ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ทิศทางธุรกิจปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก

ทิศทางธุรกิจปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก

28 กุมภาพันธ์ 2024


กฤษฎา บุญชัย

กระแสสีเขียว หรือการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีจุดเริ่มจากขบวนการชุมชนท้องถิ่นที่ปกป้องนิเวศ ดิน น้ำ ป่า ทะเล ฯลฯ และประชาสังคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากว่า 30 ปี ต้องต่อสู้กับนโยบาย โครงการพัฒนาจากรัฐและธุรกิจที่ทำลายนิเวศ ตั้งแต่การสัมปทานไม้ ทำเหมืองแร่ การสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า ขุดเจาะน้ำมัน พัฒนาอุตสาหกรรมทั้งทางบกและทะเล ที่บริโภคทรัพยากรมหาศาลและปล่อยมลพิษรุนแรงสั่งสมต่อเนื่อง ส่งเสริมพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยวที่ทำลายผืนป่าไปค่อนประเทศ ทำประมงพาณิชย์จนทะเลเสื่อมโทรม

ชนเผ่า ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ปกป้องธรรมชาติเพราะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งชีวิตและจิตวิญญาณ เราจึงเห็นชุมชนหลายแห่งในภาคเหนือคัดค้านการทำไม้ในพื้นที่ตัวเองตั้งแต่ยุคสัมปทานไม้ยังรุ่งเรือง และผลักดันวิถีวัฒนธรรมป่าชุมชนให้รัฐรับเป็นนโยบายและกฎหมาย เราได้เห็นชาวบ้านตามสายน้ำต่อต้านเขื่อนที่ทำลายนิเวศ และเสนอการจัดการน้ำขนาดเล็กที่ไม่กระทบนิเวศ เราได้เห็นเกษตรกรที่ทนไม่ไหวต่อปัญหาสารเคมีการเกษตรและทำพืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้ผืนดิน สายน้ำ และอาหารปนเปื้อนมลพิษ และพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามฐานวัฒนธรรมพื้นบ้านผสานความรู้สมัยใหม่ และต่อสู้ไม่ให้เกิดโครงการต่างๆ ประดามี ที่ย่ำยีธรรมชาติและละเมิดสิทธิชุมชนในการดำรงชีพและดูแลรักษานิเวศ

พลังของชุมชนส่งต่อไปยังประชาชนในเมือง เกิดกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจอาหารปลอดภัย อาหารอินทรีย์ เกิดเป็นตลาดสีเขียวที่จัดสรรอาหารและสิ่งของจากการดูแลธรรมชาติโดยชุมชนให้คนเมืองบริโภค เกิดพลเมืองคนในเมืองที่ห่วงใยผืนป่า แม่น้ำ ทะเล และสรรพชีวิต เริ่มตื่นตัวตรวจสอบนโยบาย โครงการต่างๆ ที่กระทบต่อธรรมชาติ แต่ก็มีหลายกรณีที่คนชั้นกลางซึ่งเข้าใจธรรมชาติในแง่สุนทรียะและบริการนิเวศที่เมืองได้รับ แต่ไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานชีวิตของชุมชน ทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่น รัฐที่เพ่งโทษไปยังชาวบ้านว่าทำลายป่าต้องให้ไล่ชุมชนออกจากป่า โทษชาวบ้านจุดไฟเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่ว่าเป็นสาเหตุฝุ่นควัน แม้จะจัดการไฟอย่างดีเพียงใดก็ตาม และเรียกร้องให้ยุติการเผาเด็ดขาด โดยไม่สนใจความเดือดร้อน และไม่รับฟังสาเหตุของการเผาที่โยงใยกับระบบตลาด การลงทุนของเอกชน แต่กลับลืมฝุ่นควันที่มาจากคมนาคม ขนส่ง การผลิตพลังงานอุตสาหกรรม

ปัญหาความขัดแย้งก็คลี่คลายไปบ้าง เมื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับคนเมือง กระแสแนวคิดเรื่องคนกับป่า อันหมายถึงชุมชนกับป่าได้พัฒนาจากวาทกรรมรองกลายเป็นวาทกรรมหลัก แนวนโยบายสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เกษตรเคมีไม่ได้รับการยอมรับในกระแสสาธารณะ แม้ในระบบเศรษฐกิจยังเป็นฐานการผลิตหลักก็ตาม

ขบวนการชายขอบจากผืนป่า จากชนบท ยังได้เชื่อมมาถึงคนจนในเมืองที่ถูกแวดล้อมด้วยมลพิษ ขาดทรัพยากร ขาดความมั่นคงอาหาร กระทบต่อสุขภาพและชีวิต ดังเช่นสถานการณ์โควิดที่คนจนเมืองไม่มั่นคงด้านอาหาร หรือกรณีภัยพิบัติประชาชนขาดแคลนอาหาร มีหลายชุมชนที่ผลิตอาหารอินทรีย์ส่งให้คนจนเมืองได้ยังชีพ

ประสบการณ์และบทเรียนจากการปกป้องดูแลนิเวศของชนพื้นเมือง ชุมชน ประชาสังคม และคนเมืองทั่วโลก ได้ถูกกลั่นเป็นนโยบาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เริ่มจากการยอมรับขีดจำกัดทางนิเวศที่การพัฒนาใดๆ จะละเมิดขีดจำกัดไม่ได้ เกิดเป็นแนวคิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนด้านนิเวศ สิ่งแวดล้อม แนวคิดความเป็นธรรมทางนิเวศ ทั้งหมดนี้ถูกแปลงเป็นเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และอื่นๆ ฐานคิดทางนโยบายเหล่านี้ไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ จากการคิดค้นของรัฐ การสร้างสรรค์ของธุรกิจ แต่มาจากการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจนำไปใช้อ้างอิงในการพัฒนา การทำกิจกรรมเศรษฐกิจสีเขียวในระยะหลัง

จนถึงบัดนี้ แรงกดดันจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะที่กระจายทุกระบบนิเวศที่สร้างหายนะต่อโลก ได้ทำให้โครงสร้างส่วนบนทั้งรัฐ ทุนขนาดใหญ่ ต้องตอบคำถามต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จากเสียงของคนชายขอบกลายเป็นนโยบายระดับโลก ทุกประเทศทุกภาคีต้องลดการใช้ฟอสซิลเพื่อคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา ต้องร่วมปกป้องคุ้มครองและเพิ่มพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพทางบกและทะเลให้ได้ร้อยละ 30 ต้องมีระบบตรวจสอบข้อมูลการมี เคลื่อนย้าย ปล่อยสารเคมีที่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอื่นๆ

ความตื่นตัวของภาคเอกชนมีความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม ดังเช่น กระแสท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้ช่วยหนุนเสริมการจัดการขยะ การใช้ทรัพยากรของพื้นที่ท่องเที่ยว และหลายกรณีได้หนุนเสริมชุมชน กระแสบริโภคอาหารอินทรีย์ได้ช่วยลดผลกระทบสารเคมีต่อนิเวศและสุขภาพของเกษตรกร และยังสร้างตลาด รายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตอาหารด้วยความรักและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กระแสพลังงานหมุนเวียนที่ภาคเอกชนสนับสนุนจะเป็นโอกาสการพึ่งตนเองด้านพลังงานของชุมชน และเป็นทางเลือกประชาชนที่จะเลือกใช้พลังงานที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

หากแต่กระแสทั้งหมดนี้ต้องไม่ลืมรากฐานของปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุของหายนะด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สนใจขีดจำกัดทางธรรมชาติ การรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจจัดการนิเวศ สิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิในนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจฐานทรัพยากรของชุมชน

แต่ดูเหมือนกระแสสิ่งแวดล้อมที่กำลังแพร่หลายในภาคธุรกิจ ยังไปไม่ถึงแก่นสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การอ้างอิงตัวชี้วัด SDG มาตรฐานธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล (ESG) และอื่นๆ อีกมากมาย ได้ลบเลือนและลดทอนแก่นสารสำคัญไปอย่างแนวคิดขีดจำกัดทางนิเวศ ที่เป็นตัวกำกับไม่ให้เศรษฐกิจโตไปกว่านี้ และอาจต้องลดการเติบโตในภาคส่วนที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แนวคิดการเติบโตสีเขียวยังคงมุ่งหวังให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป ทว่าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีและกลไกตลาด โดยเชื่อว่าจะสามารถตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

