ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเมินผล IUU Fishing ของไทย ในรอบ 5 เดือน

ประเมินผล IUU Fishing ของไทย ในรอบ 5 เดือน

20 ตุลาคม 2015


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย

การประเมินผลการดำเนินการ และมาตรการการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย นับตั้งแต่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำประกาศแจ้งเตือน หรือให้ “ใบเหลือง” กับประเทศไทย อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ (Flag State) รัฐเจ้าของท่า (Port State) รัฐชายฝั่ง (Coastal State) และรัฐเจ้าของตลาด (Market State) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีของกฎหมายสากล และมิได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกัน ยับยั้งและกำจัดการทำประมงแบบ IUU ปล่อยให้เรือประมงที่ติดธงไทยทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported และ Unregulated Fishing) ทั้งในบริเวณน่านน้ำภายในและต่างประเทศ มิได้กำกับดูแลการทำประมงทะเลในน่านน้ำไทยให้เกิดความยั่งยืน

รวมทั้งไม่สามารถติดตาม ควบคุม ดูแลกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งที่นำเข้ามาเพื่อการแปรรูปและส่งไปจำหน่ายยังประเทศในเครือสหภาพยุโรปได้อย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ประมงแบบ IUU มิให้มีการซื้อขายผ่านประเทศไทยและส่งออกไปยังตลาดประชาคมยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปในฐานะของรัฐเจ้าของตลาด (Market States) จำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎระเบียบสหภาพยุโรป ที่ (EC) No.1005/2008 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยตามกระบวนการเบื้องต้นคณะกรรมาธิการฯ จะออกคำประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำรัฐบาลไทยในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพเพื่อให้สินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของตนที่จะส่งไปยังสหภาพยุโรปไม่เป็นสินค้าที่เกิดจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

เรือประมงไทย-4

ภายหลังจากการได้รับ “ใบเหลือง” รัฐบาลไทย โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยได้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” (Command Center for Combating Illegal Fishing) เรียกโดยย่อว่า ศปมผ. (CCCIF) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ และให้มีอำนาจที่สำคัญ คือ

(1) การกำหนดแนวทางและจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตลอดจนกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนนั้น รวมทั้งการทำความเข้าใจกับสหภาพยุโรป

(2) ควบคุมสั่งการ กำกับดูแล และประสานการปฏิบัติการทั้งปวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(3) พิจารณา เสนอแนะ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายและบทลงโทษที่เหมาะสม

(4) ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งยกระดับความร่วมมือกับประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศที่เรือที่ชักธงไทยเข้าไปทำการจับปลาในน่านน้ำของประเทศนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และ(5) ฯลฯ

ต่อมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2558 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม เพื่อควบคุมจำนวนเรือประมงและเครื่องมือบางประเภทตามที่ ศปมผ. รายงานข้อมูล โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการจัดการให้เกิดความสมดุลกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในน่านน้ำไทย โดยมีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งฉบับนี้ หรือประกาศที่ออกตามคำสั่งนี้ โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตลอดระยะเวลา 5 เดือนเศษ (29 เมษายน – ปัจจุบัน) ศปมผ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกือบทุกสัปดาห์ รวม 18 ครั้ง โดยได้เชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย แต่จากข้อมูลผลการประชุมทั้งที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะ ประชาชน และการรายงานต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลับไม่ปรากฏข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการฯ มิได้รับฟังหรือมีการหยิบยกข้อมูลดังกล่าวขึ้นพิจารณา

วิธีการดำเนินการของ ศปมผ. ในช่วงเวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงเป็นการเลือกรับฟังแต่เฉพาะข้อมูลจากกรมประมงและผู้แทนองค์กรเอกชนบางคน เพื่อใช้ในการตัดสินใจ จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงเกือบทุกภาคส่วน เช่น

