ThaiPublica > เกาะกระแส > ประธานสมาคมการประมงฯ ยื่น จม. ถึงคณะกรรมาธิการยุโรป ชี้กดดันไทยแก้ IUU ไม่เป็นธรรม ระบุ 2 ปีเดินมาผิดทางประมงไทยล่มสลาย

ประธานสมาคมการประมงฯ ยื่น จม. ถึงคณะกรรมาธิการยุโรป ชี้กดดันไทยแก้ IUU ไม่เป็นธรรม ระบุ 2 ปีเดินมาผิดทางประมงไทยล่มสลาย

18 สิงหาคม 2017


วันที่ 18 สิงหาคม 2560 นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมาธิการยุโรป

วันที่ 18 สิงหาคม 2560 นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมาธิการยุโรป เรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงทะเลของไทย ให้ปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

โดยจดหมายระบุถึงเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย มีรายละเอียดว่า นับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 ที่คณะกรรมาธิการยุโรป ได้มีคำประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หรือให้ใบเหลือง เพื่อให้รัฐบาลไทยเร่งปรับปรุงการประกอบกิจการประมงทะเลของไทยให้ปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามมาตรการที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการและกลไกในการกำกับดูแลการจัดการด้านการประมงของตนเพื่อให้การนำทรัพยากรสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างยั่งยืน และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982)

พร้อมทั้งแนะนำให้รัฐบาลไทยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการจัดการด้านการประมงของไทยให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ECNo.1005/2008) โดยกำหนดเวลาให้ประเทศไทยดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่มีคำประกาศแจ้งเตือน นั้น

ในฐานะที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งเป็นผู้แทนผู้ประกอบการประมงและธุรกิจต่อเนื่องทั่วประเทศมาเป็นเวลากว่า 50 ปี “สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” ได้เห็นพัฒนาการของเครื่องมือและเทคโนโลยีการทำประมงที่ทำให้จับสัตว์น้ำได้คราวละมากๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการในการบริโภคสัตว์น้ำของประชากรโลกจนเป็นผลให้เกิดการทำประมงเกินขนาด เราขอชื่นชมและขอบคุณคณะกรรมาธิการยุโรปที่ให้ความสำคัญต่อการทำประมงอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบ การมีแผนการจัดการทรัพยากรประมงแห่งชาติ การดำเนินการเพื่อขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้หมดสิ้นไป และที่สำคัญคือการกระตุ้นให้ประเทศไทยเกิดความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว จนทำให้รัฐบาลไทยให้ความสนใจและเร่งแก้ไขปัญหาการประมงของประเทศที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน

เราตระหนักดีว่าการประมงทะเลของประเทศไทยนั้นมีปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำจนเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน (overfishing) เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศในโลกรวมทั้งสหภาพยุโรปด้วย ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร แต่ยังส่งผลการะทบถึงความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคตอีกด้วย

เราจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะต้องเร่งจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรทางทะเลรวมทั้งสนับสนุนให้มีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ มีการจัดการทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และมีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Prevent, Deter and Eliminate IUU Fishing) โดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเสมอภาคและยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วยความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมทางทะเล ทรัพยากรสัตว์น้ำ ชุมชน สังคม ผู้ประกอบการประมงและธุรกิจต่อเนื่อง

2 ปี ประมงไทยเดินมาผิดทาง

อย่างไรก็ตามจากการติดตามการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันเป็นสาเหตุที่มาของใบเหลืองที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งเตือนประเทศไทย เราเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยตลอดช่วงเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมานั้นเป็นการ “เดินมาอย่างผิดทาง”

แม้ว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดำเนินการในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายด้าน ทั้งการเร่งรัดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการทำประมง การจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมการปรับปรุงแผนการและการดำเนินการด้านการตรวจสอบ ควบคุมและเฝ้าระวังรวมทั้งการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาด้านการประมงของไทย ให้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปจนสร้างปัญหาความเดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติอย่างรวดเร็วและรุนแรงก็ตาม

