ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (3): สอบวินัย “รำพึง ธรรมเจริญ” ตรวจใบเสร็จ 12 ล้าน

เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (3): สอบวินัย “รำพึง ธรรมเจริญ” ตรวจใบเสร็จ 12 ล้าน

2 เมษายน 2013


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอซีรีส์ข่าวเจาะกระบวนการเบิกจ่ายเงินงบกลางที่ใช้ใน “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ”จังหวัดลพบุรี ซึ่งโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-12 เมษายน 2555 โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอนุมัติ “เงินยืม” เข้าบัญชีข้าราชการระดับสูงของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นวงเงินกว่า 12 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม โดยมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี (ส.อ.ท.ลพบุรี) เป็นตัวกลางจ่ายงบฯ เยียวยาให้สมาชิกของ ส.อ.ท.ลพบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

เมื่อปิดโครงการฝึกอบรมฯ ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการจังหวัดลพบุรีได้รับเงินค่าฝึกอบรมไม่ครบ ได้ทำเรื่องร้องเรียนหลายหน่วยงาน อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ธรรมาภิบาลจังหวัดลพบุรีและสื่อมวลชน ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในโครงการนี้ โดยที่เรื่องนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ต่อมา ส.อ.ท. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถเรียกเอกสารจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ จึงนำเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดไปมอบให้กับกองบังคับการกองปราบปรามตรวจสอบเส้นทางการเบิกจ่ายเงิน

ลำดับเหตุการณ์การจ่ายเช็ค

จากการตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน พบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานโอน “เงินยืม” กว่า 12 ล้านบาท ไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของข้าราชการระดับสูงกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จากนั้นมีการจ่ายเงินออกจากบัญชีของข้าราชการรายนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกตีเช็คสั่งจ่ายสด 430,000 บาท ครั้งที่ 2-3 จ่ายเช็คเข้าบัญชีสภาอุตฯ 11.55 ล้านบาท และปิดท้ายจ่ายสดอีก 263,000 บาท

ทำไมกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงไม่โอนเงินไปเข้าบัญชีสภาอุตฯ เต็มจำนวน เช็คสั่งจ่ายสด 2 ฉบับ มูลค่า 693,000 บาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงานออกใบเสร็จรับเงิน หรือใบสำคัญรับเงินระบุว่าจ่ายใคร ค่าอะไร เป็นประเด็นที่กองบังคับการกองปราบปราม-สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความสนใจตั้งเป็นประเด็นข้อสังเกต ซึ่งในตอนที่แล้ว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว “กองปราบปราม-สตง.ลุยสอบเส้นทางเงิน” และในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2556 กองบังคับการกองปราบปราม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบปากคำข้าราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่รับผิดชอบโครงการนี้

ล่าสุด นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าของเรื่องนี้ว่า ตนได้รับรายงานว่าขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบปากคำข้าราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานบางคนไปแล้ว แต่นายรำพึง ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการ กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ผู้ที่รับผิดชอบโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่มออกไปทำธุระ ตำรวจจึงสอบปากคำข้าราชการคนอื่นแทน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนในฐานะผู้บังคับบัญชา หลังจากที่มีผู้มาร้องเรียนว่าได้รับเงินไม่ครบ ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาข้อเท็จจริงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ล่าสุดได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเชื่อได้ว่ามีมูลความจริง

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มา: www.facebook.com/photo.php?fbid=628453307170330&set=a.628452087170452.1073741851.210468422302156&type=1&theater
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มา: www.facebook.com/photo.php?fbid=628453307170330&set=a.628452087170452.1073741851.210468422302156&type=1&theater

ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ตนจึงตัดสินใจลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายรำพึง ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการสอบวินัยซึ่งประกอบด้วย นางพจนันท์ ทองวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 อุบลราชธานี และนิติกร ซึ่งตามระเบียบของสำนักงาน ก.พ. ต้องหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 60 วัน

นายนครกล่าวว่า “ตอนนี้ผมยังไม่มีข้อมูล และไม่ทราบว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานสั่งจ่ายเช็คให้ใครบ้าง จ่ายให้สภาอุตฯ เท่าไหร่ คำถามเหล่านี้ หากเขาชี้แจงไม่ได้ก็ตกม้าตาย คงต้องไปย้อนดูเส้นทางการเงิน แต่เท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ที่กองคลัง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายรำพึงมีอำนาจที่จะมายืมเงินจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะมีการทำสัญญายืมเงินเพื่อมาทำโครงการนี้ แต่ต้องนำหลักฐานการจ่ายเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน มาเคลียร์กับกองคลังในภายหลัง ซึ่งผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่กองคลังไปว่านายรำพึงเคลียร์หรือยัง กองคลังบอกว่าหลังจากปิดโครงการฝึกอบรมที่จังหวัดลพบุรีมาตั้งหลายเดือนนายรำพึงยังไม่นำเอกสารการจ่ายเงินมาเคลียร์กับกองคลัง รวมทั้งหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน ด้วยเหตุนี้ผมจึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัย”

นายนครกล่าวต่อว่า ตามระบบราชการ เมื่อตัดสินใจจ้างใครหรือซื้อสินค้าจากใคร ต้องจ่ายเงินให้คนที่ทำงานให้ หรือคนที่นำสินค้ามาขายให้กับราชการ แต่นี่เขานำเงินไปจ่ายให้กับคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรม แต่บังเอิญเงินมันตกหล่น มีผู้ประกอบการร้องเรียนว่าได้รับเงินไม่เต็มจำนวน มันก็เลยดูสีเทาๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากลพบุรีแล้วจะมีการขยายผลการตรวจสอบไปยังจังหวัดอื่นหรือไม่ นายนครตอบว่า “ตามหลักของการสอบสวนคือ ต้องมีผู้ร้องเรียนก่อนจะไปตรวจสอบโครงการอื่นเลยไม่ได้ คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ตรวจสอบ และในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ต้องสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นกับลพบุรีก่อน”