(1) การรับฟังความเห็นของกรมประมงเกี่ยวกับข้ออ้างของการทำการประมงเกินศักยภาพผลผลิตทดแทนของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ โดยใช้ผลการสำรวจและศึกษาทางวิชาการที่ทำโดยปราศจากความสมบูรณ์ รอบด้านในทุกมิติ บนพื้นฐานของสถิติตัวเลข และข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ทั้งในเรื่องจำนวนเรือที่มีอยู่จริง จำนวนสัตว์น้ำที่จับได้จริง โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ และข้อมูลที่แตกต่างจากสมาคมการประมงที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การตัดสินใจออกคำสั่งลดการลงแรงประมงโดยการบังคับให้เรือประมงที่ไม่จดทะเบียนหรือไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ หรือไม่มีอาชญาบัตร หรือมีใบอาชญาบัตรผิดประเภท ต้องหยุดทำการประมงโดยสิ้งเชิง ซึ่งส่งผลให้เรือประมงจำนวนมากกว่า 3,000 ลำ ต้องหยุดกิจการทั้งหมด โดยที่ภาครัฐไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ และไม่รับฟังปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจดทะเบียนหรือขอใบอนุญาตใช้เรือ หรือขออาชญาบัตรได้

(2) การยกเลิกเครื่องมือประมงบางประเภท แม้จะมีเอกสารถูกต้องครบถ้วน เช่น เครื่องมืออวนรุน รั้ว ไซมาน ลี่ ฯลฯ โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากร ทั้งๆ ที่ในทางวิชาการสามารถลดศักยภาพในการทำลายของเครื่องมือดังกล่าวให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่เป็นสากล หรือกำหนดมาตรการรองรับในการดูแล ชดเชย หรือลดผลกระทบไว้ล่วงหน้าได้

(3) การกำหนดเขตการประมงโดยไม่มีผลการศึกษาทางวิชาการเชิงประจักษ์ใดๆ รองรับ แต่ใช้วิธีให้กลุ่มชาวประมงไปเจรจาตกลงกันเองตามความพอใจ ซึ่งทำให้ข้อยุติที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกันไปตามความต้องการของชาวประมงในแต่ละจังหวัดชายทะเล ทั้งการกำหนดเขตดังกล่าวยังเป็นการก้าวล่วงอำนาจของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ที่มีผลบังคับใช้แล้วอีกด้วย

(4) การกำหนดเงื่อนไขในการทำการประมง เช่น การกำหนดวันหยุดทำการประมงตามเวลาปฏิทิน โดยมิได้คำนึงถึงวันที่ในการขึ้น-ลงของน้ำตามธรรมชาติ การกำหนดให้ใช้ตาอวนขนาดใหญ่ในทันที โดยไม่ทราบข้อมูลว่าอวนที่มีขนาดตาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด ฯลฯ คำสั่งหรือประกาศต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้นั้น มิได้คำนึงถึงวิถีชีวิต ธรรมชาติ สภาพอากาศ ความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่อเนื่อง และประชาสังคมที่ต้องพึ่งพาสัตว์น้ำจากชาวประมงในการประกอบอาชีพหรือเพื่อการบริโภค และ(5)ฯลฯ

เรือประมง
เรือประมง

ผลกระทบและความเสียหาย

การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างกว้างขวางทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคต่อกิจการประมงของประเทศ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจการประมง ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งพอสรุปได้โดยสังเขป ดังนี้

(1) เรือประมงจำนวนมากกว่า 3,000 ลำ ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 15,000 ล้านบาท ไม่สามารถนำไปใช้ประกอบกิจการประมงหรือใช้ประโยชน์อื่นเพื่อให้เกิดผลในทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ รวมทั้งเจ้าของเรือและครอบครัวจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ขาดรายได้สำหรับใช้จ่ายในการดำรงชีพและจุนเจือครอบครัว ขาดรายได้ในการจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนของลูกหลาน การรักษาพยาบาล และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

(2) ลูกเรือประมง ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า 60,000 คน ตกงาน ในจำนวนนี้มีลูกเรือที่เป็นคนไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 12,000 คน ขาดรายได้ในการดำรงชีพและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุนเจือครอบครัว ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 36,000 คน