แต่จนถึงวันนี้ (19 กรกฎาคม 2560) รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากใบเหลืองของสหภาพยุโรปได้

“สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ก็เนื่องมาจาก

(1) รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับความจริงว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น คือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบด้านการประมงและงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ขาดองค์ความรู้ ข้อมูล สารสนเทศและความเข้าใจในเรื่องการทำประมงทะเลอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea, 1982: UNCLOS 1982) จรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (FAOs Code of Conduct for Responsible Fisheries:CCRF) และแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (FAOs International Plan of Action on Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IPOA-IUU)

ตลอดจนตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมอีกหลายฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน แต่ประเทศไทยละเลยในการนำมาใช้เป็นแนวทางในตรากฎหมาย กำหนดแผนงาน และมาตรการการทำประมงของไทย รวมทั้งการดำเนินการให้สอดรับตามพันธกรณีดังกล่าว

(2)รัฐบาลออกกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการต่างๆ เพื่อบังคับใช้กับการทำประมง โดยไม่คำนึงถึงบริบทการทำประมง สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ตลอดจนขาดความเข้าใจในปัญหาของภาคการประมงของไทยอย่างถ่องแท้ เนื่องจากปัญหาของภาคการประมงของไทยนั้นเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานกว่า 50 ปี มีความซับซ้อนทั้งในเรื่องวิถีและวิธีการทำประมง

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางการประมงและความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดและสายพันธุ์ของสัตว์น้ำของไทยก็แตกต่างจากสหภาพยุโรปที่อยู่ในเขตหนาว การกำหนดกฎ ระเบียบและมาตรการต่างๆ โดยดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการยุโรปหลายประการ ผู้ประกอบกิจการประมงของไทยจึงไม่สามารถดำเนินการได้ หรือหากดำเนินการได้ก็ส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

และที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงบังคับใช้อยู่เป็นจำนวนมากและอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือกฎหมายของตนเป็นหลักซึ่งกฎหมายบางฉบับก็ไม่สอดคล้อง หรือขัดแย้งกัน จึงเป็นการยากที่ชาวประมงจะสามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด

รัฐไม่รอบด้าน เลือกรับฟังข้อมูลบางด้าน

(3) รัฐบาลขาดความรอบคอบ รอบด้านในการดำเนินการแก้ไขปัญหา เนื่องจากภาคการประมงนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ในหลายมิติ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของชาติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สิทธิชุมชน แรงงาน สิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ ฯลฯ การออกกฎหมาย การกำหนดแผนงานและมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยมุ่งหวังเพียงเพื่อจะปลดใบเหลือง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ดังเช่น 2 ปีเศษที่ผ่านมา

(4) เป้าประสงค์ของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มิใช่เพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบและการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมาตรการสากลในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตลอดจนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน แต่เป็นไปเพื่อรักษาตลาดส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงในสหภาพยุโรป โดยเกรงว่าหากไม่ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว ประเทศไทยจะถูกลดสถานะจากการให้ใบเหลืองไปเป็นการให้ใบแดง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงเข้าไปจำหน่ายในตลาดของสภาพยุโรปได้แล้ว ยังส่งผลให้ประเทศไทยถูกลดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่คณะรัฐบาลผู้ปกครองประเทศมิได้มีที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ดังนั้น จึงทำให้สามารถคิดไปได้ว่า รัฐบาลไทยอาจคาดหวังว่า หากสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมได้สำเร็จลุล่วงตามที่ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปให้คำแนะนำทั้งหมดแล้ว นอกจากจะสามารถปลดใบเหลืองได้แล้ว ยังอาจจะทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับสถานะของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันอีกด้วย

