ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาคมการประมงฯ แถลงการณ์ระบุเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ‘ขาดความรู้ความเข้าใจ-อคติ’ ตั้งข้อสังเกตแก้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558

สมาคมการประมงฯ แถลงการณ์ระบุเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ‘ขาดความรู้ความเข้าใจ-อคติ’ ตั้งข้อสังเกตแก้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558

23 มีนาคม 2024


สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย แถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ต่อกรณี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ตั้งข้อสังเกตการแก้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558

ตามที่ “เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ประกอบด้วย (1) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) (2) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) (3) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights Development Foundation) และ (4) Solidarity Center ตั้งข้อสังเกต แก้ไข กม. ประมง เสี่ยงทำให้ไทยถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในตลาดโลก แนะไทยควรแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานประมงให้สอดคล้องตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ.2007 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ โดยได้ท้วงติงไว้รวม 7 ประเด็น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย

1.การคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย ถูกตัดออกจากส่วนหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสนใจ การใช้ประมงผิดกฎหมายเป็นข้อห่วงใยที่ทาง TIP Office และ EU ให้ความสำคัญ

2.มีการตัดผู้แทนจากกระทรวงแรงงานออกจากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

3.การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ให้กับเรือและผู้ที่เคยถูกมาตรการทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตจากกฎหมายฉบับเดิม ถือเป็นการนิรโทษกรรมผู้เคยทำประมงผิดกฎหมาย

4.การอนุญาตให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลด้วยเรือประมง ทำให้มีความเสี่ยงในการทำประมงเกินขนาด การจับปลาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่สามารถตรวจสอบที่มาของปลาได้ และเสี่ยงต่อการใช้แรงงานบังคับเนื่องจากเรือประมงต้องออกไปทำการประมงเป็นเวลานาน

5.กำหนดให้เรือประมงไม่จำเป็นต้องแจ้งจำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาต ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็น เรือประมงที่จะออกจากฝั่งเพื่อไปทำการประมง สามารถรับฝากคนประจำเรือหรือลูกเรือที่มีใบอนุญาตและหนังสือประจำตัวแล้วออกไปกับเรือเพื่อนำส่งให้กับเรือประมงลำอื่นที่ได้รับอนุญาตแล้วได้” ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานประมง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบว่าเรือลำดังกล่าวได้ใช้แรงงานประมงอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ทำให้แรงงานประมงตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นแรงงานทาสโดยที่ไม่สามารถจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่สำคัญ

6.มาตรการทางปกครองที่ไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิด กล่าวคือ การพักหรือระงับใช้ใบอนุญาต โดยให้มีระยะเวลาหกสิบวันในกรณีที่เป็นความผิดครั้งแรก และไม่เกินเก้าสิบวันในกรณีที่เป็นความผิดซ้ำครั้งที่สอง หรือการยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้มีระยะเวลาได้ล่วงเวลาสองปี และสามารถกลับมาขอใบอนุญาตได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรอบระยะเวลาดังกล่าวอาจไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิดที่มีลักษณะกระทบต่อสาธารณประโยชน์ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากผู้กระทำความผิด

7.ยกเลิกโทษจำคุกในความผิดทุกกรณี การยกเลิกโทษจำคุกควรมีเหตุผลที่ชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการทดแทนอย่างไรที่เป็นการยับยั้งการกระทำความผิดไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก การลดโทษปรับในความผิดต่างๆ การลดโทษโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ความเสียหายอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้

ดังรายละเอียดแจ้งแล้ว นั้น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอตอบข้อสงสัยของเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ดังนี้

1.ขอขอบคุณในความหวังดีต่อแรงงานประมง และความกังวลว่าอาจทำประเทศไทยเสี่ยงต่อการถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในตลาดโลกและขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบจากการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยรัฐสภาไทย

2.จากการอ่านข้อสังเกตและความเห็นต่างๆ พบว่าองค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติดังกล่าวนั้น ได้ตั้งข้อสังเกตบนความ