(3) ธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้นทางอันประกอบไปด้วย โรงงานน้ำแข็ง ผู้ค้าน้ำมัน ผู้ค้าวัสดุและอุปกรณ์ประมง เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ และผู้ค้าส่งต่างๆ นับหมื่นรายขาดแคลนรายได้หรือมีรายได้ลดลงจากการถูกบังคับให้เรือหยุดทำการประมง

(4) ธุรกิจหรือผู้ประกอบการกิจการต่อเนื่องอันประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือ องค์การสะพานปลา (หน่วยงานของรัฐ) แพปลา ห้องเย็น โรงงานแปรรูปเบื้องต้น (ล้ง) อุตสาหกรรมแปรูปสัตว์น้ำ ทั้งโรงงานปลากระป๋อง โรงงานปลาป่น โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำอบแห้ง โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานน้ำปลา โรงงานปลาเค็ม-ปลาแห้ง พ่อค้า-แม่ค้า ผู้ค้าสัตว์น้ำ ผู้ประกอบกิจการขนส่ง ผู้ส่งออก ฯลฯ นับหมื่นราย ต้องได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนสินค้า ขาดการจ้างงาน เนื่องจากเรือประมงกว่า 3,000 ลำ ที่ต้องหยุดทำประมงเหล่านี้ เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ (ปีละกว่า 1,000,000 ตัน) อันเป็นห่วงโซ่อุปทานห่วงแรกของสายโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมประมง และผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป ส่งผลให้ธุรกิจหรือผู้ประกอบการปลายน้ำไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

(5) การเสื่อมราคาของเรือประมง จำนวนมากกว่า 3,000 ลำ อันเนื่องมาจากไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดรายได้ ทั้งๆ ที่เรือเหล่านั้นยังสามารถใช้เป็นหน่วยการผลิตและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และประเทศชาติ และสามารถพยุงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยในภูมิภาคของประเทศได้ และ(6) ฯลฯ

5 เดือนที่ขาดข้อมูล-ไม่รับฟังข้อเท็จจริง

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นผลมาจากการดำเนินการ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ออกมาบังคับใช้ของภาครัฐ ในห้วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา บนพื้นฐานของการขาดข้อมูล ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่รอบด้านในทุกมิติ และเป็นปัจจุบัน โดยมีสาเหตุ ดังนี้

(1) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ขาดองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประมงทะเลทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับนโยบาย ทั้งบุคลากรในส่วนของภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ดูแลในเรื่องการตรากฎหมาย แม้ว่าจะมีบุคลากรบางคนที่แสดงตัวว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในเรื่องการทำประมงทะเล แต่ก็เป็นเพียงผู้ที่พอจะมีความรู้หรือมีประสบการณ์ในเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมการทำประมงทะเลเพียงบางส่วนเท่านั้น

(2) บุคลากรของกรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการการประมงทะเล ส่วนใหญ่เป็นผู้มีพื้นฐานทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์มาจากการทำประมงน้ำจืด การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าบางคนจะมีพื้นฐานความรู้และการศึกษาในด้านการประมงทะเล แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านความรู้และประสบการณ์จริง ซึ่งจะเห็นได้จากในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีผู้บริหารระดับสูงในกรมประมงที่มีพื้นฐานการศึกษาและความรู้ทางด้านการประมงทะเลโดยตรง

(3) ผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการในทุกระดับมีความอคติกับกิจการประมงพาณิชย์ โดยมีทัศนคติต่อผู้ประกอบการประมงพานิชย์ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้เอารัดเอาเปรียบสังคม จับสัตว์น้ำเพื่อนำมาค้าขายทำกำไรโดยไม่ต้องลงทุนในการเลี้ยง และชอบกระทำการที่ผิดกฎหมาย