(5) รัฐบาล และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบมิได้ฟังเสียงของประชาชน ไม่รับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอใดๆ ของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการประมง ชุมชน องค์กร หรือแม้กระทั่งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการประมง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการยุโรป ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบด้านการแก้ไขปัญหาประมงทะเล เลือกรับฟังแต่เฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง โดยเฉพาะกรมประมงที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการประมงทะเลที่จำกัด และขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเลือกรับฟังแต่ข้อมูล ข้อคิดเห็น เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เช่น NGOs ที่อ้างตนว่าเป็นประมงพื้นบ้านและมีอคติกับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์กลุ่ม NGOs ระหว่างประเทศที่ไม่หวังดีต่อประเทศไทย และใช้ข้อมูลที่ปราศจากการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากล่าวหา โจมตีผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ของไทยเพื่อประโยชน์ในการขอรับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ

(6) รัฐบาลไม่มีการให้ความช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย กฎ ระเบียบ แผนงาน หรือมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมงทั้งไม่มีการกำหนดทางออก ทางเลือก หรือมาตรการชดเชยใดๆ ไม่แม้กระทั่งการให้เวลาในการปรับตัวหรือดำเนินการให้ถูกต้อง กฎหมาย กฎ ระเบียบ แผนงาน หรือมาตรการต่างๆ ที่ประกาศมักมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากการออกประกาศแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกำหนดการประมง ทั้ง 2 ฉบับ

(7) มาตรการลงโทษที่กำหนดไว้ตามกฎหมายประมง ฉบับปัจจุบัน มีการกำหนดโทษปรับไว้ในอัตราที่สูงมาก โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับในอัตราเดียวกับสหภาพยุโรป ที่มีค่าเงินและสภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกับประเทศไทยมาก การกำหนดบทลงโทษไม่มีความเสมอภาคกันระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยเรือของคนในชาติ กับผู้กระทำความผิดด้วยเรือของคนต่างชาติ รวมทั้งมีการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษที่ซ้ำซ้อนกันจนทำให้ผู้ประกอบการประมงแทบจะไม่มีโอกาสกลับมาประกอบอาชีพประมงได้อีกต่อไป

2ปี ความล่มสลายประมงไทย

จากการศึกษาเอกสารคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรป ลงวันที่ 21เมษายน พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการแจ้งให้ประเทศที่สามรับทราบความเป็นไปได้ที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (2015/C142/06) สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เข้าใจว่าจุดมุ่งหมายสำคัญที่คณะกรรมาธิการยุโรปต้องการคือ การเร่งรัดให้ประเทศไทยจัดทำแผนปฏิบัติการและกำหนดแผนงาน มาตรการที่มีความสอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรการและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับภูมิภาคและสากลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ตลอดจนมีความก้าวหน้าในพัฒนากฎหมายเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยผ่านกลไกของการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ และปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และเป็นไปตามกติกาสากล ดังเช่นที่สหภาพยุโรปได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว โดยคาดหวังว่าประเทศไทย จะสามารถจัดทำแผนงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากที่ได้รับคำประกาศแจ้งเตือน

และที่สำคัญเราเชื่อมั่นว่า คณะกรรมาธิการยุโรปมิได้มีความประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยดำเนินการกวาดล้างการทำการประมงผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไปในทันที ดังเช่นที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการมาตลอดในช่วงเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการทำลายอุตสาหกรรมประมงของไทย และที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนเกือบล่มสลายทั้งหมด

ข้อสงสัย ตั้งกระทู้การให้ใบเหลือง 8 ประเด็น

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการตรวจเยี่ยมของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปและการให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของประเทศไทยต่อรัฐบาล ทำให้เราอดสงสัยในเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปในการให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยว่าเกิดจากเหตุผลใด ระหว่าง

(1)การนำมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และรักษาประโยชน์ให้กับชาวประมงในสหภาพยุโรป

(2)ต้องการให้ประเทศไทย มีการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์อย่างรับผิดชอบ ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) โดยใช้มาตรการป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เป็นเครื่องมือ

(3)ต้องการตอบโต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของประเทศไทย เพื่อบีบให้คืนอำนาจให้กลับคืนสู่ประชาชนเช่นอารยประเทศโดยเร็ว สาเหตุที่ทำให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เกิดความสงสัยในเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นมาจากการผลการดำเนินงานของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมา ซึ่งผมเห็นว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ทำการ :

    (1)คุกคามอำนาจอธิปไตยของไทย

    (2)ก้าวล่วง และคุกคามการบริหารจัดการกิจการภายในของประเทศไทย

    (3)เร่งรัดให้รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เป็นธรรม ตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนด โดยไม่คำนึงถึงบริบทของประเทศไทยที่แตกต่างจากสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องและส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ หลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชน และไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแม้แต่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มสมาชิกประชาคมยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปก็ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกันนี้นานกว่า 30 ปี และใช้งบประมาณในการแก้ไขมากกว่า 5 แสนล้านบาท

    (4)เข้ามาตรวจสอบร่างกฎหมายประมง เรือ และแรงงานประมง รวมทั้งการกำหนดมาตรการและการทำงานของหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกเกินกว่าที่มิตรประเทศพึงปฏิบัติต่อกัน รวมทั้งแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยไม่คำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างสหภาพยุโรป กับประเทศไทย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางการประมง ฯลฯ

    ทั้งๆ ที่ FAO ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) กำหนดให้แต่ละประเทศสามารถนำมาตรการที่กำหนดไว้ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนได้

    (5)ปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง ซึ่งเป็นหลักการสากลในการแก้ไขปัญหา โดยมิได้ทักท้วงหรือแนะนำ เป็นผลให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา นอกจากจะไม่สามารถนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่มีคำประกาศแจ้งเตือนได้แล้ว ยังทำให้ภาคการประมงของไทยเกือบจะล่มสลายทั้งระบบ

    (6)ไม่ให้โอกาสกับรัฐบาลไทยในการทำความเข้าใจ และให้เวลาในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ระบุไว้ในคำวินิจฉัยทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งบางกรณีโดยข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

    ทั้งๆ ที่ผู้บริหาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวขาดองค์ความรู้ด้านการประมงทะเล ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคและองค์ความรู้เฉพาะทางจึงทำให้สามารถคิดไปได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเกิดจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มิได้มีที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่สอดรับกับความคิดเห็นในเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนที่นานาอารยประเทศได้ให้การรับรอง

    (7) มีการนำประเด็นของการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่ FAO กำหนดขึ้นนั้น คือ การอนุรักษ์ การจัดการ และการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ (Fish stock) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความยั่งยืน และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคตตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

    การนำประเด็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการควบคู่กันไปนั้น ทำให้ประเด็นปัญหาที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามากขึ้นซึ่งหากพิจารณาด้วยความเป็นธรรมแล้ว แม้แต่ในสหภาพยุโรปเองก็ยังมีหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งปรากฏตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอหรือแม้แต่อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากล (ILO) ฉบับที่ C188 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล ที่สหภาพยุโรปพยายามผลักดันให้ประเทศไทยดำเนินการให้สัตยาบันโดยเร็วนั้น ก็มีประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมยุโรป เพียง 2 – 3 ประเทศ จาก 28 ประเทศสมาชิกเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ และดำเนินการให้สัตยาบัน

    (8)การตรวจประเมินผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) นั้น คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปมีความเข้มงวด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและข้อเสนอแนะในการดำเนินการกับประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ได้รับใบเหลือง หรือมีคำประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการซึ่งทำให้คิดไปได้ว่าสาเหตุมาจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มิได้มีที่มาจากระบอบประชาธิปไตย

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องเงื่อนเวลาในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการศึกษาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)ของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของสหภาพยุโรปนั้น สหภาพยุโรปใช้เวลาในการพัฒนามาตรการต่างๆ เป็นเวลานาน และใช้เวลาในการดำเนินการลดการลงแรงประมงนานกว่าสามสิบปี โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการไปแล้วมากว่า 5 แสนล้านบาท