แต่ถึงกระนั้น เศรษฐกิจสีเขียวก็กระตุ้นการบริโภครอบใหม่อย่างมหาศาล การใช้ทรัพยากร ภาระทางนิเวศกลับยิ่งรุนแรงขึ้น ตราบใดที่เศรษฐกิจยังมุ่งเติบโตมากกว่าสร้างสมดุลกับนิเวศ

หลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง ที่เป็นหลักการสำคัญในข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอื่นๆ หลักดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าใครมีกำลังจัดการสิ่งแวดล้อมเท่าไรก็ทำเท่านั้น แต่หมายถึงใครสร้างปัญหานิเวศและสิ่งแวดล้อมมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็ต้องรับผิดชอบในการฟื้นฟูนิเวศและธรรมชาติมากเท่ากับการสร้างปัญหา

การที่หลายธุรกิจประกาศนโยบายสีเขียว เช่น ไม่รับซื้อผลผลิตการเกษตรจากการเผาไร่ เผาป่า แต่ลืมไปแล้วหรือว่ากลไกตลาดพืชพาณิชย์ที่กดดันให้ชาวบ้านต้องใช้ไฟเผาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาก็มาจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจของธุรกิจเหล่านี้ อุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี ซีเมนต์ ประมงและอื่นๆ ทำลายป่า ภูเขา แม่น้ำ ทะเลไปมากมาย จะทำแค่การลดขยะ ส่งเสริมการปลูกป่า พัฒนาพลังงานหมุนเวียน หนุนเสริมเกษตรกรปรับการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้แม้ควรทำ แต่ต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์การทำลายนิเวศและชุมชนด้วย โดยใช้หลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่ทำกิจกรรมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เคยทำมา แต่ก็ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อม บรรลุก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ (net zero) หรือเดินตามกรอบ ESG แล้ว

ความรับผิดชอบหรือการลงทุน จากเดิมที่ธุรกิจทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ซึ่งเป็นกิจกรรมช่วยเหลือสาธารณะ แต่เมื่อภาครัฐ วิชาการ ธุรกิจผลักดันให้มีนโยบายเศรษฐศาสตร์สร้างแรงจูงใจดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการเอากิจกรรมสิ่งแวดล้อมมาอุดหนุนผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น แทนที่จะลดเลิกฟอสซิลเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมฟอสซิลกลับมาลงทุนปลูกป่า ให้ทุนชุมชนปลูกป่าหรือรักษาป่า เพื่อเอาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยให้ธุรกิจฟอสซิลเติบโตต่อไป การซื้อบริการลดผลกระทบนิเวศจากธรรมชาติและชุมชนที่ปกป้องธรรมชาติไม่ใช่การช่วยเหลือหรือรับผิดชอบ แต่เป็นการลงทุนทางธุรกิจ

มาตรฐานสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรัฐได้จัดทำมาตรฐานการปล่อยมลภาวะด้านต่างๆ เพื่อควบคุมกิจกรรมไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม แต่มาตรฐานเหล่านี้ถูกเอามาใช้อย่างขาดบริบท ทำให้เกิดการอ้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแต่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เช่น อ้างการปล่อยสารเคมี มลพิษอากาศ น้ำเสีย และอื่นๆ ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดตามกฎหมาย ทั้งที่ระบบนิเวศนั้นแบกรับมลภาวะเกินขีดจำกัดแล้ว เราจึงเห็นโครงการที่สร้างผลกระทบนิเวศและสิ่งแวดล้อมมากมายที่ล้วนผ่านมาตรฐาน

ลืมชุมชน ประชาชนที่ปกป้องนิเวศ สิ่งแวดล้อม พบได้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนหลายราย เช่น เมื่อหน่วยงานป่าไม้อ้างถึงการยกเลิกสัมปทานไม้ ราวกับว่าหน่วยงานรัฐคิดเองตัดสินใจเอง ทั้งๆ ที่ชุมชนลุกขึ้นมาคัดค้านจนรัฐต้องยกเลิกสัมปทาน การพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่กล่าวถึงคุณูปการที่ได้เรียนรู้มาจากเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนมาหลายทศวรรษ การรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกเผานา ไร่ แต่ไม่สนใจสนับสนุนชุมชนที่กำลังจัดการไฟป่า จัดทำกิจกรรมสนับสนุนการดูแลป่า อนุรักษ์ป่า แต่มองข้ามสิทธิชุมชนท้องถิ่นรักษาป่าเพียงเพราะตกอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ที่รัฐประกาศครอบทับ หรือมองว่าชาวบ้านไม่มีสำนึก ความรู้ ความพร้อมจัดการนิเวศสิ่งแวดล้อม ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ธุรกิจ

ความเหลื่อมล้ำในปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผู้ก่อมลภาวะ ทำลายนิเวศที่เป็นคนส่วนน้อยแต่มีอำนาจ แต่ก็ถูกกลบเกลื่อนไปว่าทุกคนใช้ทรัพยากร พลังงาน และสร้างมลภาวะเสมอกัน ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ไม่ว่าธุรกิจชั้นนำกับชุมชนในนิเวศ เช่น การไม่แยกแยะว่าฝุ่นควัน คาร์บอนฯ ที่ชาวบ้านเผาพื้นที่ไร่เพื่อการดำรงชีพต่างจากฝุ่นควันจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยฝุ่นและคาร์บอนฯ มหาศาลเพื่อความมั่งคั่ง ทั้งหมดถูกวัดว่าเป็นฝุ่นหรือคาร์บอนฯ เหมือนกัน ต่างกันที่ปริมาณ แต่ไม่มีนัยด้านความจำเป็นหรือเป้าหมายในการใช้ทรัพยากร

เป็นพลเมืองที่ห่วงใยปกป้องสิ่งแวดล้อม หน่วยงานรัฐและเอกชนหลายรายที่แสดงบทบาทสิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ได้ทำให้นิเวศธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยการผลิต ทรัพย์สินทางเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถชั่ง ตวง วัดซื้อขายแลกเปลี่ยน คำนวณผลประโยชน์ความคุ้มค่าได้ หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นเพียงตัวชี้วัดตามนโยบาย ประชาชนสัมผัสไม่ได้ถึงจิตวิญญาณแห่งความห่วงใยธรรมชาติ ความต้องการปกป้องสรรพชีวิต ความเข้าใจวิถีวัฒนธรรมชุมชนที่เกื้อกูลนิเวศ ความอนาทรต่อประชาชนที่เดือดร้อนจากระบบนิเวศถูกทำลาย ยิ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายและโครงการขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐและทุนขนาดใหญ่ ประชาชนอยากเห็นภาครัฐและธุรกิจเหล่านี้ออกมาปกป้องนิเวศ คัดค้านนโยบายหรือโครงการที่มีปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่แสดงการอนุรักษ์ด้วยการตอบตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อม

แม้จะเห็นปัญหาความย้อนแย้งของภาครัฐและธุรกิจที่ขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมอยู่หลายจุด แต่โดยภาพรวมบทบาทของธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยกระแสขับเคลื่อนจากชุมชน สู่ประชาชนทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสาธารณะที่ไม่มีใครปฏิเสธอีกต่อไป

แต่ระบบนิเวศโลกจะรอด ปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรจะคลี่คลาย ความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการที่ภาครัฐและธุรกิจมุ่งปกป้องธรรมชาติและความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา และมุ่งเปลี่ยนผ่านด้านแนวคิด นโยบาย แบบแผนการทำกิจกรรมที่เห็นขีดจำกัดธรรมชาติ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม คุ้มครองสิทธิชุมชนและประชาชน ร่วมมือสนับสนุนชุมชน ประชาชนปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบและจิตสาธารณะ พลังทุกภาคส่วนที่สานกันด้วยแนวคิด สำนึก และความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน จึงจะเปลี่ยนผ่านประเทศและโลกสู่นิเวศสังคมที่สมดุล ยั่งยืน เป็นธรรม และผาสุกได้