(4) การดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ทั้งการกำหนดนโยบาย การกำหนดมาตรการ การแก้ไขกฎหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจพิเศษตามลำพัง และปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของชาวประมงหรือผู้แทนที่เกี่ยวข้อง

(5) รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วน เพียงเพื่อต้องการให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาถอดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับคำประกาศแจ้งเตือนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อันเนื่องมาจากคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า “การดำเนินการของรัฐไทย (กรมประมง) ล้มเหลว ขาดศักยภาพ และไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อคำแนะนำของสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไข ป้องกัน และขจัดปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)”

แต่ฝ่ายนโยบายก็มิได้ทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาให้ถ่องแท้ และลึกซึ้งถึงต้นตออันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา อีกทั้งยังรับฟังแต่เพียงข้อเสนอแนะของกรมประมงที่ต้นตอสำคัญของปัญหาและปิดบังข้อเท็จจริง โดยชี้ไปว่า “ปัญหาอยู่ที่ชาวประมงพาณิชย์” ทั้งนี้ หากพิจารณาเอกสารคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ปรากฏรายละเอียดรวม 94 ข้อ จะพบว่า ทุกข้อที่กล่าวถึงการทำงานของรัฐไทย ล้วนแล้วแต่ชี้เป้าไปที่ “ข้อบกพร่องที่ชัดเจน ความล้มเหลว ความไร้ประสิทธิภาพ การขาดศักยภาพ ขาดความก้าวหน้า การขาดความรู้ความเข้าใจในพันธสัญญาระหว่างประเทศ และการละเลยที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า และรัฐเจ้าของตลาด” แต่รัฐบาลมิได้มองไปที่ความผิดพลาดและความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ กลับเพ่งมองไปที่ความผิดของชาวประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศปมผ. หน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหา แต่กลับใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่ฟังข้อเท็จจริง คำชี้แจง โต้แย้ง หรือความเห็นต่างใดๆ ผลที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการออกมาตรการมาบังคับใช้กับชาวประมง กำลังจะขยายวงกว้างออกไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และการส่งออก

(6) หากพิจารณาเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2558 จะพบว่า คณะกรรมาธิการยุโรปออกคำประกาศแจ้งเตือน (การให้ใบเหลือง) ประเทศไทย โดยระบุว่า การประกาศแจ้งเตือน “เป็นการเริ่มต้นขั้นตอนการเจรจากับทางการไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะให้ไทยใช้มาตรการที่ถูกต้อง และจำเป็นในการแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ถูกต้องเฉพาะของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน”

เรือประมง
เรือประมง

แต่ปรากฏว่า รัฐบาลไทยแทนที่จะจัดทำ “แผนปฏิบัติการที่ถูกต้องเฉพาะของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน” แต่รัฐบาลไทยกลับกำลังพยายามที่จะแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมากว่า 50 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน โดยไม่ต้องใช้เงินในการชดเชย เยียวยา ให้กับผู้ได้รับผลกระทบแม้แต่บาทเดียว ในขณะที่ประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาการประมงเช่นประเทศไทยได้ใช้เวลานับสิบปี และใช้เงินงบประมาณนับแสนล้านบาทในการแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกัน แม้แต่สหภาพยุโรปเองก็ใช้เวลามากกว่า 25 ปี และใช้เงินงบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาประมงของตน

การดำเนินการในช่วงเวลา 5 เดือนเศษที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการที่ขาดความรู้และความเข้าใจในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค การขาดข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ องค์ความรู้และข้อสนับสนุนทางวิชาการที่ถูกต้อง ทันสมัย การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อการออกเรือและทำประมง รวมทั้งบริบทในการประกอบกิจการประมงที่เป็นภูมิปัญญาแบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเขตร้อนซึ่งต่างไปจากสหภาพยุโรป และประเทศในซีกโลกตะวันตก และที่สำคัญ คือ การมีทัศนคติที่เป็นอคติต่อผู้ที่ประกอบอาชีพประมง ดังจะเห็นได้จาก

