ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ชนชั้นกลางที่เติบโตเร็วของเวียดนามหนุนตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

ASEAN Roundup ชนชั้นกลางที่เติบโตเร็วของเวียดนามหนุนตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

14 เมษายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 เมษายน 2567

  • ชนชั้นกลางที่เติบโตเร็วของเวียดนามหนุนตลาดอาหารและเครื่องดื่ม
  • เวียดนามส่งออกข้าวกว่า 2 ล้านตันช่วง 3 เดือนแรก
  • Viettel จับมือ Singtel พัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำเชื่อมเวียดนาม-สิงคโปร์
  • ซันโตรีเป๊บซี่โคสร้างโรงงานใหญ่สุดในเอเชียที่เวียดนาม
  • เวียดนาม-ลาวลงนามข้อตกลงการค้าฉบับใหม่
  • ฟิลิปปินส์คาดดึงเงินลงทุนได้อีกแสนล้านดอลล์จากประชุมไตรภาคีกับสหรัฐ-ญี่ปุ่น
  • ไทย-เวียดนามประกาศยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านมิ.ย.นี้

    ชนชั้นกลางที่เติบโตเร็วของเวียดนามหนุนตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/f-b-market-robust-on-rising-middle-class-4733674.html

    ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม (food and beverage:F&B) ในเวียดนามคาดว่าจะแข็งแกร่ง โดย การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางเป็นโอกาสสำคัญในการขยายธุรกิจและเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น

    iPOS.vn ได้วิเคราะห์ตลาดล่าสุดพบว่า มีมุมมองทางบวกทั่วทั้งอุตสาหกรรม

    ผลการวิจัยพบว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีรายได้ถึง 590 ล้านล้านด่อง (23.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 11.47% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยที่การรับประทานอาหารที่ร้านคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 91%

    ร้านอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 79% มองว่าธุรกิจของตนมีแนวโน้มที่ดี และกล่าวว่า พวกเขามีทรัพยากรเพียงพอที่จะพัฒนาต่อไป ในขณะที่เจ้าของมากกว่า 51.7% กล่าวว่าพวกเขามีแผนที่จะขยายการดำเนินงานในอีกไม่นาน

    iPOS.vn คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะทำรายได้ถึง 655 ล้านล้านด่องในปีนี้ ขณะที่ Mordor Intelligence คาดการณ์ว่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าสูงถึง 36.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2572 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 9.82% ในช่วงปี 2567-2562

    วู แทงห์ ฮุง ผู้อำนวยการทั่วไปของ iPOS.vn กล่าวว่าปี 2566 ถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แต่ตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่บูมหลังวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้รายได้อาหารและเครื่องดื่มเติบโตขึ้น

    จำนวนร้านอาหารและคาเฟ่เพิ่มขึ้น 1.26% เป็น 317,299 แห่งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากกระแสการปิดสถานประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็กและขนาดกลาง และกลยุทธ์ในการลดขนาดการดำเนินงานของผู้เล่นรายใหญ่

    ผู้เล่นรายใหญ่บางราย เช่น Golden Gate, Phuc Long Coffee & Tea และ Highlands Coffee ปิดร้านบางแห่งในทำเลทองเพื่อเพิ่มผลกำไรและเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันตลาดก็มีการขยายตัวของสถานประกอบการขนาดเล็กที่ทันกระแสอย่างรวดเร็ว

    บริการจัดส่งอาหารออนไลน์มีมูลค่าสูงถึง 52.4 ล้านล้านด่องในปี 2566 เพิ่มขึ้น 20.18% จากระดับปี 2565 และ 3.5 เท่าของช่วงก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสั่งอาหารออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นอกเหนือจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน เกือบ 48% ขององค์กรมีรายได้ออนไลน์คิดเป็น 25-50% ของรายได้ทั้งหมด

    ปัจจุบันชนชั้นกลางในเวียดนามคิดเป็น 13% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2569 ส่วน GDP ต่อหัวของประเทศคาดว่าจะเกิน 5,000 ดอลลลาร์สหรัฐในปีนี้

    การเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางจะผลักดันความต้องการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม จากรายงาน โดยเฉพาะ Gen Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1997 ถึง 2012) กำลังค่อยๆ กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาด

    แม้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มจะมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรจำนวนมากของประเทศที่สูงถึง 100 ล้านคน และชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น

    iPOS.vn คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะได้เห็นร้านค้าเครื่องดื่มขนาดเล็กและขนาดกลางเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของความสะดวกสบาย

    นอกจากนี้จะมีการแข่งขันกันเพิ่มขึ้นในหมู่ร้านอาหารระดับไฮเอนด์เพื่อชิงรางวัลมิชลิน(Michelin awards) แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งกำลังพยายามปรับปรุงคุณภาพของอาหารและการบริการของตนเอง

    การแข่งขันไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อนักชิมชาวเวียดนามเท่านั้น แต่ยังช่วยเร่งความนิยมของอาหารเวียดนามในแผนที่โลกอีกด้วย

    เวียดนามส่งออกข้าวกว่า 2 ล้านตันช่วง 3 เดือนแรก

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/ministry-building-long-term-strategy-on-rice-exports-market-stabilisation-2178636.html
    เวียดนามส่งออกข้าว 2.1 ล้านตันในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่ารวม 1.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยผู้ซื้อหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน กานา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนมีการซื้อเพิ่ม ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท

    อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกำลังพยายามเพิ่มการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาข้าวเวียดนาม

    ประเทศในแอฟริกาซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวเวียดนามมายาวนาน ขณะนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นให้ปลูกข้าวของตนเองด้วย

    กระทรวงฯจึงเรียกร้องให้ผู้ส่งออกข้าวกระจายตลาดและเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ข้าวเวียดนามสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

    ราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามตอนนี้อยู่ที่ 576 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 12% จากต้นปีและต่ำกว่าคู่แข่งในไทยและปากีสถาน

    เวียดนาม ซึ่งครองอันดับ 3 ของโลกในด้านการส่งออกข้าว ตั้งเป้าส่งออกข้าวมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากสถิติ 4.7 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

    Viettel จับมือ Singtel พัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำเชื่อมเวียดนาม-สิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/1653860/viettel-and-singtel-co-found-new-direct-viet-nam-singapore-submarine-cable-system.html

    Viettel Business Solutions Corporation ในฐานะตัวแทนของ Viettel Group (Viettel) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำเวียดนาม-สิงคโปร์ (VTS) ที่เชื่อมต่อเวียดนาม และสิงคโปร์โดยตรง

    นับเป็นก้าวสำคัญของ Viettel ซึ่งเป็นธุรกิจของกองทัพเวียดนามในการดำเนินการขับเคลื่อน”ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเคเบิลออปติกระหว่างประเทศของเวียดนามภายในปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2578″(Development Strategy of Việt Nam’s International Optical Cable System by 2030, vision to 2035) ของกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC)

    ด้วยเป้าหมายในการก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค เวียดนามให้ความสำคัญกับการสร้างระบบเคเบิลระหว่างประเทศเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล และการบูรณาการระหว่างประเทศ

    สายเคเบิลออปติกระหว่างประเทศของเวียดนาม จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ต้องลงทุนก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของเวียดนามมีความจุขนาดใหญ่พิเศษและมีแถบความถี่ (band-width) กว้างเป็นพิเศษ มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นระบบอัจฉริยะ มีการเปิดกว้าง และมีความปลอดภัย

    ภายใต้ข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายจะใช้ระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีสายหลัก(Trunk)เพื่อเชื่อมต่อเวียดนามกับสิงคโปร์ (สายเคเบิล VTS) ที่ใช้ 8 คู่สาย โดยใช้เทคโนโลยีมัลติเพล็กซ์แบ่งความยาวคลื่นที่ทันสมัยที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน สถานีหลักของ trunkอยู่ในเวียดนาม (บริหารโดย Viettel) และสิงคโปร์ (บริหารโดย Singtel) นอกจากนี้ คาดว่าสายเคเบิล VTS จะมีสถานีย่อยในกัมพูชา ไทย และมาเลเซีย

