ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการฝึกอบรมชะลอการเลิกจ้างวงเงิน 60 ล้านบาทฉาว เร่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ป.ป.ช.-ส.อ.ท. ตรวจสอบ

โครงการฝึกอบรมชะลอการเลิกจ้างวงเงิน 60 ล้านบาทฉาว เร่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ป.ป.ช.-ส.อ.ท. ตรวจสอบ

23 พฤศจิกายน 2012


สภาพโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ถุูกน้ำท่วม
สภาพโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ถุูกน้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2554 ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมอย่างรุนแรง โรงงาน 144 แห่ง พร้อมเครื่องจักรจมน้ำอยู่นานกว่า 2 เดือน

เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาแรงงานกว่า 53,000 คน ถูกเลิกจ้าง หลังน้ำลด รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดงบกลางวงเงิน 1,882 ล้านบาท ส่งตรงให้กระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปจัดสรรมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายโครงการ

ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2555 กระทรวงแรงงานได้เบิกจ่ายงบฯ ก้อนนี้ไป 1,486 ล้านบาท ส่งคืนสำนักงบประมาณ 391 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่ปิดตัวไปเกือบหมดแล้ว

แต่ที่เป็นประเด็นขึ้นมา คือ “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ” ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังจากที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่ามีนายไชย ปาลวัฒน์ เจ้าของโรงสีไฟเจริญประภา หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ ทำหนังสือทวงเงินค่าเบี้ยเลี้ยงคนงานที่เข้ารับการอบรม จำนวน 6,000 บาท กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555

จึงได้ทราบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานว่า โครงการนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดงบประมาณมาจ่ายให้กับผู้ประกอบการ 81,600 บาทต่อรุ่น ประกอบไปด้วยค่าวิทยากรและค่าบริหารให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 57,600 บาทต่อรุ่น และค่าเบี้ยเลี้ยงคนงานจำนวน 20 คน คนละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วัน รวมเป็นเงิน 24,000 บาท

แต่นายไชยได้รับเงินแค่ 35,000 บาท เท่านั้น แบ่งเป็นค่าวิทยากร 17,000 บาท และค่าเบี้ยเลี้ยงอีก 17,000 บาท เพราะถูกหักเงินไป 6,000 บาท โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอ้างว่าบัตรประชาชนคนงานของนายไชย 5 คน หมดอายุหรือไม่ชัดเจน

นายไชยจึงตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ไม่น่าที่จะโปร่งใส เฉพาะที่จังหวัดลพบุรีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทั้งหมด 150 รุ่น จึงทำการคำนวณหาตัวเลขความเสียหาย พบว่ามีเม็ดเงินส่วนที่ขาดหายไปประมาณ 6,090,000 บาท นายไชยจึงทำเรื่องถึงอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมส่งสำเนาไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ธรรมาภิบาลจังหวัดลพบุรี ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เรื่องจึงปรากฏขึ้นมา(หมายเหตุจากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 วิดิโอดังกล่าวถูกถอดออกไปแล้ว)

วันที่ 27 สิงหาคม 2555 นายสนอง ป่าธนู ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดลพบุรี ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ เนื่องจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดงบประมาณไปให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้ดำเนินการ ได้ทำหนังสือชี้แจงเลขที่พิเศษ 001/2555ผ่านประธานสายงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อส่งถึงนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ชี้แจ้งข้อเท็จจริง กรณีที่นายไชย ปาลวัฒน์ เจ้าของโรงสีไฟเจริญประภา ได้รับเงินไม่ครบ

ทั้งนี้ ตามหนังสือของนายสนองที่ทำถึง ส.อ.ท. ชี้แจงที่มาของโครงการนี้ว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีได้รับการติดต่อจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านทางนายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าจะให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีจัดโครงการฝึกอบรม 150 รุ่น เป็นระยะเวลา 10 วัน โดยจะมีงบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายรุ่นละ 51,000 บาท จากนั้นสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีได้จัดให้มีการฝึกอบรมไปจนเสร็จสิ้น

นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มา: http://www.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/57/file_1333087561.JPG
นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ที่มา: http://www.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/57/file_1333087561.JPG

“ส่วนกรณีโรงสีไฟเจริญประภาได้รับเงินไม่ครบนั้น ความเป็นจริงแล้ว สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีได้จ่ายเงินตามจำนวนเงินที่ได้รับมาจากกรมพัฒนาฝีมือแรงาน โดยก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมลพบุรี ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอำนาจ นันทหาร ซึ่งเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้ และเป็นผู้รับเงินจำนวน 7,621,800 บาท จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายอำนาจได้นำเงินสดจำนวนดังกล่าวมามอบให้ ซึ่งสภาอุสาหกรรมจังหวัดลพบุรีได้จ่ายให้กับสถานประกอบการไปตามจำนวนที่ได้รับมา” นายสนองชี้แจง

และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ และนายไชยได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงาน ป.ป.ช. และธรรมาภิบาลจังหวัดลพบุรี เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ส.อ.ท.

ดังนั้น วันที่ 18 กันยายน 2555 ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. หลังจากที่คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของนายสนอง ป่าธนู ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี พบว่ามีหลายประเด็นที่ยังคลุมเครือ อาทิ กรณีที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ ส.อ.ท. เป็นผู้ไปรับเงินสดจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ประกอบไปด้วยค่าวิทยากร 8,640,000 บาท ค่าอาหารสำหรับผู้เข้ารับการอบรม 3,600,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,240,000 บาท

ขณะที่นายสนอง ป่าธนู ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดลพบุรี ทำหนังสือมาชี้แจ้งกับ ส.อ.ท. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 ยืนยันว่าตนได้รับเงินเป็นเงินสดจากนายอำนาจ นันทหาร ที่เบิกมาจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแค่ 7,621,800 บาท ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555

ปรากฏว่า ระยะเวลาผ่านมา 2 เดือน ผลการสอบสวนยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

“ยิ่งลักษณ์” จัดงบฯ กว่า 60 ล้านบาท ทำโครงการฝึกอบรม ชะลอเลิกจ้าง

ช่วงปลายปี 2554 หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้เกิดเหตุภัยพิบัติอุทกภัย อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN) ร่องมรสุมกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัด “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบกิจการ”

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและชะลอการเลิกจ้างแรงงาน หลังน้ำลด รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้จัดงบกลางวงเงิน 61.5 ล้านบาทให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไปดำเนินการประชาสัมพันธ์และชักชวนให้สถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 15,000 คน

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะจัดงบประมาณผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่งไปให้สถานประกอบการเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการฝึกอบรมพนักงานวันละ 6 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน จำนวน 750 รุ่น รุ่นละไม่เกิน 20 คน ซึ่งทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดงบฯ ไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้สถานประกอบการรุ่นละ 82,000 บาท เริ่มดำเนินการเดือนพฤศจิกายน 2554 สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มีนาคม 2555 อ่านคู่มือการดำเนินงาน “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบกิจการ”