ThaiPublica > เกาะกระแส > มติครม.ตั้ง 8 คกก.ยาง นำร่องซื้อ 1 แสนตัน – วิษณุส่งการบ้านประเมิน ขรก. มีผล ต.ค. 59

มติครม.ตั้ง 8 คกก.ยาง นำร่องซื้อ 1 แสนตัน – วิษณุส่งการบ้านประเมิน ขรก. มีผล ต.ค. 59

13 มกราคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/120116_3/1201163-69360.html
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/120116_3/1201163-69360.html

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ตั้ง คกก.ยาง 8 ตำแหน่ง ยันล่าช้าไม่เกี่ยวรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความล่าช้าในการตั้งคณะกรรมการยางพาราแห่งประเทศไทย ว่าเป็นผลจากภาคการเกษตรที่ไม่สามารถตกลงเรื่องตัวแทนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการยางฯ ได้

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐ ปัญหาอยู่ที่ผู้แทนภาคการเกษตรที่ตกลงกันไม่ได้เสียที ประชุมกัน 3-4 ครั้งก็เสนอชื่อกันไม่ได้เพราะต่างคนต่างอยากเป็น ในเมื่อตั้งกรรมการไม่ได้ก็ไม่สามารถตั้งผู้ว่าการคณะกรรมการยางฯ ได้ ไม่ใช่รัฐบาลทำให้ช้า หรือดึงเรื่อง จะทำทำไม รัฐบาลต้องการลดปัญหาอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 8 คน ดังนี้

  1. พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ
  2. นายประสิทธิ์ หมีดเส็น ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง
  3. นายสังข์เวิน ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง
  4. นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง
  5. นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
  6. นายสาย อิ่นคำ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
  7. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้แทนผู้ประกอบการกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า
  8. นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสาหกรรมยาง

มาตรการรับซื้อยางนำร่อง 1 แสนตัน อัฐยายซื้อขนมยาย

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหายางพาราว่า วันนี้ตนได้สั่งการให้คณะทำงานเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่รวมตัวกันอยู่ และให้ส่งข้อเสนอแนะกลับมา ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตอนนี้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาในลักษณะ 2 ทาง 1) ช่องทางปกติของกระทรวงเกษตร 2) ช่องทางที่รัฐเข้าไปรับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกร

โดยวันนี้ที่ประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยกันถึงการรับซื้อยางจากชาวสวนยางโดยตรง ในขั้นต้น 1 แสนตัน และหากมีการนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ในส่วนของราชการที่จะรับซื้อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือน้ำยาง แผ่นยาง ไปแปรรูปต่อ ควรจะตั้งราคารับซื้อที่เท่าไร และจะมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเป็นผู้รับยางเหล่านี้ไปแปรรูป นำไปสู่การผลิตที่มากขึ้นได้ออกมา ซึ่งต้องเห็นใจรัฐด้วย หากไปรับซื้อโดยการเพิ่มราคาแล้วนำมาเก็บไว้ในคลัง ตนคิดว่าปัญหาจะเป็นเหมือนที่ผ่านมา

“ซื้อมาครั้งนี้จะไม่เอาเข้าท้องตลาด จะผลักเข้าสู่กระบวนการผลิตเลย โดยใช้แนวจากที่เคยวิจัยพัฒนามานับร้อยรายการ ซึ่งการดำเนินการอาจไม่ได้รวดเร็ว เพราะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาทดสอบ รับรองมาตรฐาน การใช้งบประมาณรัฐในการรับซื้อก็ต้องมีการแก้ระเบียบการใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวง สิ่งเหล่านี้ทำหมดแล้ว แต่ต้องใช้เวลา”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การเอายางออกจากสต็อกโดยการดำเนินการ 8 กระทรวงจะเอาออกมาเมื่อไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทำไมไม่เข้าใจ การซื้อยางจะซื้อยางดิบ ยางแผ่น ขี้ยางก้นถ้วย หรืออะไรก็ตาม จะซื้อมาตามราคาที่ควรจะซื้อแต่ให้สูงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ เสร็จแล้วจะนำไปส่งโรงงานแปรรูป โดยให้เขาผลิตไปก่อน เมื่อขายของได้จึงหักลบกับค่ายางที่รัฐซื้อมาป้อนให้แก่โรงงาน ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กลับไปรับซื้อสินค้าแปรรูปเหล่านั้นโดยใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวง อาทิ หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ซึ่งมีบัญชีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตามที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รวบรวมไว้