    เคเบิล VTS มีกำหนดเปิดใช้งานในไตรมาสที่สองของปี 2570

    ดังนั้น VTS จะกลายเป็นสายเคเบิลแรกที่ก่อตั้งร่วมกันโดยผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดสองรายในเวียดนามและสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นสายเคเบิลที่สั้นที่สุดที่เชื่อมต่อโดยตรงของเวียดนามกับศูนย์กลางดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย นั่นคือสิงคโปร์ พร้อมด้วยแบนด์วิธและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด การใช้งานระบบเคเบิลนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเวียดนามในการพัฒนาระบบเคเบิลออปติกระหว่างประเทศภายในปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2578 เมื่อเปิดใช้งาน สายเคเบิลดังกล่าวจะเพิ่มTbps (เทระบิตต่อวินาที) หลายร้อย Tbps ให้การเชื่อมต่อระหว่างประเทศทั้งหมดของ Viettel ซึ่งมีส่วนช่วยในด้านการส่งความจุด้วยความเร็วสูง และเปิดเส้นทางการเชื่อมต่อใหม่ไปยังทางใต้ และตอกย้ำความเสถียรและความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของ Viettel

    เหงียน มานห์ โฮ ผู้อำนวยการทั่วไปของ Viettel Solutions กล่าวว่า “ด้วยการลงทุนในโครงการเคเบิลใต้น้ำ VTS Viettel ตอกย้ำบทบาทในการบุกเบิก ที่ร่วมมือกับรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในเวียดนาม โดยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างครอบคลุม ตอบสนองความต้องการ การรับส่งข้อมูลความเร็วสูงใช้เทคโนโลยี 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ และมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลในการสื่อสารระดับชาติ”

    Ooi Seng Keat รองประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัลของ Singtel กล่าวว่า “เวียดนามเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีองค์กรและผู้บริโภคนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และแอปพลิเคชันที่เน้นข้อมูลมาใช้ การสร้างสายเคเบิล VTS จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเชื่อมต่อที่มีแบนด์วิธที่สูงขึ้นและความหน่วงที่ต่ำกว่า เราตั้งตารอที่จะได้ร่วมมือกับ Viettel เพื่อสนับสนุนความทะเยอทะยานในการเติบโตทางดิจิทัลและเศรษฐกิจของเวียดนามและภูมิภาค”

    จากยุทธศาสตร์นี้ ภายในปี 2573 เวียดนามต้องเพิ่มจำนวนสายเคเบิลใต้น้ำทั้งหมดอย่างน้อย 15 เส้น โดยมีความจุรวมอย่างน้อย 334 Tbps ซึ่งควรจะมีระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างน้อย 2 ระบบที่ก่อตั้งโดยเวียดนามและเริ่มดำเนินการ โดยให้ความสำคัญกับเส้นทางระยะสั้นที่เชื่อมต่อโดยตรงกับดิจิทัลฮับที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีการวางระบบเคเบิลใต้น้ำให้เท่ากันทั้งสามเส้นทาง คือ เชื่อมต่อกับทะเลตะวันออกตอนเหนือ เชื่อมต่อกับทิศใต้ของทะเลตะวันออก เชื่อมต่อกับพื้นที่ทะเลใต้

    ด้วยตระหนักถึงบทบาทที่มี Viettel ได้ดำเนินการตามทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของสายเคเบิลใต้น้ำที่กำหนดโดย MIC อย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาและเสนอการดำเนินโครงการเคเบิลใต้น้ำที่มีวิสัยทัศน์ถึงปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความจุ และดูแลการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยสำหรับเครือข่ายของ Viettel ในทุกสถานการณ์ และประกันความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศของประเทศโดยทั่วไป ในบรรดาโครงการเหล่านี้ ระบบเคเบิลเวียดนาม – สิงคโปร์ (VTS) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของ Viettel

    ด้วยการลงทุนและการเป็นเจ้าของสายเคเบิลใต้น้ำใหม่ Viettel คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงที่สำคัญในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยการใช้แอปพลิเคชันการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศที่ต้องการการเชื่อมต่อความเร็วสูง เช่น: 5G, IoT) ระบบอัตโนมัติ, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบเสมือนจริง นอกจากนี้ Viettel จะดูแลความปลอดภัยและความเสถียรของเครือข่าย รวมทั้งคุณภาพของบริการอินเทอร์เน็ตและบริการการเชื่อมต่อระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนความปลอดภัยของข้อมูลระดับชาติ

    ก่อนหน้านี้ Viettel ได้ประกาศการลงทุนใน Asia Direct Cable (ADC) ซึ่งเป็นระบบเคเบิลแบนด์วิธที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม พร้อมการเชื่อมต่อกับฮับ IP ที่ใหญ่ที่สุดทั้งสามแห่งในเอเชีย (ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์) และ Viettel เป็นเจ้าของสถานีหลักของสายเคเบิลนี้ในกวีเญิน Viettel ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดใน Asia Link Cable (ALC) ซึ่งเชื่อมต่อกับฮับ IP หลักสองแห่งในเอเชีย (ฮ่องกง สิงคโปร์) และเป็นเจ้าของสถานีหลักของสายเคเบิลนี้ในดานัง

    ซันโตรีเป๊บซี่โคสร้างโรงงานใหญ่สุดในเอเชียที่เวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://english.vov.vn/en/economy/construction-on-suntory-pepsicos-largest-factory-in-asia-begins-post1087779.vov
    บริษัทซันโตรี เป๊บซี่โค เวียดนาม เบฟเวอเรจ(Suntory PepsiCo Vietnam Beverage) ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่สวนอุตสาหกรรม Huu Thanh ในเขต Duc Hoa จังหวัดล็องอานทางตอนใต้

    โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 20 เฮกตาร์ และมีการลงทุนโดยประมาณมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 800 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเสริมสร้างความเป็นผู้นำในตลาดเวียดนาม

    โรงงานแห่งนี้จะดำเนินการด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระหว่างกิจกรรมการผลิตได้อย่างมาก ในเวลาเดียวกัน บริษัทจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด และจะมีการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต

    ซึ่งนับเป็นการดำเนินการที่แข็งขันของบริษัทในการเข้าร่วมความพยายามของรัฐบาลเวียดนามในการบรรลุพันธสัญญาด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

    ผู้อำนวยการทั่วไปของ Suntory PepsiCo เวียดนาม จาฮานเซบ คาน กล่าวว่าโรงงานล็องอาน เป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทในเวียดนาม ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านการผลิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ปูทางไปสู่การเติบโตในระยะยาวของบริษัท และเพิ่มความสามารถในการให้บริการผู้บริโภค นับเป็นบริษัทแห่งที่ 6 ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดลองอัน เหงียน วาน อุต กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จังหวัดได้รับโครงการขนาดใหญ่มากมายจากนักลงทุน เช่น Lotte, VinaCapital, Saigontel, Coca-Cola และ Aeon สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ และแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของท้องถิ่น

    ผู้นำจังหวัดให้คำมั่นที่จะปรับปรุงธุรกิจและสภาพแวดล้อมการลงทุนของจังหวัด เพิ่มความโปร่งใส และสนับสนุนธุรกิจ

    เวียดนาม-ลาวลงนามข้อตกลงการค้าฉบับใหม่

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/new-vietnam-laos-trade-agreement-signed-326547.html

    เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาวได้มีการลงนามในข้อตกลงการค้าเวียดนาม-ลาวฉบับใหม่ โดยรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เหงียน ฮง เดียน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าลาวนายมะไลทอง กมมะสิด ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับกิจกรรมนำเข้าและส่งออก และเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับทวิภาคี ความสัมพันธ์ทางการค้า

    การลงนามนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเยือนลาวโดยคณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม นำโดยรัฐมนตรีเหงียน ฮง เดียน ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน

    ข้อตกลงการค้าเวียดนาม-ลาวฉบับใหม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญของความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

    ในการเจรจาก่อนการลงนาม ผู้นำของทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการบังคับใช้ข้อตกลงใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเวียดนาม-ลาวปี 2558 และปรับปรุงกรอบกฎหมายเพื่อการค้าระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

    การทบทวนและการจัดเตรียมสิทธิประโยชน์จูงใจด้านภาษีและกำหนดการลดอากรนำเข้าที่ตกลงไว้ล่วงหน้าระหว่างเวียดนามและลาวในอาเซียนจะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าเวียดนาม-ลาว

    ข้อตกลงการค้าเวียดนาม-ลาวฉบับก่อนหน้าลงนามในปี 2558 นับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของตนเจรจา แก้ไข และแก้ไขข้อตกลงเพื่อปรับให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน หลังจากการเจรจาสามปี ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อตกลงการค้าฉบับใหม่

    รัฐมนตรีเหงียน ฮง เดียน กล่าวในที่ประชุมว่า ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน การค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศเติบโตขึ้น 10-15% ต่อปี แต่มีมูลค่าเพียง 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงศักยภาพและความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกันทั้งสองประเทศ

    น้ำมันของเวียดนามเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางการค้าระหว่างเวียดนามและลาว

