ThaiPublica > เกาะกระแส > ฮ่องกง “เมืองศูนย์การค้า” ต้องคิดใหม่ทำใหม่เมื่อ “การอพยพเชิงชอปปิ้ง” หันไปที่เสิ่นเจิ้นแทน

ฮ่องกง “เมืองศูนย์การค้า” ต้องคิดใหม่ทำใหม่เมื่อ “การอพยพเชิงชอปปิ้ง” หันไปที่เสิ่นเจิ้นแทน

28 กุมภาพันธ์ 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

แหล่งชอปปิ้ง ฮ่องกงที่มาภาพ : https://th.hotels.com/go/hong-kong/best-hong-kong-shopping-malls

ฮ่องกงเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภค เป็นมหานครของชอปปิ้งมอลล์ เฉลี่ยมีศูนย์การค้า 1 แห่ง ในทุกพื้นที่หนึ่งตารางไมล์ เป็นเมืองที่มีแหล่งชอบปิ้งหนาแน่นที่สุดของโลก สิ่งนี้แสดงว่า การค้าปลีกและค้าส่งคือ หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจฮ่องกง คนฮ่องกง 1 ใน 4 ทำงานในธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่ง เทียบกับนิวยอร์กสัดส่วนอยู่ที่ 1 ใน 9

แค่การไปชอปปิ้งอย่างเดียวก็เป็นเหตุผลพอแล้ว ที่จะไปเที่ยวฮ่องกง นับเป็นเวลาหลายสิบปี ฮ่องกงมีชื่อเสียงว่าเป็น “สวรรค์การชอปปิ้งของเอเชีย” การเป็นเมืองปลอดภาษี ทำให้บรรดาสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำของโลก มองฮ่องกงเป็นพื้นที่การขาย ที่เปรียบเหมือนเรือที่เป็นธงนำ

แต่ฮ่องกงก็เป็นพื้นที่ค้าปลีก ที่ค่าเช่าแพงที่สุดของโลก ตัวเลขปี 2013 ค่าเช่าในชอปปิ้งมอลระดับแพงที่สุด มีราคาเฉลี่ยปีละ 4,328 ดอลลาร์ต่อตารางฟุต แพงเป็นสองเท่าของค่าเช่าในทำเลของถนนสายที่ 5 ของนิวยอร์ก และสูงกว่า 4 เท่าของค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกที่ราคาแพง ของปารีสและลอนดอน

เมืองที่ชอปปิ้งมอลล์เป็นศูนย์กลาง

หนังสือ Mall City กล่าวว่า หากนิวยอร์กมีตึกสูงระฟ้าเป็นจุดพื้นฐานการพัฒนาเมือง ฮ่องกงก็มีชอปปิ้งมอลที่มีฐานะดังกล่าว แต่ฮ่องกงก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงเช่นเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมคือ ภูเขาบนเกาะที่ให้ภาพมุมกว้างของตึกสูงหลายร้อยแห่ง และการแสดงแสงไฟยามค่ำคืนที่เรียกว่า “ดนตรีประสานเสียงของแสงไฟ” (symphony of lights)

ป่าคอนกรีตของฮ่องกง ที่ประกอบด้วยชอปปิ้งมอลล์และตึกระฟ้า ต่างก็สนับสนุนกันและกัน ชอปปิ้งมอลล์ในฮ่องกงไม่ได้แยกออกไปตั้งอยู่โดดเดี่ยว แต่จะอยู่ติดกับตึกที่พักอาศัย จุดเชื่อมต่อการเดินทาง อาคารชั้นล่างของโรงแรม หรือสำนักงาน ชอปปิ้งมอลล์จึงเป็นจุดพื้นฐานการพัฒนาเมืองของฮ่องกง เหมือนอาคารสูงคือจุดพื้นฐานของนิวยอร์ก

รูปแบบการพัฒนาเมืองของฮ่องกงดังกล่าว ทำให้ในแต่ละวัน คนจำนวนนับล้านคนเดินเข้าไปในชอปปิ้งมอลล์ ไม่ใช่การตัดสินใจของคนทั้งหลายที่จะเข้าไปซื้อสินค้าใดหนึ่ง แต่กลายเป็นชีวิตปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ห้องพักที่แคบ อากาศร้อนในฤดูร้อน ทำให้คนนิยมเข้าไปชอปปิ้งมอลล์ ที่มีพื้นที่กว้างและอากาศเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

