ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” แทงกั๊กพรรการเมืองทาบนั่งนายกฯ – มติ ครม.ผุด “ไทยแลนด์ริเวียร่า” ปั้นรูทท่องเที่ยวทะเลตะวันตก – แก้ กม.แรงงานต่างด้าว ต่ออายุแช่แข็ง 4 มาตรา ถึง ก.ค.นี้

“บิ๊กตู่” แทงกั๊กพรรการเมืองทาบนั่งนายกฯ – มติ ครม.ผุด “ไทยแลนด์ริเวียร่า” ปั้นรูทท่องเที่ยวทะเลตะวันตก – แก้ กม.แรงงานต่างด้าว ต่ออายุแช่แข็ง 4 มาตรา ถึง ก.ค.นี้

7 มีนาคม 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2561 และการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ณ โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน ซึ่งในวาระแรกเป็นการรับฟังปัญหาและอุปสรรค ความต้องการของพื้นที่ ก่อนนำเข้าสู่การประชุม ครม.เพื่อพิจารณารับเรื่องไว้ดำเนินการต่อไป ในครั้งนี้ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 4 จังหวัด หลักๆ

สำหรับการลงพื้นที่ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมองค์การสะพานปลาสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ก่อนเดินทางไปยังวิสาหกิจชุมชนธนาคารปูม้า – แพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี พร้อมกันนั้นได้เป็นประธานมอบหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์จัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชนภาคกลางให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ต่อด้วยการเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยในช่วงเย็นได้มีการพบปะผู้นำท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ณ อาคารราชธรรมสภา อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

แทงกั๊กพรรการเมืองทาบทามนั่งนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามถึงกรณีหลักการเลือกพรรคการเมืองที่ติดต่อเข้ามา สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า วันนี้ยังไม่รู้ ทั้งนีจะต้องดูนโยบายของแต่ละคนแต่ละพรรคการเมือง โดยต้องคิดแบบประชาชน และประชาชนเองก็ต้องคิดแบบนี้ คือต้องดูทั้งนโยบายพรรค คนที่อยู่ในพรรค ว่าเป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม รอบรู้แค่ไหน

“การแก้ไขปัญหาของประเทศจะต้องแก้ไขในภาพรวม และในพื้นที่ที่เดือดร้อน จึงต้องฝากไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองด้วย เมื่อถึงเวลาก็จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาพูดคุย โดยพูดคุยถึงเรื่องของการจัดทำงบประมาณและอื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ผมไม่ได้ไปอะไรกับใคร แต่เพื่อที่จะได้เข้าใจตรงกัน ว่าการที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้นต้องเข้าใจถึงระบบงบประมาณ การจัดทำแผนโครงการ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท เราจะคุยเรื่องนี้ ไม่ใช่เรียกมาคุยเพื่อกำหนดว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ แล้วกลับบ้าน มันไม่ใช่ ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อนว่า ต้องทำอย่างไร ขอให้เตรียมการให้ดี และขอร้องสื่อมวลชนให้ช่วยทำความเข้าใจด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ชี้คนรุ่นใหม่ตั้งพรรค “เรื่องของเขา” – ขอ ปชช.พิจารณาที่นโยบาย

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีคนรุ่นใหม่อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิทกรุ๊ป จะตั้งพรรคการเมือง ร่วมกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ เพื่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช. ว่า คนรุ่นใหม่ตั้งพรรคการเมือง ก็ขอให้ตั้งไปเถอะ ตั้งขึ้นมาแล้วก็อยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือกหรือไม่ ขอให้ประชาชนพิจารณาในท่าทีและนโยบายว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่ ประชาชนจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของประชาชน ส่วนตัวเคยเตือนแล้วว่า ท่านจะต้องเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

ไม่สนคะแนนนิยมตก-ยันไม่เคยทำงานด้วย “โพล”

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่ม กปปส.ซึ่งเคยประกาศสนับสนุนจะไม่ตั้งพรรคการเมืองแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เคยบอกแล้วว่าไม่ว่าจะกลุ่มใดที่บอกว่าจะสนับสนุนตน ก็ต้องขอบคุณเท่านั้นเอง ทำอย่างอื่นไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่จะรักใครชอบใคร ส่วนจะได้หรือไม่ ยังไม่รู้

“เพราะผมเองยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้เลยว่า จะเป็นอย่างไร ไปอย่างไร ใครจะมาขอ ยังไม่เห็นมีใครมาติดต่อผมเลย เห็นแต่พูดกันผ่านสื่อเท่านั้น แล้วถ้าขอมา ผมจะรับหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าโจมตีผมมากนักเลย ให้เวลาผมทำงานเถอะ ปัญหามีมากมาย ทั้งนี้ พรรคการเมืองจะเสนอผมได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น วันนี้ยังไม่รู้เลย เพราะไปยังไม่ถึงตรงนั้น ยังปลดล็อกไม่ได้เลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ต่อคำถามกรณีที่ผลสำรวจความนิยมของโพลต่างๆ พบว่า คะแนนนิยมของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เห็นลงทุกวัน เดี๋ยวลงเดี๋ยวขึ้น ถ้าไปสนใจตรงนี้มากๆ ก็ไม่ต้องทำงานกันแล้ว ทำตามคะแนนโพลก็แล้วกัน แต่มันไม่ใช่ ถ้าโพลคะแนนนิยมตกแสดงว่าเราทำงานได้ผล เพราะมันจะต้องแก้ไขปัญหา เพราะถ้าทำตามใจคนทุกอย่าง โพลก็จะขึ้นทั้งหมด โดยยืนยันว่าจะไม่ทำงานด้วยโพล แต่ต้องขอขอบคุณผู้ที่ให้กำลังใจมาโดยตลอด และขอบคุณผู้ที่มองว่าตนด้อยค่า เพราะเปรียบเสมือนกระจกส่องให้ตน โดยไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นอารมณ์ เพราะบางเรื่องนั้นไม่ใช่สาระและข้อเท็จจริง แล้วจะไปสนใจทำไม เมื่อไม่ได้ทำเช่นนั้น ก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง

“การทำงานวันนี้ไม่ได้ทำด้วยโพลหรือคะแนนนิยม ผมทำงานด้วยข้อเท็จจริง มีหลักการและเหตุผล ปัญหาและอุปสรรคมีมากมายหลายอย่าง ทั้งเรื่องโครงสร้าง คน ข้าราชการ กฎหมาย มีปัญหาทั้งหมด ก็ต้องแก้ไขกันทั้งหมด ตามดูได้เลยว่าผมทำอะไรไปบ้าง เพราะถ้าไปฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้ววิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว จากนั้นมาตัดสินมันไม่ดี ไม่ถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“พอใจระดับหนึ่ง” แก้ IUU-ค้ามนุษย์  เข้าใจปัญหาซับซ้อน

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ว่า ตนมีความพอใจในระดับหนึ่ง แต่มีหลายประการที่เป็นข้อกังวลของคณะกรรมการตรวจสอบ เพราะปัญหาของเรามีความซับซ้อน และเป็นนโยบายที่มีมานาน เป็นความเคยชินของผู้ที่มีส่วนร่วมในการประกอบการประมง ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งข้าราชการ ผู้ประกอบการ ลูกจ้างประมงบนฝั่ง ลูกเรือ แรงงานในประเทศและแรงงานต่างด้าว ทุกอย่างเกี่ยวพันกันไปหมด นี่คือปัญหาที่เราต้องแกะค่อยๆ แก้ และทำให้เร็วที่สุด

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามทำตรงนี้ ทั้งนี้กฎหมายแรงงานที่กำลังแก้ไขจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการจดทะเบียนแรงงาน ซึ่งตนได้เร่งรัดเรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์ เพราะมีผลในการตรวจสอบเรื่องอาชญากรรม ผู้กระทำความผิดในคดีอื่นๆ เพราะเราต้องดูแลความปลอดภัยของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันต้องดูแลหลักประกันสุขภาพของแรงงานด้วย เพราะถือว่าเป็นแรงงานที่สำคัญของประทศ ตราบใดที่คนไทยไม่ทำงานแบบนี้ ก็ต้องมีแรงงานต่างด้าวมาทดแทน แรงงานไทยเองก็ต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อมาเป็นหัวหน้างาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการอบรมรับรองคุณสมบัติ เพื่อให้ได้ค่าแรงที่มากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

