ThaiPublica > เกาะกระแส > บลูมเบิร์กประเมินนโยบายการเงินปี 2020 ธนาคารกลางประเทศหลักคงดอกเบี้ย ประเทศเล็กลดดอกเบี้ย

บลูมเบิร์กประเมินนโยบายการเงินปี 2020 ธนาคารกลางประเทศหลักคงดอกเบี้ย ประเทศเล็กลดดอกเบี้ย

24 ธันวาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-12-22/our-guide-to-what-the-world-s-top-central-banks-will-do-next-year?srnd=premium-asia

สำนักข่าวบลูมเบิร์กประมวลแนวโน้ม การดำเนินนโยบายการเงินในปี 2020 ของประเทศหลัก ประเทศในแต่ละภูมิภาค โดยอิงจากข้อมูลการสำรวจรายไตรมาส และค่าเฉลี่ยรายเดือน รวมทั้งข้อมูลการประมาณการณ์ล่าสุด และใช้อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2019 ร่วมกับการสำรวจที่ทำขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคม ก่อนที่มีการตัดสินใจด้านนโยบายของหลายประเทศ

บลูมเบิร์กได้ประเมิน ธนาคารกลาง 23 แห่งของประเทศชั้นนำ ซึ่งการดำเนินนโยบายรวมกัน 90% มีผลต่อเศรษฐกิจโลก

รายงานระบุว่า ปี 2019 เป็นปีที่ธนาคารกลางได้หันกลับไปลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากสงครามการค้าและการลดลงของการผลิต

ธนาคารกลางบางประเทศ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯได้เตรียมพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินรับการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงิน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ก่อนปี 2019 ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปที่ระดับต่ำกว่า 0%

ปี 2020 น่าจะเป็นปีที่การดำเนินนโยบายการเงินค่อนข้างเงียบเหงา ขณะที่นโยบายการคลังจะโดดเด่นขึ้นมาและแนวโน้มเศรษฐกิจอาจจะสดใสขึ้นบ้าง

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินภายในสิ้นปี 2020 รายงานประเมินว่า ธนาคารกลางน่าจะยังดำเนินนโยบายการเงินไปในทิศทางการผ่อนคลาย แม้คาดว่าหลายประเทศใหญ่จะคงอัตราดอกเบี้ย แต่อีกหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) จะยังคงลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

ธนาคารกลางสหรัฐฯคงดอกเบี้ยที่ 1.75%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับสูงสุด 1.75% และคาดว่าจะปิดปี 2020 ที่ 1.75% ไม่เปลี่ยนแปลง

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารได้ส่งสัญญานมาแล้วว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่งหลังการประชุมล่าสุดในวันที่ 11 ธันวาคม 2019 ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50-1.75% โดยระบุว่าในอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม เว้นเสียแต่ว่าจะมีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นอย่างอื่น

ในปี 2019 ธนาคารกลางสหรัฐ(Federal Reserve)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง และกรรมการเฟด 13 จาก 17 คนประเมินว่า จะไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยในปี 2020 จึงคาดว่าธนาคารกลางจะติดตามสถานการณ์ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตามเฟดจะยังไม่วางมือจากการดำเนินนโยบายการเงินเสียทีเดียว เพราะยังมีการซื้อตั๋วเงินคลังในตลาดเงินเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบธนาคาร ซึ่งนายพาวเวลล์กล่าวว่า อาจจะขยายการซื้อไปสู่หลักทรัพย์ระยะสั้นที่มีดอกเบี้ย หากจำเป็น

ธนาคารกลางสหภาพยุโรปคงดอกเบี้ย -0.50%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินอยู่ที่ระดับ -0.50% และคาดว่าจะยังอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2020

ธนาคารกลางสหภาพยุโรป(European Central Bank)ให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น แต่กระนั้นก็ส่งสัญญานว่าจะระงับการปรับอัตราดอกเบี้ยหลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางคนก่อนได้ประกาศแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรที่ชะลอตัวไปเมื่อเดือนกันยายน

ทั้งนี้เนื่องจากมองไปที่ผลข้างเคียงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบที่มีผลกระทบมากขึ้น เช่น ทำให้กำไรของธนาคารลดลง และมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งนางคริสเตียน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางคนใหม่ยืนยันว่าจะมีการประเมินผลกระทบ ในการทบทวนยุทธศาสตร์นโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003

นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของยุโรปจะยังทรงตัวในระดับปัจจุบัน และธนาคารกลางจะยังคงใช้มาตรการ QE ไปตลอดทั้งปี 2020 และหลังจากนั้น แต่อาจจะเจอบททดสอบใหม่หากเศรษฐกิจโลกประสบกับความไม่แน่นอนทางการค้าโลกและการชะลอตัวของภาคการผลิตส่งผลไปถึงภาคบริการ

ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงดอกเบี้ย -0.1%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับติดลบ 0.1% และคาดว่าจะยังคงในระดับนี้ไปจนสิ้นปี 2020

แนวโน้มของธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ Bank of Japan(BoJ) ปี 2020 ดูเหมือนจะดีขึ้นเล็กน้อยหลัจากที่รัฐบาลเริ่มมาตรการการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและเศรษฐกิจโลกมีสํญยานที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บีโอเจสามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้

อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบและงบดุลที่มีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการปรับดอกเบี้ยแม้ได้ส่งสัญญานว่าจะผ่อนคลายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนาย ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ บีโอเจยังคงติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนและเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษี

ธนาคารกลางอังกฤษคงดอกเบี้ย 0.75%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.75% และคาดว่าภายในสิ้นปี 2020 จะยังอยู่ที่ระดับ 0.75%

ธนาคารกลางอังกฤษเพิ่งแต่งตั้งนายแอนดรูว์ ไบเล่ย์ ผู้ว่าการคนใหม่แทนนายมาร์ค คาร์นีย์ไปในสัปดาห์ก่อน นายไบเล่ย์ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่วันที่ 16 มีนาคม 2020 จะต้องรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการลงทุนที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องเจอผลจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปที่อังกฤษจะต้องตกลงการค้ากับอียูให้ได้ก่อนสิ้นปี 2020 เว้นเสียแต่ว่านายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีจะขอขยายเวลา ส่วนทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินนั้นมี 2 ใน 9 กรรมการต้องการที่จะลดอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกลางแคนาดาคงดอกเบี้ย 1.75%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1.75% และคาดว่าภายในสิ้นปี 2020 จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75%

นายสตีเว่น โพลอซ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาปิดปี 2019 ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า และคาดว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ครบวาระ 7 ปีแห่งการทำหน้าที่

ธนาคารกลางแคนาดาระบุ 2 เหตุผลหลักที่สวนกระแสโลกที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินว่า หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นใกล้เป้าหมาย 2% มาร่วมกว่าหนึ่งปี และ สอง กังวลว่าอาจจะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งคือ ค่าเงินที่แข็งค่ากระทบการส่งออก แต่แรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางแคนาดาต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางประเทศอื่นลดน้อยลง เพราะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นและตลาดเองกลับมามองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินยังทำได้อีกมาก

ธนาคารกลางจีนลด reverse repo rate

อัตราดอกเบี้ยระยะ 1 ปีอยู่ที่ 4.35% อัตราดอกเบี้ย reverse repo rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ต้องชำระให้กับธนาคารกลาง ระยะ 7 วัน อยู่ที่ 2.50% และคาดว่าในสิ้นปี 2020 อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.35% และ 2.35% ตามลำดับ

นักวิเคราะห์ที่ประเมินว่า ธนาคารกลางจีนจะประเดิมปี 2019 ด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินครั้งใหญ่ต่างพากันผิดหวังไปตามกัน ขณะที่นาย อี้ กัง ผู้ว่าการ ส่งสัญญานว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2020 อย่างค่อยเป็นค่อยไป การที่ธนาคารกลางผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังเนื่องจากประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่อัตราเงินเฟ้อสูง โดยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3% เป้าหมาย หลังจากราคาอาหารสูงขึ้น

นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำกว่า 6% ในปีหน้า ส่วนการทบทวนจีดีพีปี 2018 หมายถึงว่า เป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มขนาดเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าในทศวรรษนี้จะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น และลดภาระของธนาคารกลางในการกระตุ้นการขยายตัว

ธนาคารกลางอินเดียลดดอกเบี้ยมาที่ 4.7%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอยู่ที่ 5.15% และคาดว่าภายในสิ้นปี 2020 จะลดลงมาที่ 4.7%

เป็นที่คาดกันว่าธนาคารกลางอินเดียจะหันกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกครั้งราวกลางปี 2020 และเมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง หลังจากที่ราคาหัวหอมดึงอัตราเงินเฟ้อให้แตะกรอบบนของเป้าหมาย 2-6% ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งเติบโตต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี

ในเดือนธันวาคมธนาคารกลางอินเดียได้ยุติการลดอัตราดอกเบี้ยโดยที่ตลาดไม่คาดมาก่อน หลังจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 5 ครั้งรวม 1.35% ในปีนี้ อย่างไรก็ตามนายชัคติคานตา ดาส ส่งสัญญานชัดเจนว่ายังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อีก แต่ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม

ธนาคารกลางบราซิลคงดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Selic) อยู่ที่ 4.5% และคาดว่าจะคงไว้ที่ระดับ 4.5% ในสิ้นปี 2020

ธนาคารกลางบราซิลปิดวงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงินหลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ระดับต่ำสุด 4.5% และนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยในสิ้นปี 2020 น่าจะยังอยู่ในระดับนี้

การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน เพราะความคาดหวังอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากที่ชะลอตัวมาเกือบ 3 ปี แต่ก็ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ธนาคารกลางรัสเซียลดดอกเบี้ย 0.25%

อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 6.25% และคาดว่าจะปิดปี 2020 ที่ 6%

หลังจากที่ต้องจัดการกับเงินฟ้อที่สูงมาหลายปี นางเอลวิรา นาบิอัลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียกำลังประสบกับปัญหาการดึงเงินเฟ้อให้ขึ้นมาที่เป้าหมาย 4% เพราะการลดอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งติดต่อกันไม่ช่วยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล่าช้าในการใช้จ่ายของรัฐบาลในครึ่งหลังของปี 2019

นางนาบิอัลลินากล่าวว่า ผลของการผ่อนคลายจะใช้เวลาและธนาคารกลางจะต้องใช้เวลาหนึ่งในการประเมินผล และมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์หรือในครึ่งแรกของปี 2020 แต่ก็ยังไม่รับประกัน

ในปี 2019 พันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นรัสเซียดึงเงินลงทุนจากต่างชาติถึง 16 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ธนาคารกลางผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด

ธนาคารกลางอัฟริกาใต้ลดดอกเบี้ย 0.25%

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอยู่ที่ 6.5% คาดว่าสิ้นปี 2020 จะลดลงไปที่ 6.25%

ธนาคารกลางอัฟริกาใต้เจอแรงกดดันให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินหลังเศรษฐกิจหดตัวอย่างไม่คาดคิดในไตรมาส 3 และการตัดกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะถดถอยอีกครั้งเหมือนในหลายปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำสุดรอบ 9 ปีและใกล้จะถึงกรอบล่างของเป้าหมาย 3-6% ที่วางไว้

อย่างไรก็ตามมีอีกหลายปัจจัยเช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายและฐานะการเงินของรัฐบาลที่อ่อนแอลง จะทำให้ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้ และการใช้นโยบายการเงินเพื่อชดเชยการใช้จ่ายภาครัฐก็ไม่ใช่วิถีที่ควรจะเป็น นอกจากนี้การที่ประเทศมีโอกาสถูกปรับลดความน่าเชื่อถือจากระดับลงทุน(investment-grade) จากมู้ดี้ส์ ในปี 2020 ก็ยิ่งทำให้โอกาสลดดอกเบี้ยน้อยลงไปอีก

ธนาคารกลางเม็กซิโกหั่น 0.75%

อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 7.25% คาดว่าสิ้นปีจะลดลงไปที่ 6.5%

ธนาคารกลางเม็กซิโกได้ลดดอกเบี้ยในปีนี้จากที่อยู่ในระดับสูงมาร่วมทศวรรษ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 3% ของเป้าหมายและเศรษฐกิจทรงตัว และจากการฟื้นตัวเล็กน้อยของเศรษฐกิจในปีหน้าคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ธนาคารกลางคาดว่าในไตรมาสแรกปีหน้า เงินเฟ้อจะเพิ่มเล็กน้อย และจะเข้าสู่เป้าหมายหลังจากนั้น ปัจจุบันต้นทุนการกู้ยืมหลังจากหักเงินเฟ้อของเม็กซิโกสูงที่สุดในกลุ่ม G-20

ธนาคารกลางอินโดนีเซียลดดอกเบี้ย 0.25%

อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรปัจจุบันอยู่ที่ 5% และคาดว่าสิ้นปี 2020 จะลดลงไปที่ 4.75%

ธนาคารกลางอินโดนีผ่อนคลายนโยบายการเงินในเชิงรุก โดยลดดอกเบี้ยลง 1% นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัว 5% ซึ่งนับว่าเติบโตดีกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการส่งออกหดตัวเป็นเดือนที่ 13

เศรษฐกิจปี 2019 คาดว่าจะเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2017 นายเพอร์รี่ วาร์จิโย ผู้ว่าการ ธนาคารกลางส่งสัญญานว่ายังจะลดดอกเบี้ยลงอีก แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ ส่วนเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าระดับมาตรฐานส่งผลให้ธนาคารกลางปรับเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2020 ลงจาก 2.5%-4.5% เป็น 2%-4% บ่งชี้ว่ายังสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก

ธนาคารกลางตุรกีลดดอกเบี้ย 1%

อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอายุ 7 วันอยู่ที่ 12% และคาดว่าสิ้นปี 2020 จะลดลงมาที่ 11%

ธนาคารกลางตุรกีอาจจะต้องจำกัดวงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้า หลังจากที่ประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิป เออร์โดกันระบุว่า อัตราดอกเบี้ยควรจะลดลงมาเป็นเลขตัวเดียวและเงินเฟ้อต้องเพิ่มขึ้น

ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลด 12 จุดหลังจากที่ค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ผลตอบแทนเงินลีราหักเงินเฟ้ออยู่ในระดับเดียวกับประเทศ EM อื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ยากสำหรับนายมูรัต อัยซาล ผู้ว่าการที่จะรักษาผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามความต้องการของประธานาธิบดีเออร์โดกัน

ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงดอกเบี้ย

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% และคาดว่าจะคงอยู่ในระดับนี้เมื่อสิ้นปี 2020

ธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าๆในปี 2020 หลังจากที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งและการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้าสู่ระบบ รวมทั้งความต้องการในตลาดโลกเริ่มดีขึ้น แต่หากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่คาด นาย ลี จู ยอล ผู้ว่าการธนาคารกลางจะประสบกับแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยลงอีก แม้จะไม่มีพื้นที่ทางนโยบายให้ดำเนินการมากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

อย่างไรก็ตามธนาคารกลางมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น มาตรการ QE ใช้มาตรการอื่นๆ ขณะที่ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กพบว่าส่วนใหญ่คาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะคงอัตราดอกเบี้ยหรือลดลงเป็น 1% ในปีหน้า

ธนาคารกลางออสเตรเลียแนวโน้มพึ่ง QE

อัตราดอกเบี้ย Cash Rate อย่ที่ 0.7% และคาดว่าจะลดลงมาที่ 0.25% ในสิ้นปี 2020

ธนาคารกลางได้ลดดอกเบี้ยลงมาใกล้ระดับต่ำสุดแล้ว และหากต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องใช้ทางเลือกอื่น นาย ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวว่า หากจำเป็นอาจจะใช้มาตรการ QE แต่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆในปี 2020

นักวิเคราะห์มองว่า ในขณะที่รัฐบาลไม่ยอมใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง ธนาคารกลางออสเตรเลียจะต้องใช้มาตรการ QE แน่นอน เพราะเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น

ธนาคารกลางอาร์เจนติน่าเจอเงินเฟ้อสูง

อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่กรอบล่าง 58% ส่วนการคาดการณ์ปี 2020 ยังไม่ชัดเจน

นายมิเกล เปสซี ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาร์เจนติน่าที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งกำลังเจอกับงานหิน เพราะวิกฤติเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่สูงกว่า 50% ขณะที่มีเป้าหมายว่าจะลดลงเงินเฟ้อให้ลงมาเป็นเลขตัวเดียวภายในสิ้นปี 2021 จากการดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางสังคมของประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ ผู้ซึ่งรับตำแหน่งในเดือนธันวาคมนี้

ธนาคารกลางสวิสพยุงค่าเงิน

อัตราดอกเบี้ยไลบอร์ปัจจุบันอยู่ที่ -0.75% และคาดว่าสิ้นปี 2020 จะยังอยู่ระดับนี้

เศรษฐกิจยูโรโซนกลำลังขยายตัวแต่คาดว่าธนาคารกลางสวิสจะยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และแทรกแซงค่าแรงเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงิน
การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบกำลังเข้าสู่ปีที่ 5 แต่อัตราเงินเฟ้อยังเป็นศูนย์ ซึ่งนายโทมัส จอร์แดน ผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อเงินสวิสฟรังก์

ในปี 2019 ธนาคารกลางได้ปรับอัตราดอกเบี้ยออกเป็นขั้น เพื่อลดผลกระทบต่อภาคการเงินและเปิดช่องให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหากจำเป็น

ธนาคารกลางสวีเดนปิดฉากดอกเบี้ยติดลบ

อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอยู่ที่ 0% และคาดว่าสิ้นปี 2020 จะยังไม่เปลี่ยนแปลง

ธนาคารกลางสวีเดนได้ปิดฉากอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มาครึ่งทศวรรษในเดือนนี้ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นมา 0% แม้เศรษฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงและอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 2% และมีความเป็นไปได้ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2020 และอาจจะไปจนถึงปี 2022 หากประเมินจากจังหวะการดำเนินนโยบายการเงิน

ธนาคารกลางนอร์เวย์เปิดช่องขึ้นดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% และคาดว่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในสิ้นปี 2020

หลังจากปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 ธนาคารกลางนอร์เวย์ได้คงอัตราดอกเบี้ยเพื่อประเมินผลของนโยบาย แต่กลับทำให้ตลาดตื่นตัวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2019 ได้เปิดช่องสำหรับกาปรรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในปีหน้า

แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ธนาคารกลางจะต้องลดความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยลงเพราะเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ลดหนึ่งครั้ง

อัราดอกเบี้ย Cash Rate ปัจจุบันอยู่ที่ 1% และคาดว่าจะลดลงมาที่ 0.75% ในสิ้นปี 2020

สัญญานการขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะลดดอกเบี้ยลงอีกเพียงครั้งเดียวในปีหน้า ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์การสำรองที่บังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์มีผลกระทบน้อยกว่าที่คาด และทำให้คลายกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมและการใช้นโยบายการเงินมารองรับ

นอกจากนี้รัฐบาลได้ประกาศแพกเกจการใช้จ่ายซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ แต่มีข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ย ส่วนธนาคารกลางระบุว่า จะประกาศแนวทางการดำเนินมาตรการทางเลือกในปีหน้าหากจำเป็น

ธนาคารกลางโปแลนด์โอกาสปรับน้อย

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย Cash Rate อยู่ที่ 1.5% และคาดว่าจะคงที่ระดับ 1.5% ในสิ้นปี 2020

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้บแต่เดือนมีนาคม 2015 โปแลนด์อยู่ในช่วงที่ต้นทุนการกู้ยืมทรงตัวต่อเนื่องระยะยาว และธนาคารกลางคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่อไปอีกระยะหนึ่ง

อัตราเงินเฟ้อปีนี้แม้จะสูงสุดในรอบ 6 ปี แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคาร ขณะที่เศรษฐกิจโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะปรับดอกเบี้ยมีน้อย

ธนาคารกลางสาธารณรัฐเช็ครอคู่ค้าฟื้น

อัราดอกเบี้ย Cash Rate ปัจจุบันอยู่ที่ 2% และคาดว่าจะทรงตัวที่ 2% ในสิ้นปี 2020

สาธารณรัฐเช็คเป็นหนึ่งในยุโรปที่ยังคงพิจารณาว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันไปอีกปีหนึ่ง หลังจากที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 8 นับจากปี 2017 เนื่องจากการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ชะลอตัวของเยอรมนี ประเทศคู่ค้าหลัก สงครามการค้าและ Brexit