“ฉะนั้น เราจะซื้อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปใช้ในหน่วยงานราชการ เช่น เป็นไปได้ไหมที่จะนำที่นอนยางพาราไปให้แก่หน่วยงานที่ต้องใช้ ให้ทหารได้ไหม ที่นอนที่ต้องแจกเขาอยู่แล้ว เป็นการนำงบประมาณมาสนับสนุนกันเอง อัฐยายซื้อขนมยาย ไม่ใช่แต่อุดหนุนราคาแล้วไม่ทำอะไร มันก็อยู่ในคลัง 3 แสนกว่าตันก็ต้องดูอีกว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ตอนนี้ก็ต้องเก็บไปก่อน (dead rubber)” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามต่อไปว่ายาง 1 แสนตันที่รัฐจะรับซื้อเป็นยางใหม่ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวเสียงดังขึ้นเล็กน้อยว่าเป็นยางใหม่ ไปซื้อกับเกษตรกรโดยตรง ไม่ได้ซื้อจากสหกรณ์ ราคาที่จะซื้อเท่าไรยังไม่รู้ ต้องไปคุยกันต่อ

เมื่อถามว่า ต้องตามราคาตลาดหรือมีการกำหนดเป้าหมายราคาชี้นำไว้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คุณก็เสนอมาสิ ว่าจะเท่าไร จะให้ผมกำหนดก็ต้องดูว่างบประมาณมีเท่าไร รัฐมีเท่าไร พลังการผลิตมีเท่าไร ยากที่ซื้อในตอนนี้เพื่อบรรเทาปัญหาราคายางเท่านั้น มีระยะเวลาซื้อแค่ 3 เดือนก่อนการปิดกรีด ช่วงนี้ก็แค่พอให้เขาอยู่ได้

เมื่อถามว่าราคาที่ซื้อจะไม่นำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาดใช่ไหม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อะไรคือการบิดเบือนกลไก แล้วทำไมตอนรัฐบาลที่ผ่านมาตั้งราคาสูงในการรับซื้อข้าวทำไมคุณไม่ไปว่าเขา บอกเขาไหมว่า 15,000 บาทไม่เหมาะสม ผมกำลังทำสิ่งที่ชัดเจนคุณมาไล่ผม

“ราคาซื้อก็มากกว่าที่ตลาดมีอยู่ แต่เท่าไรยังไม่รู้เดี๋ยวมาคุยกันดู มันต้องเป็นการสมยอมระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ใช่ผมไปบังคับส่งเดช เดี๋ยวคุณก็บอกว่าผมไปแทรกแซงอีก เขาคุยกันอยู่ เดี๋ยวรอเขาไปพูด เอางบประมาณภายในไปทำกันก่อน ไม่ใช่มาของบประมาณเพิ่ม ท่านก็บอกให้ผมเอายางไปทำถนน แล้วก็มาบอกว่าการทำถนนเอายางไปใช้ประโยชน์ได้น้อย และบอกให้ใช้งบน้อย แล้วจะให้ผมทำยังไง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

คสช. – มท. – คลัง ผนึกกำลังกำหนดราคายาง

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การรับซื้อจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อตกลงเรื่องราคารับซื้อยางกับเกษตรกรว่า จะเป็นกิโลกรัมละเท่าไหร่ อาจจะให้ คสช. เข้าไปช่วยดำเนินการ โดยร่วมมือกับสหกรณ์ในพื้นที่ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง

สำหรับกระแสข่าวมีการควบคุมแกนนำผู้ชุมนุมชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ 50 คน มาปรับทัศนคติ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี ส่วนตัวดีใจที่ตอนนี้ประชาชนมีความเข้าใจ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะมากขึ้น แกนนำมีการขออนุญาตก่อนชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือที่ จ.ตรัง ขณะเดียวกันต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่สร้างความรับรู้ให้กับประชาชนเป็นอย่างดี แบบนี้ก็จะคุยกันได้

ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณที่ต้องใช้ในการเข้าไปรับซื้อยางพารา แต่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลความต้องการยางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และนำเสนอข้อมูลความต้องการใช้ยางและงบประมาณที่ต้องใช้มายังคณะรัฐมนตรีเร็วที่สุด ซึ่งในการหารือนี้จะไม่ได้เป็นการหารือเฉพาะ 8 กระทรวง แต่จะเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถใช้ยางพาราในงานของกระทรวงได้ทั้งหมด

ยันคอคอดกระ “ยังไม่ทำตอนนี้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นปูคอคอดกระ เรื่องดังกล่าวต้องมีการศึกษาข้อดีข้อเสียอีกมาก ตอนนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนมากกว่า ตนไม่ได้ปฏิเสธว่าดี หรือไม่ดี โครงการเหล่านี้มีการวางแผนทุกอย่างแต่ถามว่าจะนำเงินมาจากที่ไหน

“เงินน่ะมีไหม ศึกษาก็ศึกษาไป ใครอยากทำก็ไปเร่งรัฐบาลหน้า ผมยังไม่ทำตอนนี้ งานอื่นยังอีกมาก” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ ปัดข้อเสนอมาราปัตตานี ชี้หลักการแก้ไขมีหมดแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่นายอิยาด อามีน มาดานิ (Iyad Ameen Madani) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เข้าหารือในเย็นวันที่ 12 มกราคม 2559 ว่า การพูดคุยบางเรื่องไม่จำเป็นต้องมาเปิดเผย แต่การพูดคุยในวันนี้คงอยู่ในประเด็นความคืบหน้าและความจริงใจของรัฐในการแก้ไขปัญหาของประชาชน การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ดูแลชีวิตทรัพย์สิน และการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากกลุ่มมาราปาตานีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่รับข้อเสนอใดๆ ทุกอย่างมีความละเอียดอ่อน อ่อนไหว จะต้องดูก่อน เพราะถ้าจริงใจในการแก้ปัญหาจนส่งผลให้มีความก้าวหน้า อะไรก็สามารถพูดได้

“ผมมีหลักการอยู่ในหัวอยู่แล้ว ใครไม่มีหลักการก็อย่ามาพูดกับผม เรื่องนี้ทำตามความชอบใจได้เมื่อไหร่ ชีวิตคนตายไปเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ตายไป ใช้เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้มค่ากับคนตายหรอก ใครอยากให้ทหารไปอยู่ชายแดนนานๆ กี่ปีแล้วอยู่อย่างนั้น คิดว่าชอบหรืออย่างไร ถ้าเขาไม่ไปก็มีปัญหาอีก นี่เขาไปถือว่าเก่งแล้วนะ เบี้ยเลี้ยงก็เท่ากัน โอทีก็ไม่มี” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

นอกจากนี้ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงมติที่ประชุม ครม. ที่สำคัญ ดังนี้

ก.พาณิชย์ระดม 3 มาตรการ แจกข้าวถุง – มหกรรมธงฟ้า

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้แก่

  1. โครงการข้าวสารบรรจุถุงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ตกลงกับสมาคมผู้ประกอบการข้าว ทำข้าวสารบรรจุถุงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ 68 จังหวัด จำนวน 802,863 ครัวเรือน จำนวน 4,014,315 ถุง ภายใน 3 เดือน ระหว่างมกราคม-มีนาคม 2559 ภายใต้กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท
  2. โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางพารา ปี 2559 โดยให้กรมการค้าภายในจัดมหกรรมธงฟ้า จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 20-40% ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 159 อำเภอ ภายในเวลา 3 เดือน ระหว่างมกราคม-มีนาคม 2559 ในกรอบวงเงิน 17 ล้านบาท จากงบประมาณโครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชนปี 2559 ของกรมการค้าภายใน
  3. แผนส่งเสริมการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะดำเนินกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ ร่วมงานแสดงสินค้า จัดคณะผู้แทนการค้าเยือนประเทศคู่ค้า รวมทั้งสิ้น 6 โครงการมีมูลค่าการขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 1,009.52 ล้านเหรียญสหรัฐ (36,342.72 ล้านบาท) แบ่งเป็นยางพาราธรรมชาติ 585,450 ตัน มูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลิตภัณฑ์ยาง 40.04 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ในปี 2559 กรมการค้าระหว่างประเทศมีแผนส่งเสริมการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งจัดคณะผู้ซื้อจากต่างประเทศมาประเทศไทย เริ่มจากผู้นำเข้ายางพาราจากกัมพูชามาเจรจาการค้า ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24-27 มกราคม 2559 และมีกำหนดจะนำผู้ประกอบการไทย 96 บริษัท เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ 4 ครั้ง ในไต้หวัน อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยอรมนี และนำคณะผู้แทนการค้าไทย 100 บริษัทไปเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ ณ ประเทศ อิหร่าน เม็กซิโก ปานามา โคลอมเบีย แอฟริกาใต้ เคนยา และแทนซาเนีย” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

จับมือ สหประชาชาติ ให้ทุน SMEs คิดค้นเทคโนโลยีสะอาด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: องค์การยูนิโด)

โดยวัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้ริเริ่มธุรกิจ (startup) ที่คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดของไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระดับระหว่างประเทศ เช่น Venture Capitals และ Angels Network สำหรับใช้ในการขยายขีดความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับตลาดโลกใน 4 สาขา ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ของเสียเป็นพลังงาน และพลังหมุนเวียน โดยแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในโครงการจะใช้รูปแบบของ Cleantech Open ใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา

“โครงการนี้ได้รับการอนุมัติสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมาตั้งแต่ปี 2557 มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังสมทบงบดำเนินการที่ไม่อยู่ในรูปเงินสดจำนวน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เตรียมตั้งผู้ช่วยโฆษกฯ สร้างความเข้าใจให้สังคม

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติแต่งตั้งตำแหน่งเบื้องต้นคือผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ราย ได้แก่ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และพ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ เพื่อชี้แจงหลายนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ และตอบคำถามของสื่อมวลชน

“เนื่องจากที่ผ่านมา กรณีประกาศรายชื่อคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา (ประชารัฐ) ที่มีรายชื่อกลุ่มเอกชนอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะเข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยเหลือและสนับสนุนการทำธุรกิจของประชาชน ซึ่งในสังคมออนไลน์ได้นำเสนอรายชื่อดังกล่าว และตีความว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังอุ้มชูเจ้าสัว ตรงนี้จะต้องมีการชี้แจงให้มากขึ้นถึงเป้าหมายของรัฐบาล” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

สมคิด ชง 4 มาตรการ ส่งเสริมเศรษฐกิจ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เสนอแผนรูปธรรมในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจภายในประเทศ 4 ด้าน ซึ่งจะมีผลในเร็วๆ นี้ ได้แก่ 1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท 2. โครงการ “1 ตำบล 1 SME” โดยหามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศ และขยายระดับเป็น Thailand Startup ต่อไป โดยการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร ดิจิทัล เทคโนโลยี และธุรกิจบริการ เพื่อจัดตั้งเป็น National Startup Center เชื่อมโยงบัญชีนวัตกรรมที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวงและจดทะเบียน Startup ทั้งหมด 3. ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กำลังพิจารณาหามาตรการจูงใจ 4. การสร้างตลาดกลางสินค้าการเกษตร

ประเมินข้าราชการ ส่งผล ต.ค. นี้

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้ส่งการบ้านที่นายกรัฐมนตรีสั่งไปก่อนสิ้นปี 2558 เรื่องการประเมินการทำงานข้าราชการ โดยเริ่มในเดือนเมษายน 2559 และจะมีผลในเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยได้สั่งหารือส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้แก่ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ

“การประเมินครั้งนี้ไม่ได้ประเมินเพียงข้าราชการเท่านั้น แต่จะประเมินผู้นำองค์กรของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ผู้บริหารระดับท้องถิ่น ทูตตามสถานทูตต่างๆ ที่มีระดับตั้งแต่ซี 10-11 ขึ้นไป ส่วนซีที่ต่ำกว่านี้จะให้ปลัดเป็นผู้ประเมินตามกรอบการประเมินผลส่วนกลาง เพื่อให้ข้าราชการตื่นตัวในการทำงานอย่างเต็มที่ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลจะดูทั้งงานราชการปกติ และงานวาระพิเศษที่รัฐบาลมอบหมาย หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจดูการประเมินต่อไป” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมีมติเห็นชอบกรณีการให้สิทธิพิเศษในการให้บริการทางวิชาการและการวิจัย ตามที่สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญในการที่ สวทช. จะให้บริการด้านงานวิจัย หรือการรับเป็นที่ปรึกษาให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการต่างๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการยื่นซองประมูลเหมือนที่ผ่านมา

แก้กม.ค้ามนุษย์ ใช้ระบบไต่สวน – คดีไม่หมดอายุความ-ห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ทำงาน ปิดแล้ว 5 โรงงาน

นอกจากนี้ พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. …. ตามรายงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องด้านกระบวนการยุติธรรมในคดีค้ามนุษย์ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการต่อไป โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอาทิ

– กำหนดวิธีพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ให้ใช้ระบบไต่สวน จากเดิมใช้ระบบกล่าวหา

– กำหนดให้ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ. นี้ ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างการพิจารณาคดี จะไม่นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

– กำหนดให้จัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ขึ้นในศาลอุทธรณ์

– กำหนดให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นต้นในคดีค้ามนุษย์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์

– กำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจรับฎีกาเมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้ามมิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ ห้ามมิให้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสถานที่ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น อันหมายถึง การล้าง ชำแหละ แกะ ต้ม นึ่ง ทอด หรือบดสัตว์น้ำ และการแปรรูปสัตว์น้ำหมายความว่า การเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำเพื่อใช้อุปโภคหรือบริโภค ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการบรรจุหีบห่อสัตว์น้ำที่ไม่เปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำเพื่อบริการแก่ผู้บริโภคโดยตรง

นอกจากนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้รายงานในที่ประชุม ครม. ว่าได้แก้ไขปัญหาเรื่องประมงผิดกฎหมายในแต่ละด้าน เช่น กฎหมายและเอกสารสำคัญ การพัฒนาระบบควบคุมเฝ้าระวัง ก้าวหน้าไปแล้ว 93% สำหรับเรื่องเรือ 60 ตันกรอส จำนวน 2,000 กว่าลำ

“มีการตรวจสอบหลังจากการตรวจสอบไปแล้ว 100 กว่าโรงงาน พบโรงงานผิดกฎหมาย 5 โรงงาน และได้ดำเนินการสั่งปิดโรงงานเหล่านั้นแล้ว ตามการกำหนดมาตรการลงโทษที่เคร่งครัด อีกทั้งยังมีบทลงโทษทางวินัยสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผิดกฎหมายนั้น” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ออกมาตรการฟื้นฟู ดูแลฯ คนพ้นโทษ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในวันสำคัญของบุคคลในราชวงศ์ อาทิ วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีการพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษ และในแต่ละปีมีผู้พ้นโทษกว่า 10,000 ราย ทำให้สังคมเกิดความกังวล วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการติดตามดูแลคนทำผิดในสังคม โดยกระทรวงยุติธรรมได้ออกมาตรการการแก้ไขฟื้นฟู ติดตาม ดูแล ช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้กระทำความผิด โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อบูรณาการการแก้ไข ฟื้นฟู ติดตามดูแล ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคม เป็นต้น และได้กำหนดมาตรการออกมาดังนี้ 1. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และฟื้นฟูผู้กระทำผิด 2. ช่วยเหลือ สร้างงานอาชีพ 3. นำชุมชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการดูแลผู้กระทำผิด

ปรับ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็ชอบในการปรับแก้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้องค์กรของรัฐหรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ เก็บ ขน กำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้การควบคุมดูแลของราชการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศ และกำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการคัดแยก เก็บ ขน กำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และกำหนดห้ามมิให้มีผู้ใดดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน กำจัด หรือหาประโยชน์จากการกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่น รวมทั้งมีการกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืน

ตั้งอธิบดีกรมการท่องเที่ยว – ผู้ว่าการทางฯ คนใหม่

รายงานเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาลว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอนว่าที่ร้อยตรี อานุภาพ เกษรสุวรรณ์ เป็นอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558

นอกจากนี้ ได้มีการแต่งตั้งนายณรงค์ เขียดเดช ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 320,000 บาท ตามมติคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย