ThaiPublica > เกาะกระแส > “มาซาอะกิ ชิราคาวะ” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่น แนะธนาคารกลาง “มองรอบด้าน” รับมือเทคโนโลยีดิจิทัลก้าวกระโดด

“มาซาอะกิ ชิราคาวะ” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่น แนะธนาคารกลาง “มองรอบด้าน” รับมือเทคโนโลยีดิจิทัลก้าวกระโดด

7 สิงหาคม 2018


นายมาซาอะกิ ชิราคาวะ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan)

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 นายมาซาอะกิ ชิราคาวะ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “Digital Innovation and Central Bank” เปิดงานสัมมนาวิชาการ “นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการเติบโตในอนาคต” Innovative Finance for Future Growth” ซึ่งสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADBI)และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระยะแรกของเทคโนโลยี – ระมัดระวังผลกระทบที่ไม่ตั้งใจ

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นงานสัมมนาที่น่าประทับใจและได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญและน่าสนใจสำหรับทั้งผู้กำหนดนโยบายและผู้เล่นในตลาดการเงินโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ แต่วันนี้จะขอเน้นไปที่ความท้าทายของการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะในฐานะธนาคารกลาง ภายใต้เทคโนโลยี  เช่น ปัญญาประดิษฐ์, Big Data และ Blockchain

“เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันได้ก้าวกระโดดไปอย่างมาก รวมทั้งได้ไปกระทบเศรษฐกิจและระบบการเงินเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นอะไรที่จะได้เห็นในอนาคตจะเป็นอะไรที่เหนือจินตนาการของทุกคน ถ้าพูดในมุมของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ 3 ระยะของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ระยะแรกคือการรับเทคโนโลยีเข้ามา อันที่ 2 คือการปรับตัวรับมือของนโยบายต่อเทคโนโลยี และสุดท้ายคือผลกระทบที่สะท้อนกลับมาจากระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินภายหลังการดำเนินนโยบาย”

ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่เป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินและสถาบันการเงินในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดทั้งเปิดเสรีการเงินและโลกาภิวัตน์ ตราสารอนุพันธ์นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้และทำให้บริษัทต่างๆสามารถป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาอื่นๆ ซึ่งเราไม่สามารถละเลยประโยชน์ที่ตราสารอนุพันธ์สร้างขึ้นมาได้และนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ นี่คือระยะแรก

ในระยะที่ 2 ผู้กำหนดนโยบายได้ออกนโยบายตอบสนองต่อการเปิดเสรีทางการเงินและโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น Capital Accord คือหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นโดยกำหนดให้ธนาคารถือเงินทุนเอาไว้ รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ผลคือทำให้ระบบการเงินยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้นในบางด้าน อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ 3 มาตรการต่างๆที่ทำไปกลับสร้างผลกระทบที่ไม่ได้ต้องการขึ้นมาเช่นกัน มันทำให้ธนาคารมองหาการประหยัดต้นทุนจากด้านอื่นและสนับสนุนให้สร้างตราสารทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งมีส่วนการสร้างวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2551

“ผู้กำหนดนโยบายจึงต้องมีความพยายามที่จะนำประโยชน์ของเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการตามที่จำเป็นสำหรับป้องกันผลกระทบที่ได้ไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นตามมา สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องการคือการมองภาพรวมอย่างระมัดระวังของพัฒนาการทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และระบบการเงิน”

นายมาซาอะกิ กล่าวต่อว่าแล้วเราจะพูดถึงนวัตกรรมดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้อย่างไร เพราะปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ในระยะแรกของเทคโนโลยี มีการพูดถึงผลด้านดีของเทคโนโลยีอยู่ทุกวัน บางอย่างก็เป็นเรื่องจริง บางอย่างก็เกินจริงไป อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของโอกาสในอนาคตดูเหมือนจะใหญ่มาก เพราะเหตุผลพื้นฐานๆว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ดูจะสามารถลดต้นทุนธุรกรรมได้และทำให้สามารถการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น e-Wallet หรือแอปพลิเคชั่นมือถือ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของประชาชนในหลายประเทศ นอกจากเรื่องประสิทธิภาพแล้วยังมีเรื่องของความเท่าเทียม อย่างเรื่องการมีส่วนร่วมในระบบการเงิน (Financial Inclusion) ซึ่งใช้แอปพลิเคชั่นมือถือในการเข้าถึงได้