ซึ่งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเชื่อว่า คณะกรรมาธิการยุโรปทราบดีว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย “เดินมาอย่างผิดทาง” มีการเร่งรัดการดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ฟังเสียงประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง แต่คณะกรรมาธิการยุโรปก็นิ่งเฉย ไม่ทักท้วง กลับพยายามเพิ่มความกดดันและบีบคั้นให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวประมงไทย ครอบครัว ผู้ประกอบการในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศชาติอย่างรวดเร็วและรุนแรงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ จึงตอกย้ำถึงความครางแคลงใจในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าต้องการเห็นการประมงทะเลของประเทศไทยปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จริงหรือไม่ อย่างไร

แจงทางออกแก้IUU ด้วยมิติของไทย

ในฐานะที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนชาวประมงที่ประกอบกิจการประมงทะเลทั้งในและนอกน่านน้ำไทย เป็นเวลากว่า 50 ปี เราขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทย เพื่อให้ไปสู่การทำประมงที่ยั่งยืน และรับผิดชอบ ที่เหมาะสมกับบริบท สภาพปัญหา สภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางการประมงของประเทศไทย โดยขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป โปรดพิจารณาและดำเนินการ ดังนี้

    (1)ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ความเคารพต่ออำนาจและอธิปไตยของประเทศไทยในการดำเนินการต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจของรัฐไทยตามกฎบัตรสหประชาชาติ และพันธกรณีระหว่างประเทศ

    (2)ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปยุติการกดดันและบีบคั้นให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการเสนอแนะ หรือกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของบริบททางเศรษฐกิจ สังคมวิถีชีวิต สภาพปัญหา สภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางการประมงของประเทศไทย

    (3)ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในภาคการประมงและอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย โดยการทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ แผนงาน และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง เรือ และแรงงานประมง เพื่อให้ประเทศไทยมีการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ให้หมดสิ้นไป มีแผนการจัดการทรัพยากรประมงแห่งชาติ มีการทำประมงทะเลได้อย่างยั่งยืน และมีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ภายใต้เงื่อนเวลาที่เหมาะสมและเป็นไปได้ โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่แท้จริงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยมาตรการและแนวทางที่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต สภาพปัญหา สภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางการประมงของประเทศไทย

    รวมทั้งรับฟังและนำความคิดเห็นและข้อเสนอของชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องไปพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินในในการกำหนดแนวทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของประเทศไทยต่อรัฐบาล

    (4)ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปในฐานะประเทศที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ได้ติดตาม เฝ้าระวัง ให้กำลังใจ และให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ต่อรัฐบาลไทย ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Prevent, Deter and Eliminate IUU Fishing) ที่ FAO กำหนดบนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่าง และประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาก่อน

    (5)ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในการฝึกอบรม บุคลากรทั้งในด้านองค์ความรู้และการฝึกฝนประสบการณ์ด้านการประมงทะเล การศึกษาวิจัย การจัดการ การควบคุม และการกำกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลให้เกิดความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด ตามเจตนารมณ์ของ UNCLOS1982

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นโดยสุจริตใจว่า “หากรัฐบาลไทยเร่งดำเนินการจัดให้มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันวิชาการด้านการประมง และผู้ประกอบกิจการประมงในทุกประเภททุกระดับภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์น้ำ เรือ และเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ ที่สมบูรณ์ชัดเจน รอบคอบและรอบด้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ทั้งโดยการแต่งตั้งผู้แทนสมาคมและชาวประมงให้เข้าร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการประมง และการฟังเสียงประชาชน ชาวประมง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่างๆ อย่างจริงใจ และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง การกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืนในอนาคตแล้ว

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเชื่อว่า ประเทศไทย จะสามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ให้หมดสิ้นไปในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งยังจะสามารถบริหารจัดการการประมงทะเลของไทยอย่างรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืนได้ตลอดไปด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จึงส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ กราบเรียนมายัง ฯพณฯ เพื่อโปรดนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเร็วต่อไป