คณะรัฐมนตรี ร่วมประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 2/2561 จ.เพชรบุรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ทั้งนี้ปัจจุบันตนได้เห็นความก้าวหน้าในเรื่องของระบบการติดตามควบคุมก่อนลงเรือ โดยย้ำว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายอย่างเดียว แต่ทำเพื่อสินค้าขนาดใหญ่ของประเทศที่มีมูลค่า 2 แสนกว่าล้านบาท เพราะหากขายต่างประเทศไม่ได้นั้นอาจเกิดปัญหา แต่ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลคนในประเทศต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเองมีเจตนารมณ์ มุ่งมั่นแก้ปัญหาการรักษาคุ้มครองทางการประมงให้ยั่งยืน มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปูม้า ปูทะเล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ตนก็ได้ไปให้กำลังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารปูม้า-แพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย สำหรับเรื่องปัญหาแรงงานตนได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับแผน และดำเนินการให้ทัน ทั้งนี้ปัญหาเรื่องแรงงานไม่ได้อยู่ที่ไทยอย่างเดียว แต่อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะต้องไปขึ้นทะเบียน และพิสูจน์สัญชาติบริเวณชายแดน ซึ่งมีปัญหา อาจจะต้องมีการนัดวันเวลา โควตาในแต่ละพื้นที่ให้ตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่ปลื้มสังคมตัดสิน จนท.ด้วยความรู้สึก – ลั่นไม่เปลี่ยนทีมสืบ “เปรมชัย”

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเรียกร้องให้เปลี่ยนทีมทำคดี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรว่า เจ้าหน้าที่เขาทำอะไรเสียหายหรือยัง ซึ่งก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เรื่องคดีต้องว่าไปตามกฎหมาย บางทีเจ้าหน้าที่ไม่ชี้แจงก็บอกไม่รู้เรื่อง แต่พอเจ้าหน้าที่ชี้แจงมาก็ว่านี่ไม่ใช่นั่นไม่ใช่ ตกลงใครเป็นผู้ตรวจสอบตนก็ไม่รู้เหมือนกัน

“เรื่องกฎหมายก็ไปว่ากันมา วันนี้ทำสำนวนเพื่อส่งฟ้อง จึงต้องมีการสอบข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าสอบเอาผิดหรือแจ้งความเขา แต่เพื่อเตรียมหลักฐานให้ฟ้องให้ได้ ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องไปเตรียมหลักฐานกับทีมทนาย เพื่อจะมาสู้คดีตรงนี้ ซึ่งทุกคดีก็เป็นแบบนี้ ขอให้ดูกันตรงนั้น อย่าไปตัดสินคนอื่นด้วยความรู้สึก หรือเอากรณีอื่นมาเปรียบเทียบ มันไม่ใช่ ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ย้ำสอบอยู่ปมโกงเงินคนจน – ปลด “อดุลย์” ไม่ใช่ตอนนี้

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้ากรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งว่า ขณะนี้กำลังสอบสวนอยู่ ถ้ามีหลักฐานก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ไม่อยากให้มีการพูดให้เกิดความเสียหาย หรือไปคาดการณ์อะไรล่วงหน้า ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งตนเข้าใจดีว่า หลายคนอาจจะมองด้วยความไม่ไว้วางใจกับการดำเนินการที่ผ่านมา

“ผมอยากให้เข้าใจว่า กฎหมายก็คือกฎหมาย มันอยู่ที่การตีความ ก็ต้องฟังเขาด้วย เพราะถึงอย่างไรเขาก็ต้องไปต่อสู้กันในกระบวนการศาลอีก มีทนายมาแก้ต่างกันไป กันมา และท้ายที่สุดศาลตัดสินออกมา ก็เป็นไปตามวัตถุพยาน กับพยานบุคคล มันบิดเบือนเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้หรอก ก็ขอว่าอย่าไปพูดให้เสียหายเลย” นายกรัฐมตรี กล่าว

ต่อคำถามกรณีมีการเรียกร้องให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในขณะนั้นพิจารณาตัวเองด้วยการลาออก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ฟังไป มันยังไม่ใช่เวลาในตอนนี้ ก็รอให้มีการสอบสวนก่อน แล้วใครรับผิดชอบตรงไหนก็ว่ากันมา โดยยืนยันว่านโยบายของตนนั้นชัดเจนว่า จะต้องไม่มีการทุจริต และนโยบายบางเรื่อง ก็มีการสืบต่อเนื่องกันมานานแล้ว แต่การทำความผิดอาจจะตรวจสอบไม่พบ หรือสมยอมอะไรกันมา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรุณาใช้สิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดให้ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้มงวดการจัดซื้อจัดจ้างในท้องถิ่นว่า เป็นเรื่องดีอยู่แล้วที่ สตง.เข้มงวด ซึ่งดีกว่าไม่เข้มงวด

เผย รบ.เร่งผลิตยา – วัคซีน ลดต้นทุนสุขภาพปชช.

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในภาคอีสานว่า วันนี้รัฐบาลพยายามทำเต็มที่และให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยนำแนวทางในการขับเคลื่อนสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เราก็พูดกับเขาแล้วว่า เราให้ความสำคัญกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องให้ความสำคัญกับโรคต่างๆที่มีผลกระทบกับโรคยุคใหม่ ซึ่งบางโรคหายไปแล้วและอาจจะกลับมาใหม่ เป็นโรคที่อุบัติเกิดขึ้นอีก หรือเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ก็ไปว่ามาอีกที

“รัฐบาลนี้พยายามเร่งการผลิตยา ผลิตวัคซีน โดยองค์การเภสัชกรรมไทย และด้วยความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ซึ่งเราก็ทำหลายอย่างแล้ว เพื่อวันหน้าเราผลิตยาต่างๆได้มาก เช่น ยาที่เกี่ยวกับทารก เพราะวันนี้ค่าใช้จ่ายสูง หากเราผลิตเองจะลดราคาได้มาก ก็จะสามารถฉีดเด็กได้ครบทุกคน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย)พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(กลาง) และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ผุด “ไทยแลนด์ริเวียร่า” ปั้นรูทท่องเที่ยวทะเลตะวันตก สองสมุทรสุดระนอง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.  เห็นชอบแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะลตะวันตก (The Royal Coast หรือ Thailand Riviera) ตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในแถบนี้ให้เป็นที่รู้จักระดับโลก จากปัจจุบันคนจะรู้จักเฉพาะหัวหิน มีนักท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ที่ชะอำและหัวหินถึง 11.65 ล้านคน จากจำนวนนักที่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันตกทั้งหมดของปี 2560 ที่มีจำนวน 14.02ล้านคน ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ของการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – หัวหิน

“ต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และต้องใช้แนวคิดเดียวแบบอีอีซีที่กำหนดพื้นที่ขึ้นมาแล้วไปต่อยอดการพัฒนา ก่อนตั้งให้เป็นแอ่งที่รวมทุกอย่างไว้ที่นี่ ซึ่งหากทำขึ้นมาได้จะเป็นตัวสร้างให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน เอสเอ็มอีชุมชน ตอนนี้มีโครงการรถไฟทางคู่มาแล้วและต่อไปถึงชุมพร จะช่วยเข้ามาสนับสนุน เลยต้องประกาศออกมาเป็นไทยแลนด์ริเวียร่า เพื่อประกาศไปแล้วต่างชาติจะได้รับรู้และเข้าใจโครงการ ส่วนงบประมาณก็มีงบกลุ่มจังหวัดเข้ามาเสริม ซึ่งทางจังหวัดจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร” นายสมคิดกล่าว

ที้งนี้ได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปปรับงบประมาณบางส่วนมาใช้ผลักดันโครงการดังกล่าวให้สำเร็จ และในวันที่ 12 มีนาคม 2561 ยังเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติด้วย สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หัวหิน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้จัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้แล้วเสร็จก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ หากผลักดันโครงการดังกล่าวจนเกิดเป็นรูปร่าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆ เกิดขึ้นตามมา จนนำมาสู่การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจชุมชน ทั้งยังเป็นการต่อยอดให้อ.หัวหิน เปลี่ยนรูปแบบจากการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวแทน

“ต่อไปนักท่องเที่ยวจะบินตรงมาลงที่สนามบินหัวหิน ก่อนเดินทางผ่านเส้นทางไทยแลนด์ริเวียร่า สามารถลงไปทางใต้ถึงชุมพร และระนอง หรือขึ้นไปทางเหนือถึงสมุทรสาคร และกรุงเทพฯ ได้ด้วยความสะดวก” นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ในการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฯ ในช่วงเช้า รัฐบาลยังได้ขอความร่วมมือจากบริษัท ไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ไปพิจารณาการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ หรืออควาเรียม ในจ.สมุทรสาคร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ปลาทะเลชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเดินทางมาแวะที่จังหวัดสมุทรสาครเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เป็นเพียงจังหวัดรายทางที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางผ่าน ซึ่งจะต่อยอดให้สมุทรสาครก้าวขึ้นเป็นมหานครแห่งครัวโลกที่มีอาหารทะเลเป็นจุดเด่นได้ ล่าสุดทางไทยยูเนียนฯ ได้รับข้อเสนอไปพิจารณาแล้ว

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เสนอแนวทางการพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยสนับสนุนโครงการที่ควรต้องเร่งดำเนินการในปีงบประมาณ 62 จำนวน 45 โครงการ วงเงิน 170 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.เพชรบุรี จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 53 ล้านบาท จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 43 ล้านบาท จ.ชุมพร จำนวน 18 โครงการ วงเงิน 53 ล้านบาท และ จ.ระนอง จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 20 ล้านบาท

โดยมีมาตรการสำคัญที่เข้ามาช่วยสนับสนุน คือ การกำหนดเขตพื้นที่เมืองรองเพิ่มเติม แบ่งเป็น จังหวัดเพชรบุรี 6 อำเภอ คือ เขาย้อย หนองหญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด บ้านแหลม และแก่งกระจาน ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 5 อำเภอ คือ กุยบุรี ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย และสามร้อยยอด พร้อมกับประกาศกำหนดเขตพื้นที่ในท้องถิ่นหรือชุมชน พัฒนาและปรับปรุงสนามบินหัวหิน ส่งเสริมธุรกิจสนามกอล์ฟเพื่อการท่องเที่ยวส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

“โครงการนี้ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันการท่องเที่ยวชายฝั่งให้ไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนทางฝั่งภูเขาตะนาวศรี โดยการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นแอ่งท่องเที่ยว (multi-spot / route) ซึ่งจะทำการเชื่อมโยงเบื้องต้นใน 5 พื้นที่ 4 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปข้างต้น แบ่งเป็น แดนวังวันวาน (แหล่งท่องเที่ยวย้อนอดีต) สำราญตระนาวศรี (แหล่งท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว) เพชรคีรีบุรีสุข (แหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว) สนุกสมุทรนิเวศ (แหล่งท่องเที่ยวด้านความสวยงามทางทะเล) และชื่นสุขวารี (แหล่งท่องเที่ยวสุขภาพบำบัด) รวมไปถึงการท่องเที่ยวทางรถไฟด้วยเช่นกัน” นายวีระศักดิ์กล่าว

แก้ กม.แรงงานต่างด้าว ลดโทษ-ใช้ระบบแจ้ง-ต่ออายุแช่แข็ง 4 ม. ถึง ก.ค.นี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน, การทำงานของคนต่างด้าว, การรับคนต่างด้าวเข้าทำงานให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น ตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ ให้ปรับแก้มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตจากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท โดยตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5,000 -50,000 บาท มาตรา 102 นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จากโทษปรับเดิมตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เหลือ 10,000 -100,000 บาทต่อคน และใครทำผิดซ้ำซากจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 50,000-200,000 บาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

พร้อมกันนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 (พ.ศ….) โดยมีสาระสำคัญในการยกเลิกการห้ามคนต่างด้าวเข้ามามีอาชีพเป็นกรรมการหรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ และกำหนดห้ามเฉพาะการเข้ามาทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

“พ.ร.ก.บริการจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 แต่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากตามพระราชกำหนดดังกล่าวมีบทลงโทษที่รุนแรงใน 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ซึ่งทั้ง 4 มาตรา มีสาระสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง หรือลูกจ้าง หากมีการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายแต่มิได้ขอใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษทั้งจำและปรับ โดยเฉพาะโทษปรับมีการกำหนดเพดานขั้นต่ำไปว้ที่ 400,000 – 800,000 บาท ในอดีตจะไม่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจในการลงโทษปรับได้ แต่ในกรณีนี้หากพบว่ามีการทำผิดใน 4 มาตราดังกล่าว นายจ้างจะต้องถูกปรับ 400,000 บาท หากมีลูกจ้าง 3 คนจะต้องเสียค่าปรับขั้นต่ำทั้งสิน 1.2 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเป็นว่าเป็นกฎหมายที่รุนแรง ประชาชนยังปรับตัวไม่ทัน จึงออกคำสั่งตาม มาตรา 44 เมื่อปี 2560 โดยเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะ 4 มาตราออกไป ให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างไปดำเนินการให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันได้นำ พระราชกำหนดฉบับเดิมไปปรับปรุงแก้ไข โดยกฤษฎีกาได้นำกลับเข้า ครม. เพื่อพิจารณาแล้ว” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

โดยกฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้มีหลักการที่สำคัญ อาทิ

  • ยกเว้นบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาหรือมาประกอบการ หรือลงทุนในเมืองไทยที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีทักษะสูงอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยถ้าเป็นบุคคลประเภทนี้จะไม่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว แต่จะไปเข้าลักษณะของ Smart Visa คือไม่ใช่แรงงานทั่วไป
  • เปลี่ยนจากระบบอนุญาตในบางเรื่องมาเป็นระบบแจ้ง เพื่อลดภาระแก่ประชาชน ดังนั้นเรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ใช้วิธีการแจ้งให้ทราบ อาทิ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง การที่นายจ้างจะจ้างบุคคลเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตอีก หรือการเปลี่ยนประเภทงาน เปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนสถานที่ทำงาน การดำเนินการเหล่านี้เพียงแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
  • ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตที่พักอาศัยของผู้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจะไม่กำหนดหรือจำกัดว่าต้องทำงานอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
  • ปรับแก้ตามข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โทษนายจ้างและลูกจ้างที่เท่ากัน ปรับใหม่ให้ไม่เท่ากันตามความหนักเบา และนายจ้างรับเหมาแรงงานจะทำได้ต่อเมื่อมีใบสั่งจ้างงาน ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันต้นเหตุการเอารัดเอาเปรียบ จนเป็นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์ ยกเว้นค่าตรวจสุขภาพ ใบอนุญาต และค่าหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ การเก็บหนังสือเดินทางและใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวต้องได้รับการยินยอม หากแรงงานต่างด้าวขอคืนต้องได้คืนทันที

“ยังมีบทเฉพาะกาล ที่เดิมคำสั่ง คสช. ใน 4 มาตรา ได้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561 ซึ่งวันนี้ร่าง พ.ร.ก.นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของครม.แล้ว กว่าเข้ากระบวนการจนออกมาเป็นประกาศและมีผลบังคับใช้ จึงได้มีบทเฉพาะกาลให้ยืดการบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตรา ออกไปอีกระยะ คือ เลื่อนไปเป็น 1 กรกฎาคม 2561” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ไฟเขียว ลดภาษีนายจ้างจ่ายค่าแรง ผ่านบัตรคนจน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างที่จ่ายแก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการฯ โดยจ่ายค่าจ้างผ่านทางบัตรสวัสดิการฯ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการฯ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

“สำหรับกรณีลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ทำงานในหลายบริษัท บริษัทที่รับลูกจ้างเข้าทำงานก่อนจะเป็นผู้ได้รับสิทธิตามาตรการภาษีดังกล่าว และไม่รวมถึงการจ้างผู้มีบัตรสัวสดิการฯ ที่มีรายได้เกินกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือผู้ที่มีรายได้เกิน 100,000 บาทในปีภาษีที่ผ่านมา” นายณัฐพร กล่าว

ทั้งนี้รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 โดยกระทรวงการคลังคาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่มาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ต่อเวลาเบิกจ่าย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ SMEs

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)” โดยกำหนดการเบิกจ่ายสินเชื่อสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2560  แต่ยังคงมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 455 ราย แต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ทันตามกำหนด เนื่องจากติดเหตุขัดข้อง อาทิ อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับเครื่องจักร อยู่ระหว่างการตรวจรับและส่งมอบเครื่องจักร หรือเครื่องจักรอยู่ระหว่างการผลิต ฯลฯ โดยคิดเป็นจำนวนเงินรวม 4,956 ล้าบาท ขยายการเบิกจ่ายเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2561

อนึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้เบิกจ่ายสินเชื่อวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อต่อ ซึ่งยอดการอนุมัติสินเชื่อ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2560 สมารถอนุมัติสินเชื่อเป็นจำนวนทั้งสิ้น 29,480 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมดจำนวน 2,613 ราย และมีการเบิกจ่ายสินเชื่อไปแล้วเป็นจำนวน 24,523 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2,158 ราย

“ปูม้าพารวย”ตั้งเป้า 2 ปี ธนาคารปูฯ 500 แห่ง – มอบออมสิน ปล่อยสินเชื่อ

นายณัฐพร กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี และได้เชี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนธนาคารปูม้า – แพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ซึ่งมีการรวมกลุ่มชาวประมงทำธนาคารปูม้าได้ประสบความสำเร็จ และเนื่องจากที่ผ่านมามีการทำประมงโดยใช้ตาอวนขนาดเล็ก มีการจับปูไข่นอกกระดองทำให้จำนวนปูม้าลดลงอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนธนาคารปูม้าแหลมผักเบี้ย ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“ปูม้า 1 ตัว จะมีจำนวนไข่ราว 500,000 ฟอง หากไข่นั้นมีอัตรารอดเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับจะมีปูม้าเพิ่มอีก 500 ตัว ปูม้า 500 ตัวนี้จะมีปริมาณ 100 กิโลกรัม หากคิดเป็นเงินกิโลกรัม 500 บาท ปูที่รอดเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์จากปูเพียง 1 ตัว จะสร้างมูลค่าได้ถึง 50,000 บาท ซึ่งหากทำอย่างนี้ได้ทุกชุมชนจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล” นายณัฐพร กล่าว

ในปัจจุบันมีธนาคารปูอยู่ 191 แห่งใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลตั้งเป้าขยายผลให้ได้ 500 แห่ง และหากขยายผลให้ได้ถึง 1,000 แห่ง จะสามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 2,500 ล้านบาทต่อเดือน  โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสินเชื่อ ให้ชุมชนเพื่อเริ่มดำเนินการธนาคารปูม้าและการอนุบาลปูม้าชุมชนละประมาณ 150,000-200,000 บาท

นอกจากนี้โครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทยยังมีการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน ตั้งแต่การวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะทำการขยายผลการพัฒนาธนาคารปูม้า พร้อมทำวิจัยเพิ่มเติม อาทิ วิธีเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยปูม้าคืนสู่ทะเล กรมประมงจะเป็นผู้กำหนด และออกแบบวิธีการจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปูม้าโดยมีส่วนร่วม การส่งเสริมให้ปูม้าไทยสู่ตลาดโลกโดยผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล กรมพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความเห็นชอบพื้นที่ที่จะใช้มาตรการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จะช่วยสนับสนุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัทไปรษณีย์ไทย จะบริการนำปูม้าจากชุมชนที่มีธนาคารฯ ไปเป็นสินค้าแนะนำ และกระทรวงพาณิชย์ จะให้การสนับสนุนการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในช่องทางปกติและออนไลน์

อนุมัติงบกลาง 5,000 ล้าน หนุน สปสช.

พล.ท.สรรเสริญ กล่าววว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย ในส่วนของงบกลาง ปี 2561 จำนวน 5,186 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ  เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา การจ่ายเงินสนับสนุนของรัฐบาลที่ให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในรายการงบบริการผู้ป่วยใน ที่ยังขาดงบประมาณอีก 4,186 ล้านบาท และรายการค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขของหน่วยบริการที่อยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมว่า คนไทยพอใจกับหลักการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในขณะที่งบประมาณที่ใช้ต้องเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยจากข้อมูลพบว่าในปี 2560 มียอดการใช้งบประมาณในหลักประกันสุขภาพฯ 167,000 ล้านบาท ปี 2561 ใช้งบประมาณ 178,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านบาท ในปี 2562 ขณะที่คาดว่าในปี 2563 ต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้สูงถึง 207,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย

“หลายประเทศไปไม่รอดกับโครงการรูปแบบนี้ จึงเปลี่ยนเป็นสนับสนุนเฉพาะบางโรค บางกลุ่ม และเนื่องจากที่ผ่านมารายได้ของรัฐไม่เพิ่มขึ้นเลย นายกรัฐมนตรีจึงฝากให้เป็นข้อมูลช่วยกันศึกษา และทำความเข้าใจแก่ประชาชนว่าเราจะช่วยกันแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ได้อย่างไร ถ้าจะคิดว่าเราต้องได้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ก็ต้องย้อนไปดูว่าประเทศอื่นเขาเก็บภาษีเท่าไร แต่เวลานี้รัฐบาลก็ยังไม่มีแนวคิดจะขึ้นภาษีแต่ละประเภท” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ไฟเขียวข้อเสนอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื้อ หวังดันท่องเที่ยว

มีรายงานว่าในการประชุมวาระแรก นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) โดยมี คณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มภาคกลางตอนล่าง 2 หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายกับผู้เข้าร่วมประชุมตอนหนึ่งว่า ภาคกลางตอนล่าง 2 เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคและของประเทศ และเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าที่สำคัญโดยเฉพาะด้านประมงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการลงพื้นที่ที่ผ่านมาได้รับฟังและทราบปัญหา ความต้องการของประชาชน รวมถึงได้มีโอกาส เยี่ยมเยียนพบปะกับประชาชนและแรงงานคนไทยและแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรีเพื่อพบปะกับประชาชนอย่างทั่วถึงในการสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจต่อโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งต่อไปการเสนอขอรับงบประมาณดำเนินโครงการของประชาชน ต้องดูตามความเหมาะสม คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดต่อการใช้งบประมาณ และให้สอดคล้องกับรายได้ของประเทศด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจแและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 จำนวน 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเพชรบุรี ระยะที่ 3 ฝั่งซ้ายตั้งแต่สะพานวัดจันทราวาส อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ความยาว 250 เมตร โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ทบทวนโครงการให้เกิดความเชื่อมโยงกับแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ

2. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการฟื้นฟูป่าชายเลนงอกใหม่ ในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตก โครงการบริหารจัดการขยะจังหวัดสมุทรสาคร โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. ด้านการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และ Long stay นายกรัฐมนตรีเห็นควรให้สร้างจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่แล้วให้ขยายสู่กลุ่มจังหวัด สร้างจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวอย่างเชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดต่อไป

4. ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ประกอบด้วย โครงการนครแห่งครัวโลก โครงการยกระดับจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวร นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเรื่องโครงการนครแห่งครัวโลก โดยกำหนดความหมายให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เป้าหมายคืออะไร รวมทั้ง คำนึงถึงความต้องการของตลาดด้วย ส่วนจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวประเทศเพื่อนบ้านต้องเห็นชอบด้วย จึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนอยู่ จึงขอให้เป็นไปตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้มีอนุมัติโครงการการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ในหลายโครงการ อาทิ โครงการทางหลวงหมายเลข35 และทางเลี่ยงเมือง รวมถึงทางด่วนนครปฐม ชะอำ ที่จะให้เอกชนเข้าร่วมประมูลในเดือน มีนาคมนี้ และจะมีการขยายช่องทาง ชะอำ-ปราณบุรี และโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-หัวหิน ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565

ขณะเดียวกัน ได้มีการพิจารณาเห็นชอบในหลักการ เร่งรัดการสร้างท่าเรือเฟอรี่ข้ามอ่าวไทย จากพัทยา-เขาตะเกียบ ซึ่งจะให้เอกชนปรับปรุงท่าเรือสัตหีบและท่าเรือแหลมฉบัง-บางสะพาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรวมถึงให้ความเห็นชอบโครงการ ไทยแลนด์ ลิเวียร่า ที่จะเป็นการพัฒนาสร้างถนนสำรองเรียบพื้นที่ชายหาด ตั้งแต่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ให้เป็นถนนเลียบชายหาดเหมือนต่างประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ ให้มีการขยายขุดลอกคูคลอง จาก 10 ลบ.ม. เป็น 100 ลบ.ม. ปากแม่น้ำเพชรบุรี และสร้างเขื่อนอรก 2 แห่งเหนือแม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงจะนำโครงการพระราชดำริบำบัดน้ำเสียแหลมผักเบี้ย ไปปรับใช้พื้นที่โดยรอบด้วย