ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะเส้นทางเงิน 12 ล้านบาท ปมฉาวความขัดแย้งสภาอุตฯ

แกะเส้นทางเงิน 12 ล้านบาท ปมฉาวความขัดแย้งสภาอุตฯ

1 มีนาคม 2013


ต่อกรณีที่มีผู้ประกอบการจังหวัดลพบุรีจำนวนหนึ่ง เข้าร่วม “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ” ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี แต่ได้รับเงินค่าฝึกอบรมจากรัฐบาลไม่ครบ และเนื่องจากเงินจำนวนนี้เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงทำหนังสือไปร้องเรียนสำนักงาน ป.ป.ช., ธรรมาภิบาลจังหวัด และสื่อมวลชน เรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณวงเงิน 12 ล้านบาท ดังกล่าว

ประเด็นร้อนเรื่องเงินงบฯ ฝึกอบรมลูกจ้างในจังหวัดลพบุรี กลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ขึ้นมาพร้อมๆ กับปมปัญหาขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ “สภาใหญ่” ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน โดยฝ่ายต่อต้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท ต้องการให้ปลดนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ในข้อหาไม่คัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ งัดประเด็นทุจริตงบฯ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลระทบจากน้ำท่วมออกมาเปิดโปง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล (ซ้ายมือ)
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล (ซ้ายมือ)

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กส.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15.00 น. แม้การประชุม กส. ครั้งนี้มีจะกรรมการเดินทางมาลงทะเบียนแค่ 151 คน จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 348 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เปิดประชุมไม่ได้ แต่นายพยุงศักดิ์ได้นำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการทุจริตในจังหวัดลพบุรี ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของ ส.อ.ท. มาก่อนหน้านี้แล้ว รายงานให้กรรมการที่มาประชุมรับทราบ และกำหนดให้มีการประชุม กส. นัดพิเศษขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2556 เวลา 15.00 น. ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 เพื่อบรรเทาปัญหาเลิกจ้างแรงงานหลังน้ำลด รัฐบาลได้จัดสรรงบกลาง 61.5 ล้านบาท ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานนำไปจัดสรรให้กับโรงงานที่ถูกน้ำท่วม จัดโปรแกรมฝึกอบรมให้กับแรงงาน 750 รุ่น เฉพาะจังหวัดลพบุรีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและจัดการฝึกอบรมไปทั้งหมด 150 รุ่น ใช้เงินจากงบกลางกว่า 12 ล้านบาท

ต่อมาปรากฏว่า นายไชย ปาลวัฒน์ เจ้าของโรงสีไฟเจริญประภาที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รับเงินค่าฝึกอบรมไม่ครบ จึงทำเรื่องไปร้องเรียนสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดลพบุรี ธรรมาภิบาลจังหวัด และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายพยุงศักดิ์จึงตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด

แต่เนื่องจากกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ของ ส.อ.ท. ไม่มีอำนาจที่จะไปขอข้อมูลหรือเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ จึงให้ฝ่ายกฎหมายของ ส.อ.ท. ดำเนินการจัดส่งข้อมูลและหลักฐานที่ ส.อ.ท. มีอยู่ทั้งหมดไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสืบสวนคดีพิเศษ ให้รับดำเนินการต่อไป

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการส.อ.ท.
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการส.อ.ท.

ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท. หลังจากที่ได้รับได้รับคำยืนยันจากนายสนอง ป่าธนู ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี (ส.อ.ท.ลพบุรี) และนายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ ส.อ.ท. ที่ดูแลสายงานต่างจังหวัด ว่า “ส.อ.ท.ลพบุรีไม่เคยไปทำข้อตกลงใดๆ กับกระทรวงแรงงาน และยืนยันว่าไม่มีเรื่องทุจริต” หลังจากทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว นายธนิตมอบหมายนายอำนาจและนายสนองชี้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน ส.อ.ท.ลพบุรีต่อสื่อมวลชน พร้อมกับเรียกร้องให้นายพยุงศักดิ์เปิดเผยผลการสอบข้อเท็จจริงให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบ และก่อนที่จะนำเรื่องไปแจ้งความกับดีเอสไอและป.ป.ช. ควรระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหาให้ชัดเจนว่าเป็นใคร และใครเป็นคู่สัญญากับกระทรวงแรงงาน

ในการนี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สอบถามนายอำนาจและนายสนอง ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กรณีที่มีผู้ประกอบการในจังหวัดลพบุรีร้องเรียนว่าได้รับเงินจาก ส.อ.ท.ลพบุรีไม่ครบถ้วน

นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ ส.อ.ท.
นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ ส.อ.ท.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีผู้ประกอบการร้องเรียนว่าได้รับเงินไม่ครบ จะชี้แจงอย่างไร นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ ส.อ.ท. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากประธาน ส.อ.ท. ให้รับเงินจำนวน 12 ล้านบาท จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชี้แจงว่า “คนจังหวัดลพบุรีทราบดีว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี โรงงานที่ได้รับเงินความช่วยเหลือจึงแบ่งเงินที่ได้รับจากทางการมามอบให้ ส.อ.ท.ลพบุรีเป็นค่าใช้จ่ายในการทำโครงการฝึกอบรม 1,050,000 บาท ซึ่ง ส.อ.ท.ลพบุรีก็นำเงินจำนวนนี้มาจ่ายเป็นเงินเดือนให้พนักงาน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. หรือ “สภาใหญ่” ไม่เคยจัดงบฯ มาสนับสนุน ส.อ.ท.จังหวัดแม้แต่บาทเดียว ส.อ.ท.จังวัดลพบุรีต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้ในการดำเนินงานต่างๆ ด้วยตนเอง

นายอำนาจกล่าวต่อว่า “ผมเป็นผู้ประสานงานโครงการนี้ให้กับ ส.อ.ท.ลพบุรี ส่วนเงินที่อยู่ในบัญชีของ ส.อ.ท.ลพบุรีจำนวน 1,050,000 บาท เงินจำนวนนี้ ส.อ.ท.ลพบุรีได้รับมาในฐานะผู้ประสานงานเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างหนัก ตีหนึ่งตีสอง เมื่อผู้ประกอบการได้รับเงินมาแล้ว ก็แบ่งเงินให้ ส.อ.ท.ลพบุรี ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด ส.อ.ท.ลพบุรีจัดโครงการฝึกอบรมไปทั้ง 150 รุ่น ในจำนวนนี้มี 100 รุ่น มีความพึงพอใจกับโครงการนี้ แต่ก็มีบางราย อย่างเช่น สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าได้รับเงินไม่ครบ ผมได้โทรศัพท์ไปสอบถามแล้ว เขาบอกว่าไม่ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว ถึงแม้เขาจะได้รับเงินแค่นั้น เขาก็พอใจแล้ว”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทาง ส.อ.ท.ลพบุรีไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่ผ่านสภาใหญ่ได้อย่างไร นายอำนาจกล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เถียง ส.อ.ท.ลพบุรีแตกต่างจากหอการค้าจังหวัดตรงที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ถ้าจะทำโครงการนี้ผ่านสภาใหญ่ ตามขั้นตอนแล้ว ส.อ.ท.ลพบุรีต้องเขียนโครงการส่งให้สภาใหญ่อนุมัติ ทางสภาใหญ่จะคิดค่าบริหารจัดการกับทางการ จากนั้นสภาใหญ่จะส่งเงินมาให้ ส.อ.ท.ลพบุรี นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ แต่กรณีนี้ ส.อ.ท.ลพบุรีไม่ได้เป็นคู่สัญญากับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คู่สัญญาคือผู้ประกอบการแต่ละรายๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไปทำสัญญา หรือขอความช่วยเหลือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อหาเงินมาทำโครงการฝึกอบรมกันเอง ส.อ.ท.ลพบุรีไม่ใช่ต้นเรื่อง”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทำไมประธาน ส.อ.ท. จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอำนาจรับเงิน เพื่อรับเงิน 12 ล้านบาทจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

นายอำนาจตอบว่า “ผมมีฐานะเป็นรองเลขาธิการ ส.อ.ท. คุมสายงานจังหวัด นายสนองขอให้ผมช่วยไปรับเงินให้ด้วย โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้ผมไปรับเช็ค บังเอิญวันไปรับเงินนายสนองเข้ามาที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย เมื่อผมรับเช็คจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้วก็ไปที่ธนาคารด้วยกัน เพื่อเบิกเงินสดจากแบงก์มอบให้นายสนอง”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายอำนาจบอกว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่พอใจที่ได้รับเงินแค่นี้ แต่บางรายอกมาร้องเรียนว่าได้รับเงินไม่ครบ จะชี้แจงอย่างไร นายอำนาจกล่าวว่า “ส.อ.ท.ลพบุรีมีปัญหาการเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ฝั่งที่สนับสนุนนายสนอง กับฝั่งตรงกันข้าม วันที่นายสนองชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธาน ส.อ.ท.ลพบุรี มีคนนำพวงหรีดมาวาง การเมืองที่ ส.อ.ท.ลพบุรีค่อนข้างรุนแรง ผมบอกกับนายสนองว่าหากโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เราต้องจัดสรรเงินให้ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเท่าเทียม ซึ่งส.อ.ท.ลพบุรีก็ประกาศให้ผู้ประกอบการทุกรายทราบและเรียกทุกฝ่ายมาหารือกัน ที่ผ่านมา นายสนองจัดโครงการฝึกอบรมไป 100 กว่ารุ่น ส่วนใหญ่เห็นด้วย และยืนยันว่า ส.อ.ท.ลพบุรีทำถูกต้องแล้ว และไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีผู้ประกอบการออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่าได้รับเงินไม่ครบ ทำให้ ส.อ.ท.ลพบุรีเสียหาย ที่มาของเรื่องนี้มันซับซ้อน เพราะบังเอิญมีปัญหาความขัดแย้งภายใน ส.อ.ท.ลพบุรีมาผสมโรงด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของสภาใหญ่เชิญมาให้การหลายครั้งแต่ไม่มา ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายอำนาจตอบว่า “ผมไม่เคยได้รับเอกสารเลย และยืนยันว่าไม่ได้เรียก”

