ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > BOJ ยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

BOJ ยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

19 มีนาคม 2024


นายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(Bank of Japan:BOJ) ที่มาภาพ:https://japannews.yomiuri.co.jp/business/economy/20240319-175536/

ธนาคารกลางญี่ปุ่น(Bank of Japan :BOJ) ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ยังคงใช้เพียงประเทศแห่งเดียวในโลก ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์ รวมไปถึงยกเลิกใช้เครื่องมือการกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(yield curve control)

ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันอังคาร(19 มีนาคม) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นการยุติระบบอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ยังเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายนอกกรอบที่ประกาศใช้ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด

การปรับเปลี่ยนนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ และแสดงถึงการพลิกกลับที่แรงที่สุดของหนึ่งในมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากที่สุดของโลก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับมาและเร่งให้เศรษฐกิจกลับไปสู่เส้นการเติบโตในระยะยาวได้ การดำเนินการของ BOJ ยังเกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้

“แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายอย่างมั่นคงกำลังเพิ่มสูงขึ้น … ความเป็นไปได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งส่งผลให้เกิดการตัดสินใจในวันนี้” นายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวในงานแถลงข่าวหลังการตัดสินใจของธนาคารกลาง

แม้ BOJ เตือนว่า จะไม่เริ่มดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก โดยกล่าวว่า “คาดว่าจะรักษาสภาพทางการเงินที่ผ่อนคลายไว้ได้ในขณะนี้” เมื่อพิจารณาถึงการเติบโตที่เปราะบางในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก

“หากความเป็นไปได้สูงขึ้นอีกและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกเล็กน้อย นั่นจะส่งผลให้อัตราระยะสั้นเพิ่มขึ้นอีก” นายอูเอดะกล่าวและว่ายังคงมี “ระยะห่างสำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่จะถึง 2%”

BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นประมาณ 0%-0.1% จาก -0.1% ในช่วงท้ายการประชุมนโยบายการเงินเดือนมีนาคมที่ใช้เวลาสองวันใน นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2559

นอกจากนี้ยังยกเลิกการใช้เครื่องมือการกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(yield curve control) ซึ่งธนาคารกลางได้ใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะยาว โดยการซื้อและขายพันธบัตรตามความจำเป็น

แต่ธนาคารกลางจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลในมูลค่าเท่าเดิมต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านล้านเยนต่อเดือน

และจะหันไปใช้ “การตอบสนองที่รวดเร็ว” ในรูปแบบของการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ รวมทั้งต้องดูสิ่งอื่นๆด้วย หาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับขึ้นเร็ว

นอกจากจะลดการซื้อสินทรัพย์และการผ่อนคลายเชิงปริมาณแล้ว BOJ ระบุว่า จะหยุดซื้อกองทุน exchange-traded funds(ETF) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น (J-REITS) อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะค่อยๆ ลดการซื้อกระดาษเชิงพาณิชย์และพันธบัตรองค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะยุติแนวทางปฏิบัตินี้ภายในเวลาประมาณหนึ่งปี

“สำหรับอนาคต ในช่วงหนึ่งเราจะลดขนาดงบดุลของเราลง เนื่องจากเราได้ยุติการผ่อนคลายทางการเงินอย่างมากแล้ว แต่เราไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด” นายอูเอดะกล่าวกับผู้สื่อข่าว

โดยอธิบายว่า การถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น และ ETF ของ BOJ นั้นเป็น “ส่วนตกค้างของระอบการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก” ในขณะที่ยังไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายนอกกรอบของธนาคารกลาง จนกว่าการทบทวนที่กำลังดำเนินการจะเสร็จสิ้น

หลังการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยและก่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ในญี่ปุ่น เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากจนทะลุ 150 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ก่อนหน้านี้กระตุ้นให้เกิดการแทรกแซงจากทางการญี่ปุ่น ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวลง ขณะที่ดัชนีนิกเกอิ(Nikkei) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน

“เหมือนเช่นเคย ผมจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในระยะสั้นของค่าเงิน” นายอุเอดะกล่าวในงานแถลงข่าว “แต่หากการเคลื่อนไหวของค่าเงินมีผลกระทบอย่างมากต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจและราคาของเรา เราก็พร้อมที่จะตอบสนองด้วยนโยบายการเงินที่เหมาะสม”

BOJ แทบไม่ขยับจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหลัก(core core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เกินเป้าหมาย 2% มานานกว่าหนึ่งปี เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายมองว่าการเพิ่มขึ้นของราคาส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า

นายอูเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าผลของการเจรจาค่าจ้างประจำปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดว่าเงินเดือนที่สูงขึ้นจะนำไปสู่วงจรที่ดีโดยอุปสงค์ในประเทศจะกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ

“เงินเฟ้อจากบริการยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นค่าจ้างปานกลาง ซึ่งเห็นได้ชัดมาจนถึงขณะนี้” BOJ ระบุในแถลงการณ์

“เนื่องจากข้อมูลล่าสุดและข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ค่อยๆ แสดงให้เห็นแล้วว่าวัฏจักรที่ดีระหว่างค่าจ้างและราคามีความแข็งแกร่งมากขึ้น ธนาคารจึงเห็นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงในช่วงท้ายประมาณการของรายงานแนวโน้มเดือนมกราคม 2567” แถลงการณ์ระบุ

ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและเศรษฐกิจที่แทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในช่วงปลายปีที่แล้ว นายอุเอดะมองว่ายังอุปสรรค(headwinds) ที่อาจเกิดขึ้นได้

“มีความเสี่ยงมากมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก เช่น โอกาสที่จะเกิดการช็อกของตลาดในเชิงลบ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่การบริโภคอาจไม่ฟื้นตัวเท่าที่คาดไว้” นายอูเอดะกล่าว

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและการบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.3% ในไตรมาสที่สี่จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์เบื้องต้นที่ลดลง 0.2%

“หากการคาดการณ์ราคาของเราพุ่งขึ้นอย่างชัดเจน หรือแม้ว่าการคาดการณ์ค่ามัธยฐานของเราจะไม่เปลี่ยนแปลง เราเห็นว่าความเสี่ยงขาขึ้นของแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย” นายอุเอดะกล่าว

นักลงทุนอาจต้องรอ BOJ อัปเดตการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในการประชุมเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางจะเปิดเผยการคาดการณ์ในปี 2569

“การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเมื่อพิจารณาในช่วง 5 ถึง 10 ปี มีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.5% … ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีแนวโน้มติดลบอยู่มาก ถ้าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ (neutral)ไม่ติดลบลึก เราสามารถพูดได้ว่าสภาพการเงินของญี่ปุ่นนั้นผ่อนคลาย” นายอูเอดะกล่าว