    รัฐมนตรีเวียดนามเน้นย้ำว่า เวียดนามมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานไฟฟ้าหลายชนิดจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงลาว ในระดับสูง ประเทศเพื่อนบ้านกำลังค่อยๆ กลายเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับเวียดนามภายในกลุ่มอาเซียน

    ในระหว่างการหารือ นายมะไลทอง กมมะสิด ได้ขอให้เวียดนามแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดการตลาดน้ำมันและดูแลอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้มีเสถียรภาพ ซึ่งนายเหงียน ฮง เดียนกล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าพร้อมที่จะช่วยเหลือลาวในการจัดหาน้ำมัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงได้สนับสนุนให้ผู้ค้าชาวเวียดนามเชื่อมโยงกับบริษัทต่างๆ ในลาว เพื่อเพิ่มอุปทานและรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันในลาว

    นายเหงียน ฮง เดียนกล่าวอีกว่า เวียดนามได้ประกาศแผนสำรองเชิงยุทธศาสตร์และอุปทานปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2564-2573

    กระทรวงฯจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจจากทั้งสองประเทศร่วมมือกันในการสร้างสถานที่จัดเก็บปิโตรเลียม

    ในระยะยาว เพื่อให้ดูแลอุปทานในประเทศให้เพียงพอ นายเหงียน ฮง เดียนแนะนำว่ารัฐบาลลาวควรรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ และคาดการณ์และดูแลปริมาณเงินตราต่างประเทศให้เพียงพอ

    นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลาวสร้างเงื่อนไขทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยเพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัทน้ำมันชั้นนำ ซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์

    “นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับประกันว่ามีอุปทานสู่ตลาด” รัฐมนตรีกล่าว

    ฟิลิปปินส์คาดดึงเงินลงทุนได้อีกแสนล้านดอลล์จากประชุมไตรภาคีกับสหรัฐ-ญี่ปุ่น

    ที่มาภาพ: https://pco.gov.ph/working-visit-washington-2024/photos/?post_id=189523

    รัฐบาลฟิลิปปินส์คาดว่าจะดึงดูดเงินลงทุนราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้าได้ อันเป็นผลมาจากการประชุมไตรภาคีครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ อาร์ มาร์กอส จูเนียร์ กับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นในกรุงวอชิงตัน ดีซีในวันพฤหัสบดี(11 เมษายน 2567)

    โฮเซ มานูเอล โรมูอัลเดซ เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า คาดว่าน่าจะเห็นข้อตกลงการลงทุนมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากทีมบริหารเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมาร์กอสได้นำเสนอแพ็คเกจเศรษฐกิจของประเทศในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และอื่นๆ

    เอกอัครราชทูตโรมูอัลเดซกล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีมาร์กอสยังรู้สึกตื่นเต้นกับบริษัทพลังงานที่กำลังวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในประเทศ ในขณะที่เขาเตรียมพบปะกับบริษัทต่างๆ เช่น Ultra Safe ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร์ขนาดเล็กแบบโมดูล

    “ตัวเลขที่ผมได้ยินมา อาจฟังดูมากไปหน่อย แต่เรากำลังพูดถึงการลงทุนประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า” โรมูอัลเดซกล่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการคาดการณ์อย่างคร่าวที่จะได้จากการลงทุนในการเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีมาร์กอส

    “เรามีหลายๆ ด้านที่เราทุ่มเท ทีมเศรษฐกิจของเรากำลังทำให้ประเทศของเราเข้าสู่สถานการณ์ที่เรากำลังเปิดเศรษฐกิจของเรา โดยเฉพาะในด้านพลังงาน ซึ่งมีความสำคัญมาก และแน่นอนว่ารวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย และโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในแง่มุมอื่นๆ ของแพ็คเกจทางเศรษฐกิจของเราที่เราต้องการนำเสนอสำหรับผู้ที่มีศักยภาพจะลงทุน”

    โรมูอัลเดซกล่าวว่า ประธานาธิบดีมาร์กอสจะพบปะกับนักธุรกิจหลายคนในสหรัฐฯ

    จอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการเดินเรือ การค้า และการลงทุนไตรภาคีของทั้งสามประเทศ

    ไทย-เวียดนามประกาศยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านมิ.ย.นี้

    ที่มาภาพ: https://www.mfa.go.th/th/content/vn110424-2?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d
    เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    การเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และเป็นการตอบแทนการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖

    ในช่วงการเยือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้เยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมที่จะเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการและเป็นประธานร่วมในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะประกาศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านด้วย

    ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้หารือทวิภาคีและได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JCBC) ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 5 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองประเทศเข้าร่วมเพื่อติดตามพัฒนาการและหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนามในระยะต่อไป

    รัฐมนตรีทั้งสองพอใจกับพัฒนาการในเชิงบวกของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับเวียดนามในทุกด้าน และมีความมุ่งมั่นเดียวกันที่จะทำให้แน่ใจว่า ไทยและเวียดนามจะเติบโตและเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

  • ความเป็นหุ้นส่วนด้านการเมืองและความมั่นคง
    สองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน Comprehensive Strategic Partnership) ในช่วงการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 ในอนาคตอันใกล้ สองฝ่ายยินดีที่ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านกับเวียดนาม และตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งของสองประเทศและภูมิภาค

    รัฐมนตรีทั้งสองพอใจกับการมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานทหารและความมั่นคงของสองประเทศ และสนับสนุนความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการรับมือกับความท้าทายร่วมกันในด้านความมั่นคง เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ และการทำประมงผิดฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

  • ความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ
    ปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑ ของเวียดนามในอาเซียน ขณะที่เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน สองฝ่ายตกลงที่จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมให้การค้าในภูมิภาคราบรื่น ผ่านการใช้ ASEAN Single Window อย่างมีประสิทธิผล และการอำนวยความสะดวกให้แก่สินค้าผ่านแดน โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดน

    สองฝ่ายหารือมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ของกันและกัน เช่น การเพิ่มโควตาการนำเข้าปศุสัตว์ และความตกลงยอมรับร่วมกันสำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภายใต้โครงการ OTOP ของไทย และ OCOP ของเวียดนาม

    สองฝ่ายยินดีที่ปัจจุบัน ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 9 ในเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนของเวียดนามในไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มการลงทุนสองทาง ผ่านการหารือเป็นประจำระหว่างหน่วยงานของสองประเทศ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับนักลงทุน สองฝ่ายยังได้แสดงการสนับสนุนบทบาทที่มากขึ้นของหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) และหอการค้าเวียดนาม-ไทย (VietCham)

    สองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อนำยุทธศาสตร์ 3 เชื่อมโยง (Three Connects) ไปปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ สองฝ่ายจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนเป้าหมายร่วมกันของสองประเทศในด้านความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเศรษฐกิจดิจิทัลและสตาร์ทอัพ ซึ่งรวมถึงการขยายขอบเขตบริการชำระเงินข้ามแดนด้วย QR Code ให้ครอบคลุมธุรกรรมระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ รวมทั้งการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมเครือข่ายสตาร์ทอัพไทยและเวียดนาม

  • ความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาและความสัมพันธ์ระดับประชาชน
    สองฝ่ายพอใจกับจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 มีคนเวียดนามเดินทางมาไทยกว่า 1 ล้านคน และคนไทยเดินทางไปเวียดนามประมาณ 500,000 คน สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกภูมิภาค โดยการยกระดับความเชื่อมโยงทางคมนาคม ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและการพัฒนาเส้นทางรถประจำทางและเส้นทางทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเชื่อมโยงไทย เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา ไทยและเวียดนาม รวมทั้งประเทศอื่น ๆ จะทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิด “หกประเทศ หนึ่งจุดหมาย” (“Six Countries, One Destination”) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นและส่งเสริมให้ประเทศในภูมิภาคเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเดียวกัน

    สองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือในระดับท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น ผ่านความเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลระหว่างเมืองคู่มิตรของสองประเทศ

    สองฝ่ายจะทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมการสอนภาษาไทยในเวียดนามและการสอนภาษาเวียดนามในไทย

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสานท่าทีในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในอาเซียนและกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ ACMECS และได้แสดงการสนับสนุนสปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้

    ฝ่ายเวียดนามยินดีกับความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาในการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมข้ามแดนแก่ประชาชนเมียนมาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567และแสดงการสนับสนุนข้อริเริ่มดังกล่าว โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียน สองฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในเมืองเมียวดีซึ่งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นและหาวิธียุติความรุนแรงและตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมของประชาชน

    ในประเด็นทะเลจีนใต้ ไทยจะทำงานร่วมกับเวียดนามและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982