(1) ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการประมง ดังจะเห็นได้จาก การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในการออกคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย แต่กลับไม่มีตัวแทนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการประมงจากภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการในศูนย์ฯ แห่งนี้เลย

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในระเบียบวิธีการบริหารจัดการใจภาครัฐ โดยจะเห็นได้จากการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ศปมผ. ที่มีความซ้ำซ้อน ขาดเอกภาพ และก้าวล่วงอำนาจหน่วยงานหลัก เนื่องจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวในระดับนโยบายอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 และการให้อำนาจ ศปมผ. ในการก้าวล่วงอำนาจของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ดูแล และกำกับการบริหารราชการของกระทรวงที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ฯลฯ

(2) การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 เพื่อยกเลิกเครื่องมือทำประมงทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายบางชนิดโดยกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือที่ทำลายทรัพยากรอย่างร้ายแรง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องมือที่มีการใช้กันมานานนับร้อยปี โดยมิได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้เครื่องมือดังกล่าวที่แท้จริง มิได้ศึกษาถึงแนวทางแก้ไขที่จะลดการทำลายนั้นได้หรือไม่ อย่างไร การมิได้เตรียมการในการดูแลแก้ไขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้รองรับ ปล่อยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานต้องได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน (คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม)

(3) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับ มีข้อบกพร่องทางกฎหมายมากมายหลายประเด็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องการประมงของผู้ยกร่าง และแม้แต่ในส่วนของบริบทและการใช้บังคับตามกฎหมายของคำสั่งนั้น

(4) การใช้อำนาจในการออกประกาศ “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” ที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนอย่างเพียงพอ ไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบการ และความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีการทำประมงของไทย และไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการประมง ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง รวมทั้งประชาชนในฐานะของผู้บริโภคด้วย

(5)การยกร่างกฎหมายประมงใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งกำลังดำเนินการในรูปแบบพระราชกำหนด เพื่อใช้ทดแทนพระราชบัญญัติการประมงที่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับได้เพียง 3 เดือนเศษ โดยในร่างกฎหมายใหม่นี้ มีบทบัญญัติที่มีข้อบกพร่องมากมาย มีการกำหนดโทษปรับที่สูงมาก ไม่สอดคล้องกับความผิดและบริบทของประเทศไทย ทั้งยังมีบทลงโทษกับเรือไทยสูงกว่าเรือต่างประเทศ และสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน รวมทั้งประเทศในสหภาพยุโรปอีกด้วย และ(6)ฯลฯ

เรือประมง-4

ปรับท่าทีรับฟังความเห็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ “ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” ได้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการเกษียณอายุราชการ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการ ศปมผ. ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุม ศปมผ. อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นสัญญาณที่ดีว่า การดำเนินการของ ศปมผ. ในอนาคตคงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นโดยมีการรับฟังและนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เกี่ยวข้องไปใช้ในการพิจารณาตัดสินใจ

• ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงทะเลของไทยให้เกิดความยั่งยืน บนพื้นฐานของการทำการประมงที่มีจรรยาบรรณ และเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล

1.การประมงในน่านน้ำไทย

1.1 ระยะเร่งด่วน หรือระยะสั้น

1)เปิดโอกาสให้เรือประมงที่ไม่จดทะเบียนหรือไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ หรือไม่มีอาชญาบัตร หรือมีใบอาชญาบัตรผิดประเภทจำนวนกว่า 3,000 ลำ ซึ่งถูกห้ามทำการประมงอยู่ในปัจจุบัน สามารถไปจดทะเบียนและออกอาชญาบัตรเพื่อทำการประมงโดยเครื่องมือประมงที่มีอยู่ได้เป็นการชั่วคราว (ไม่เกิน 1 หรือ 2 ปี) เพื่อลดผลกระทบในการประกอบอาชีพของชาวประมง ลูกเรือ และผู้อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกนับแสนคน

2) ยกเลิก และปรับปรุงระเบียบข้อบังคับใช้ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นใหม่โดย ศปมผ. เช่น การกำหนดวันหยุด การกำหนดเขตการประมง การยกเลิกเครื่องมือบางประเภท ฯลฯ โดยให้รอผลการศึกษาทางวิชาการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแล้วเสร็จก่อน

3) เร่งดำเนินการสำรวจ รวบรวมข้อมูล และศึกษาวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับทรัพยากรประมงที่มีอยู่ในน่านน้ำไทยให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ทั้งในมิติของสายพันธุ์ ชนิด จำนวน แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ฤดูกาลในการขยายพันธุ์ และช่วงชีวิต เพื่อนำมาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว เช่น การคำนวณค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) ที่ถูกต้อง การกำหนด TAC (Total Allowance Catch) การกำหนดฤดูกาลในการทำการประมง และการกำหนดเขตสงวนและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ

4) เร่งดำเนินการการศึกษาผลกระทบของเครื่องมือทำประมงชนิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดชนิด ประเภท ขนาด และจำนวนของเครื่องมือประมงต่างๆ ให้เหมาะสมทั้งต่อการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ ในกรณีที่จำเป็นต้องยกเลิกเครื่องมือประมงชนิดใดจะต้องมีผลการศึกษาเชิงประจักษ์ที่ชัดแจ้ง และเป็นไปตามหลักวิชาการ

5) เร่งดำเนินการออกกฎหมายที่เหมาะสม โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดทั้งวงจรธุรกิจประมงเข้าร่วมพิจารณา นอกจากนี้ การกำหนดโทษควรต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทของประเทศไทย ความสมควรแก่เหตุ และกติกาสากล

6) เร่งพิจารณาปรับปรุงระเบียบและข้อบังคับที่จำเป็น รวมทั้งระบบการรายงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมงทั้งที่เข้าสู่ตลาดของไทย และที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

7) เร่งดำเนินการพิจารณาและกำหนดเขตการประมงใหม่ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการที่ได้จากการศึกษาตาม 2) ข้างต้น

8) เปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานบนเรือประมงในลักษณะ One Stop service ทุก 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนลูกเรือ และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนเรือประมง

9) การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมง ต้องให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสีย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาหรือดำเนินการด้วย

1.2 ระยะยาว

1) กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย นโยบาย และกรอบเวลาในการบริหารจัดการด้านการประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ชัดเจน โดยต้องคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี และให้สัตยาบัน ทั้งที่เป็นกฎหมายบังคับ และตามความสมัครใจ

2) กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และงบประมาณที่เหมาะสม เพียงพอในการดำเนินงาน ในห้วงระยะเวลาที่กำหนด

3) ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง เหมาะสมกับภารกิจ และอำนาจหน้าที่ ตลอดจนบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันให้เป็นเอกภาพ

4) จัดตั้ง “กรมประมงทะเล” เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ และจัดโครงสร้างการทำงานเฉพาะทาง เพื่อสร้างเสริมสมรรถนะในการบริหารจัดการและกำกับดูแลการประมงทะเลของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

5) จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการประมง” เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนา การจัดการ การดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางการประมง รวมทั้งใช้ในการส่งเสริม สนับสนุนการทำการประมงที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ดูแล และชดเชย ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐ เช่น การจำกัดจำนวนเรือประมงโดยการนำเรือออกจากระบบหรือการปรับปรุงเครื่องมือประมงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

6) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

7) บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

เรือประมง-3

2. การประมงนอกน่านน้ำไทย

2.1 ระยะเร่งด่วน หรือระยะสั้น

1) เร่งดำเนินการเจรจากับประเทศอินโดนีเซียในการอนุญาตให้เรือประมงขนาดใหญ่ของไทย จำนวนประมาณ 180 ลำ สามารถทำการประมงในน่านน้ำของอินโดนีเซียได้ใหม่ หรือให้สามารถนำเรือประมงกลับมายังประเทศไทยได้