  • อคติต่อรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา รวมทั้งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ด้วย
  • ขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาและเหตุผลในการเสนอขอให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
  • ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย และอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่กฎหมายประมงฉบับนี้ ต้องตราให้สอดคล้องและสอดรับกันภายใต้บริบทของท้องถิ่นและชุมชน
  • ไม่เคยอ่านหรือแสวงหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประมงของประเทศอื่น จนมองไม่เห็นถึง “ความอยุติธรรม” ที่ชาวประมงไทย โดยเฉพาะ “ผู้ประการประมงพาณิชย์” ถูกกดทับด้วย “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” มากว่า 9 ปี จนทำให้หลายครัวเรือน หลายชีวิตได้รับผลกระทบ มีหลายรายฆ่าตัวตายหนีความยากลำบาก อีกทั้ง การประมงทะเลของไทยต้องล่มสลาย เป็นเหตุให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

3.ร่างกฎหมายที่รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ได้เสนอเข้าที่ประชุมของรัฐสภานั้น เรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …” โดยได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยมติอย่างเป็น “เอกฉันท์” จำนวน 416 เสียง โดยไม่มีผู้เห็นต่างหรืองดออกเสียง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน” ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาและจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข

4.การที่องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ อ้างว่า “เนื้อหาร่างพระราชบัญญัติฯของทุกฝ่ายทั้งจากคณะรัฐมนตรี พรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และสมาคมประมง (ข้อเท็จจริง คือ ไม่มีฉบับของสมาคมประมงฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เนื่องจากไม่มีสิทธิในการเสนอกฎหมาย) มีเนื้อหาที่สอดคล้องเสมือนเป็นร่างฉบับเดียวกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดบางมาตรา” นั้น

แสดงว่า “คณะรัฐมนตรี พรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน” เห็นประเด็นปัญหาใน “กฎหมายที่บังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรมตรงกัน” จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด

5.ขอให้เชื่อมั่นว่า หากกฎหมายดังกล่าวผ่านเข้าสู่การประกาศใช้ ข้อกังวลที่มีต่อประเด็นความเสี่ยงต่อการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย การทำประมงเกินขนาด และการละเมิดสิทธิแรงงานประมงในรัฐไทย ไม่มีทางที่จะเพิ่มมากขึ้นตามข้อกังวลเลย

เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ มีหลักการที่สำคัญ คือ การคืนความเป็นธรรมให้กับชาวประมงในประเด็นของข้อกฎหมายที่บิดเบี้ยว อคติ ไม่เป็นธรรม และขาดความเสมอภาค ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทย และไม่สอดรับกับกติการะหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ในประเด็นที่มีการตัดทอนออกไปจากกฎหมายฉบับนี้ ยังมีกฎหมายไทยฉบับอื่นๆที่บังคับใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องยังคงมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป บนพื้นฐานของความยุติธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

6.ขอเรียกร้องให้องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ เหล่านี้ควร

    (ก)หยุดวิพากย์วิจารณ์ในสิ่งที่ตนเองยังมิได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้
    (ข)เลิกอคติต่อชาวประมงไทย
    (ค)เลิกเป็นกระบอกเสียงให้องค์กรระหว่างประเทศ ที่ต้องการจะให้ร้ายชาวประมงไทยเพื่อการกีดกันทางการค้า
    (ง)ลืมตา เปิดใจให้กว้าง รับฟัง ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และสาเหตุของการปรับแก้ไข ตลอดจนบทบัญญัติที่ขอปรับแก้ไขใหม่ โดยใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุผลและเป็นธรรม และ
    (จ)ควรส่งเสริมและสนับสนุนการทำการประมงและการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายภายใต้บริบทของกฎหมายและกติกาสากลที่ถูกต้องและเป็นธรรม

ในส่วนของประเด็นข้อสังเกตของเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ นั้น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอชี้แจง ดังนี้

  • ข้อสังเกตที่ 1 บททั่วไปของร่างพ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ……
  • “การคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย ถูกตัดออกจากส่วนหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสนใจ การใช้ประมงผิดกฎหมายเป็นข้อห่วงใยที่ทาง TIP Office และ EU ให้ความสำคัญ” การกำหนดบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปรามและป้องกันการกระทำความผิด การกำหนดบทลงโทษทางอาญาเพื่อให้เกิดการป้องปรามจึงควรเป็นการกำหนดโทษตามทฤษฎี อรรถประโยชน์ (Utilitarian theory) คือการกำหนดโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence) มิให้เกิดการกระทำผิดขึ้นอีกในอนาคต”

    ในประเด็นนี้ ต้องเข้าใจว่า
    1.“พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” ที่เรากำลังจะแก้ไขนี้ “เป็นกฎหมายว่าด้วยการประมง เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโยชน์จากการทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล” มิใช่กฎหมายแรงงาน

    2.การนำประเด็นของเรื่องแรงงานมาบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เป็น “ความมักง่าย” ในการบัญญัติกฎหมายของรัฐบาลในขณะนั้น เพราะแทนที่จะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับแรงงานเหมือนกับกิจกรรมหรืออาชีพอื่นๆ รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการ แต่มาใส่ไว้ในกฎหมายประมงกฎหมายแทน ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆด้วย เช่น กรณีที่เกี่ยวกับกับเรือและการเดินเรือ หรือกรณีของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ฯลฯ

    3.การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มีการตัดในเรื่องของ “แรงงาน” ออกไปเกือบทั้งหมด จะมีแต่เฉพาะมาตรา 82 มาตรา 83 และมาตรา 83/1 ที่มีการแก้ไขบางส่วน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ทั้งนี้ เพื่อ “คืนความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และความเสมอภาค” ในการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ประกอบการประมง และผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่องกับการประมง ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ (ดูตารางประกอบ)

    ดังนั้น เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อเนื่องกับการประมง และผู้ประกอบการเรือประมงไทย ชาวประมงไทย ผู้เสนอกฎหมายทุกกลุ่มจึงตัดบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “การใช้แรงงาน” ที่ผิดกฎหมายออกจากกฎหมายประมง โดยให้ไปใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่ว่าด้วยการใช้แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่แล้วแทน

    4.การคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวนั้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการนั้นบังคับใช้เป็นการทั่วไปแล้ว คือ “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” และในส่วนของแรงงานประมงทะเลก็ยังมีกฎหมายเฉพาะบังคับอยู่อีก 1 ฉบับ ที่มิได้มีการแก้ไขแต่ประการใด คือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562” ที่อนุวัติการตาม “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ.2007 ซึ่งประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันไว้”

    5.องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ที่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ ทราบหรือไม่ว่า ในปัจจุบัน “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562” ที่อนุวัติการตาม “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ.2007 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้” นั้น ได้มีบทบัญญัติที่กำหนดไว้เกินกว่ากรอบของอนุสัญญาฯ ที่กำหนดไว้เสียอีก เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการเรือประมง ชาวประมงไทยมีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพมากขึ้นกว่าชาวประมงชาติอื่น

    ขอให้ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นนี้ ได้กรุณาทำความเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับชาวประมงไทยด้วย พร้อมทั้งเสนอให้ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ที่หากตระหนักถึง “การคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงจริง” ได้ช่วยรณรงค์ให้สมาชิกขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ส่วนใหญ่อีกเกือบ 200 ประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับ “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ.2007” ได้เร่งการให้สัตยาบันเหมือกันกับประเทศไทยที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 โดยเร็วด้วย มิใช่ปล่อยให้ประเทศเหล่านั้น ใช้ช่องว่างในการละเมิดสิทธิแรงงานได้อย่างเสรี

  • ข้อสังเกตที่ 2 คณะกรรมการในร่างกฎหมาย
  • “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ได้อ้างว่า (1) มีการตัดผู้แทนจากกระทรวงแรงงานออกจากคณะกรรมการ ทำให้คณะกรรมการในร่างกฎหมายใหม่ไม่มีผู้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งอาจนำมาซึ่งข้อจำกัดไม่สามารถใช้มาตรการทางปกครองได้หากมีกรณีละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นบนเรือประมงเนื่องจากคณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจในบริบทการคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้พบว่า (2) มีการกระจายอำนาจให้แก่นักการเมืองท้องถิ่นในเขตทำประมง ซึ่งอาจทำให้อำนาจในการตรวจสอบผู้กระทำความผิดเป็นไปได้ยากมากขึ้น (3) ขาดกลไกในการตรวจสอบการทำงานทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก และ (4) ร่างกฎหมายทุกฉบับไม่ได้แสดงให้เห็นกลไกการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการทั้งหมดซึ่งเป็นข้อน่ากังวลถึงเรื่องประสิทธิภาพว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนไปในทางเดียวกันอย่างไร

    ในประเด็นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ไม่ได้มีความเข้าใจในบริบทของการประมงไทยและบทบัญญัติของกฎหมายประมงฉบับนี้เลย ซึ่งจะเห็นได้จาก

    1.อย่างที่ได้ชี้แจงไปแล้วว่า “กฎหมายประมง” ฉบับนี้ “เป็นกฎหมายว่าด้วยการประมง เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโยชน์จากการทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล” มิใช่กฎหมายแรงงาน ดังนั้น เมื่อมีการตัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานออก โดยให้ไปใช้กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง ตามที่ได้ชี้แจงในข้อสังเกตที่ 1 ข้างต้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้แทนกระทรวงแรงงานอยู่ใน “คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง” ตามมาตรา 112/1 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเสนอแก้ไขในครั้งนี้ มีการจำกัดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรการทางปกครองอยู่เพียงการพิจารณาในประเด็นของมาตรา 113 ซึ่ง “ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน” เลย ดังนั้น จึงไม่มีกรณี “การละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นบนเรือประมง” ที่จะต้องพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม มีร่างกฎหมายบางฉบับ ยังคงมีผู้แทนกระทรวงแรงงานอยู่ใน “คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง” ด้วย

    2.ในประเด็นที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” อ้างว่า “มีการกระจายอำนาจให้แก่นักการเมืองท้องถิ่นในเขตทำประมง ซึ่งอาจทำให้อำนาจในการตรวจสอบผู้กระทำความผิดเป็นไปได้ยากมากขึ้น” นั้น

      (1)จากการศึกษาร่างทั้ง 7 ฉบับ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พบว่ามีร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอโดย ท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. และคณะ เพียงฉบับเดียว ที่มีการแก้ไขให้ประธาน “คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด” เป็น “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” มิใช่ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ตามกฎหมายเดิม และมีผู้แทนเทศบาลเข้ามาเป็นกรรมการด้วย จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า “สภาฯ จะมีการแก้ไขตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ” และ

      (2)แม้หากสภาฯ ให้ความเห็นชอบตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ “คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด” ก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “การตรวจสอบผู้กระทำความผิด” ที่อ้างว่า “จะเป็นไปได้ยากมากขึ้น” เลย จึงไม่เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ท้วงติงบนพื้นฐานของการใช้ “จินตนาการ” เอง ในประเด็นนี้ ได้อย่างไร

    3.ในประเด็นที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” อ้างว่า “ขาดกลไกในการตรวจสอบการทำงานทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก” นั้น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไม่เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” พูดถึงในประเด็นใด เพราะ

      (1)ในร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ไม่มีการแก้ไขในประเด็นที่กล่าวถึงการตรวจสอบการทำงานใดๆ
      (2)ตามปกติในการดำเนินงานของภาครัฐ จะมีหน่วยราชการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้อง ความชอบด้วยกฎหมาย และการใช้อำนาจรัฐอยู่ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว และ
      (3)ในประเด็นของการประมงทะเลของประเทศไทย มีหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน สื่อ และ NGOs ทั้งในและนอกประเทศได้ให้ความสนใจ ตรวจสอบ และจ้องจับผิดอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปีที่ผ่านมา ดังเช่นที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ตั้งข้อสังเกตในครั้งนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการ “ตรวจสอบการทำงานทั้งจากหน่วยงานภายนอก” ก็ว่าได้

      สิ่งที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย อยากให้ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ดำเนินการ คือ การถอด “ความอคติ” ออก และให้ “ความเป็นธรรม” ในการตรวจสอบบนพื้นฐานของความเสมอภาคและเท่าเทียมกับทุกกลุ่มอาชีพ และชาวประมงในประเทศอื่นด้วย

    4.ในประเด็นที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” อ้างว่า “ร่างกฎหมายทุกฉบับไม่ได้แสดงให้เห็นกลไกการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการทั้งหมดซึ่งเป็นข้อน่ากังวลถึงเรื่องประสิทธิภาพว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนไปในทางเดียวกันอย่างไร” นั้น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไม่เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ต้องการสื่อถึงอะไร เพราะ

      (1)กฎหมายเดิมที่มีการบังคับใช้อยู่ มีกลไกการทำงานร่วมกันดีอยู่แล้ว ทั้งในประเด็นการอนุรักษ์ การจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยมี “คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด” เป็นผู้ใช้อำนาจในขอบเขตของตนที่สอดรับกัน ในส่วนของการพิจารณาและลงโทษ ก็มี “คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง” และ “คณะกรรมการเปรียบเทียบ” ที่บังคับใช้อำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด นอกเหนือไปจากอำนาจตามหมวด 11 และ
      (2)การอ้างถึง “ข้อน่ากังวลถึงเรื่องประสิทธิภาพ” จึงเป็นข้อกังวลที่ “เลื่อนลอย” และ “ไม่มีเหตุผล” เลย

  • ข้อสังเกตที่ 3 การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์กับการนิรโทษกรรมผู้เคยทำประมงผิดกฎหมาย
  • “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ได้อ้างว่า “มีความเสี่ยงกรณีเรือประมงที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเกินกว่าสองปีสามารถกลับมาขอออกใบอนุญาตได้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในร่างกฎหมายได้ตัดข้อความใน (5) ซึ่งกำหนดห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้นห้าปีนับถึงวันยื่นคําขอรับใบอนุญาต ดังนั้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านอาจจะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่เรือและผู้ที่เคยถูกมาตรการทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตจากกฎหมายฉบับเดิม”

    ในประเด็นนี้
    1.เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวถึงบทบัญญัติในมาตรา 39 (5) ซึ่งเป็นการปรับแก้ระยะเวลาที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำการประมง โดยในกฎหมายฉบับเดิม ได้บัญญัติให้ผู้ขอใบอนุญาตทำการประมง จะต้องไม่เป็นผู้ที่เคยถูกพักใช้ “ไม่พ้นระยะเวลา 5 ปี” โดยในร่างแก้ไขใหม่ ได้ลดเงื่อนเวลาลงเหลือเป็น “ไม่พ้นระยะเวลา 2 ปี” เพราะเห็นว่า “เงื่อนเวลา 2 ปี” เป็น “ระยะเวลาที่เหมาะสม” มิใช่เป็นการตัดข้อความใน (5) ทิ้งไป ตามที่กล่าวอ้าง

    2.เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ขาดความรู้ความเข้าใจในคำศัพท์ที่ว่า “การนิรโทษกรรม” จึงอ้างว่า “หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านอาจจะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่เรือและผู้ที่เคยถูกมาตรการทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตจากกฎหมายฉบับเดิม”

    สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จึงขอแนะนำให้ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ทุกองค์กร ไปหา “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒” มาอ่านให้เข้าใจเสียก่อน เพราะตาม “พจนานุกรม” ฉบับนี้ ได้เขียนนิยามไว้อย่างชัดเจนว่า “ตามกฎหมายแพ่ง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ; ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด”

    เพราะในประเด็นของ (5) ไม่ใช่ประเด็นของ “การนิรโทษกรรม” เพราะความผิด “ยังมีอยู่” มิได้ยกเลิกแต่ประการใด เป็นเพียงการ “ลดข้อจำกัด” เดิมที่มีอยู่ 5 ปี เหลือเพียง 2 ปี คล้ายกับการ “ลดโทษ” แต่ไม่ใช่ “นิรโทษ” ดังที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวอ้าง

  • ข้อสังเกตที่ 4 การอนุญาตให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลด้วยเรือประมง
  • “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ได้อ้างว่า “ร่างกฎหมายทุกฉบับเปิดโอกาสให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำได้ทั้งประมงในและนอกน่านน้ำไทย กล่าวคือ ในร่างกฎหมายทุกฉบับการแก้ไขให้เรือประมงที่จดแจ้งต่อศูนย์ควบคุมเรือเข้าออกสามารถขนถ่ายสัตว์น้ำได้เช่นเดียวกับเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และแก้ไขให้เรือประมงที่ได้จดแจ้งสามารถนำเข้าสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามายังท่าเทียบเรือได้อีกด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงในการทำประมงเกินขนาด การจับปลาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่สามารถตรวจสอบที่มาของปลาได้ และเสี่ยงต่อการใช้แรงงานบังคับเนื่องจากเรือประมงต้องออกไปทำการประมงเป็นเวลานาน”

    ในประเด็นนี้
    1.เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวถึงบทบัญญัติในมาตรา 85/1 ซึ่งเดิมเคยบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” แต่ในร่างฉบับใหม่ แก้ไขเป็น “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำจากอธิบดี” แต่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กลับตีความไปว่า “ร่างกฎหมายทุกฉบับเปิดโอกาสให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำได้ทั้งประมงในและนอกน่านน้ำไทย” ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะ

      (1)ตามกฎหมายเดิม อนุญาตให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำได้อยู่แล้ว มิใช่ขนถ่ายไม่ได้ แต่ไม่สามารถใช้เรือประมงในการขนถ่ายได้ เว้นแต่จะขนถ่ายโดยเรือที่จดทะเบียนเป็น “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ”
      (2)ร่างที่แก้ไขใหม่นี้ ยังคงอนุญาตให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำได้เช่นเดิม และสามารถใช้เรือประมงในการขนถ่ายได้ แต่เรือประมงลำนั้นจะต้องได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำจากอธิบดีกรมประมงด้วย
      (3)เหตุผล คือ ชาวประมงต้องการจะลดต้นทุนในการขนถ่ายสัตว์น้ำลง และต้องการส่งสินค้าสัตว์น้ำให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยความสด/สะอาดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งเจ้าของสัตว์น้ำและผู้บริโภค

    2.การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ไม่เกี่ยวกับ

      (1)มีความเสี่ยงในการทำประมงเกินขนาด ตามที่กล่าวอ้าง เพราะไม่มีการจับปลาเพิ่มขึ้น (ไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้มีการเพิ่มวันทำการประมง) ไม่เกี่ยวกับ
      (2)การจับปลาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่สามารถตรวจสอบที่มาของปลาได้ ตามที่กล่าวอ้าง เพราะไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้มีการใช้วิธีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และไม่เกี่ยวกับ
      (3)เสี่ยงต่อการใช้แรงงานบังคับเนื่องจากเรือประมงต้องออกไปทำการประมงเป็นเวลานาน” ตามที่กล่าวอ้าง เพราะไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้เรือประมงอยู่ในทะเลได้นานวันขึ้น

    ดังนั้น ในประเด็นนี้ เป็นความไม่เข้าใจ “ข้อกฎหมาย” และ “การสร้างจินตนาการของ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ทั้งสิ้น

  • ข้อสังเกตที่ 5 การรายงานคนประจำเรือ (Crew List) และหนังสือคนประจำเรือ
  • “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ได้อ้างว่า “ร่างกฎหมายทุกฉบับกำหนดให้เรือประมงไม่จำเป็นต้องแจ้งจำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาต ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็น เรือประมงที่จะออกจากฝั่งเพื่อไปทำการประมง สามารถรับฝากคนประจำเรือหรือลูกเรือที่มีใบอนุญาตและหนังสือประจำตัวแล้วออกไปกับเรือเพื่อนำส่งให้กับเรือประมงลำอื่นที่ได้รับอนุญาตแล้วได้” และ “การแก้ไขข้างต้นทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานประมง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบว่าเรือลำดังกล่าวได้ใช้แรงงานประมงอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ทำให้แรงงานประมงตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นแรงงานทาสโดยที่ไม่สามารถจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่สำคัญ”

    ในประเด็นนี้
    1.เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวถึง การแก้ไขกฎหมายในมาตรา 82 โดยขาดความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายและการปฏิบัติที่มีอยู่ จนนำไปสู่ความไม่เข้าใจและเข้าใจผิดในข้อกฎหมายที่แก้ไขใหม่

    2.ในมาตรา 82 ที่แก้ไขใหม่นี้ เรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (30 ตันกรอสขึ้นไป) ก่อนออกจากท่า ยังคงต้องมีการ

      (1)แจ้งเข้าออกจากท่า
      (2)ต้องยื่นเอกสารต่างๆ ต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก และ
      (3)เอกสารที่ต้องยื่นรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับลูกเรือ เช่น จำนวนรายชื่อ หนังสือคนประจำเรือ หลักฐานการอนุญาตของคนประจำเรือ โดยไม่มีข้อความใดระบุว่าไม่ต้องยื่นหรือแสดงเลย

    3.ในมาตรา 82 ที่แก้ไขใหม่นี้ ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้กรณีที่เรือประมงนั้น มีการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าว่า (1) เป็นเรือไทย (2) เป็นเรือประเภทที่ใช้ทำการประมง โดยเหตุผลที่ยกเว้น คือ เรือตามเงื่อนไขนี้ มีการแจ้งจำนวนรายชื่อ และเอกสารหลักฐานคนประจำเรือด้วยระบบ Electronics ต่อ “กรมเจ้าท่า” แล้ว ตามมาตรา 285 ที่เรียกว่า e-285 เป็นระบบที่กรมเจ้าท่าได้พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับการแจ้งเข้าออกเรือและการทำข้อมูลหนังสือสัญญาคนประจำเรือและบัญชีคนประจำเรือของเรือประมง ดังนั้น เรือประมงพาณิชย์ลำนั้น จึงไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 82 ที่แก้ไขใหม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนอีก มิใช่ไม่ต้องแจ้งตามที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” เข้าใจ

    4.ดังนั้น จึงไม่มี “ความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานประมง หรือ สุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นแรงงานทาสโดยที่ไม่สามารถจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่สำคัญ” ตามที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวอ้างเลยสักนิด

  • ข้อสังเกตที่ 6 มาตรการทางปกครอง
  • “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ได้อ้างว่า (1) “มาตรการทางปกครองที่ไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิด กล่าวคือ การพักหรือระงับใช้ใบอนุญาต โดยให้มีระยะเวลาหกสิบวันในกรณีที่เป็นความผิดครั้งแรก และไม่เกินเก้าสิบวันในกรณีที่เป็นความผิดซ้ำครั้งที่สอง หรือการยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้มีระยะเวลาได้ล่วงเวลาสองปี และสามารถกลับมาขอใบอนุญาตได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรอบระยะเวลาดังกล่าวอาจไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิดที่มีลักษณะกระทบต่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากผู้กระทำความผิด เช่น ความผิดฐานการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำต้องห้ามหรือการใช้เรือไร้สัญชาติเข้ามาทำประมง เป็นต้น และ (2) มาตรการทางปกครองควรกำหนดให้มีลักษณะไปในเชิงเยียวยาต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ด้วย” (3) การกำหนดให้ผู้ที่ได้รับมาตรการทางปกครองไม่ต้องรับผิดทางอาญา โดยร่างกฎหมายของพรรคการเมือง ยกเว้นร่างจากคณะรัฐมนตรี ได้วางหลักไว้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการมาตรการทางปกครองได้ออกคำสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดแล้ว ให้ระงับการดำเนินคดีที่มีโทษทางอาญาตามพระราชกำหนดนี้ในความผิดเดียวกันอีก บทบัญญัตินี้อาจส่งผลให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษทางอาญาน้อยลง เนื่องจากการใช้มาตรการทางปกครองมีระยะเวลาและการตัดสินใจโดยคณะกรรมการมาตราการทางปกครองที่รวดเร็วกว่าระบบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งช่องว่างนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องรับโทษทางอาญาได้ง่ายขึ้น”

    ในประเด็นนี้
    1.เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวถึง มาตรา 113 ซึ่งในร่างของคณะรัฐมนตรีไม่มีการแก้ไข

    2.ในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ มีการเสนอแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องอยู่หลายมาตราที่เกี่ยวกับมาตรการทางปกครอง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งแต่เดิมเป็นการกล่าวหาและตัดสินฝ่ายเดียวของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง กล่าวคือ ในร่างกฎหมาย

      (1)มีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสู้คดีตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
      (2)มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรการทางปกครองที่ชัดเจนขึ้น
      (3)มีการกำหนดการลงโทษและระยะเวลาในการลงโทษที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการวางหลักประกัน ซึ่งแต่เดิมไม่มีการกำหนดไว้

    3.ที่ <“องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวอ้างว่า “โทษทางปกครองที่กำหนดไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิด” นั้น ใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด (1) อารมณ์/ความรู้สึกของตน (2) สัดส่วนต่อความผิดของกฎหมายอาญาอื่น (3) สัดส่วนต่อความผิดของกฎหมายระหว่างประเทศ

    คำถาม คือ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ใช้มาตรฐานอะไรเป็นตัวชี้วัด ซึ่งจากการศึกษาทั้งกฎหมายอาญาอื่น กฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายประมงของประเทศอื่น โทษทางปกครองที่กำหนดใหม่นี้ มีบทลงโทษที่สูงกว่ากฎหมายประมงของประเทศอื่นหลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรปเสียอีก

    4.ที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวอ้างว่า “ควรกำหนดให้มีลักษณะไปในเชิงเยียวยาต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมายฉบับนี้” นั้น มีประเทศใดที่มีการกำหนดมาตรการเช่นว่านี้บ้าง

  • ข้อสังเกตที่ 7 บทลงโทษ
  • “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ได้อ้างว่า “ยกเลิกโทษจำคุกในความผิดทุกกรณี การยกเลิกโทษจำคุกควรมีเหตุผลที่ชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการทดแทนอย่างไรที่เป็นการยับยั้งการกระทำความผิดไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก” และ “การลดโทษปรับในความผิดต่างๆ การลดโทษโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ความเสียหายอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้” รวมทั้ง “การพิจารณาการลงโทษควรใช้หลักได้สัดส่วนซึ่งในบริบทการทำประมง กฎหมายควรอ้างอิงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งในที่นี้คือทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ ดังนั้นการกำหนดโทษปรับต้องถึงขนาดที่ทำให้สามารถนำค่าปรับดังกล่าวมาชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้” และ “การแก้ไขพระราชกำหนดการประมงควรเป็นการแก้ไขกฎหมายในลักษณะที่จะไม่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในตลาดการค้าโลกและประเทศไทยควรแสดงถึงความมุ่งมั่นจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานประมงให้สอดคล้องตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ.2007 ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันไว้และหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal. Unreported and Unregulated fishing หรือ IUU Fishing)”

    ในประเด็นนี้
    1.เข้าใจว่า “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” กล่าวถึง “บทกำหนดโทษตามหมวด 11”

    2.ที่ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” อ้างว่ามีการ “ยกเลิกโทษจำคุกในความผิดทุกกรณี” นั้น ไม่เป็นความจริง ยังมีบทลงโทษจำคุกอยู่หลายกรณี เช่น มาตรา 127 มาตรา 152 และมาตรา 153 โดยในส่วนที่เกี่ยวกับทำการประมงนั้น ไม่มีโทษจำคุก ซึ่งสอดรับกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการใช้ทะเลซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว

    3.ในกรณีที่มีการสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล นอกจากการลงโทษปรับตามที่กำหนดไว้แล้ว ยังมีการกำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องดำเนินการฟื้นฟูหรือชำระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    4.การลดค่าปรับลงนั้น มีหลักคิดที่ชัดเจน คือ (1) “ค่าปรับ” ที่กำหนดนั้น ต้องได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด (2) “ค่าปรับ” ที่กำหนดนั้น ต้องเหมาะสมกับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และบริบทของไทย และ (3) “ค่าปรับ” ที่กำหนดนั้น ต้องอยู่ในระนาบเดียวกับค่าปรับของต่างประเทศ ที่มีสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทย

    5.“ค่าปรับ” ที่กำหนดใหม่นั้น ในหลายกรณี ยังมีอัตราที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น เวียดนาม เกาหลี ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่เคยได้รับใบแจ้งเตือน “ใบเหลือง” จาก “สหภาพยุโรป” มาแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอัตราที่สูงกว่า “ค่าปรับ” ตามกฎหมายของประเทศในทวีปยุโรปอีกหลายประเทศด้วย

    ดังนั้น การที่เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย (1) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) (2) รายงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) (3) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights Development Foundation) และ (4) Solidarity Center ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ของคณะรัฐมนตรีและพรรคการเมืองต่างๆ ว่า มีความเสี่ยงต่อการถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในตลาดการค้าโลก และขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ นั้น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่า การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวทั้งหมด เป็นการตั้งข้อสังเกต บนพื้นฐานของ

  • ความอคติต่อการประมงพาณิชย์
  • ขาดการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำการประมงของไทย
  • ขาดการศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจในบทบัญญัติของกฎหมายที่นำเสนอเพื่อการแก้ไข
  • ไม่เคยมีการศึกษาข้อกฎหมายเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศอื่น และ
  • มุ่งเน้นวิพากย์วิจารณ์ เพื่อทำลายอุตสาหกรรมประมงทะเลของไทย โดยปราศจากเหตุผลใดๆ” จึงขอตำหนิการกระทำของ “องค์กรเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ” ทั้งหมด และขอให้ทุกองค์กรได้หันกลับมาทำหน้าที่ในการดูแลผู้ใช้แรงงานต่างๆ บนพื้นฐานของความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ด้วย