“ตัวอย่างที่ดีคือเรื่อง Distributed Ledger Technology หรือ Blockchain ที่เริ่มต้นขึ้นจากสกุลเงินคริปโต ซึ่งถูกมองว่าเป็นทั้งฟองสบู่ แชร์ลูกโซ่ และหายนะทางสิ่งแวดล้อมรวมกัน แต่นี่เป็นคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะในอีกมุมหนึ่ง เอาเฉพาะเทคโนโลยี DLT กลับมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในอีกหลายพื้นที่ของระบบเศรษฐกิจและการเงิน เช่น การซื้อขายสินทรัพย์ การชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนธุรกรรมและสร้างข้อมูลที่ครบถ้วน ทั้งในแง่ของความหลากหลาย ปริมาณ ความเร็วของข้อมูล ข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้ก็จะไปเปิดโอกาสอีกมากในหลายเรื่อง

นายมาซาอะกิ กล่าวว่าในส่วนที่เหลือที่จะพูดถึงประเด็นเชิงนโยบาย 3 ประเด็นกว้างๆที่ธนาคารกลางจะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบการชำระเงิน การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน และการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งตนจะไล่ต่อไปที่ละประเด็น

หลากคำถามของธนาคารกลางกับระบบชำระเงิน

เริ่มต้นจากระบบชำระเงิน คำถามสำคัญและตรงไปตรงมาสำหรับธนาคารกลางคือใครจะเข้าถึงระบบธนาคารกลาง เพราะเงินของธนาคารกลางประกอบไปด้วยเงินสดและสกุลเงิน รวมไปถึงเงินฝากที่ธนาคารกลาง ซึ่งปัจจุบันเงินสดถูกกระจายถือโดยปัจเจกบุคคลต่างๆ ขณะที่เงินฝากที่ธนาคารถูกเสนอกับสถาบันการเงินเท่านั้น โดยระบบการเงินที่ธนาคารกลางจะมีคุณสมบัติพิเศษคือปลอดความเสี่ยง

สำหรับการเปิดบัญชีที่ธนาคารกลาง ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นมีธรรมเนียมยาวนานที่จะอนุญาตให้เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์เข้ามาในระบบได้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยการระดมทุนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นได้เปิดบัญชีสำหรับแลกเปลี่ยนและให้ชำระหนี้ระหว่างกันในช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลก อีกครั้งนี่คือการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบการเงินโลกที่ถูกกระทบจากเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพื่อลดความเสี่ยงของการชำระเงิน (Settlement Risk)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารแห่งอังกฤษได้ตัดสินใจให้สถาบันบริการชำระเงินที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถเข้าถึงระบบชำระเงินขนาดใหญ่ (UK RTGS) ได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ซึ่งจะไปสร้างการแข่งขันและนวัตกรรมใหม่ๆ อีกครั้งนี่คือการตอบสนองกับสภาพแวดล้อมทางการเงินใหม่ๆที่ถูกกระทบจากนวัตกรรม

แล้วคำถามต่อมาคือธนาคารกลางควรจะออกเงินสดในรูปแบบดิจิทัลเองหรือไม่? เหมือนกับที่ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ได้ลองออกสิ่งที่เรียกว่า e-Kroner ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปสามารถมีบัญชีโดยตรงกับธนาคารกลางได้เลย แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีก อย่างแรก เงินสดดิจิทัลจะกลายเป็นเงินที่มีความปลอดภัยสูงสุดและสะดวกสบาย เพราะการชำระเงินจะไม่ผ่านบุคคลต่อบุคคลอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าเงินสดของธนาคารกลางจะไปขัดขวางการฝากเงินของประชาชนและเกิดคำถามว่าใครจะเป็นคนปล่อยสินเชื่อแก่ครัวเรือนและธุรกิจ เนื่องจากธนาคารมีขนาดเล็กลง เศรษฐกิจต้องการใครสักคนที่มาจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตของระบบผ่านการคัดกรองเครดิต และนี่คือกลไกหนึ่งที่มาช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพ แล้วธนาคารกลางก็ไม่ใช่สถาบันที่เหมาะสมนักในหน้าที่นี้

ทางออกหนึ่งคือให้ธนาคารออกเงินสดดิจิทัลเองด้วย แต่แม้ในกรณีนี้เราก็ยังต้องพิจารณาถึงเสถียรภาพการเงินอย่างระมัดระวัง เพราะในช่วงของวิกฤต ผู้ฝากเงินจะแห่ถอนเงินและเรียกร้องหาเงินสดธนาคารกลางแทน ที่ผ่านมาเราก็เคยเห็นปรากฎการณ์แห่ถอนเงินและด้วยเทคโนโลยีสิ่งนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นด้วยปริมาณที่มากขึ้น เพราะเงินสดสามารถเคลื่อนย้ายธนาคารกลางเพียงไม่กี่คลิก

อีกมุมหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่าเงินสดดิจิทัลจะช่วยให้หนีสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยให้ไปต่ำกว่า 0% ได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าการลดดอกเบี้ยอีก 1% หรือมากกว่านั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ เพราะในช่วงหลังฟองสบู่แตก นอกจากจะกำจัดภาระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจจะไม่สามารถกลับเส้นทางการเติบโตที่ยั่งยืนได้ ดอกเบี้ยติดลบจะได้ผลถ้าวิกฤตกระทบเศรษฐกิจชั่วคราวเท่านั้น

ประเด็นสุดท้ายคือเงินสดยังคงมีแรงเฉื่อยค่อนข้างมากในระบบ เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานของเงินสดถูกพัฒนามาค่อนข้างดี มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว และเครือข่ายที่ทุกคนยอมรับในฐานะการแลกเปลี่ยน ทำให้หลายประเทศยังคงมีอุปสงค์ต่อเงินสดค่อนข้างมากอยู่

“ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลควรจะสนับสนุนให้คนหันมายังตัวกลางการแลกเปลี่ยนใหม่หรือไม่ เราต้องตอบ 2 คำถาม อันแรกคือเราจะได้ประโยชน์หรือไม่จากการเปลี่ยนระบบไม่ใช่เงินสด คำตอบขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงิน เช่น จีนที่มีการใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมาก เพราะสิ่งที่มีอยู่ช่วยสนับสนุนประสบกาณณ์การใช้จ่ายที่ดีกว่า คำถามที่ 2 คือรัฐบาลควรจะมีมาตรการที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ คำถามนี้ค่อนข้างเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาก เพราะญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมในการใช้จ่ายเงินสดค่อนข้างมาก แปลว่าอาจจะต้องการมาตรการที่เข้มแข็งมากในการไปเปลี่ยนนิสัยการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มคนผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยนิยมและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในกรณีนี้ธนาคารอาจจะกลายเป็นเสี่ยงเข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจร่วมกันของสังคมนั้นๆแทน”

โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน – ระบบเดียวไม่เพียงพอ

นายมาซาอะกิ กล่าวต่อไปถึงนโยบายที่เกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีการเงินและเสถียรภาพการเงินมักจะถูกพูดถึงบ่อยๆในช่วงที่ผ่านและก็มีหลายประเด็นต้องพิจารณา โดยเฉพาะผลกระทบของเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล รวมไปถึงพลวัตรของระบบเศรษฐกิจโดยรวม เช่นปัญญาประดิษฐ์และ Big Data จะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมและธุรกิจการเงินอย่างไร? เพราะในมุมหนึ่งเทคโนโลยีอาจจะทำให้อุตสาหกรรมการเงินแข่งขันกันมากขึ้น ด้วยการดึงดูดบริษัทใหม่ๆเข้ามาแบ่งการบริการที่เคยถูกผูกขาดโดยสถาบันการเงินเดิมๆ แต่อีกมุมหนึ่งบริษัทไอทีขนาดใหญ่อาจจะกลายเป็นผู้เล่นหลักและผูกขาดจากการผูกขาดเครือข่ายของบริการ (Network Effect) เอาไว้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

นอกจากนี้ การทำให้ระบบการเงินขึ้นอยู่กับระบบเพียงบางระบบ จะทำให้ระบบการเงินเปราะบางหรือแตกออกกันและเสี่ยงมากขึ้นอีก เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยีที่หากสถาบันการเงินใช้เทคโนโลยีเหมือนๆกัน อาจจะสร้างความไร้เสถียรภาพของระบบการเงินจากพฤติกรรมรวมหมู่อย่างไม่ตั้งใจได้อีก

“จากประสบการณ์ที่ธนาคารแห่งญี่ปุ่น 39 ปี ที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ปัญหาโรงงานนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ คิดว่าการพึ่งพาระบบทางการเงิน เช่น ระบบการชำระเงินเพียงระบบเดียวมันไม่รัดกุมเพียงพอ เราไม่รู้ว่าระบบไหนจะยังใช้ได้ต่อไป และเราก็ยังไม่รู้อีกว่าระบบที่ใช้ไม่ได้เป็นเพราะอะไร ดังนั้นเราจึงยังต้องการความเหมือนกันของการบริการด้วยระบบที่แตกต่างกัน และมีส่วนเกินของระบบอยู่บ้างในโครงสร้างการเงินพื้นฐาน”

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เข้ามาในตลาดการชำระเงินอาจจะสร้างปัญหาทำให้กำไรของธนาคารหายไปและทำให้สังคมสูญเสียผู้เล่นทางเศรษฐกิจที่มีหน้าที่ยึดมั่นในการให้บริการพื้นฐานทางการเงินที่หลากหลายและครอบคลุม เพราะผู้เล่นใหม่เหล่านี้ไม่ได้หากำไรจากบริการการเงินพื้นฐานเหล่านี้ แต่ใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลและนำเอาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพด้านอื่นๆแทน เช่นการค้าขาย

โลกปั่นป่วนท้าทายเครื่องมือเชิงนโยบาย

นายมาซาอะกิ กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายถึงการดำเนินนโยบายการเงินในโลกที่มีนวัตกรรมดิจิทัลว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก เช่นภายใต้ระบบแบบนี้เราจะวัดราคาและแยกแยะราคาและปริมาณในการใช้จ่ายของจีดีพีอย่างไร ตัวอย่างเช่น กูเกิ้ลแมพทำให้เรามีบริการนำทางที่ค่อนข้างแม่นยำ ฟรีจากค่าบริการ แต่ลองจินตนาการดูว่าบริการนี้เราจะคิดราคาอย่างไรในระบบเศรษฐกิจ เราใช้จ่ายมูลค่าเท่าไหร่ในการลงแอพลิเคชั่นนี้  และจีดีพีจะยังคงเป็นการวัดสวัสดิการของสังคมที่ดีหรือไม่ โดยเฉพาะในโลกที่ต้นทุนส่วนเพิ่มลดลงจนแทบไม่เหลือ ซึ่งทำให้สวัสดิการสังคมที่วัดโดยส่วนเกินผู้บริโภคมีปริมาณสูงกว่ารายได้ทางการเงินหรือส่วนเกินผู้ผลิตอย่างมาก

“ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้คือข้อถกเถียงถึงสาเหตุของวิกฤตการเงินโลกยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ยาวนานได้นำไปสู่ฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกาและนำไปสู่วิกฤตการเงินโลก คำถามคือทำไมธนาคารกลางถึงปล่อยให้เกิดภาวะความไม่สมดุลในภาคการเงินแบบนั้นทั้งที่เห็นชัดเจนขนาดนั้น ในมุมนี้ต้องบอกว่าอยู่ที่นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อและเป็นหัวใจของนโยบายได้สร้างช่องโหว่ขึ้นมา เป้าหมายเงินเฟ้อตั้งอยู่บนสมมติฐานหลายข้อ อันหนึ่งที่สำคัญและชัดเจนคือเป้าหมายของนโยบายการเงินการกำหนดระดับราคา อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐเมริกาครั้งนี้มันเป็นความไม่สมดุลของภาคการเงิน ทั้งการปล่อยกู้เกินตัว ราคาสินทรัพย์ที่พุ่งสูง ไม่ใช่เงินเฟ้อที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ แล้วถ้าสมมติว่าการวิเคราะห์นี้ถูก แล้วตอนนี้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการกำหนดนโยบายการเงินและดูแลเสถียรภาพการเงินอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่ให้เหมือนครั้งของนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ”

นายมาซาอะกิ สรุปว่า นวัตกรรมมักจะมาด้วยข้อดี พร้อมกับความท้าทายในหลายด้าน ธนาคารกลางจะต้องคล่องตัวเพียงพอที่ตระหนักว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกของเทคโนโลยี รวมทั้งคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงิน และต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นด้วย

“โดยปกติอาชีพที่จะเจอเป็นหลักในธนาคารกลางคือนักเศรษฐศาสตร์และนักกฎหมาย แต่ตอนนี้เราต้องการคนด้านเทคโนโลยีด้วย แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่านั้นคือความร่วมมือกันระหว่างวิชาชีพเหล่านี้และแผนกต่างๆภายในธนาคารกลาง รวมไปถึงความร่วมมือกับธนาคารกลางของแต่ละประเทศและบริษัทไอทีเอกชนต่างๆ เราต้องหลีกเลี่ยงโครงสร้างความร่วมมือแบบแท่งๆให้ได้ และสุดท้ายเรื่อง Big data สำคัญ แต่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและระบบการงินก็สำคัญพอๆกัน”

รายละเอียดเพิ่มเติม