2) เร่งหาข้อยุติให้กับเรือประมงไทยขนาดใหญ่ของไทย จำนวนประมาณ 200 ลำ ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในประเทศมาเลเซียและดำเนินการในลักษณะของการใช้ธงสองสัญชาติให้สามารถทำการประมงในน่านน้ำของมาเลเซียต่อไป และให้สามารถนำสัตว์น้ำที่จับได้กลับมายังประเทศไทยได้ รวมทั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ให้สามารถนำเรือประมงเหล่านี้กลับมาเป็นเรือประมงสัญชาติไทยได้ในอนาคต

3) จัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ และเร่งดำเนินการเจรจากับประเทศต่างๆ ที่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย อนุญาตให้เรือประมงขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถออกไปทำการประมงได้ เช่น เมียนมา อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน เยเมน โซมาเลีย เอริเทรีย เคนยา แทนซาเนีย โมซัมบิก มาดากัสการ์ และ ออสเตรเลีย ฯลฯ

4) เร่งออกระเบียบการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย และระเบียบในการนำสัตว์น้ำกลับเข้ามายังประเทศไทย รวมทั้งเร่งปรับปรุงระบบการรายงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำกิจกรรมประมงของเรือที่ติดธงไทย เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ จรรยาบรรณ และแผนปฏิบัติการสากลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

2.2 ระยะยาว

1) กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และงบประมาณในระยะยาวเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืน

2) ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง เหมาะสมกับภารกิจ และอำนาจหน้าที่ ตลอดจนบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันให้เป็นเอกภาพ

3) จัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำ” เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ และจัดโครงสร้างการทำงานเฉพาะทาง เพื่อสร้างเสริมสมรรถนะในการบริหารจัดการและกำกับดูแลการประมงทะเลนอกน่านน้ำของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

4) จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการประมง” เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนา การจัดการ การ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนการทำการประมงนอกน่านน้ำเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนเพื่อสนับสนุนเงินทุน หรือการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในต่างประเทศ

5) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

6) บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

3.การแปรรูปและส่งออกสัตว์น้ำ

3.1ระยะเร่งด่วน หรือระยะสั้น

1) เร่งออกระเบียบการนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมทั้งปรับปรุงระบบการรายงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงทั้งที่เข้าสู่ตลาดของไทย และที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

2) เร่งออกระเบียบการเทียบท่าของเรือประมงต่างชาติในประเทศไทย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ และข้อห้ามในการเข้าเทียบท่าของเรือประมงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงแบบ IUU ไว้อย่างชัดเจน

3) จัดหาแหล่งวัตถุดิบ และปรับปรุงระบบการตรวจสอบและออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ประมง ในระบบตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเชื่อถือได้

3.2 ระยะยาว

1) กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และงบประมาณในระยะยาวเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบ และการแปรรูปสัตว์น้ำของไทยอย่างยั่งยืน

2) ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง เหมาะสมกับภารกิจ และอำนาจหน้าที่ ตลอดจนบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันให้เป็นเอกภาพ

3) จัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ และจัดโครงสร้างการทำงานเฉพาะทาง เพื่อสร้างเสริมสมรรถนะในการบริหารจัดการและกำกับดูแลการประมงทะเลนอกน่านน้ำของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

4) จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการประมง” เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนา การจัดการ การ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืน

5) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

6) บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:

-Official Journal of the European Union, COMMISSION DECISION of 21 April 2015 on notifying a third country of the possibility of being identified as a non-cooperating third country in fighting illegal, unreported and unregulated fishing (2015/C 142/06) , [Online] http://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri= CELEX:32015D0429 (02) & from=EN (สามารถดูเอกสารฉบับแปลอย่างไม่เป็นทางการได้ที่ https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2015/09/COMMISSION-DECISION-TH-EN-9-Sep-15-with-hilight-1.pdf)

-European Commission, Press release, EU acts on illegal fishing: Yellow card issued to Thailand while South Korea & Philippines are cleared, [Online] http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-4806_en.htm

-คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม