วันที่ 13 สิงหาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์สมาชิกรวม 15 แห่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ภายในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจและดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 4 แนวทาง คือ
- การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
- การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
- การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน
- การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจโดยละเลยการพิจารณาความเสี่ยงจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (environment, social, governance) รวมถึงตัวอย่างแนวปฏิบัติในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเพื่อก้าวข้ามปัญหาจากการละเลยปัจจัยดังกล่าว โดยปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่มีผลต่อฐานะทางการเงิน และจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินโดยการนำของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจะผลักดันให้มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยวของไทย อีกทั้งยังมีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตผลในภาคเกษตรกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เห็นได้ชัดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่ง ในมิติด้านสังคม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะกลายเป็นความเปราะบางในภาคครัวเรือน จนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพลูกหนี้และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังพบอยู่ในหลายภาคส่วนของสังคมไทย ได้กัดกร่อนศักยภาพในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างล่าช้าและซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากปัญหาเหล่านี้ ภาคธนาคารไทยในฐานะตัวกลางทางการเงินสามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยการจัดสรรทรัพยากรทุนให้ถูกใช้ไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบอันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินได้
การที่สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคการธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะยกระดับการทำงานของภาคสถาบันการเงินไทยด้วยการมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติร่วมกันในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า responsible lending guideline เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีกระบวนการสนับสนุนการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินเองและบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้ ตลอดจนพร้อมนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งในการเดินทางมุ่งสู่การพัฒนาการธนาคารเพื่อความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผล และตรวจสอบการปฏิบัติ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่น่าเชื่อถือในเวลาที่เหมาะสม
โดยความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญมากของภาคสถาบันการเงินไทยบนเส้นทางการประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแต่มีธรรมาภิบาลในองค์กร แต่ยังมีธรรมาภิบาลในความหมายกว้างซึ่งคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า ระบบสถาบันการเงินเป็นกลไกทางการเงินที่สำคัญ ที่ไม่เพียงมีบทบาทในการสนับสนุนทางการเงินผ่านกลไกสินเชื่อเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความสมดุลที่สามารถป้องกันและยับยั้งความเสี่ยงที่สามารถจะขยายผลเป็นความเสี่ยงทางการเงินและทางเศรษฐกิจของประเทศได้เสมอ ดังนั้น เมื่อใดที่สถาบันการเงินของประเทศมีความเข้าใจและความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบในการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล เมื่อปฏิบัติร่วมกันและต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินและประเทศชาติในระยะยาวเช่นกัน
ดังนั้น แนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง โดยมีแนวทาง 4 ข้อ คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (leadership and responsible lending commitment) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (internal implementation mechanisms) และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (transparency) ในขณะเดียวกันยังมุ่งหวังให้ทุกธนาคารตระหนักถึงพันธสัญญาที่จะร่วมสร้างวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงิน และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง และการจัดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมอีกประการหนึ่งด้วย โดยพฤติกรรมและอุดมการณ์เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบและรากฐานที่สำคัญของระบบสถาบันการเงินไทยต่อหน้าที่ในการร่วมพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
กรุงไทยโตบนหลักบรรษัทภิบาล
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของธนาคารกรุงไทยคือ การร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการสร้างการเติบโตของธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น invisible banking ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (corporate governance – CG) และการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility – CSR) อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ด้าน ได้แก่
ด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบที่เกิดกับสภาพแวดล้อม สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โครงการ Internal Digitization – Paperless Branch โดยตั้งเป้าลดปริมาณการใช้กระดาษระหว่าง ปี 2561-2565 ลง 50% โครงการลดปริมาณขยะ นำเศษอาหารจากห้องอาหารของธนาคาร มาแปรรูปเป็นดิน โครงการทางเดียวกันไปด้วยกัน รณรงค์ให้พนักงานที่อยู่เส้นทางเดียวกันใช้รถร่วมกัน
ด้านสังคม ธนาคารคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับชุมชน ผ่านโครงการกรุงไทยรักชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนใน 10 ชุมชนทั่วประเทศ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ส่งเสริมชุมชนใช้ QR Code รวมทั้งพัฒนาสินค้า บริการ และท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนดำเนิน โครงการกรุงไทยรักบางกะเจ้า สนับสนุนทั้งด้านบุคลากรและเงินทุน โดยให้ความรู้ทางการเงินกับครูและนักเรียนโรงเรียนวัดป่าเกด รวมทั้งพ่อค้า แม่ค้า ในชุมชนตลาดบางน้ำผึ้ง ให้บริการ e-donation ภายใต้ชื่อ “กรุงไทย เติมบุญ” รับบริจาคเงินทำบุญที่วัดจากแดง โดยเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่สามารถออกใบอนุโมทนาบุญอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลได้ทันที ไม่เสียค่าธรรมเนียม พร้อมส่งข้อมูลการบริจาคให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยออกสินเชื่อสนับสนุนลูกค้า SME ขนาดต่างๆ ด้วยเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อ Krungthai sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยธนาคารให้วงเงินกู้เพื่อต่อยอดหมุนเวียนธุรกิจเป็น 3 เท่าของยอดขายต่อเดือน หากกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับลูกค้าที่ผ่อนชำระตามเงื่อนไขปีแรก ในปีต่อไปธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1% ต่อปี อีกทั้งยังสนับสนุน โครงการรวมหนี้ไว้ในที่เดียว (debt consolidation) เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดปัญหาการกู้ยืมหนี้นอกระบบ โดยมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และสามารถปิดวงเงินกู้เมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
ด้านธรรมาภิบาล ธนาคารยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ปฏิบัติตามกฎเกณท์และกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนธนาคารกรุงไทยสู่การเป็นธนาคารต้นแบบคุณธรรมด้วย โครงการกรุงไทยคุณธรรม ยกระดับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่อดทนต่อการทุจริต (zero tolerance) นำ market conduct หรือการบริหารจัดการด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมมาเป็นกรอบในการดำเนินงานอย่างเข้มข้นตรวจสอบได้
ในยุค technology disruption ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทั้งระบบงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทาย ธนาคารจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่ invisible banking เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ตาม 5 กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ตลอดจนสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศ โครงการ National e-Payment และ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ไทยพาณิชย์กำหนดสินเชื่อต้องห้ามตาม ESG
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Embracing Sustainability: No Turning Back” นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้ร่วมจัดแสดงบูธการดำเนินกิจการธนาคารภายใต้แนวคิด “ธนาคารไทยพาณิชย์…ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” โดยนำเสนอเรื่อง 1) Sustainable Finance การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน 2) Financial Inclusion การสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และ 3) Financial Literacy การส่งเสริมความรู้ด้านการเงินแก่ลูกค้าและสังคมไทย
ด้วยวิสัยทัศน์ของธนาคารในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (the most admired bank) ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้ยกระดับการพิจารณาสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) โดยมีการปรับปรุงแนวนโยบายการให้สินเชื่อ (credit policy guide) ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งพิจารณาแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล อาทิ หลักการอีเควเตอร์ (equator principles) และแนวปฏิบัติของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) และนำมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม
โดยได้มีการกำหนดรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) อันเนื่องจากประเด็นด้าน ESG พร้อมกับการจัดระดับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการ (project finance) โดยกำหนดให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงต้องการอำนาจอนุมัติจากผู้มีอำนาจของธนาคารในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ริเริ่มจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (sector specific guide) ซึ่งเป็นข้อควรพิจารณาในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สำคัญในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมเฉพาะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ธนาคารยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนชนทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าทั่วไป ลูกค้า SME รวมถึงลูกค้าที่ไม่มีหลักประกัน โดยธนาคารใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (machine learning) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเงินแก่สังคมไทยผ่านแนวทางการสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งช่องทางออนไลน์และสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์ ของธนาคาร เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตน โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย เช่น ภาพยนตร์สั้น “คุณชายทลายโกง” หรือ “คุณนายออม” ที่มุ่งเน้นเนื้อหาสำหรับการช่วยเสริมทักษะในการบริหารและจัดการด้านการเงินทำให้ประชาชนสามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินธุรกิจได้ อีกทั้งธนาคารได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีในการพัฒนารูปแบบการให้ความรู้ทางการเงินที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน “เก็บหอม” ที่ช่วยให้การออมเป็นเรื่องง่าย ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการแนะนำรูปแบบการออมเงินตามเป้าหมาย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ยุคใหม่
ทีเอ็มบี ร่วมแสดงกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ให้การต้อนรับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดินเยี่ยมชมบูธทีเอ็มบี ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 ภายในงาน ทีเอ็มบีได้นำกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของธนาคาร ซึ่งให้ความสำคัญ และนำเสนอให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยดำเนินการตาม 4 แกนหลัก ได้แก่ การส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม (Financial inclusion), การจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงิน (Financial literacy), การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และการมีจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบของพนักงาน (Responsible Mindset) เป็นแกนกลางส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และจะส่งผลดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวม และได้เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออกกรีนบอนด์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงาน นายปิติ ยังได้รับเกียรติ ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Embracing Sustainability: No Turning Back” เพื่อแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งที่ใช้ในการส่งเสริมความยั่งยืน”