิภาคที่มีผู้บริโภคมากกว่า 650 ล้านคนและลดการพึ่งพาตลาดจีน

    การเดินสายของคุก มีตั้งแต่การประชุมระดับสูงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปจนถึงการพบปะกับผู้ผลิตและลูกค้าในแต่ละประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของแอปเปิ้ลในการยกระดับการมีตัวตนของแบรนด์ในภูมิภาค

    แอปเปิ้ลกำลังจะเปิด Apple Store แห่งแรกในมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายตลาด และส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นที่ลึกยิ่งขึ้นต่อภูมิทัศน์การค้าปลีกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ในสิงคโปร์ก่อนที่คุก จะเดินทางมาถึง บริษัทแอปเปิ้ล ประกาศแผนลงทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายศูนย์ปฏิบัติการที่ตั้งใน อังโมเกียว ซึ่งส่วนขยายนี้ถือเป็นการปักหมุดล่าสุดของแอปเปิ้ล ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษที่ส่งเสริมการสร้างงานและการเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นกับชุมชนท้องถิ่น และเป็นพื้นที่สำหรับการเติบโตและบทบาทใหม่ใน AI และฟังก์ชันหลักอื่นๆ

    แอปเปิ้ลเปิดศูนย์ปฏิบัติการแห่งแรกในสิงคโปร์ในปีค.ศ. 1981 โดยมีพนักงาน 72 คนโดยมุ่งเน้นที่ Apple II และนับตั้งแต่นั้นมาก็เติบโตขึ้นจนมีทีมงานมากกว่า 3,600 คนที่มีส่วนร่วมในทุกส่วนของบริษัท ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลางของแอปเปิ้ลในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางสำหรับบทบาทสำคัญในด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ บริการ และการสนับสนุน สิงคโปร์มี Apple Store ที่คึกคัก 3 แห่ง

    ในเวียดนาม คุกได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ และรายงานถึงความต้องการที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนคุณภาพสูงในเวียดนาม

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจการผลิตของแอปเปิ้ลในเวียดนาม ซึ่งสร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง และหวังว่าแอปเปิ้ลจะช่วยฝึกอบรมบุคลากรคุณภาพสูง และจัดให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและสร้างความหลากหลายให้กับตลาด

    คุกเดินทางมาถึงเวียดนามเมื่อวันที่ 15 เมษายน เพื่อพบกับผู้พัฒนาและผู้ผลิตคอนเท้นท์ ตลอด 36 ชั่วโมงในเวียดนาม คุกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากมาย รวมถึงการพบปะกับนักร้องชื่อดัง อินฟลูเอนเซอร์ด้านเทคโนโลยี แร็ปเปอร์ และเยี่ยมชมสตูดิโอ Antiantiart

    วันที่สองในเวียดนาม คุกได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของ Hanoi Star และเข้าร่วมชั้นเรียนที่นักเรียนใช้ iPad

    ก่อนหน้านี้แอปเปิ้ลประกาศว่า จะเพิ่มการจัดซื้อจากซัพพลายเออร์ในเวียดนามมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการชุมชน โดยบริษัทได้ใช้เงินไปแล้วประมาณ 400 ล้านล้านดอง (15.8 ล้านดอลลาร์) ตั้งแต่ปี 2562 ผ่านทางห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น

    ในอินโดนีเซียหลังจากการเข้าพบประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย คุกกล่าวว่า บริษัทจะพิจารณาถึงการผลิตในอินโดนีเซีย

    “เราได้พูดคุยเกี่ยวกับความปรารถนาของประธานาธิบดีที่จะเห็นการผลิตในประเทศ และเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณา” คุกกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการเข้าพบ

    “ผมคิดว่าความสามารถในการลงทุนในอินโดนีเซียมีอีกมาก ผมคิดว่ามีสถานที่ดีๆ มากมายให้ลงทุน และเรากำลังลงทุน เราเชื่อมั่นในประเทศ

    ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียของ คุก บริษัทแอปเปิ้ลได้ประกาศว่ากำลังวางแผนที่จะเปิดตัว Apple Developer Academy ในเมืองบาหลี ซึ่งจะเป็นสถาบันแห่งที่สี่ของผู้ผลิตไอโฟนในอินโดนีเซีย หลังจากจัดตั้งในกรุงจาการ์ตา สุราบายา และบาตัม

    จีนตั้งโรงงานเสื้อผ้าในเมียนมากว่า 300 แห่ง

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/chinese-investments-propel-myanmars-garment-industry-despite-challenges/

    นายซุย สีกัง รองประธานสาขาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของสมาคมธุรกิจจีนในเมียนมา เปิดเผยว่า จีนลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม CMP ในกลุ่มการตัด การผลิต และบรรจุ (CMP : Cut Make Pack) ของเมียนมาเป็นหลัก ซึ่งมีการจ้างคนงานในท้องถิ่นมากกว่า 400,000 คน

    ในปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมาเป็นที่ตั้งของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า CMP ของจีนมากกว่า 300 แห่ง ซึ่งทั้งหมดจดทะเบียนกับคณะกรรมการลงทุนเมียนมา(Myanmar Investment Commission)

    “นักลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของเมียนมา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเมียนมา จีนมีส่วนกว่า 60% ของการลงทุนเหล่านี้ ซึ่งมีส่วนต่อเสถียรภาพของอุตสาหกรรม” นายซุย สีกัง กล่าว “การส่งออกจากโรงงาน CMP ของจีนมีมูลค่าถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณที่แล้ว โรงงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะในเมียนมาอีกด้วย”

    “เราได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งเมียนมา เพื่อจัดแสดงแบรนด์และบริษัทกว่า 100 แบรนด์จากจีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในงานแสดงสินค้าซึ่งปมีเสื้อผ้า รองเท้า หมวก และกระเป๋าเดินทางที่ผลิตในเมียนมา นำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพของเมียนมาสู่ตลาดโลก” นายซุย สีกัง กล่าว

    แม้จะมีความท้าทายต่างๆ เช่น การควบคุมเงินตราต่างประเทศ การขาดแคลนไฟฟ้า และคำสั่งซื้อที่ผันผวนเนื่องจากการคว่ำบาตรของยุโรปและอเมริกา แต่แรงงานรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมากของเมียนมา ต้นทุนแรงงานที่สมเหตุสมผล และกำลังการผลิต ทำให้ยังคงได้เปรียบทางการแข่งขัน ไม่เพียงแต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย

    ผลสำรวจชี้ชาวเมียนมากังวลอิทธิพลของจีน

    ที่มาภาพ: https://eng.mizzima.com/2024/03/26/8399#google_vignette

    ในการสำรวจล่าสุดถึงการรับรู้(perceptions)ของ ประชาชนเมียนมาเกี่ยวกับจีน พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากระหว่างผู้ที่มองว่าจีนเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและผู้ที่คิดตรงกันข้าม

    อย่างไรก็ตาม การสำรวจโดย ISP Myanmar เผยให้เห็นว่า ดูเหมือนจะมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนและสถานะการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงที่สำคัญเกี่ยวกับการพึ่งพาจีนที่เพิ่มขึ้นในด้านการค้า การลงทุน กระบวนการสันติภาพ การเมืองและการทูต รวมถึงภาคเทคโนโลยีและความมั่นคงหลังรัฐประหารปี 2564 ในส่วนของแนวทางของจีนต่อเมียนมา ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าแนวทางของจีนนั้นเน้นการปฏิบัติ โดยเน้นไปที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับใครก็ตามที่มีอำนาจในเมียนมา ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่รับรู้ว่าจีนแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา

    การสำรวจยังพบสิ่งที่น่าสนใจในเครือข่ายโยบายของเมียนมาก็คือ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากไม่ทราบถึงโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคที่สำคัญของจีน เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ( China– Myanmar Economic Corridor:CMEC) ที่กำลังดำเนินอยู่ นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังรับรู้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-เมียนมาจะได้รับการพัฒนาหลังจากผ่านไป 3 ปี จากที่เริ่มในปี 2569

    ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงมีความคิดเห็นที่ยึดแน่นว่าการปกครองของจีน การพัฒนาเศรษฐกิจ และแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของจีนนั้นไม่เหมาะสำหรับเมียนมา แม้จีนจะพยายามสร้างความสัมพันธ์ในภาคส่วนต่างๆ ของเมียนมาผ่านซอฟต์พาวเวอร์ก็ตาม โดยเฉพาะ ผู้นำส่วนใหญ่ขององค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ไม่ได้ถือว่าการปกครองของจีนเป็นแบบอย่างในอุดมคติ อย่างไรก็ตาม ยังมีการรับรู้ในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถามว่าจีนมีอิทธิพลเหนือ EAO ในรัฐฉานตอนเหนือ ผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนยังระบุด้วยว่าการรับรู้ของพวกเขายังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะมีปฏิบัติการ 1027(Operation 1027) ที่ยังต่อเนื่องอยู่ก็ตาม

    ผู้ตอบแบบสำรวจประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) ภาคการเมือง (2) องค์กรประชาสังคม (3) แวดวงธุรกิจ (4) บุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจของจีน และกิจการระหว่างประเทศ (5) องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) และ (6) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน/กองกำลังป้องกันท้องถิ่น (People’s Defense Forces:PDFs/Local Defense Forces:LDF) ที่ตั้งขึ้นใหม่ และปฏิบัติการในพื้นที่ที่การลงทุนของจีนตั้งอยู่

    ในช่วงระยะเวลาการสำรวจ กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (Brotherhood Alliance:3BHA) และกองกำลังพันธมิตรได้เปิดปฏิบัติการ 1027 ทางตอนเหนือของรัฐฉาน การสำรวจนี้จึงได้ใส่คำถามเพิ่มเติมเพื่อให้ทันสถานการณ์ และได้มีการหารือเพิ่มเติมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก 20 รายจากชุมชนต่างๆ เพื่อสำรวจผลกระทบของการดำเนินการสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีน

    การสำรวจครอบคลุมการสอบถามแง่มุมต่างๆ ของสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา รวมถึงวิกฤติทางการเมืองที่ยังมีอยู่ การมีส่วนร่วมของจีนในกระบวนการสันติภาพ และพลวัตทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและเมียนมา นอกจากนี้ ยังเจาะลึกมุมมองทั่วไปเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีน ตลอดจนคำถามที่มุ่งเป้าไปที่การรับรู้เกี่ยวกับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative:BRI) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) และแผนการบูรณาการระดับภูมิภาคอื่นๆ ที่นำโดยจีน ซอฟต์พาวเวอร์ของจีน ความคิดริเริ่มและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโทรคมนาคมของจีนและความไว้วางใจในสิ่งเหล่านั้น

    ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ISP-Myanmar ดำเนินการสำรวจประจำปีในหัวข้อ “Myanmar’s Key Stakeholders and Their Perceptions of Sino–Myanmar Relations ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของเมียนมาและการรับรู้ความสัมพันธ์จีน-เมียนมาของพวกเขา” วัตถุประสงค์คือ เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเฉพาะจากบุคคลสำคัญภายในเครือข่ายนโยบายของเมียนมา เพื่อดูความเหมือนและความต่างในการรับรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์จีน-เมียนมา

    สถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และนโยบาย ( Institute for Strategy and Policy:ISP) เมียนมา ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 เป็นสถาบันวิจัยอิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่ใช่องค์กรของรัฐ