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เงินที่รับมา 12 ล้านบาท เอาไปใช้จ่ายอะไรบ้าง นายอำนาจตอบว่า “รายละเอียดต้องให้นายสนองชี้แจง เพราะว่าผมรับเงินมาก็ให้คุณสนองไปทั้งหมด ผมทราบแต่เงินค่าฝึกอบรม เงินที่เหลือผมไม่ทราบ”

นายสนอง ป่าธนู ประธานส.อ.ท.จังหวัดลพบุรี ที่มา : http://news.thaipbs.or.th/content/สอท-สอบทุจริตค่าฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงาน-จลพบุรี-เงินหาย-6-ล้านบาท
นายสนอง ป่าธนู ประธาน ส.อ.ท.จังหวัดลพบุรี
ที่มา: ส.อ.ท. สอบทุจริตค่าฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงาน จ.ลพบุรี เงินหาย 6 ล้านบาท

ด้านนายสนอง ชี้แจ้งว่า “โครงการนี้ไม่มีเรื่องการทุจริต และตนไม่เคยเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวจากผู้ประกอบการหรือทุจริตเงินค่าจ้างวิทยากรจำนวน 5 ล้านบาท โครงการฝึกอบรมในแต่ละรุ่นจะได้รับเงินค่าจ้างวิทยากรไม่เท่ากัน บางโรงงานก็ไปจ้างวิทยากรภายนอกมาสอน บางโรงงานก็ใช้วิทยากรภายใน และยังมีค่าใช้จ่ายในการไปจ้างหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกมาทำงานด้วย อย่างเช่น กลุ่มจิตอาสาของ ส.อ.ท.ลพบุรี เข้ามาช่วยงานก็ต้องได้รับค่าตอบแทนกว่า 1 ล้านบาท ต่อมากลุ่มจิตอาสาลพบุรีได้มอบเงินจำนวนนี้ให้มาเป็นรายได้ของ ส.อ.ท.ลพบุรี ซึ่งเราก็ลงบัญชีเป็นรายได้ของ ส.อ.ท.ลพบุรีอย่างถูกต้อง ถึงแม้ ส.อ.ท.ลพบุรีไม่ได้เป็นคู่สัญญากับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่เราก็รายงานเรื่องนี้ไปให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับทราบด้วย”

ก่อนหน้านี้ นายสนองได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ “ไทยพีบีเอส” ซึ่งรายงานข่าวกรณีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการยกระดับฝีมือแรงงานฯ ลพบุรีได้รับเงินไม่ครบ โดยนายสนองยอมรับว่า ตนได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปรับเงิน 12 ล้านบาท จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เงินจำนวนนี้คณะทำงานนำไปจ่ายให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเป็นค่าวิทยากรและค่าเบี้ยเลี้ยงลูกจ้างที่เข้ารับการอบรวม 6 ล้านบาท ส่วนอีก 6 ล้านบาทที่เหลือถูกใช้เพื่อระดมคนมาทำงานและจัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้ฝึกอบรม และผู้ที่มาทำงานให้มอบเงินจ้างจำนวน 1,050,000 บาท ให้เป็นรายได้ของ ส.อ.ท.ลพบุรี

ผู้สื่อข่าวถามนายสนองว่า กรณีผู้ประกอบการหลายรายได้รับเงินไม่ครบ จะชี้แจงอย่างไร นายสนองกล่าวว่า “ส่วนหนึ่งเป็นค่าดำเนินการ เช่น ค่าเครื่องเขียน ค่าจ้างบุคคลภายนอกมาช่วยงานในเวลาจำกัด เพราะผู้ประกอบการเองไม่มีความสามารถในการทำตรงนี้อยู่แล้ว”

สุดท้าย เรื่องทุจริตงบฯ ช่วยเหลือโรงงานจังหวัดลพบุรีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะจบลงอย่างไร ขึ้นอยู่กับฝีมือของ ป.ป.ช. หรือ ดีเอสไอ ในการติดตามแกะรอยเส้นทางเดินของเงิน 12 ล้านบาท ก้อนนี้แล้ว