ที่มาภาพ : https://www.stefanal.com/mall-city

การชอปปิ้งในฮ่องกงเป็นกิจกรรม ที่ไม่มีข้อสดุดหรือรอยต่อ เมื่อก้าวออกจากรถไฟใต้ดิน ก็สามารถเดินตรงไปที่ศูนย์การค้าได้เลย ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างศูนย์การค้าต่างๆ ทำให้คนเดินถนนสามารถชอปปิ้งได้ต่อเนื่อง

ปี 1966 มีการสร้างชอปปิ้งมอลล์แห่งแรก เรียกว่า Ocean Terminal สำหนับนักท่องเที่ยวโดยตรง คนฮ่องกงเองไม่ได้เข้าชอปปิ้งที่ Ocean Terminal หลังจากจีนเปิดประเทศในปี 1978 คนฮ่องกงมีฐานะเป็นนักบริโภคเต็มตัว เศรษฐกิจยกระดับจากการประกอบการผลิต มาสู่การให้บริการแก่จีนแผ่นดินใหญ่ ในด้านการค้าและการเงิน

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษ 21 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาฮ่องกงอย่างท่วมท้น แต่มีจำนวนมากเดินทางไปกลับในวันเดียว ปี 2012 นักท่องเที่ยวจีนมาฮ่องกง 35 ล้านคน จำนวนนี้ 20 ล้านคนมาแล้วกลับในวันเดียว ปี 2018 คนจีนมาเยือนฮ่องกง 51 ล้านคน หรือ 7 เท่าของประชากรฮ่องกง มาในปี 2023 เหลือแค่ 26 ล้านคน

แต่อาจถึงเวลาแล้ว ที่ชอปปิ้งมอลล์ของฮ่องกงต้องปรับตัว นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีน ได้เอาแบบอย่าง “เมืองชอปปิ้งมอลล์ของฮ่องกง” ไปพัฒนาตามเมืองต่างๆของจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่จำเป็นต้องมาชอปปิ้งที่ศูนย์การค้าของฮ่องกงอีกแล้ว เพราะคนจีนสามารถหาซื้อของต่างๆ และมีประสบการณ์เข้าศูนย์การค้า ได้ที่เมืองของตัวเอง

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Hong_Kong#/media/File:Hong_Kong_Skyline_view_from_the_peak_2017.jpg

การอพยพเชิงการชอปปิ้ง

ส่วนบทความของ The New York Times เรื่อง Spicy Food and Dental Implants: Low Prices Lure Hong Kongers to China บอกว่า นับจากมกราคม 2023 ที่จีนเปิดพรมแดน หลังจากปิดประเทศมาหลายปี จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนฮ่องกงทำให้เสิ่นเจิ้นกลายเป็นจุดปลายทางของวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อไปชอปปิ้ง ทานอาหาร และฝังรากฟันเทียม

คนฮ่องกงเริ่มเบื่อหน่ายกับสภาพในฮ่องกง ที่ค่าครองชีพที่แพงขึ้น การบริการที่คุณภาพลดลง ทำให้หันไปใช้จ่ายเงินซื้อของต่างๆที่เสิ่นเจิ้นแทน ฮ่องกงเป็นหนึ่งในเมืองที่ค่าใช้จ่ายแพงที่สุดของโลก เศรษฐกิจประสบปัญหา และตลาดหุ้นตกต่ำ ทำให้คนฮ่องกงระมัดระวังการจ่ายเงินมากขึ้น

ส่วนจีน ประสบปัญหาเศรษฐกิจอ่อนตัว ทำให้ราคาสินค้าลดลง เรียกว่าภาวะเงินฝืด คนฮ่องกงกลีบมีกำลังซื้อมากขึ้น เพราะเงินดอลลาร์ฮ่องกงผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีค่าแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินหยวน ราคาสินค้าที่เสิ่นเจิ้นจึงสามารถซื้อได้มากขึ้นจากดอลลาร์ฮ่องกง

ความนิยมของคนฮ่องกงที่เดินทางไปเสิ่นเจิ้น ถือเป็นการหักมุมอย่างสิ้นเชิงของ “การอพยพเชิงการชอปปิ้ง” (shopping migration) จากเดิมที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาฮ่องกง เพื่อซื้อสินค้าเช่น กระเป๋าแบรนด์เนม อาหารเด็ก แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนอ่อนตัว คนฮ่องกงยิ่งได้ประโยชน์จากราคาสินค้าในจีนที่ลดลง สิ่งที่ต้องทำมีแค่การนั่งรถไฟใต้ดินข้ามพรมแดน ที่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

ในโซเชียลมีเดีย คนฮ่องกงเป็นหลายแสนคนเขียนถึงอาหารต่างๆในเสิ่นเจิ้น ให้ข้อมูลร้านอาหาร บริษัททัวร์ ที่ครั้งหนึ่งเน้นการจัดโปรแกรมทัวร์ไปเที่ยวญี่ปุ่นและประเทศไทย ก็หันมาจัดรถทัวร์ พาคนฮ่องกงไปชอปปิ้งที่ศูนย์การค้าในเสิ่นเจิ้น ในช่วงสุดสัปดาห์ มีคนฮ่องกงในเสิ่นเจิ้นจำนวนมาก จนคนจีนท้องถิ่นบอกว่า พวกนี้เข้ามายึดศูนย์การค้าไปแล้ว

เมืองเสิ่นเจิ้น ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Shenzhen#/media/File:Lo_Wu_District_201701.jpg

ตำนานสองนคร

ส่วนบทความของ cnn.com เขียนถึงกับเรื่องราว ระหว่างฮ่องกงกับเสิ่นเจิ้น ไว้ว่า ปี 2018 มีความหมายสำคัญ ไม่เพียงแต่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมฮ่องกงกับเสิ่นเจิ้น เปิดดำเนินงาน ที่รับส่งนักชอปปิ้งระหว่างสองเมืองนี้ แต่เป็นปีที่ เศรษฐกิจเสิ่นเจิ้นมีมูลค่าก้าวล้ำหน้าฮ่องกง ซึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ไม่มีใครคาดคิดจะเป็นแบบนี้

เมล็ดพันธุ์การเติบโตของเสิ่นเจิ้นเริ่มขึ้นในปี 1980 เมื่อจีนกำหนดให้เสิ่นเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก ในเวลานั้น เสิ่นเจิ้น ที่ครั้งหนึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมง มีประชากรแสนกว่าคน ทุกวันนี้ มีประชากร 13 ล้านคน เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทไฮเทคของจีน เช่น Huawei และ Tencent รวมทั้ง BYD

นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารการลงทุนฝรั่งเศส Natixis ประมาณการณ์ว่า ในปี 2023 คนฮ่องกงใช้จ่ายเงินราวๆ 8.5 พันล้านดอลลาร์ในเสิ่นเจิ้นและเมืองทางใต้ของจีน ทำให้มีเงินเหลือน้อยลง ที่จะอัดฉีดให้กับร้านค้าต่างๆในฮ่องกง ทำให้ธุรกิจในฮ่องกงมีปัญหายากลำบาก ที่จะอยู่รอด

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

ส่วนทางการจีนมองว่า การอพยพเชิงชอปปิ้งของคนฮ่องกงมาเสิ่นเจิ้น สะท้อนการบูรณาการของฮ่องกงกับจีน ที่เกิดรวดเร็วขึ้น การบูรณาการเศรษฐกิจนี้ครอบคลุม “พื้นที่อ่าว กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก้า” ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2035

แต่ Steve Tsang ผู้อำนวยการสถาบันจีน มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้ความเห็นว่า แผนบูรณาการพื้นที่ดังกล่าวของจีน ที่เรียกว่า Greater Bay Area จะทำให้เสิ่นเจิ้นมีบทบาทนำเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าฮ่องกงจะชอบหรือไม่ก็ตาม

เอกสารประกอบ
Spicy Food and Dental Implants: Low Prices Lure Hong Kongers to China, February 20, 2024, nytimes.com
Chinese used to escape to this former British colony, February 24, 2024, cnn.com
Mall City: Hong Kong ‘s Dreamworlds of Consumption, University of Hawai’i Press, 2016.